ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือ ปลูกผักอะควาโปนิกส์ ในรูปแบบปลูกผักแนวตั้ง หากปลูกผักสลัด 25 ต้น ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกประมาณ 1 ตารางเมตร
แต่ในพื้นที่เดียวกันนี้หากนำมา ปลูกผักแนวตั้ง ในระบบไฮโดรโปนิกส์แนวตั้ง จะสามารถปลูกได้มากถึง 160 ต้น นี่คือแนวคิดหลักของ Hoka Farm ที่พัฒนารูปแบบการปลูกผักสลัดให้ประหยัดพื้นที่ โดยมี คุณพต – บรรพต และ คุณบี – แคทลียา คู่สามีภรรยาผู้ที่เป็นเจ้าของฟาร์มแห่งนี้
ระบบปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์แนวตั้ง คือ หนึ่งในรูปแบบการ ปลูกผักแนวตั้ง ด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ โดยมีปั๊มน้ำทำหน้าที่ส่งน้ำที่มีสารอาหารไปยังรากพืช ซึ่งช่วยให้สามารถปลูกผักในพื้นที่จำกัดได้เป็นอย่างดี

คุณบี เล่าว่า “สมัยก่อนตอนเป็นนักวิ่ง มีมินิมาราธอนบ้าง ฟูลมาราธอนบ้าง พออายุเริ่มมากขึ้น ก็เลยหันมาดูแลสุขภาพกันนิดนึง อยากจะปลูกผักกินเอง ก็ลงมือกันเลยค่ะ ซื้ออุปกรณ์มาทำมาลองปลูกผักที่ข้างบ้าน”
คุณพต เล่าว่า “ส่วนผมเป็นวิศวกรไฟฟ้าเคยทำงานเซลล์โปรเจคครับ ก็จะรู้จักรู้ราคาอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบกับเป็นคนที่ชอบทำงาน DIY เลยหาซื้อของมาลองทำ ก็มาเจอของต่างประเทศที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในแนวตั้งโดยใช้ท่อพีวีซี แล้วมันก็ตอบโจทย์คนในเมืองที่มีพื้นที่น้อยด้วย ก็เลยลองทำดู ซึ่งช่วงแรกก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ”
หลังจากที่คุณพตได้ทดลองทำ ก็พบว่า ท่อพีวีซี 4 นิ้วเจาะรู ช่วยทำให้ปลูกผักได้ จึงเปิดบัญชีอินสตาแกรม hokafarm โพสต์รูประบบที่ทำ จนเริ่มมีคนสนใจอยากซื้อระบบไปปลูกบ้าง แต่กว่าระบบจะพร้อมจำหน่ายคุณพตก็ได้มีการพัฒนาอยู่ตลอดเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี รวมถึงเทคนิคต่างๆ ซึ่งเราจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกันจากการเล่าเรื่องของคุณพต

อุปกรณ์ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และระบบการทำงาน
เซตปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในแนวตั้ง ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลัก 4 ชิ้น คือ
1.ถังบรรจุน้ำ จะอยู่ด้านล่างสุดของเซตปลูก ใช้บรรจุน้ำที่ผสมธาตุอาหาร (ปุ๋ยAB) ขนาดความจุถังน้ำจะขึ้นอยู่กับจำนวนชั้นปลูกด้านบน ขั้นต่ำแนะนำที่ความจุ 10 ลิตร ถ้าใช้ถังน้ำที่มีขนาดเล็กก็อาจจะต้องเติมน้ำบ่อยหน่อย แต่ถ้าใช้ถังที่มีขนาดใหญ่เกินไปก็จะเปลืองปุ๋ยที่ใช้ผสม ในถังจะมีปั๊มน้ำ จะวางแช่อยู่ ทำหน้าที่ส่งน้ำในถังขึ้นไปยังชั้นจ่ายน้ำที่อยู่ด้านบน
2.ฐานปลูกและเสาแกนกลาง ทำหน้าที่รับน้ำหนักชั้นจ่ายน้ำและชั้นปลูกที่อยู่ด้านบน
3.ชั้นจ่ายน้ำ อยู่ด้านบนสุดของเซตปลูก ทำหน้าที่จ่ายน้ำให้ชั้นปลูกที่อยู่ด้านล่าง
4.ชั้นปลูก จะมีช่องสำหรับใส่ต้นผักที่ปลูก แต่ละชั้นถูกออกแบบให้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้เลี้ยงผักที่ปลูกได้

ปั๊มน้ำจะส่งน้ำจากในถังน้ำด้านล่างขึ้นไปที่ชั้นจ่ายน้ำด้านบนสุด น้ำจะไหลลงไปที่ชั้นปลูกผักที่อยู่ชั้นล่างถัดไป เมื่อถึงระดับที่กำหนดน้ำส่วนเกินก็จะไหลล้นลงไปชั้นถัดไป น้ำที่ล้นจากชั้นปลูกอันล่างสุดก็จะไหลกลับลงถัง หมุนเวียนเป็นระบบ ซึ่งข้อดีของระบบน้ำล้นนี้คือ จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เติมอากาศให้กับผักที่ปลูก

