Bangkok Art Biennale 2022 ปรากฏการณ์งานอาร์ตสุดยิ่งใหญ่ที่กำลังจะกลับมาอีกครั้ง

เมืองไทยต้องกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังครั้งสำคัญกับทั้งภาครัฐและเอกชน ประกาศเปิดตัวเตรียมความพร้อมในการจัดงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ภายใต้แนวคิด “CHAOS : CALM  โกลาหล : สงบสุข” งานจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึง กุมภาพันธ์ 2566 

ด้วยความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมจากการจัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) หรือคนไทยจะคุ้นในชื่องาน BAB ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2018 และได้สร้างปรากฎการณ์ความยิ่งใหญ่ภายใต้แนวคิด “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” (Beyond Bliss) และจัดต่อเนื่องในปี 2020 เป็นครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “ศิลป์สร้าง ทางสุข” (Escape Routes) โดยมีหัวเรือใหญ่อย่างบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการจัดงานมีกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อปลุกกระแสและสร้างความตื่นตัวให้วงการศิลปะไทยและทั่วโลก พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่กับการเที่ยวชมงานศิลปะแบบ Virtual Tour ที่ทุกคนทั่วโลกสามารถชมงานได้อย่างทั่วถึง  

บรรยากาศและส่วนหนึ่งของผลงานที่แสดงในงาน BAB 2018 (งานครั้งที่ 1)

บรรยากาศและส่วนหนึ่งของผลงานที่แสดงในงาน BAB 2020 (งานครั้งที่ 2)

แนวคิด “CHAOS : CALM  โกลาหล : สงบสุข” เป็นธีมหลักของงาน BAB 2022  

ปี พ.ศ. 2564-2565 จะเป็นช่วงเวลาที่คับขันอันเนื่องมาจากภัยคุกคามต่าง ๆ ทบทวีขึ้นจากโรคระบาดใหญ่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่การจัดการกับความไร้ระเบียบของโลกใหม่  ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่ฝังรากลึกและความแตกแยกด้วยความแตกต่างทางการเมือง การเหยียดเชื้อชาติและอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ชาวอเมริกันจำเป็นต้องจำกัดการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของตนนอกประเทศ  ในทางตรงกันข้าม จีนซึ่งผ่านวิกฤติการระบาดใหญ่มาได้โดยไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ นั้นจะพัฒนาการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางต่อไป  การเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจในระดับโลก ปรากฏชัดเจนจากการที่การทำลายสภาพภูมิอากาศ การล่มสลายของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและความไม่มั่นคงในระดับนานาชาติได้นำโลกเข้าสู่ภาวะโกลาหล 

มวลมนุษยชาติได้ประสบกับความสิ้นหวัง ความโดดเดี่ยว ความกลัวและความตาย  คำว่า “คาวส์” (Chaos) ในจักรวาลวิทยากรีกหมายถึง สภาวะว่างเปล่าก่อนการก่อกำเนิดของเอกภพหรือจักรวาล  คาวส์มาก่อนเยอา (Gaea) และเอรอส (Eros) หรือโลกและความปรารถนา  ในสภาวะที่วุ่นวายโกลาหลและไร้ระเบียบ เราต้องอยู่กับการคาดการณ์อะไรล่วงหน้าไม่ได้และความกลัว เนื่องจากเราไม่คุ้นเคยกับภัยพิบัติรุนแรงที่มีผลกระทบติดตามมาแบบระลอกคลื่นเช่นนี้ 

