ฟาร์ม – เล็ก – เล็ก ของลุงเช็คผู้เล่าเรื่องฅน มาสู่คนรู้เรื่องผัก

บนเนื้อที่กว่า 3 ไร่ใกล้เลียบด่วนรามอินทราไม่ไกลจากคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC) ใครจะเชื่อว่ามีฟาร์ม ปลูกผัก เลี้ยงปลาบรรยากาศบ้านไร่ชายทุ่งซ่อนตัวอยู่อย่างน่าอัศจรรย์ และที่สำคัญที่นี่เป็นของ คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หรือลุงเช็ค คนค้นฅน ที่เรารู้จักกันดี

ซึ่งในวันนี้ลุงเช็คขอเปลี่ยนบทบาทจากผู้บริหารและผู้ดำเนินรายการมากฝีมือมาเป็น #นักปลูก ปลูกผัก สลัด ใน “ฟาร์ม-เล็ก-เล็ก” ท่ามกลางชุมชนเมืองที่ไม่ได้เล็กเสียทีเดียว

ลุงเช็ค – คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ และคุณแก้ว – เลิศลักษณ์ ธรรมวุฒิ สองแรงสำคัญของฟาร์ม-เล็ก-เล็ก

“เราเริ่มต้นที่นี่เมื่อ 6-7 ปีก่อน ที่ดินเดิมเป็นท้องนาที่ลุ่ม เป็นที่ที่เขาเอาดินจากการขุดเสาเข็มในเมืองมาทิ้งไว้ ก้อนดินกองระเกะระกะ ผืนดินแตกระแหง เป็นดินที่ไม่มีคุณภาพ ช่วงนั้นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องของกสิกรรมธรรมชาติเป็นกระแสที่คนพูดถึงและทดลองทำกัน เราถมดินปรับพื้นที่ใหม่ ลองให้คนสวนที่ออฟฟิศ (ทีวีบูรพา) เข้ามาปลูกผักในตอนนั้นยังไม่มีโรงเรือนอะไรทั้งสิ้น ยกร่องดินปลูกผักตามวิธีพื้นฐานทั่วๆ ไปเลยครับ ก็พอได้ผักไปกินไปใช้กันในโรงอาหารของออฟฟิชบ้างครับ”

นั่นคือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่แค่อยากทดลองทำ และใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ จนถึงวันนี้ที่ลุงเช็คตั้งใจทำทุกอย่างอย่างจริงจัง ทำให้เป็นรูปเป็นร่างจนกลายมาเป็นฟาร์ม-เล็ก-เล็กที่ไม่เล็กอย่างที่เราเห็นกันอยู่นี้

จากเล่าเรื่องฅนมาสู่คนรู้เรื่องผัก

ความตั้งใจอย่างหนึ่งคือ ผมเองก็ทำรายการมาเยอะ เวลาเราไปเจอเรื่องอะไรมา เราก็มักคิดว่าเรารู้ เราทำได้ แต่พอลงมือทำเข้าจริงๆ มันไม่ใช่เลยครับ ทฤษฎีกับการปฏิบัติจริงมันคนละเรื่องกันเลย ผมเลยเกิดความคิดว่าถ้าอย่างงั้นเราลองมาตั้งใจเรียนรู้อะไรจริงๆ สักเรื่องไหม เลยหันมาปลูกผักอย่างจริงจังดู ให้มันรู้จริงไปเลยดีกว่า”

บ่อเลี้ยงปลาดุกที่ขุดไว้ แต่น้ำในบ่อไม่สามารถนำมารดผักได้ เนื่องจากเป็นน้ำเค็ม ผลจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นดินเค็ม ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ช่วยผลิตไฟฟ้าสำหรับปั้มน้ำ และอุปกรณ์ไฟฟ้าบางส่วนในฟาร์ม

 “ผมทำงานมา 20 ปี ชีวิตการทำงานในช่วงนั้นเป็นงานที่เราทำเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ แต่มันก็แลกกับอะไรหลายอย่างที่เราแบกไว้หนักมาก  เพราะฉะนั้นช่วงสุดท้ายของชีวิตหลังจากนี้ ก็ไม่อยากแบกอะไรที่มันหนัก ที่มันวุ่นวายมากแล้ว มันมีเรื่องอื่นๆ ที่เราน่าจะให้เวลากับมันมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องของการค้นหาภายในตัวเราเอง งานที่บริษัทเราก็เฟดตัวเองออกมาแล้วเราเองก็อายุมากแล้ว ตั้งใจอยากจะเกษียณด้วยครับและในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่โควิดเริ่มเข้าไทย เราก็เริ่มคิดว่า เออ มันน่าจะต้องเริ่มทำให้จริงจังขึ้น เลยชวนน้องๆ จากออฟฟิศกลุ่มหนึ่งให้มาทำด้วยกันครับ”

ในโรงเรือนปลูกผักติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ไว้ ซึ่งปัญหาหลักของที่นี่คือต้องใช้น้ำประปาเพื่อรดผัก ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

“ตอนเริ่มต้นหลักๆ ที่ทำก็มีกันอยู่แค่ 3-4 คน เราพยามลงมือทำทุกอย่างเองครับ ผมเป็นคนออกไอเดีย คิดทำนั่นนี่ จ้างช่างแถวๆ นี้มาทำให้  ขุดบ่อ สร้างโรงเรือน โน่นนั่นนี่ ทำรื้อทำรื้อกันอยู่หลายหน เพราะยังไม่ถูกใจ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกันไปเรื่อยๆ จนเริ่มลงตัวครับ”

แม้จะมีระบบรดน้ำอัตโนมัติ แต่ก็มีการรดน้ำผักด้วยมือในส่วนที่น้ำไปไม่ถึง เพื่อลดปัญหาผักเหี่ยวเฉา หรือมีรสขมเพราะได้รับน้ำไม่พอ

รู้ให้รอบ รู้ให้จริง ทำทุกสิ่งด้วยตัวเอง

ลุงเช็คตั้งใจจะลงมือทำทุกๆ อย่างเองตั้งแต่แรกเริ่ม รู้ให้จริง รู้ให้หมดในทุกๆ เรื่อง และลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก เมื่อเกิดปัญหาก็หาทางแก้ และหาความรู้อยู่ตลอดเวลา

“สมัยเด็กๆ ก็เคยปลูกผัก ทำสวนมาก่อนครับ พื้นเพทางบ้านเราก็เป็นชาวสวน และยังได้ความรู้จากที่เคยทำรายการ ได้เจอคนนั้นคนนี้ เคยทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องปลูกผัก การทำน้ำหมัก แต่ก็ไม่เคยได้ลงมือทำเอง เลยตั้งใจว่าจะลองทำ เพื่อเกิดความรู้อย่างจริงจัง เรียนรู้ว่าปลูกผักต้องทำยังไง ต้องรู้ตั้งแต่เรื่องของดิน เรื่องของปุ๋ย การเพาะต้นกล้า ย้ายปลูก ดูแล เราต้องลงมือทำเองทั้งหมด ขั้นตอนไหนต้องใช้อะไรบ้าง ใช้ปุ๋ยอะไร ใช้ฮอร์โมนอะไร ใช้ยาอะไร วิธีการตัดผัก การแพ็ค ไปจนกระทั่งถึงการขาย เวลามีปัญหาต้องทำยังไง หาวิธีแก้ไข เราต้องหาความรู้ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ ครับ”

ที่นี่เราเพาะเมล็ดเอง โดยใช้พีทมอสออแกนิคเป็นวัสดุเพาะ

“เราทำปุ๋ย ทำฮอร์โมน ทำน้ำหมัก สารไล่แมลง ทำทุกอย่างกันเอง เรียนรู้ด้วยตัวเองจากยูทูปบ้าง ไปดูจากที่อื่นๆ บ้าง วัตถุดิบที่ต้องใช้ก็หาเอาในพื้นที่ อย่างน้ำหมักปลาที่ไว้ใช้เป็นธาตุอาหารกับผัก เราก็ไปซื้อเศษปลามาจากตลาดมาหม ถ้าเป็นพวกน้ำหมักหวานเพื่อใช้บำรุงผักเราก็ใช้พวกผลไม้ในสวนมาหมัก มะละกอบ้าง กล้วยบ้างหรืออย่าปุ๋ยหมักที่เราใช้ในฟาร์ม เราทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง ใช้ใบไม้ร่วงๆ ในฟาร์มมาหมัก ไปซื้อฟางมาจากอยุธยา ขี้วัวไปซื้อมาจากราชบุรี นครปฐม มวกเหล็ก เอามากองซ้อนสลับกันเป็นชั้นๆ รดน้ำแล้วหมักทิ้งไว้นานกว่า3 เดือน แล้วค่อยเอามาใช้ครับ”

ดินปลูกผักเราทำเอง เตรียมเอง โดยใช้ปุ๋ยหมักที่ทำไว้ผสมกับแกลบผุและขี้เถ้า แรกเลยนำสูตรผสมที่เขาทำๆ กันมาทดลองใช้ แล้วค่อยปรับอัตราส่วนให้เหมาะกับผักของเรา

