รู้เรื่องกัญฯ วิธี ปลูกกัญชา ฉบับเบสิก

ในที่สุดก็มาถึงวันที่ ปลูกกัญชา ได้อย่างเสรี จากการ “ปลดล็อคกัญชา” ออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาที่มี THC (สารเมา) เกิน 0.2% ที่ผู้ผลิตจะต้องได้รับอนุญาตผลิตและจำหน่ายตามกฎหมาย

สิ่งสำคัญอย่างแรกเมื่ออยากปลูกกัญชา คือต้องรู้ก่อนว่า วิธี ปลูกกัญชา ต้องปลูกเพื่ออะไร เพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือเพื่อทางการแพทย์ ซึ่งหากเป็นข้อหลังต้องถามต่อไปว่ากลุ่มลูกค้าคือแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกปลูกสายพันธุ์ที่เหมาะสม

แม้จะมีอิสระในการปลูก แต่ก่อนอื่นลองมาทำความเข้าใจหลักการพื้นฐาน ธรรมชาติของกัญชา การใช้ประโยชน์ และขอบเขตการผลิตที่ถูกกำหนดไว้กันสักนิด

วิธี ปลูกกัญชา

วิธี ปลูกกัญชา ต้องรู้จักสายพันธุ์

โดยทั่วไปแล้วสายพันธุ์กัญชามี 3 สายพันธุ์หลักๆ ที่รู้จักกันทั่วโลกคือ sativa (ซาติวา) indica (อินดิกา) และ ruderalis (รูเดอราลิส) นอกเหนือจากนี้จะเป็นลูกผสมที่เกิดขึ้นจากทั้ง 3 สายพันธุ์เรียกกันว่า Hybrid ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์มีลักษณะแตกต่างกันคือ

Cannabis sativa 

ลำต้นตั้งตรง ใบประกอบแบบรูปมือ มีใบย่อย 5-8 ใบ ใบเรียวยาว ขอบใบจักฟันเลื่อย ออกดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ต้นสูงได้มากถึง 6 เมตร แต่ออกดอกน้อยกว่ากัญชาชนิดอื่น พร้อมเก็บเกี่ยว 9-16 สัปดาห์ เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่แดดแรง อากาศร้อน แถบเส้นศูนย์สูตรอย่างเมืองไทย มีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท (Psychoactive) สูง จึงนิยมใช้เพื่อการสันทนาการ เพิ่มความอยากอาหาร ลดอาการซึมเศร้า และช่วยบรรเทาไมเกรน แต่ผลข้างเคียงคือ อาจมีอาการคลื่นไส้

Cannabis indica 

ใบประกอบแบบรูปมือ มีใบย่อย 5-8 ใบ ทรงพุ่มเตี้ย 180 เซนติเมตร ใบกว้างและสีเข้มกว่า sativa ใช้เป็นสัญลักษณ์ของใบกัญชาที่เห็นกันทั่วไป ออกดอกปริมาณมาก ระยะเวลาการเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยว 6-8 สัปดาห์ ชอบที่ร่มและอากาศเย็น อินดิกามีสาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งออกฤทธิ์ระงับประสาท (Sedative) ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการปวดเรื้อรัง จึงนิยมใช้กันในทางการแพทย์ ช่วยให้ผ่อนคลาย ระงับอาการปวด รักษาโรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า และโรคกล้ามเนื้อกระตุก เป็นต้น มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย

Cannabis ruderalis 

ลักษณะพิเศษคือใบมีสามแฉกและขนาดเล็กกว่าชนิดอื่น มีลำต้นเตี้ย เติบโตเร็ว อยู่ได้ทั้งอากาศร้อนและเย็น มีสาร THC น้อยแต่มี CBD สูง มักนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ (Hybrid)

ซาติวา และอินดิกา จัดอยู่ในกลุ่ม Photoperiod (โฟโต้พีเรียด) อ่อนไหวง่ายกับแสง จะเติบโตตามชั่วโมงแสง เมื่อโตเต็มที่แล้วลดชั่วโมงแสงจึงจะออกดอก ขยายพันธุ์โดยการชำกิ่งได้ ต่างจากกลุ่ม Auto flowering (ออโต้ฟลาวเวอริ่ง) ที่เป็นลูกผสมของรูเดอราลิสกับซาติวาหรืออินดิกา จะออกดอกได้เร็วเพียง 10 สัปดาห์ แต่ต้องปลูกจากเมล็ดเท่านั้น

สาร THC CBD คืออะไร??

