ทะเบียนเกษตรกร

หลายรูปแบบทำเกษตรที่ขึ้น ทะเบียนเกษตรกร ได้

ทะเบียนเกษตรกร
ทะเบียนเกษตรกร

หลังจาก คู่มือการขึ้นทะเบียนและปรับปรุง ทะเบียนเกษตรกร ปี 2566/2567 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีระบบใหม่คือให้เกษตรกรดำเนินการด้วยตนเอง ผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook สำหรับเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม และผ่าน e-Farmbook ที่ https://efarmer.doae.go.th สำหรับเกษตรกรรายใหม่ แปลงใหม่ e-Form

ความน่าสนใจของคู่มือการขึ้นทะเบียนและปรับปรุง ทะเบียนเกษตรกร คือการใช้ระบบดิจิตัลเข้ามาเป็นตัวช่วยให้การขึ้นทะเบียน ทั้งการบันทึกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น Farmbook Application และแจ้งข้อมูลผ่าน e-Form ที่เว็บไซต์ทะเบียนเกษตรกร การวาดแปลงเกษตรดิจิตัล ซึ่งสามารถนำข้อมูลภาพมาเทียบกับถ่ายทางดาวเทียมหากประสบภัยพิบัติได้ง่ายขึ้น ช่วยให้การรับความช่วยได้เร็วขึ้น รวมทั้ง สามารถนำไปซ้อนทับกับชั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของแปลงนั้นๆ เช่น ความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เขตชลประทาน ชั้นคุณภาพน้ำบาดาล พื้นที่ต้นน้ำ รวมถึงการวิเคราะห์ สถานที่ตั้งของแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการ

สำหรับข้อมูลอัปเดทใหม่ ในปี 2566/67 เกษตรกรรายย่อยที่มีเนื้อที่การเพาะปลูกขั้นต่ำแต่ละชนิดไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ แต่ต้องมีรายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการประกอบการเกษตรในเนื้อที่แจ้งขึ้นทะเบียนดังกล่าวในรอบปีเพาะปลูกนั้นๆ เกิน 8,000 บาท ขึ้นไป

ทำไมต้องขึ้น ทะเบียนเกษตรกร ??

การขึ้นทะเบียนเกษตรกรและอัปเดทข้อมูลในทุกปีจะทำให้ภาครัฐสามารถวางแผนการผลิต การตลาด ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและจัดทำโครงการมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่หน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรไปใช้เป็นข้อมูลประกอบโครงการและมาตรการเพื่อให้การสนับสนุน และช่วยเหลือเกษตรกรเป็นจำนวนมากในปีที่ผ่านมา เช่น

  • การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช
  • โครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  • โครงการส่งเสริมปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง
  • โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี
  • โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี
  • โครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ (ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์)
  • ฯลฯ

เงื่อนไขหลักๆ ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ครัวเรือนเกษตรที่ขึ้นทะเบียนจะต้องประกอบการเกษตรเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพรองก็ได้ โดย 1 ครัวเรือน จะมีผู้แทนมาขอขึ้นทะเบียนได้เพียง 1 คน ซึ่งจะถือว่าเป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตร โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าครัวเรือนตามทะเบียนบ้าน และหากเป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรแล้ว จะไม่สามารถเป็นสมาชิกของครัวเรือนเกษตรอื่นได้อีก และกำหนดให้ 1 ทะเบียนบ้าน สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้เพียง 1 ครัวเรือนเกษตรเท่านั้น

ทำเกษตรแบบไหนถึงจะขึ้น ทะเบียนเกษตรกร ได้??