การเร่งแข่งขันกันเพื่อให้ได้วัคซีนมาป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดทำให้เกิดปัญหาน่ากังวลอื่น ๆ ตามมา เป็นเรื่องขัดแย้งกันที่ว่าเมื่อมีปริมาณวัคซีนสำรองแล้ว แต่การทูตวัคซีนและสงครามวัคซีนกลับก่อให้เกิดปัญหาการกระจายวัคซีนและปริมาณวัคซีนในตลาดที่ไม่เท่าเทียม  ผู้ต่อต้านวัคซีนและผู้สงสัยจำนวนมากกังวลเรื่องการอนุมัติวัคซีนอย่างรีบเร่ง  ไม่มีหลักประกันใด ๆ เรื่องผลที่จะติดตามมาในระยะยาว ถึงแม้ว่าจะต้องล่าช้าและผิดหวัง ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือโควิด-19 (SARS-CoV2) ได้แตกสายพันธุ์ออกเป็นอัลฟา (B.1.1.7) เบตา (B.1.351) แกมมา (P.1) เดลตา (B.1.617.2) อีตา (B.1.525) ไอโอตา (B.1.526) แคปปา (B.1.617.1) แลมบ์ดา (C.37) และมิว (B.1.621)  วัคซีนทั้งหลายที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์และไวรัสเหล่านี้ก็มีแนวโน้มสูงมากที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน เช่นนี้หมายความว่าอะไร จะมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นอีก ต้องฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วยมากขึ้นอีกและสร้างกำไรให้ตลาดวัคซีนมากขึ้นอีก วงจรอุบาทว์นี้ได้นำหลายประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เนื่องจากรัฐบาลล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติและความโกลาหลวุ่นวาย

ผลกระทบของการระบาดใหญ่ที่มีต่อระบบนิเวศของวงการศิลปะ ทำให้เกิดภาวะตกต่ำอย่างรุนแรงทั่วโลก  การที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ศิลปะและงานสร้างสรรค์ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยต้องเผชิญปัญหาคุกคาม การยกเลิก การเลื่อนกำหนดและความล่าช้าตลอดจนการตัดงบประมาณและการเลิกจ้างงาน ส่งผลให้เกิดภาวะที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรล่วงหน้าได้ในทุกระดับ  เป็นเรื่องท้าทายที่ภาคส่วนต่าง ๆ ของศิลปะซึ่งสามารถฟื้นตัวและปรับตัวได้เร็วที่สุดจะหาทางรอดได้อย่างสร้างสรรค์

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมศิลปะระดับนานาชาติเพียงไม่กี่งานที่จัดขึ้นตามกำหนดการเดิม ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดใหญ่ในวงกว้างและความวุ่นวายทางการเมืองก็ตาม  แก่นความคิดหลักที่ว่า “ศิลป์สร้าง ทางสุข” นั้นเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สหประชาชาติตั้งใจให้บรรลุภายในปี พ.ศ. 2573  การเรียนรู้ที่จะอยู่รอดอย่างยากลำบากนั้นหมายถึงการต้องเผชิญอุปสรรคหลากหลายทั้งฝันร้ายเรื่องการจัดการ การเดินทางและการกักตัว การรักษาระยะห่างทางสังคมในการชมงานศิลปะ การเดินทางไปตามสถานที่จัดงานต่าง ๆ และการชมงานออนไลน์แบบเสมือนจริง  ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาที่จัดงานจะยังไม่มีวัคซีนแต่ก็โชคดีที่โควิด-19 ระลอกแรกไม่รุนแรงนักและมีการใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ผู้ชมกว่า 400,000 คนได้ชมงานตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และอีกกว่า 2.3 ล้านคนได้ชมในโลกเสมือนจริงและทางออนไลน์ 

บรรยากาศในงาน BAB 2020 (งานครั้งที่ 2) ซึ่งเริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด -19 แล้ว แต่ยังไม่รุนแรงมาก

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ภายใต้แก่นความคิดหลัก โกลาหล : สงบสุข จะจัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566  ขั้วตรงข้ามระหว่างความโกลาหลกับความสงบสุขจะสะท้อนบรรยากาศร่วมสมัยของโลกอันสับสนวุ่นวายที่เราอยู่  ศิลปินผู้สร้างงานที่แสดงความระส่ำระสาย ความบาดเจ็บชอกช้ำและความโกรธช่วยเตือนให้เราคิดถึงความเปราะบางของชีวิตในช่วงเวลาแห่งการระบาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเมืองและความขัดแย้งทางอุดมการณ์ต่าง ๆ  ในโลกที่ไม่พึงประสงค์และลวงตา เหล่าศิลปินจะแสดงให้เห็นผลลัพธ์ของการทำลายมนุษยชาติและธรรมชาติด้วยน้ำมือมนุษย์เอง 