ปลูกกัญชา

กัญชา มีสารสำคัญที่ที่เรียกรวม ๆ ว่า cannabinoids กว่า 500 ชนิด แต่ที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และมีสรรพคุณมากที่สุด 3 ชนิดคือ THC ,CBD และ CBN ซึ่งเป็นสารที่มีการศึกษาสรรพคุณมากที่สุด พบมากในช่อดอกเพศเมีย ซึ่งปริมาณสาร THC ,CBD ที่ได้จากสารสกัดกัญชาถูกกำหนดไว้ต้องไม่เกิน 0.2% หากเกินกว่านั้นถูกจัดให้เป็นสารเสพติดให้โทษ

ปริมาณ THC และ CBD จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งกระบวนการสกัดสาร ส่วนที่ใช้สกัดอย่างช่อดอกเพศเมียจะมีปริมาณสูง แต่ใบ ราก กิ่งก้าน ลำต้น ต่างมีสารเหล่านี้ประกอบในปริมาณที่น้อยมาก จึงสามารถบริโภคใบกัญชาได้ 5-8 ใบต่อวัน

Tetrahydrocannabinol (THC) หรือ สารเมา มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ช่วยรักษาอาการปวดประสาทตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเนื่องมาจากปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ ระงับการปวดแบบเรื้อรังเช่นปวดตามข้อ ป้องกันการตายของระบบประสาท สามารถช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้ดี 

Cannabidiol (CBD) ช่วยลดความรุนแรงจากผลเสียของการได้รับสาร THC มากเกินไป บรรเทาอาการของโรคลมชักและความผิดปกติของระบบประสาท บรรเทาอาการเจ็บปวดจากการอักเสบ ช่วยลดอาการปวดข้อและไม่มีความเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการง่วงนอน คลายกังวล ระงับอาการทางจิต

Cannabinol (CBN) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย คล้ายกับ THC แต่ฤทธิ์น้อยกว่า เพราะเกิดจากการสายตัวของ THC ด้วยความร้อนและออกซิเจนในอากาศ จึงพบน้อยในการบริโภคแบบสด

4 ระยะในปลูก วิธี ปลูกกัญชา

กัญชาเป็นพืชต้องการแสงมากถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับสายพันธุ์ซาติวาที่เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองไทยควรเริ่มปลูกในช่วงเดือนมิ.ย. – ก.ย. ซึ่งเป็นฤดูฝนที่มีแสงแดดยาวนานถึง 14 ชั่วโมงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวที่แสงสั้นลงจะทำให้กัญชาออกดอกได้ดีขึ้น ทั้งนี้ระยะเวลาการเติบโตขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้นๆ โดยแบ่งระยะในการเติบโตเป็น 4 ช่วงหลักๆ ด้วยกัน  

1 การเพาะเมล็ด (Germination) เมล็ดที่ดีต้องอวบแน่นสมบูรณ์ ผิวแข็งเรียบเนียน สีค่อนข้างไปทางน้ำตาลแก่ ขั้วแห้งสุก ไม่มีรอยปริแตก นำไปแช่น้ำ 2 ชั่วโมง แล้วเก็บในที่มืดและอุ่น ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง จากนั้นวางเมล็ดข้างๆ กระดาษชำระชุ่มน้ำในกล่อง แล้วปิดด้วยกระดาษชำระชุ่มน้ำอีกชั้น

