บ้านและสวนแฟร์ 2022
28 ต.ค. - 6 พ.ย. 2565
อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ทิพยา ตาริชกุล โมเดลเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา Tiny Home Tiny Goods

Tiny Home Tiny Goods เป็นชื่อแบรนด์ โมเดลเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา หรือผู้นิยมของจิ๋ว จุดเริ่มต้นของแบรนด์เกิดจากความหลงรักในของจิ๋วของ คุณมิ้ง-ทิพยา ตาริชกุล อดีตพนักงานบริษัทที่ผันตัวเองมาทำตามความชอบจนกลายเป็นอาชีพที่สร้างความสุขและรายได้

คุณทิพยากับโมเดลเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา

จุด SPARK จากความชอบในของจิ๋วสู่อาชีพทำโมเดลเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา

“ตั้งแต่เด็ก เราชอบมากอะไรที่เป็นของชิ้นเล็ก ของเล่นที่เล็กกว่าปกติ คิดว่าเป็น Love at first sight ยิ่งตอนได้ชิ้นแรกมาเห็นแล้วก็รักเลย เป็นชุดเบนโตะจิ๋วๆ มีดีเทลตรงเปิดกล่องได้ เปิดชั้นได้ มีช้อน ส้อม คิดว่าจะต้องซื้อไปเรื่อยๆแน่ หยุดไม่ได้ โมเดลเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา

“จริงๆ เรื่องทำเป็นอาชีพไม่ได้อยู่ในหัวเลย แต่พอเรามีของเยอะๆ ก็อยากถ่ายรูปโพสต์ของเล่นลงกลุ่มที่นิยมของจิ๋วเหมือนกัน ทีนี้วางแต่ของมันก็ไม่น่ารัก ต้องมีโต๊ะ ตู้ ตู้เย็น เอาของไปใส่ ทำให้ดูน่ารักขึ้น เลยเริ่มสะสมเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้เล่นกับโมเดลพวกนี้ แต่มันหายาก ไม่ค่อยมีคนทำ ส่วนมากที่ทำก็เป็นงานต่างชาติ ราคาค่อนข้างสูง เราเลยพยายามหาช่างมาทำให้ และพอทำออกมาแล้วสวยดี เราก็โพสต์เล่นในกลุ่ม กระทั่งมีคนสนใจ มาถามว่าทำไมไม่ทำขาย เราก็คิดว่าทำได้จริงเหรอ

“อีกอย่างหนึ่งเรามีโอกาสได้ดูแลพ่อในช่วงที่ท่านไม่สบาย จนสุดท้ายท่านก็เสียไป ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาในชีวิตมันน้อย แม้พ่ออาจไม่ได้เป็นคนจุดประกาย แต่การเสียชีวิตของท่านก็เปลี่ยนชีวิตเรา จากที่เป็นคนเรื่อยเปื่อย เราก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ไม่อยากแบบว่าอยู่ดีๆ โดนรถชนตายไป แล้วยังไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำ

“เราเลยไปคุยกับช่างไม้ที่เคยส่งงานให้ทำ เขาว่างพอดี เพราะเป็นช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดเราบอกเขาว่าจะทำขายนะ เขาก็ยินดี เราอยากให้เฟอร์นิเจอร์ราคาไม่แรงมาก เพราะในฐานะที่เป็นคนเล่นของจิ๋วมาก่อน เรารู้ว่าโมเดลเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ แบบนี้หายาก แล้วราคาก็สูงจนไม่กล้าซื้อ เราเลยต้องไปขวนขวายสั่งทำ จึงอยากให้อยู่ในราคาที่รับได้ และคุณภาพงานโอเคด้วย เราเลือกใช้ไม้ดี เพราะของเล่นส่วนใหญที่เจอเป็นพลาสติก บางทีเป็นไม้โมเดลที่จับก็หักแล้ว แต่ของแบรนด์เราส่งไปขายถึงสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ชิ้นงานก็ยังรอดปลอดภัย”

โมเดลเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา
คุณทิพยากับโมเดลเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา
โมเดลเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา
มุมโปรด

มุมโปรด

“มุมโปรด คือ มุมทำงาน เป็นมุมที่เราใช้เวลาอยู่ด้วยนานที่สุด เราพยายามทำให้เป็นระเบียบ หยิบใช้งานง่าย มีมุมวางของจิ๋ว ของสะสมที่เราชอบ เราอยู่ตรงนี้แล้วแฮปปี้ ถ้าเกิดว่าเป็นช่วงที่มีงาน ตื่นขึ้นมาเราก็นั่งทำงานเลย ทำจนถึงเที่ยง กินข้าวเสร็จอาบน้ำก็นั่งทำงานต่อจนถึงทุ่มสองทุ่ม บางทียังไม่เสร็จก็อยู่ตรงนั้นทั้งวัน มันเป็นสเปซของเรา
“ถ้าเป็นมุมในฝัน เราอยากมีสตูดิโอที่สามารถรวมช่างมาอยู่ด้วยกัน เพราะตอนนี้งานไม้อยู่อีกที่ เราทำอีกที่ กระจัดกระจายกันไปหมด เลยอยากรวมเวิร์กสเปซที่เราสามารถทำงานรวมอยู่ด้วยกันได้”

โมเดลเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา
โมเดลเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา

ทำตามหัวใจสู่การส่งต่อแรงบันดาลใจ

“เรามีความสุขกับสิ่งที่ทำตอนนี้ อยากได้เตียงก็ทำเตียง อยากได้โต๊ะก็ทำโต๊ะ เหมือนสิ่งที่เราคิดได้ออกมาเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้ ความสุขอีกอย่างคือ มีลูกค้ามาบอกว่าสินค้าของเราดี น่ารักมาก ชอบ รอซื้ออีกนะ ทำอีก สิ่งเหล่านี้ทำให้เราแฮปปี้

“เคยมีคนบอกว่า ดีเนอะคิดอยากทำอะไรแล้วก็ได้ทำจริงๆ เขาก็คงอยากถามแหละว่าทำไมถึงทำ เรียนมาเหรอ เราก็บอกไปว่าไม่ได้เรียนมาโดยตรง แค่เราชอบ เราอยากทำในสิ่งที่เราคิดออกมาเป็นชิ้นงานก็เริ่มทำเลย เขาก็ว่าดีนะ มีหลายคนที่อยากทำแต่ก็ได้แต่คิด ไม่ได้ลงมือทำเราไม่เคยย้อนกลับไปคิดว่าทำไมถึงหลงรักของจิ๋วๆพวกนี้ แต่รู้ว่าอยู่ด้วยแล้วมีความสุขจังเลย ต้องรีบทำออกมา เดี๋ยวมีคนรอซื้อชิ้นนี้อยู่ เป็นความพอใจของเราด้วย ทำงานแล้วรู้สึกว่าสามารถควบคุมกระบวนการทำงานต่างๆได้ มันไม่กดดัน และได้ทำในสิ่งที่พอใจจริงๆ”


ขอบคุณ : Voodoo Cafe เอื้อเฟื้อสถานที่

เรื่อง : ธัญยธรณ์ นาราเต็มทรัพย์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ


ส่องไอเดีย Spark Village ไฮไลต์หลักใน งานบ้านและสวนแฟร์ Midyear 2023

ติดตามบ้านและสวน

keyboard_arrow_up