ในท่ามกลางความโกลาหลยังมีความหวังและโชคดีที่บังเอิญค้นพบให้เห็นอยู่ลาง ๆ ด้วยการที่มนุษย์และธรรมชาติค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้าสู่การอยู่รอด  ด้วยความสูญเสียและเสื่อมสลายอันมหาศาล วิถีชีวิตจะไม่มีวันกลับคืนสู่สภาพที่เคยเรียกกันว่าปกติได้  การค้นพบความสงบท่ามกลางความโกลาหลอาจช่วยให้ดีขึ้นได้อย่างไม่คาดคิดด้วยการใช้ปรีชาญาณและโอกาส  กระบวนการนี้ต้องอาศัยปัจจัยที่หลากหลายทั้งความเห็นอกเห็นใจ ความอดทน เสน่ห์จูงใจและอารมณ์ขัน  เราอาจจะรู้สึกสงบและผ่อนคลายไปพร้อมกันได้ในโลกใหม่แห่งสมัยหลังการระบาดใหญ่และการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันทันที 

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในนามประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (ครั้งที่ 3) ซึ่งจะจัดแสดงในสถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ถึง  23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566  ในขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความถดถอยของสุขภาวะ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตในระดับโลก ท่ามกลางความโกลาหลของสภาวะต่างๆ ที่เป็นอยู่นี้ เราหวังว่าศิลปะและกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ จะสามารถขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเปิดมุมมองของความสงบสุข เพื่อช่วยเยียวยาความรู้สึกของแต่ละบุคคล และครอบครัวได้  และคาดหวังว่ากรุงเทพฯ จะกลับมาเป็นจุดหมายปลายทางให้กับนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมผลงานศิลปะโดยศิลปินระดับโลกจากประเทศไทยและนานาชาติ ซึ่งจะจัดแสดงอยู่ในพื้นที่สร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น วัดสำคัญ พื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม และพื้นที่ด้านผลงานศิลปะที่หลากหลายที่จะถ่ายทอดให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยของเรา และจะมีส่วนช่วยชี้นำหนทางไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นแก่มนุษยชาติต่อไป”

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่

สำหรับความพิเศษในปีนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในด้านงานศิลปะที่มีชื่อเสียงจากทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมทำงานใหญ่ครั้งนี้ ไมว่าจะเป็นภัณฑารักษ์และที่ปรึกษา โดย ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ให้ข้อมูลว่า “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ CHAOS : CALM หรือ โกลาหล : สงบสุข จะถ่ายทอดสภาวะอันคาดเดาไม่ได้ที่พวกเราทุกคนต้องเผชิญในช่วงนี้ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และความไม่มั่นคงของสถานการณ์ ทางสังคมและการเมือง ศิลปินจะตีความมุมมองขั้วตรงข้ามของคำว่า CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข ที่แม้จะดูเป็นคำที่ขัดแย้งกันแต่เป็นสิ่งที่ปรากฎในชีวิตของเราทุกคน ที่ต้องพบกับความสับสนอลหม่านและความหวัง เราหวังว่าศิลปินในระดับบุคคล กลุ่มศิลปิน และการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จะนำเสนอแนวคิดที่ลึกซึ้ง และการรับรู้เกี่ยวกับความเปราะบางของชีวิต  รวมถึงการเปิดกว้าง (inclusivity) การยอมรับความหลากหลาย และความแตกต่างทางเพศสภาพ โดยคณะภัณฑารักษ์จะเชิญศิลปินจัดแสดงผลงาน รวมทั้งร่วมกันคัดเลือกผ่านโครงการรับสมัครศิลปิน ซึ่งผลงานจะถูกจัดแสดงในพื้นที่ต่างๆ บริเวณกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เสมือนจริงออนไลน์”

คณะภัณฑารักษ์มากประสบการณ์ของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 3

ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์

ประธานอำนวยการ และผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่

ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ เกิดปีพ.ศ. 2499 ได้รับการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโทในสาขาวิจิตรศิลป์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ และปริญญาเอกในสาขาประวัติศาสตร์ศิลป์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์  ในฐานะศิลปิน เขาเคยได้รับเหรียญรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติถึง 3 ครั้ง และได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศิลปะไทยและศิลปะเอเชียมากมาย  ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยเป็นอธิบดีสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) และอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ และรักษาการรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย ที่ซึ่งเขาได้เป็นกรรมการคัดสรรผลงานเพื่อจัดแสดงในศาลาไทยซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเข้าร่วมเทศกาลศิลปะนานาชาติเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 50 ในปีพ.ศ. 2546  

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์เป็นภัณฑารักษ์และผู้อำนวยการสร้างนิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติ ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย อาทิ นิทรรศการ Contemporary Art from Asia: Traditions/Tensions ที่ Grey Art Gallery และ Queens Museum และ Asia Society’s Galleries รัฐนิวยอร์ก (พ.ศ. 2539) นิทรรศการ Traces of Siamese Smile: Art + Faith + Politic + Love ซึ่งเป็นนิทรรศการเปิดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) (พ.ศ. 2551) และ นิทรรศการ Thailand Eye ที่ Saatchi Gallery กรุงลอนดอน และหอศิลปกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2559)

เขาเป็นกรรมการ Asia Cultural Council นิวยอร์ก และ Asian Art Council ที่ Solomon R. Guggenheim Museum และเป็นสมาชิกกรรมการของ National Gallery Singapore รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกชั้นสูงสุด ประเทศไทย และ Knight First Class of Royal Order of the Polar Star จากประเทศสวีเดน Knight Order of the Star of Italian Solidarity จากประเทศอิตาลี และ Officer of the French Arts and Letters Order จากประเทศฝรั่งเศส

Photo: Maxime Dufour Photographies

ไนเจล เฮิร์สท์ ในอดีตเป็นผู้บริหารของ Saatchi Gallery กรุงลอนดอน และเคยเป็นผู้อำนวยการด้านศิลปะร่วมสมัยให้กับพิพิธภัณฑ์ The Box เมืองพลิมัธ ที่ซึ่งปัจจุบันเขายังคงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา และในปีพ.ศ. 2562 เขาร่วมก่อตั้ง Art Gazette ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย เขาจบการศึกษาจากวิทยาลัย Goldsmiths ที่ University of London ในปีพ.ศ. 2529 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ได้คัดสรรนิทรรศการระดับนานาชาติ และสร้างสรรค์โครงการที่สนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ไปจนถึงศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมาย

ไนเจล เฮิร์สท์ เริ่มทำงานที่ Saatchi Gallery ในปีพ.ศ. 2538 และเริ่มทำนิทรรศการ Sensation ที่ Royal Academy of Arts ลอนดอน National Galerie ณ Hamburger Bahnhof เบอร์ลิน และที่ Brooklyn Museum of Art นิวยอร์ก นิทรรศการที่เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยเอเชีย เช่น นิทรรศการ The Revolution Continues: New Art from China (พ.ศ. 2551) นิทรรศการ Unveiled: New Art from the Middle East (พ.ศ. 2552) นิทรรศการ The Empire Strikes Back: Indian Art Today (2010) นิทรรศการ The Silk Road ร่วมมือกับเมืองลีล ฝรั่งเศส (พ.ศ. 2554) นิทรรศการ Korean Eye (พ.ศ. 2555) นิทรรศการ Hong Kong Eye (พ.ศ. 2556) นิทรรศการ Premonition: Ukranian Art Now (พ.ศ. 2557) และนิทรรศการ Post Pop: East Meets West (พ.ศ. 2558)  นิทรรศการอื่น ๆ อาทิ นิทรรศการ USA Today ที่ The Royal Academy of Arts (พ.ศ. 2550) นิทรรศการ From Selfie to Self-Expression ที่ Saatchi Gallery (พ.ศ. 2560) และล่าสุด นิทรรศการ Making It  (พ.ศ. 2563) และกิจกรรมช่วงพิธีเปิดของพิพิธภัณฑ์ The Box เมืองพลิมัธ