2 การอนุบาล (Seedling) หลังจากรากเริ่มงอกให้นำปลูกลงกระถาง การผสมวัสดุปลูกจะต้องร่วยซุย ชื้นแต่ไม่แฉะ แต่ต้องมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ไม่ต่างจากการปลูกต้นไม้ทั่วๆ ไป และสิ่งสำคัญคือต้องปลอดสารปนเปื้อน สามารถใช้ได้ทั้งพีทมอสส์ ผสมกับเพอร์ไรต์ หรือวัสดุปลูกอื่นๆ อย่าง เวอร์มิคูไล หินพัมมิช ขุยมะพร้าว เป็นต้น

3 ระยะเลี้ยงใบ (Vegetative) เป็นช่วงที่ต้องการปุ๋ยไนโตรเจนเป็นหลักเพื่อสร้างรากและใบ ช่วงนี้สามารถเพิ่มปุ๋ยมูลไส้เดือน ฮอร์โมนไข่ ช่วยเพิ่มธาตุอาหารได้ ต้องการแสง 16-20 ชั่วโมง กัญชาเป็นพืชที่มีรากขยายยาวการเลือกขนาดกระถางจึงมีความสำคัญมาก ควรเลือกกระถางทรงสูงและมีขนาดใหญ่เพื่อให้รากได้แผ่ขยายได้ทั่ว

4 ระยะทำดอก (Flowering) เป็นช่วงที่ดอกเริ่มแสดงเพศ ซึ่งจะมีช่อดอกเพศผู้และเพศเมีย ส่วนใหญ่แล้วจะตัดดอกเพศผู้ทิ้ง ให้เหลือเพียงดอกเพศเมียเพื่อเก็บเกี่ยวเท่านั้น ระยะนี้ให้เพิ่มปุ๋ยที่โพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง เช่นปุ๋ยมูลค้างคาว เพื่อช่วยเร่งดอก ช่วงทำดอกอุณหภูมิต้องเย็น ลดความชื้น ระวังปัญหาเชื้อรา

หลังจากอายุดอกสมบูรณ์เข้าสู่ช่วงระยะเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวจะต้องสังเกตไตรโคม (Trichomes) ตรงช่อดอก ลักษณะคล้ายเรซิ่นใส เมื่อต้นกัญชาเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ ไตรโคมจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นส่งสัญญาณว่าพร้อมเก็บเกี่ยว สีไตรโคมแบ่งได้ 3 ระยะ ได้แก่ สีใส สีมิลกี้ (สีขาวขุ่น) และสีเหลืองอำพัน การเก็บเกี่ยวช่อดอกในระยะดอกมีสีมิลกี้ ประมาณ 70% ระยะสีเหลืองอำพัน ประมาณ 30% จะให้สารสำคัญอย่าง THC CBD สูงมาก หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการอบแห้งในลำดับต่อไป

วัสดุปลูก น้ำ ปุ๋ย ศัตรูพืช

กัญชาปลูกง่ายไม่ต่างจากพืชผักสวนครัวที่ต้องใส่ใจในวัสดุปลูกที่ต้องมีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเติบโต รดด้วยน้ำที่สะอาด และป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชเพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัสดุปลูก –สามารถใช้ดินปลูกได้เหมือนต้นไม้ทั่วไป หรือผสมวัสดุปลูกเฉพาะเพื่อให้ธาตุอาหารที่หลากหลาย สำคัญคือต้องร่วนซุย ชื้นแต่ไม่แฉะ ระบายน้ำดี

น้ำ –ใช้น้ำสะอาดควรมีค่า ph 6.3-6.8 สามารถใช้น้ำประปารดได้แต่ต้องปรับค่า ph ให้เหมาะสม

