ในโลกนี้มีแมลงมากมาย ที่รู้จักกันส่วนใหญ่ก็เป็นแมลงศัตรูพืช เราจึงต้องหาสารพัดวิธีมากำจัดและขับไล่ให้หายไป ทำให้บางทีเราเผลอกำจัด แมลงที่มีประโยชน์ ออกไปด้วยเช่นกัน ซึ่งแมลงพวกนี้จะจับแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร บางชนิดก็ใช้ไข่และตัวอ่อนเป็นสถานที่วางไข่เพื่อขยายพันธุ์ ซึ่งเราเรียกแมลงที่มีประโยชน์กลุ่มนี้ว่า “ตัวห้ำตัวเบียน”
ตัวห้ำตัวเบียนคืออะไร
ตัวห้ำตัวเบียน เป็นแมลงที่ประโยชน์ในแปลงผัก แบ่งเป็นตัวห้ำ แมลงที่คอยกินแมลงด้วยกันเป็นอาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต บางชนิดก็เป็นตัวห้ำตั้งแต่ตัวอ่อนจนกระทั่งตัวเต็มวัย บางชนิดเป็นตัวห้ำเฉพาะตัวเต็มวัย บางชนิดเป็นตัวห้ำเฉพาะตัวอ่อน ได้แก่ มวนพิฆาต ด้วงเต่าลาย ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส เป็นต้น
ส่วนแมลงตัวเบียน จะไม่ได้กินแมลงแต่จะใช้วิธีการขยายพันธุ์ โดยจะใช้ไข่และตัวอ่อนของศัตรูพืชเป็นสถานที่ในการเพาะตัวอ่อน โดยที่ตัวเบียนจะฝังไข่ไว้ในไข่และตัวอ่อนของเหยื่อ และเจริญเติบโตจากภายในตัวเหยื่อออกมา และขยายพันธุ์ต่อไป
เราสามารถใช้ข้อดีของตัวห้ำ ตัวเบียน เหล่านี้มาใช้ในการควบคุมจำนวนประชากรของแมลงศัตรูพืชได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีกำจัดแมลง ทำให้แมลงไม่สามารถเกิดความต้านทานได้เหมือนการใช้สารเคมี มีความปลอดภัยสูง แต่ใช่ว่าพอปล่อยตัวห้ำ ตัวเบียน แล้วจะเห็นผลได้ทันทีต้องใช้ระยะเวลากว่าแมลงพวกนี้จะตั้งรกรากได้

มวนพิฆาต เป็นตัวห้ำตั้งแต่ตัวอ่อนจนกระทั่งตัวเต็มวัย ใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อ ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนคืบกะหล่ำ หนอนคืบละหุ่ง หนอนแก้วส้ม ฯลฯ
กำจัดหนอนโดยใช้ปากแบบแทงแล้วปล่อยสารพิษทำให้หนอนเป็นอัมพาต จากนั้นจึงดูดกินเป็นอาหาร เมื่อพบหนอนศัตรูพืช ให้ปล่อยมวนพิฆาต อัตรา 100 ตัวต่อไร่ ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก สำหรับไม้ผล ปล่อย 100 ตัวต่อต้น เพื่อควบคุมปริมาณหนอนให้อยู่ในระดับต่ำ

ด้วงเต่าลาย เป็นตัวห้ำตั้งแต่ตัวอ่อนจนกระทั่งตัวเต็มวัย ใช้ในการควบคุมเพลี้ย ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไข่แมลงศัตรูพืช ฯลฯ
กำจัดเพลี้ยโดยจะใช้ปากในการกัดกินเพลี้ยเป็นอาหาร เมื่อพบแมลงศัตรูพืช ให้ปล่อยด้วงเต่าลาย อัตรา 100 ตัวต่อไร่ ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก สำหรับไม้ผล ปล่อย 100 ตัวต่อต้น เพื่อควบคุมปริมาณให้อยู่ในระดับต่ำ