ปลูกไว้กินเอง แจกจ่าย จนเริ่มกลายเป็นรายได้

จากที่ได้เดินดูรอบๆ ฟาร์ม สังเกตได้ว่าที่นี่เป็นฟาร์มที่มีความหลากหลาย มีทั้งกองปุ๋ย บ่อปลา บ่อเลี้ยงกบ เลี้ยงหอย เลี้ยงไก่ ปลูกต้นไม้หลากหลายมากมาย ทั้งไม้ดอก ไม้ผล รวมถึงแปลงปลูกผัก ที่มีทั้งที่ปลูกกระจายอยู่ทั่วไป แปลงแบบยกร่อง รวมไปถึงโรงเรือนปลูกผักสลัดขนาดย่อมๆ ถึง 3 โรงเรือน

“ที่นี่หลักๆ เน้นในเรื่องของการปลูกผักครับ ทั้งผักที่ใช้ในครัวเรือนทั่วๆ ไป และผักสลัด ด้วยความที่ตัวเองก็อายุมากแล้ว ก็ต้องเริ่มหันมาบริโภคผักให้มากขึ้น ถ้าเป็นผักทั่วๆ ไป เราจะกินได้น้อย แต่ถ้าเป็นผักสลัดเราเอามาทานสดได้ กินได้เยอะขึ้นครับ จากที่เริ่มปลูกไว้กินเอง พอผลผลิตมีมากขึ้นก็เอาไปแบ่งให้คนนั้นคนนี้ แจกจ่ายให้เพื่อนฝูง ผู้มีพระคุณ เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น เริ่มมาขอซื้อ ที่บริษัทเองก็ซื้อไปจัดตระกร้าให้ลูกค้าด้วยครับ”

ดินปลูกผักเราทำเอง เตรียมเอง โดยใช้ปุ๋ยหมักที่ทำไว้ผสมกับแกลบผุและขี้เถ้า แรกเลยนำสูตรผสมที่เขาทำๆ กันมาทดลองใช้ แล้วค่อยปรับอัตราส่วนให้เหมาะกับผักของเรา

“เราเริ่มขายผักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ลูกค้ามาจากลูกน้องในบริษัทบ้าง กลุ่มแฟนคลับจากแฟนเพจบ้าง รวมไปถึงกลุ่มไลน์ของเราเอง มีลูกค้าขาจรที่เข้ามาซื้อบ้าง ส่วนใหญ่เราจะตัดขายตามออเดอร์ครับ มีทั้งผักสลัด กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค กรีนคอส มินิคอส บัตเตอร์เฮด ฟิลเลย์ และผักอื่นๆ เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้ง พริก กะเพรา โหระพา บางทีก็มีคะน้าเห็ดหอม ถั่วฝักยาว แตงกวา แต่ก็ไม่ได้มีตลอดทุกรอบ ชนิดของผักจะยึดจากตัวเราเป็นหลักครับ ที่บ้านเราชอบกินอะไร เราก็ปลูกอันนั้น ซื้อเขากินอาจมีสารพิษ ก็ปลูกกินเองดีกว่า ที่เหลือก็พอเอามาแบ่งปันแบ่งขายครับ”

แปลงปลูกผักแบบทำเป็นกระบะปลูก ก่อด้วยอิฐอย่างง่ายๆ พื้นโรยด้วยหินคลุก ช่วยป้องกันไม่ให้หอยทากคลานเข้าสู่แปลงผักได้

“เราสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ผักสลัดทางออนไลน์ เพาะกล้า ย้ายปลูก ให้ปุ๋ย ให้ฮอร์โมน รดน้ำ ตัดผัก ล้างและแพ็คกันเองทุกขั้นตอนครับ วงรอบของผักสลัด คือ เพาะต้นกล้าประมาณ 14 วัน ย้ายไปปลูกต่ออีก 2-3 อาทิตย์ รวมแล้วเฉลี่ยรอบละ 30-45 วันเราเพาะกล้ากันทุกอาทิตย์ ปลูกกันทุกอาทิตย์ การปลูกผักเราต้องทำงานกันทุกวัน ต้องอยู่กับมันตลอด เป็นการฝึกให้เราอยู่กับตัวเองได้ดีนะครับ การที่เราค่อยๆ หยอดเมล็ดลงไปทีละเมล็ด ค่อยๆ ย้ายต้นกล้าทีละต้น รากแต่ละรากมันบอบบางมาก เป็นอะไรที่ต้องนิ่งต้องระวัง ต้องทนอยู่กับความน่าเบื่อนี้เพราะเราต้องอยู่กับมันเป็นวันๆ ส่วนปริมาณของผักแต่ละชนิดในแต่ละรอบจะไม่แน่นอน เราจะปลูกคละๆ กัน หมุนเวียนชนิดกันไป ในรอบนั้นมีอะไรก็ขายอันนั้นครับ”