ปุ๋ย – ปุ๋ยอินทรีย์ เช่นมูลไส้เดือน มูลค้างคาว

ศัตรูพืช – ศัตรูพืชของกัญชาพบมากใน 2 ช่วง คือ เพลี้ยกระโดดในช่วงทำใบ และไรแดงในช่วงทำดอก กำจัดโดยใช้สาร น้ำส้มควันไม้ สารสะเดา หรือใช้แมลงห้ำแมลงเบียน แมลงศัตรูธรรมชาติช่วยกำจัด

วิธี ปลูกกัญชา กลางแจ้งหรือในโรงเรือนแบบปิด

ปลูกกัญชา

การเลือกปลูกกลางแจ้ง ปลูกในโรงเรือนแบบปิด หรือปลูกในกรีนเฮ้าส์ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการปลูกและความสะดวกของผู้ปลูกเป็นหลัก ซึ่งข้อดีข้อด้อยในการปลูกแต่ละแห่งก็แตกต่างดังนี้

ปลูกกลางแจ้ง : การปลูกกลางแจ้งเหมือนเป็นปลูกให้เติบโตเป็นไปตามธรรมชาติ อิงแสงตามฤดูกาล ใช้ต้นทุนน้อย แต่ต้องระวังศัตรูพืช จึงมีข้อจำกัดที่จะเก็บเกี่ยวได้ปีละครั้งตามแสงในแต่ละฤดู และเหมาะที่จะปลูกเฉพาะสายพันธุ์ที่ปลูกในเมืองไทยได้ดี ทำให้มีความเสี่ยงสูงหากผลิตในปริมาณที่มาก

โรงเรือนแบบปิด : ใช้แสงไฟในการเจริญเติบโต จึงสามารถควบคุมปริมาณแสงให้เพียงพอกับความต้องการได้ จึงสามารถผลิตได้จำนวนมาก ปลูกได้หลายรอบใน 1 ปี ไม่มีแมลงศัตรูพืช แต่ต้นทุนในการสร้างโรงเรือนและติดตั้งระบบควบคุมสูงมากด้วยเช่นกัน

โรงเรือนกรีนเฮ้าส์ : การปลูกในโรงเรือนกรีนเฮ้าส์จะใช้แสงธรรมชาติผ่านหลังคาโปร่งแสง สามารถติดตั้งหลอดไฟเพิ่มปริมาณแสงได้ ป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ดี แต่มีปัญหาเรื่องอากาศที่อบร้อนจึงต้องติดตั้งระบบระบายอากาศด้วย ต้นทุนไม่สูงเท่าโรงเรือนแบบปิด และดูแลง่ายกว่าการปลูกกลางแจ้ง เหมือนเอาข้อดีของโรงเรือนทั้ง 2 แบบมารวมกัน

ปลูกแล้วต้องจดแจ้งอย่างไร

หลังจากปลดล็อคกัญชาจากการเป็นสารเสพย์ติดให้โทษ ประเภท 5 มีผลทำให้ไม่ต้องอนุญาตผลิตเฉกเช่นที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าสามารถผลิตทุกส่วนของกัญชาได้อย่างเสรี ทั้งช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น รากและเมล็ด (ยกเว้นเพียงสารสกัดของกัญชาที่มีค่า THC และ CBD เกิน 0.2% ยังคงผิดกฎหมาย) แต่ห้ามนำเข้าและส่งออกทุกๆ ส่วน (ยกเว้นได้รับอนุญาต)

นั่นหมายความว่า ทุกครัวเรือนสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนโดยไม่ผิดกฎหมาย ทั้งทางการแพทย์ หรือ สันทนาการ ซื้อขายส่วนต่างๆ ได้อย่างเสรียกเว้นเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ที่ต้องขอรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 

ทั้งนี้อย่าวู่วาม เมื่อ พ.ร.บ กัญชา ประกาศใช้อาจจะมีข้อกำหนดอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

อาหาร เครื่องสำอาง สารสกัดจากกัญชา ผลิตอย่างเสรีได้หรือไม่

การใช้ผลผลิตจากกัญชาเพื่อจำหน่าย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง หรือสารสกัดจากกัญชา ยังคงต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผลิตภัณฑ์นั้นๆ ต้องมีสาร THC และ CBD ไม่เกิน 0.2%