นิทรรศการสัญจรที่เขาคัดสรร อาทิ นิทรรศการ USA Today และ นิทรรศการ Newspeak: British Art Now ที่ The State Hermitage Museum เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (พ.ศ. 2551 และ 2553) นิทรรศการ Saatchi Gallery in Adelaide: British Art Now ที่ The Art Gallery of South Australia (พ.ศ. 2554) นิทรรศการ Hong Kong Eye (พ.ศ. 2556) นิทรรศการ Malaysian Eye (พ.ศ. 2557) และนิทรรศการ Vietnam Eye (พ.ศ. 2559)

The Box เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ และเปิดสู่สาธารณะเมื่อกันยายน พ.ศ. 2563 สังกัดภายใต้องค์กร National Portfolio Organisation และ Major Partnership Museum ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนส่วนใหญ่จาก Arts Council England และ Plymouth City Council และกองทุน Heritage Lottery Fund

ในช่วงพิธีเปิดของ The Box ไนเจล เฮิร์สท์ได้ร่วมคัดสรรและจัดหาผลงานศิลปะ และประติมากรรมจัดวางชิ้นสำคัญหลายชิ้น และร่วมงานกับศิลปินเช่น ลีโอนอร์ แอนทูนส์ อเล็กซานเดอร์ ดา คูนา แอนโทนี กอร์มลีย์ อีวา กรูบิงเงอะ คีไฮนด์ ไวลีย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์ The Box และเพื่อจัดแสดงในที่สาธารณะในเมืองพลิมัธ

Image courtesy BOOKSHOP LIBRARY, Bangkok 

โลเรดานา ปัซซีนี-ปารัชชานี เป็นนักวิชาการและภัณฑารักษ์อิสระในสาขาศิลปะร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานวิจัยและงานภัณฑารักษ์ของเธอมักศึกษาเกี่ยวกับประเด็นวิกฤตทางสังคมการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผลักดันวิธีคิดที่ตั้งคำถามกับขนบหรือพลังอำนาจแบบเดิม ๆ และการสร้างบทสนทนาที่ไม่ยึดแนวคิดของโลกตะวันตกเป็นศูนย์กลาง โลเรดานา ปัซซีนี-ปารัชชานี ได้รับการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียจาก LASALLE-Goldsmiths University สิงคโปร์ และปริญญาโทสาขาศิลปะร่วมสมัยและทฤษฎีศิลป์จาก School of Oriental and African Studies ลอนดอน สหราชอาณาจักร เธอมีผลงานตีพิมพ์ในสูจิบัตรนิทรรศการ และวารสารทางวิชาการมากมาย เช่น  Photographies ตีพิมพ์โดย Routledge และ University of Westminster สหราชอาณาจักร วารสาร Frames Cinema Journal โดย University of St. Andrews สหราชอาณาจักร วารสาร Convocarte: Revista de Ciências da Arte โดย Lisbon University โปรตุเกส และ M.A.tter Unbound โดย LASALLE College of the Arts สิงคโปร์ เป็นต้น

โลเรดานา ปัซซีนี-ปารัชชานี เป็นสมาชิกของ Association for Southeast Asian Studies สหราชอาณาจักร และ Research Network for Transcultural Practices in the Arts and Humanities ที่ Free University เบอร์ลิน เธอเป็นบรรณาธิการร่วมกับแพทริค ดี. ฟลอเรส ของหนังสือรวมบทความชื่อ Interlaced Journeys: Diaspora and the Contemporary in Southeast Asian Art จัดพิมพ์โดย Osage Art Foundation ฮ่องกงในปีพ.ศ. 2563  นอกเหนือจากนิทรรศการสำหรับแกลเลอรีต่าง ๆในอเมริกา สหราชอาณาจักร และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วนั้น เธอได้เคยคัดสรรนิทรรศการสำหรับพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่ง เช่น นิทรรศการ Homecoming/Eventually ที่ UP Vargas Museum มานิลา ฟิลิปปินส์  (พ.ศ. 2564) นิทรรศการ Diaspora: Exit, Exile, Exodus of Southeast Asia ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2562) และ นิทรรศการ Architectural Landscapes: SEA in the Forefront สำหรับเทศกาล InToAsia: Time Based Art Festival ที่ Queens Museum นิวยอร์ก (พ.ศ. 2558)