ไปทำความรู้จักหลากหลายการประกอบการเกษตรที่ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุไว้ พร้อมข้อกำหนดในการแจ้งขึ้นทะเบียนกัน

ปลูกข้าว  พืชไร่ เพื่อ ทะเบียนเกษตรกร

  • เนื้อที่ 1 ไร่ ขึ้นไป
  • ข้าว กรณีเป็นการหว่านข้าวแห้งให้นับวันงอกเป็นวันปลูก ขึ้นทะเบียนหลังปลูก 15-60 วัน ตรวจสอบข้อมูลหลังแจ้งขึ้นทะเบียนจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว
  • พืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขึ้นทะเบียนหลังปลูก 15 – 60 วัน ตรวจสอบข้อมูลหลังแจ้งขึ้นทะเบียนจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว

ปลูกผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ สมุนไพร

  • เนื้อที่ 1 งาน ขึ้นไป
  • ขึ้นทะเบียนหลังปลูกแล้วไม่น้อยกว่า 15 วัน – ก่อนเก็บเกี่ยว ตรวจสอบข้อมูลหลังแจ้งขึ้นทะเบียนจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว
ทะเบียนเกษตรกร

ปลูกสวนป่า หรือ ปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะ

  • เนื้อที่ 1 ไร่ ขึ้นไป จำนวน 100 ต้นขึ้นไป
  • หลังปลูกแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน ถ้ายืนต้นอยู่ให้ปรับปรุงทุกปี

ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น แบบสวนเดี่ยว สวนแซม

  • เนื้อที่ 1 ไร่ ขึ้นไป *อ้างอิงจำนวนต้นต่อไร่ตามกำหนด
  • หลังปลูกแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน ถ้ายืนต้นอยู่ให้ปรับปรุงทุกปี
  • พืชแซมที่ต้องการแสงมาก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ปลูกแซมได้ไม่เกิน 4 ปีแรกของการปลูกพืชหลัก กรณีพืชแซมที่เป็นพืชเกื้อกูลกันจะไม่กำหนดระยะเวลาการแซม
  • การคิดพื้นที่ปลูกของพืชแซม กรณีพืชหลัก ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล ไม้ยืนต้น แซมด้วยพืชอายุสั้น (เฉพาะพืชแซมที่ต้องการแสงมาก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเลี้ยงสัตว์ สับปะรด) หรือพืชอายุมากกว่า 1 ปี หรือไว้หน่อไว้ตอ สามารถคงพื้นที่ 1 – 4 ปี โดยคิดที่ร้อยละ 80 ของพื้นที่ปลูกของพืชหลัก
  • กรณีพืชหลักเป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น ต่างๆ เช่น มังคุด มะพร้าว แซมด้วยพืชที่เกื้อกูลกัน สามารถปลูกได้เต็มพื้นที่

จำนวนอ้างอิงในการปลูกไม้ผล

ทะเบียนเกษตรกร

ปลูกพืชแบบเกษตรผสมผสาน ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

  • เนื้อที่ 1 ไร่ ขึ้นไป *อ้างอิงจำนวนต้นต่อไร่ตามกำหนด
  • สวนผสม หมายถึง การเพาะปลูกพืชหลายชนิดปะปนกัน ในพื้นที่เดียวกัน มีอาณาเขตของสวนที่แน่นอนแต่ระยะปลูกของพืชแต่ละชนิดไม่แน่นอน และอาจมีการเลี้ยงสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำร่วมด้วยการคิดพื้นที่ปลูกของสวนผสมหากเป็นไม้ผลไม้ยืนต้นให้นับเป็นจำนวนต้น
  • เกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable agriculture) หมายถึง การทำการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม และความสมดุลของสภาพธรรมชาติ เป็นระบบการผลิตทางการเกษตร หรือระบบฟาร์มในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับภูมินิเวศของแต่ละพื้นที่ จัดเป็นระบบการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งจำแนกตามลักษณะการผลิตว่าจะเน้นหนักด้านใด หรือมีจุดเด่นที่ต่างกันออกไปอย่างไร มีรูปแบบระบบเกษตรกรรม 5 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรผสมผสาน (Integrated farming)  เกษตรอินทรีย์ (Organic farming) เกษตรธรรมชาติ (Natural farming) เกษตรทฤษฎีใหม่ (New theory agriculture) วนเกษตรหรือไร่นาป่าผสม (Agroforestry)

เพาะเห็ด ทำผักงอก

  • ปลูกบนเนื้อที่ 30 ตร.ม. ขึ้นไป
  • แจ้งขึ้นทะเบียนหลังปลูก 15 วัน ตรวจสอบข้อมูลหลังแจ้งขึ้นทะเบียนจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 