-อาหาร ให้ขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหารเพื่อรับเลขสารบบอาหาร และยื่นขอสถานที่ผลิตอาหาร โดยศึกษาข้อมูลได้จากกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

-เครื่องสำอาง ต้องนำผลิตภัณฑ์ไปจดแจ้งและมีฉลากภาษาไทยระบุข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนนำมาจำหน่าย ใช้กับผลิตภัณฑ์ภายนอกที่ล้างออกเท่านั้น และน้ำมันกัญชาต้องมีสาร THC 0.001% เท่านั้น

-สารสกัดจากกัญชา ต้องขออนุญาตผลิตสารสกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด หากจำหน่ายสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2% สามารถจำหน่ายได้ หากเกิน 0.2% ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายสารเสพติดให้โทษและผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาตด้วยเช่นกัน  

ปลูกอย่างไรให้คุ้มทุน

วิธี ปลูกกัญชา

กัญชา กลายพืชมาแรงแห่งปีที่ได้รับความสนใจทั้งการใช้ประโยชน์ทางด้านอาหาร ทางการแพทย์ และสันทนาการ จนน่าจับตาว่านี่อาจจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของเมืองไทยได้หรือไม่ และคุ้มความเสี่ยงไหมหากลงทุนปลูกเพื่อสร้างรายได้เป็นอาชีพ คำตอบที่ได้จากแอดมินเพจ ปฏิวัติกัญชา (ไม่เปิดเผยชื่อ) ผู้คลุกคลีในด้านกัญชาทางการแพทย์ บอกไว้ว่า “ยังไม่ใช่ตอนนี้”

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการปลูกกัญชาให้ได้ในปริมาณมากเพื่อสร้างรายได้ที่แน่นอนต้องใช้ต้นทุนสูง ต้องควบคุมการผลิตในโรงเรือนซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอัตราผลผลิตที่ได้ กว่าจะคืนทุนต้องใช้เวลาหลายปี เกิดความเสี่ยงในการขาดทุนสูง แต่หากปลูกกลางแจ้งลงทุนน้อย โดยเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับภูมิอากาศของเมืองไทย อย่างพันธุ์ซาติวา หรือลูกผสมซาติวา ที่เติบโตได้ดีในแถบเส้นศูนย์สูตร แต่อายุเก็บเกี่ยวยาวนานกว่าสายพันธุ์อินดิกาหรือลูกผสม Hybrid ที่ให้ผลผลิตที่เร็วกว่า แต่ใช้ปริมาณแสงยาวนานซึ่งต้องปลูกในโรงเรือนควบคุมแสงเป็นการลงทุนที่สูงขึ้นด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น สถิติการใช้กัญชารักษาทางการแพทย์ กว่า 2 แสนรายที่เกิดขึ้น สัดส่วนการสั่งจ่ายยาโดยแพทย์แผนไทยคิดเป็น 85% ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันมีเพียง 15% เท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าการเติบโตในทางการแพทย์แผนปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องที่ต้องการการสนับสนุนผลักดันอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน

แต่หากมองมิติความคุ้มทุนในแง่สุขภาพ ปลูกบริโภคในครัวเรือนในรูปแบบสมุนไพร เพื่อดูแลสุขภาพ รักษาอาการเจ็บป่วย ลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ที่ต้องรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันที่ใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากมองเช่นนี้ ปลูกกัญชาในครัวเรือน คุ้มทุนแน่นอน

เรื่อง JOMM YB

ภาพประกอบ มนธีรา มนกลาง

ปลูกกัญชาในโรงเรือนอัจฉริยะแบบ Smart Farming คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต

ปลูกกัญชา ทำนา ทำไร่ หลายรูปแบบทำเกษตร ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้

ปลูกกัญชาในโรงเรือนอัจฉริยะ