แมลงช้างปีกใส เป็นตัวห้ำเฉพาะตัวอ่อน ใช้ในการควบคุมเพลี้ย ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง
กำจัดเพลี้ยโดยใช้ส่วนหัวที่มีเขี้ยวเพื่อใช้จับศัตรูพืชและดูดกินของเหลวจากแมลงศัตรูพืช โดยตัวอ่อนแมลงช้างปีกใสจะอำพรางตัว โดยการนำเอาซากแมลงขึ้นไปเก็บบนหลังจนมองไม่เห็นลำตัว เมื่อพบแมลงศัตรูพืช ปล่อยแมลงช้างปีกใส อัตรา 100 ตัวต่อไร่ เพื่อควบคุมปริมาณศัตรูพืชให้อยู่ในระดับต่ำ

มวนเพชฌฆาต เป็นตัวห้ำตั้งแต่ตัวอ่อนจนกระทั่งตัวเต็มวัย ใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อ ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนคืบกะหล่ำ หนอนคืบละหุ่ง หนอนแก้วส้ม ฯลฯ
กำจัดหนอนโดยใช้ปากแบบแทงแล้วปล่อยสารพิษทำให้หนอนเป็นอัมพาต จากนั้นจึงดูดกินเป็นอาหาร เมื่อพบหนอนศัตรูพืช ให้ปล่อยมวนเพชฌฆาต อัตรา 100 ตัวต่อไร่ ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก สำหรับไม้ผลปล่อย 100 ตัวต่อต้น เพื่อควบคุมปริมาณหนอนให้อยู่ในระดับต่ำ

แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา เป็นแตนเบียนที่ใช้ควบคุมไข่ของผีเสื้อศัตรูพืช เช่น หนอนกออ้อย หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนแก้วส้ม หนอนกออ้อย ฯลฯ
กำจัดไข่หนอนโดยการวางไข่ในไข่ของหนอนผีเสื้อ โดยจะเจริญเติบโตอยู่ภายในและเมื่อเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจะเจาะออกมา เพื่อผสมพันธุ์และทำลายไข่ศัตรูพืชฟองใหม่ต่อไป
เมื่อพบหนอนศัตรูพืช ปล่อยแตนเบียน อัตรา 20,000 ตัวต่อไร่ โดยนำแผ่นแตนเบียนไปติดไว้กับใบพืชให้กระจายทั่วทั้งแปลง ปล่อยในช่วงเวลาเย็น แต่ละจุดควรมี ระยะห่างกัน 15-20 เมตร โดยปล่อย ทุก 15 วัน

แตนเบียนหนอนแมลงวันผลไม้ เป็นแตนเบียนที่ใช้ควบคุมแมลงวันผลไม้หลายชนิด กำจัดหนอนโดยการวางไข่ในตัวหนอนที่อยูในผลไม้ และจะเจริญเติบโตอยู่ภายใน เมื่อเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจะเจาะออกมา เพื่อผสมพันธุ์และทำลายหนอนแมลงวันผลไม้ตัวใหม่ต่อไป
การใช้แตนเบียนหนอนแมลงวันผลไม้ ไม่สามารถรักษาผลไม้ที่ถูกทำลายแล้วได้ แต่จะช่วยลดจำนวนพ่อแม่พันธุ์แมลงวันผลไม้ที่จะทำความเสียหายในรุ่นถัดไป

แตนเบียนหนอนใยผัก เป็นแตนเบียนที่ใช้ควบคุมหนอนใยผัก กำจัดหนอนโดยการวางไข่ในตัวหนอน และจะเจริญเติบโตอยู่ภายใน เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะเจาะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ และเข้าสู่ตัวเต็มวัยเพื่อเข้าทำลายหนอนใยผักตัวใหม่ต่อไป
เมื่อพบหนอนศัตรูพืช ปล่อยแตนเบียน อัตรา 100 ตัวต่อไร่ โดยปล่อยในช่วงเช้าหรือเย็น และควรมีไม้ดอกเพื่อผลิตน้ำหวานไว้เป็นแหล่งอาหารของแตนเบียน