เพาะปลูกพืชในระบบโรงเรือนถาวร

  • ขนาด 6 x 12 เมตร (ขั้นต่ำ 72 ตร.ม.)
  • แจ้งขึ้นทะเบียนหลังปลูก 15 วัน ตรวจสอบข้อมูลหลังแจ้งขึ้นทะเบียนจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 

ทำนาเกลือสมุทร

  • เนื้อที่ 1 ไร่
  • หลังจากวันที่ปล่อยน้ำเข้าแปลงแล้ว 15 วัน – ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งสุดท้าย ตรวจสอบข้อมูลหลังแจ้งขึ้นทะเบียน จนถึงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งสุดท้าย
ทะเบียนเกษตรกร

เพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ

  • ผึ้ง 10 รัง / ชันโรง 20 รัง / จิ้งรีด ดวงสาคู ไส้เดือน 30 ตร.ม. 
  • แจ้งขึ้นทะเบียนหลังเลี้ยงไม่น้อยกว่า 15 วัน – ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ตรวจสอบข้อมูลหลังแจ้งขึ้นทะเบียน จนถึง ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต
  • หากเกษตรเลี้ยงด้วงสาคู ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากชุมชน ให้ดำเนินการเลี้ยงด้วงสาคูได้

ปลูกกัญชง

  • ปลูกกลางแจ้ง เป็นสมุนไพร เนื้อที่ 30 ตร.ม. ไม่น้อยกว่า 6 ต้น / ปลูกกลางแจ้ง เป็นพืชไร่ (เส้นใย) เนื้อที่ 1 ไร่ / ปลูกในโรงเรือนถาวร เป็นสมุนไพร เนื้อที่ 30 ตร.ม.
  • แจ้งขึ้นทะเบียนหลังปลูก 15 วัน ตรวจสอบข้อมูลหลังแจ้งขึ้นทะเบียนจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 
  • การคำนวณเนื้อที่ขั้นต่ำของกิจกรรมการเกษตรสามารถนับรวมจากหลายแปลง หลายเอกสารสิทธิ์ได้ แต่ต้องเป็นแปลงที่อยู่ติดกันเท่านั้น

ปลูกกัญชา

  • ปลูกกลางแจ้ง เป็นสมุนไพร เนื้อที่ 30 ตร.ม. ไม่น้อยกว่า 6 ต้น / ปลูกในโรงเรือนถาวร เป็นสมุนไพร เนื้อที่ 30 ตร.ม. 
  • แจ้งขึ้นทะเบียนหลังปลูก 15 วัน ตรวจสอบข้อมูลหลังแจ้งขึ้นทะเบียนจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 
  • การคำนวณเนื้อที่ขั้นต่ำของกิจกรรมการเกษตรสามารถนับรวมจากหลายแปลง หลายเอกสารสิทธิ์ได้ แต่ต้องเป็นแปลงที่อยู่ติดกันเท่านั้น

ปลูกกระท่อม เพื่อขึ้น ทะเบียนเกษตรกร

  • ปลูกกลางแจ้ง เป็นสมุนไพร เนื้อที่ 1 งาน ไม่น้อยกว่า 20 ต้น 
  • แจ้งขึ้นทะเบียนหลังปลูกแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน ถ้ายืนต้นอยู่ให้ปรับปรุงทุกปี ตรวจสอบข้อมูลหลังแจ้งขึ้นทะเบียน จนถึง 60 วัน
  • ต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล กรณีเป็นนิติบุคคล จะต้องมีการมอบหมายตัวแทนมาขึ้นทะเบียน
  • การคำนวณเนื้อที่ขั้นต่ำของกิจกรรมการเกษตรสามารถนับรวมจากหลายแปลง หลายเอกสารสิทธิ์ได้ แต่ต้องเป็นแปลงที่อยู่ติดกันเท่านั้น

ดาวน์โหลดคู่มือขึ้นทะเบียนเกษตรกร

เรื่อง JOMM YB

ภาพ มนธีรา มนกลาง

ปลูกกัญชาในโรงเรือนอัจฉริยะแบบ Smart Farming คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต

ใช้ที่ดินเพื่อประกอบการเกษตร ปลูกแค่ 1 ไร่ก็ทำได้ จ่ายภาษีเพียง 0.01%