Photo: Preecha Pattaraumpornchai 

จิรัสย์ รัฐวงศ์จิรกุล เป็นผู้อำนวยการของ Gallery VER และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพื้นที่ศิลปะ N22 กรุงเทพฯ เขาได้เริ่มทำงานในสาขาการบริหารจัดการศิลปวัฒนธรรมในตำแหน่งผู้ประสานงานโครงการที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันในปีพ.ศ. 2553 และในปีพ.ศ. 2554 ได้ย้ายไปทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการที่บริษัท Supernormal Studio เพื่อฝึกฝนทักษะเฉพาะทางเกี่ยวกับการผลิตและติดตั้งงานศิลปะ ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 เขาจึงได้เริ่มงานในตำแหน่งผู้จัดการแกลเลอรี ที่ Gallery VER ซึ่งเป็นแกลเลอรีศิลปะร่วมสมัย ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2549 โดยกลุ่มศิลปิน อาทิ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช  ภัทระ จันฤาชาชัย และอื่น ๆ  จิรัสย์ รัฐวงศ์จิรกุล ได้เริ่มทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการของแกลเลอรีในปี พ.ศ. 2559 พร้อมไปกับช่วงเวลาที่แกลเลอรีพัฒนาอย่างรวดเร็วและย้ายที่ตั้งไปที่ซอย นราธิวาสราชนครินทร์ 22  ด้วยความร่วมมือกับกลุ่มคนในแวดวงศิลปะของกรุงเทพฯ เขาได้ร่วมก่อตั้ง N22 ในพื้นที่โกดังเก่า โดยมุ่งหมายที่จะสร้างพื้นที่ให้กับชุมชนและกลุ่มคนที่สนใจศิลปะร่วมสมัย ให้ศิลปินและภัณฑารักษ์ทั้งไทยและนานาชาติได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด สร้างเครือข่าย จัดกิจกรรม หรือริเริ่มโครงการใหม่มากมาย  Gallery VER มีบทบาทเป็นพื้นที่แสดงงานสำหรับศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินที่มีชื่อเสียง ในขณะที่ชุมชน N22 ก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ เสวนา งานฉายภาพยนตร์ โครงการศิลปินพำนัก และอื่น ๆ ทำให้พื้นที่ N22 ปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์รวมชุมชนที่สำคัญอันหนึ่งสำหรับการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงวงการศิลปะไทยไว้ด้วยกัน

Photo: Peerapat Wimolrungkarat 

ชมวรรณ วีรวรวิทย์ ได้ร่วมงานกับศิลปินและผู้ผลิตภาพยนตร์ในหลากหลายรูปแบบตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ด้วยพื้นการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขากฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญาจาก King’s College ลอนดอน เธอได้ปรับใช้วิธีคิดวิเคราะห์จากการฝึกฝนนี้ในการร่วมมือและทำงานกับศิลปิน  ในปีพ.ศ. 2553 เธอได้ก่อตั้ง Mysterious Ordinary ซึ่งเป็นองค์กรให้บริการคำปรึกษาและเป็นครีเอทีฟสตูดิโอในการขับเคลื่อนการผลิตและริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ทั้งกับศิลปิน ผู้ผลิตภาพยนตร์ สถาปนิก และดีไซน์เนอร์ ดังเช่น เทศกาลภาพยนตร์ Film on the Rocks Yao Noi ที่เธอร่วมก่อตั้งในปีพ.ศ. 2555 โดยมีอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ ทิลดา สวินตัน เป็นภัณฑารักษ์ เป็นการทำงานที่รวบรวมสาขาและชุมชนต่าง ๆ ให้มีโอกาสได้ร่วมมือกัน ซึ่งกระบวนการนี้ถือเป็นวิธีหลักในการทำงานของเธอ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เธอได้ร่วมงานกับศิลปินอีกมากมาย อาทิ ในโครงการหาทุนให้มูลนิธิที่นากับศิลปินฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และ เทศกาลการแสดงวิดีโอและศิลปะการแสดง GHOST กับกรกฤต อรุณานนท์ชัย เป็นต้น  ในช่วงปีพ.ศ. 2561-2562 ชมวรรณ วีรวรวิทย์ ในตำแหน่งรองประธานด้าน Brand Creative ของเครือโรงแรม The Standard ได้ทำงานกับศิลปินทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โครงการที่สำคัญรวมถึง Dead Collectors โดยศิลปินเอ็มกรีน แอนด์ แดรกเซท ที่โรงแรม The Standard เมืองไมอามี่ เป็นต้น  นอกจากนี้เธอยังได้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Philip Huang NYC กับสามีของเธอ โดยใช้พื้นฐานจากงานวิจัยปริญญาเอก และร่วมมือกับช่างฝีมือในภาคอีสาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาวิธีที่จะอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม และพัฒนาให้เข้ากับในอนาคตผ่านการออกแบบ ภาพยนตร์ และศิลปะ  ชมวรรณ วีรวรวิทย์เคยร่วมงานกับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ในหลายบทบาท โดยเคยเป็นผู้ดำเนินการเสวนา และร่วมกับศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผลิตเนื้อหาชุดวิดีโอ BAB Walk เป็นครั้งแรกอีกด้วย ประสบการณ์และพื้นฐานที่มีความหลากหลายของเธอช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างให้ได้ร่วมงานกันและช่วยสร้างทางเลือกให้กับศิลปะร่วมสมัยได้มีโอกาสพัฒนาข้ามขอบเขตของขนบและรูปแบบเดิม