ภายในโรงเรือนปลูกผักสลัดขนาดประมาณ 80 ตารางวา ยกเป็นโต๊ะสูง ช่วยป้องกันปัญหาเรื่องแมลงไปได้เยอะ แบะยังกันพวกหอยทาก หอยเจดีย์ไม่ให้เข้ามาทำลายผัก

จากชุมชนสู่คนเมือง

เมื่อถามถึงแนวทางในอนาคตของฟาร์ม-เล็ก-เล็กว่าลุงเช็ควางแผนอย่างไรไว้บ้างนั้น

“ที่ผ่านมามีคนสนใจขอเข้าชมฟาร์มอยู่เรื่อยๆ ครับ แต่ด้วยอุปสรรคหลายๆ อย่าง เราเองก็ไม่นิ่ง ไม่ค่อยว่าง ภารกิจเยอะ จนช่วงต้นปีที่ผ่านมาพอมีเวลา ผมเลยคิดจะทำกิจกรรม “ปัน แปลง ปลูก” เปิดโอกาสให้คนที่อยากเรียนรู้ได้มาศึกษา มาปฏิบัตกันจริงๆ ทำทุกอย่างกันจริงๆ ทำปุ๋ย ปลูกผักแบบครบวงจร แต่มาติดเรื่องโควิด สุดท้ายก็ต้องเลื่อนโครงการออกไป รอจังหวะเหมาะๆ คงได้กลับมาทำกันครับ”

ผักสลัดปลูกได้ทั้งปี แต่ช่วงหน้าหนาวจะเติบโตได้ดี ต้นจะสวยกว่า ในกรุงเทพก็สามารถปลูกได้ดี ยกเว้นช่วงหน้าฝนต้นจะยืดเพราะแสงน้อย ส่วนหน้าร้อน ถ้าอากาศร้อนมาก โรคจะเยอะ
ด้านหน้าของฟาร์มมีแปลงปลูกผักที่ใช้ในครัวเรือน ที่เลือกปลูกตามชนิดที่อยากกินเป็นหลัก เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้าเห็ดหอม ถั่วฝักยาว แตงกวา หมุนเวียนกันไป เหลือก็แบ่งขายให้คนที่ต้องการ

“ผมตั้งใจให้ที่นี่เป็น community เล็กๆ ครับ มีอาคารสำหรับทำ workshop มีร้านกาแฟ มีร้านค้าเล็กๆ เราไม่ได้ตั้งใจจะเน้นเรื่องการขาย หรือทำเพื่อหารายได้นะครับ ตั้งใจอยากให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ ให้คนที่สนใจเข้ามาใช้สถานที่ทำกิจกรรมได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนสอนหรือทำคอร์สเอง”

“นอกจากนี้ช่วงที่ผ่านมาจะมีน้องๆ ที่เขาได้รับผลกระทบจากโควิดต้องกลับไปทำมาหากินที่บ้าน บางคนก็ไปขายมังคุด ขายทุเรียน บางคนก็ทำอาหารทะเล ทำประมงพื้นบ้าน ผมอยากให้ที่นี่มีส่วนที่จะช่วยเหลือพวกเขา ช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้ ให้เขาเอาของที่เขามีมาขายส่วนเราเองก็อาจจะมีพวกดินปลูก ปุ๋ย ฮอร์โมนแบ่งขายให้คนที่อยากได้ เพราะถามกันเข้ามามากครับ”

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจ อยากเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม-เล็ก-เล็ก สามารถติดต่อสอบถาม นัดล่วงหน้าได้ที่โทร. 06-1063-3631 หรือติดต่อผ่านแฟนเพจ https://www.facebook.com/pueanburabhalittlefarm/ ได้เช่นกันครับ


เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : อนุพงษ์  ฉายสุขเกษม

เรื่องเล่าจากสวนผักบนดาดฟ้า ห้องทดลองปลูกของ “แพรี่พาย”

“ปูเป้ทำเอง” สวนครัวหน้าบ้านของคนที่ทำทุกอย่างใช้เอง