ข้อดีของการทำชั้นปลูกแยกก็คือ กรณีที่ไฟดับ ปั๊มไม่ทำงาน ในชั้นปลูกก็ยังมีน้ำสำหรับเลี้ยงผักไม่จำเป็นต้องพึ่งปั๊มตลอดเวลา เมื่อน้ำในชั้นจ่ายน้ำลดลงก็แค่เติมน้ำใส่ลงไปให้เต็ม ปั๊มน้ำจะทำหน้าที่รันระบบให้น้ำหมุนเวียนตลอดเวลาโดยที่เราไม่ต้องดูแลมากนัก แม้ว่าจะเปิดปั๊มตลอด 24 ชั่วโมงก็กินไฟแค่ 2 หน่วย หรือประมาณแค่ 12 บาท/เดือนเท่านั้น

วิธีการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แนวตั้ง และการดูแล
การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ก็เหมือนการปลูกผักทั่วไป เริ่มต้นจากการเพาะเมล็ด เราจะเพาะเมล็ดในฟองน้ำที่ใช้ปลูกโดยตรง โดยการหยอดเมล็ดลงในฟองน้ำ หรือจะเพาะในทิชชู่ที่วางในกล่อง แล้วค่อยเลือกต้นที่งอกย้ายลงปลูกในฟองน้ำต่ออีกทีก็ได้เช่นกัน โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน จึงจะย้ายไปปลูกที่เซตปลูกต่อไป วัสดุปลูกอาจจะเปลี่ยนจากฟองน้ำเป็นเพอร์ไลท์ หรือเวอร์มิคูไลท์ก็ได้ แต่ต้องปลูกในถ้วยปลูกโดยเฉพาะ สำหรับกรณีที่ปลูกในฟองน้ำเราจะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตผักแล้ว

“ผมออกแบบให้ระยะห่างระหว่างช่องปลูกอยู่ห่างกันพอสมควร ผักที่โตเต็มที่ไม่ควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 20 เซนติเมตร ส่วนความสูงไม่ใช่ปัญหาครับ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราสามารถปลูกผักได้เกือบทุกชนิดที่มีขนาดทรงพุ่มไม่เกิน 20 เซนติเมตร ทั้งเคล ผักบุ้ง พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า กะเพรา โหระพา สตรอเบอรี่ มะเขือเทศ แตงกวา เมลอน ถั่วฝักยาว สำหรับผักที่เติบโตแบบเลื้อยอาจจะต้องใช้เชือกผูกไว้เพื่อช่วยดึงยอด หรือช่วยพยุงน้ำหนักผล รวมไปถึงดอกไม้กินได้ด้วยครับ”

ปุ๋ยปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แนวตั้ง
“จริงๆ แล้วปริมาณธาตุอาหารในน้ำผสมปุ๋ย AB ก็เพียงพอแล้วครับ ไม่จำเป็นจะต้องให้ปุ๋ยทางใบอื่นๆ เพิ่ม แต่ก็ สามารถให้ได้ถ้าต้องการ และนอกจากปุ๋ย AB ที่นิยมใช้สำหรับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แล้ว ในปัจจุบันยังมีปุ๋ยออร์แกนิคแบบน้ำที่นำมาใช้แทนกันได้ครับ สำหรับปัญหาโรคที่เคยเจอส่วนใหญ่จะเป็นโรคจากเชื้อราครับ เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากความชื้นที่มากเกินไป”

คำแนะนำพื้นฐานในการปลูก
- บริเวณที่ตั้งเซตปลูกต้องได้รับแสงแดดต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ชั่วโมง/วัน และไม่โดนฝนโดยตรงเพราะจะทำให้ใบ ช้ำ และเกิดโรคเชื้อราได้
- สามารถใช้น้ำประปา หรือน้ำ RO ได้ น้ำที่ใช้ควรมีค่า pH 6-7
- หมั่นตรวจเช็คระดับน้ำในชั้นปลูกแต่ละชั้น อย่าให้ต่ำกว่าจุดระดับน้ำล้น
- กรณีที่ใช้ปั๊มน้ำต้องคอยตรวจเช็คให้ปั๊มแช่อยู่ใต้น้ำเสมอ
- ความถี่ในการเติมปุ๋ยขึ้นอยู่กับขนาดถังน้ำที่ใช้ ถ้าน้ำในถังยุบก็เติมน้ำผสมปุ๋ยเพิ่มลงไป
- เปลี่ยนเป็นให้น้ำเปล่าแทนการให้น้ำผสมปุ๋ย 2-3 วันก่อนเก็บผัก ซึ่งจะช่วยลดค่าไนเตรทที่ตกค้างในผักได้มาก
- หลังเก็บผักหมดแล้วต้องล้างทำความสะอาดเซตปลูกทุกครั้ง
- ถ้าเป็นไปได้ควรควบคุมอุณหภูมิในบริเวณที่ปลูกให้เหมาะสม อย่าให้ร้อนเกินไป
อ่านต่อหน้า 2