คณะที่ปรึกษา (Advisor) ที่มีชื่อเสียงจากทั้งไทยและต่างประเทศ  

ดร.อเล็กซานดรา มันโร ภัณฑารักษ์อาวุโส สาขาศิลปะจากเอเชีย และที่ปรึกษาอาวุโส โครงการ Global Arts พิพิธภัณฑ์และมูลนิธิ The Solomon R. Guggenheim สหรัฐอเมริกา
มามิ คาตาโอกะ ผู้อำนวยการ Mori Art Museum ประเทศญี่ปุ่น และประธานกรรมการ International Committee for Museums and Collections of Modern Art (CiMAM) 

คุณมามิ คาตาโอกะ หนึ่งในที่ปรึกษาเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 3 กล่าวว่า ในทุกวันนี้มีการแบ่งแยก และความขัดแย้งในรูปแบบต่าง ๆ ทั่วโลก แม้ว่า CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข จะดูเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งในตัวมันเอง แต่ก็นับว่าเป็นการเสนอความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกับวิธีคิดที่แตกต่างด้วยความสัมพันธ์ที่ลื่นไหล ซึ่งจะต่างไปจากวิถีการแบ่งขั้วในโลกตะวันตก ความคลุมเครือนี้อาจเป็นหัวใจสำคัญของอนาคตและน่าจะเป็นสิ่งที่ภูมิภาคเอเชียนำเสนอได้ ดิฉันจึงตั้งตารอเตรียมพบกับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ างกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 3 นี้เป็นอย่างมาก”

หวัง เฉิน รองผู้จัดการทั่วไป หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ The China Arts and Entertainment Groupและสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการมูลนิธิศิลปะแห่งชาติจีน
ดร.ยงวู ลี อาจารย์ Shanghai University และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกวางจู เบียนนาเล่   
ดร.ยูจีน ตัน ผู้อำนวยการหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ และผู้อำนวยการ Singapore Art Museum

ได้ทราบแนวคิดหลักในการจัดงานและเห็นคณะทำงานในครั้งนี้แล้ว อดตื่นเต้นไม่ได้จริงๆ เตรียมรอพบกับความยิ่งใหญ่ทางปรากฏการณ์งานศิลปะระดับโลกได้เลย ตั้งแต่ตุลาคม 2565 ถึง กุมภาพันธ์ 2566 

ติดตามข่าวสารและตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022  เพิ่มเติมได้ทาง Facebook : BkkArtBiennale  และ IG bkkartbiennale


BAB 2020 : Bangkok Art Biennale 2020 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่

งานศิลป์ห้ามพลาด ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018