แมลงหางหนีบ เป็นตัวห้ำที่ใช้ควบคุมหนอนและเพลี้ย ได้แก่ หนอนเจาะข้าวโพด หนอนกออ้อย หนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ไข่แมลง ฯลฯ
กำจัดหนอนและเพลี้ยโดยใช้แพนหางคีมหนีบตัวเหยื่อกินเป็นอาหาร หากเป็นเพลี้ยอ่อนก็จะกัดกินโดยตรง เมื่อพบศัตรูพืช ให้ปล่อยแมลงหางหนีบ อัตรา 100 ตัวต่อไร่ ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก สำหรับในไม้ผลปล่อย 100 ตัวต่อต้น เพื่อควบคุมปริมาณหนอนให้อยู่ในระดับต่ำ

ไรตัวห้ำ เป็นตัวห้ำทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ใช้ควบคุมไรแดง เป็นสัตว์คล้ายแมงมุมขนาดเล็ก มี 8 ขา กำจัดไรแดงโดยการดูดกินไรศัตรูพืชและเพลี้ยที่กำลังดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชอยู่ โดยในธรรมชาติมักพบไรตัวห้ำปะปนในกลุ่มศัตรูพืช ซึ่งสามารถชอนไชเข้าไปกินไรศัตรูพืชในทุกส่วนของพืช
กำจัดไรและเพลี้ยโดยใช้ขา 2 คู่หน้าช่วยในการจับและดูดกินเป็นอาหาร เมื่อพบศัตรูพืช ให้ปล่อยไรตัวห้ำ อัตรา 2,000 ตัวต่อไร่ ในพืชผัก และไม้ดอก สำหรับไม้ผล ปล่อยไรตัวห้ำ 2,000 ตัวต่อต้น

ตั๊กแตนตำข้าว เป็นตัวห้ำทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เป็นตั๊กแตนที่จะล่าแมลงตัวที่เล็กกว่าเป็นอาหาร สามารถกินแมลงได้หลากหลายตั้งแต่ หนอน แมลง และตั๊กแตน โดยจะใช้ขา 2 คู่หน้าช่วยในการจับและใช้ปากกัดกินตัวเหยื่อ

แมลงปอ เป็นตัวห้ำเฉพาะตัวเต็มวัย แต่ละตัวจะมีลวดลายและสีที่แตกต่างกัน จะกินแมลงจำพวก ยุง แมลงหวี่ขาว และแมลงวัน โดยจะทำการบินโฉบเพื่อจับแมลงพวกนี้กินเป็นอาหาร

แมลงภู่ เป็นแมลงที่ช่วยในการผสมเกสรให้กับดอกไม้ เพราะเป็นแมลงที่กินน้ำผึ้งเป็นอาหาร โดยจะอาศัยอยู่เพียงตัวเดียว และมักจะขุดรูอาศัยอยู่ในเนื้อไม้ที่แห้งตายบางชนิดก็ทำรังอยู่ในดิน ไม่ควรไปจับหรือเข้าใกล้เพราะมีโอกาสที่จะโดนเหล็กในต่อยจนทำให้เจ็บปวดได้

ผึ้ง เป็นแมลงที่ช่วยในการผสมเกสรให้กับดอกไม้ เพราะเป็นแมลงที่กินน้ำผึ้งเป็นอาหาร จะมีขาหลังที่ไว้เก็บเกสรและพอย้ายไปเก็บน้ำผึ้งอีกดอกหนึ่งก็จะใช้ขาคู่เดิมในการผสมเกสรให้กับดอกไม้ด้วย โดยผึ้งจะอาศัยอยู่เป็นรังขนาดใหญ่ ไม่ควรไปจับหรือเข้าใกล้เพราะมีโอกาสที่จะโดนเหล็กในต่อยจนทำให้เจ็บปวดได้
ครั้งต่อไปที่เห็นแมลงในแปลงอยากให้ลองสังเกตให้ดีก่อนว่าเป็น แมลงที่มีประโยชน์ หรือโทษกันแน่ ก่อนที่จะกำจัดแมลงเหล่านี้
เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์
ภาพประกอบ : มนธีรา มนกลาง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้
Insect Hotel สร้าง โรงแรมแมลงดี เป็นมิตรกับสวน
ขยายพันธุ์ มวนพิฆาต แมลงตัวห้ำที่ช่วยกำจัดหนอนแปลงผักในช่วงฤดูฝน