โรคต้อหิน

โรคต้อหิน (Glaucoma) จากความผิดปกติของความดันในลูกตา

โรคต้อหิน
โรคต้อหิน

โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับลูกตา ซึ่งโดยทั่วไปสุนัขจะมีความดันในลูกตาอยู่ระหว่าง 16-30 มิลลิเมตรปรอท หากเพิ่มสูงขึ้นจนถึง 60-70 มิลลิเมตรปรอท อาจทําให้สูญเสียการมองเห็นได้ เนื่องจากความดันลูกตาที่สูงมาก ๆ จะไปทําให้จอประสาทตาเสียหาย

โรคต้อหิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1. โรคต้อหินแบบปฐมภูมิ (Primary Glaucoma)

เป็นโรคต้อหินที่เกิดขึ้นเอง ไม่ได้เกิดจากการเป็นโรคอย่างอื่นมาก่อน เช่น

โรคต้อหินชนิดมุมเปิด ซึ่งเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างการสร้างและการระบายออกของน้ําในลูกตา แต่มุม iridocorneal angle ยังคงเปิดอยู่ปกติ เมื่อมีการตีบแคบของท่อตะแคงที่เป็นทางระบายน้ำเลี้ยงภายในรูปตา ทําให้การระบายน้ำเลี้ยงภายในลูกตาลดลงในขณะที่การสร้างน้ำเลี้ยงภายในลูกตามีปริมาณเท่าเดิม ทําให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้นทีละน้อย เปรียบได้กับรูระบายน้ำที่มีตะไคร่น้ำ คอยต้านการระบายของน้ำ

โรคต้อหินชนิดมุมปิด ซึ่งเป็นความผิดปกติในส่วนของโครงสร้าง ทําให้มุม iridocorneal angle แคบลง เมื่อมีการปิดกั้นทางออกของท่อน้ำเหลืองภายในลูกตาจากการที่ฐานม่านตามาปิดด้านหน้าทําให้น้ำเลี้ยงภายในลูกตาไม่สามารถระบายออกได้ หรือระบายออกทีละน้อย ดังนั้น น้ำเลี้ยงภายในลูกตาจากช่องหลังของโรคตาไม่สามารถผ่านรูม่านตาที่ช่องหน้าของลูกตาได้ตามปกติ น้ำเลี้ยงภายในลูกตาจะพยายามดันออกมาทางข้างหน้า ทําให้ม่านตาที่ถูกดันโป่งออกมาทางด้านหน้ามากขึ้น ส่งผลให้ช่องหน้าของลูกตาและมุมของม่านตาแคบลงอีก และมีการปิดกั้นทางออกของน้ำเลี้ยงภายในลูกตาเพิ่มขึ้น จึงทําให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้น หรือปิดไปเปรียบได้กับรูระบายน้ำที่คดงอผิดรูป ทําให้การระบายน้ำแย่ลง

2. โรคต้อหินทุติยภูมิ (Secondary Glaucoma)

หมายถึง ต้อหินที่เกิดตามหลังโรคตาบางโรค แล้วทําให้เกิดเป็นโรคต้อหินตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเลนส์ตาเคลื่อน โรคยูเวียอักเสบ (Uveitis) โรคเนื้องอกในตา จนไปรบกวนทางถ่ายเทน้ำในช่องหน้าม่านตาออก หรือเกิดจากการที่มีเลือดออกภายในลูกตา (Intraocular Haemorrhage) แล้วมีลิ่มเลือดไปอุดตันการไหลเวียนของน้ำในช่องหน้าม่านตา หรือเป็นโรค Ocular
Melanosis แล้วเกิดเม็ดสีสะสมที่ iridocorneal angle และตาขาว ทําให้อุดตันการระบายออกของน้ำในช่องหน้าม่านตา ที่เรียกกันว่า Pigmentary Glaucoma คือ สภาวะที่เม็ดสีที่สร้างสีให้แก่ม่านตานั้น มีจํานวนมากเกินไปจนกระทั่งไหลวนเวียนอยู่ในช่องด้านหน้าของตาแล้วอาจจะไปอุดการระบายของเหลวของตา ทําให้เกิดอาการต้อหิน

โรคต้อหินที่เกิดแบบเฉียบพลันและแบบกึ่งเฉียบพลัน คือ เกิดขึ้นไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง แบบเฉียบพลันจะมีอาการเจ็บปวดลูกตา น้ำตาไหล ตาแฉะ เปลือกตากระตุก กระพริบตาบ่อย ๆ รูม่านตาขยายและอาจไม่ตอบสนองต่อแสงหรือตอบสนองช้าลง (ดูได้จากการหดตัวของรูม่านตา) ไม่กล้าสู้แสง ตาแดงจัด มีเลือดคั่ง เยื่อบุตาอักเสบ แต่บางรายอาจเกิดกระจกตาบวมน้ำ เห็นขุ่นเป็นฝ้าเหมือนมีหมอกสีฟ้า ๆ การมองเห็นลดลง เดินชนบ้างบางครั้ง สามารถทราบได้จากการตรวจ โดยใช้เครื่องมือมาทําการวัดความดันในลูกตา ร่วมกับการตรวจมุมม่านตา และการส่องตรวจในตา

โรคต้อหินแบบเรื้อรัง คือ เป็นมาแล้วเป็นวัน ๆ เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน หมาจะมีอาการเจ็บปวดตาน้อยลง หรืออาจไม่เจ็บปวดเลย ตาแดง เห็นการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ตาขาวหรือกระจกตา ลูกตาขยายใหญ่ ตาโปน กระจกตาอาจขุ่นหรือมีเม็ดสี การมองเห็นลดลง หรืออาจจะมองไม่เห็นแล้ว ถ้าทําการตรวจภายในลูกตาเพิ่มเติม อาจจะพบว่าโครงสร้างภายในลูกตาผิดปกติไป เช่น เกิดเลนส์ตาเคลื่อน ม่านตาฝ่อ จอประสาทตาเสื่อม และเส้นประสาทตา (optic nerve) ฝ่อได้ด้วย

โรคต้อหินที่เป็นมาตั้งแต่กําเนิด (Congenital Glaucoma) ด้วย เช่น ต้อหินที่เกิดจากความผิดปกติของมุมที่ใช้ขับน้ำในช่องหน้าม่านตาออก เป็นการเจริญที่ไม่สมบูรณ์ของ ciliary cleft ซึ่งอาจแสดงอาการให้เห็นได้ตั้งแต่เกิดหรือหลังจากเกิดได้ไม่นาน

การรักษาและวิธีการป้องกัน

มีแบบใช้ยาและการผ่าตัด ในการรักษาโรคต้อหินให้กับน้องหมา มีจุดประสงค์เพื่อให้ความดันภายในลูกตาลดลง เพื่อป้องกันไม่ให้จอประสาทตา และเส้นประสาทตา (optic nerve) ถูกทําลาย เพราะจะทําให้น้องหมาตาบอดได้ ในรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน คุณหมออาจให้การรักษาทางยาก่อน แต่หากอาการรุนแรง ไม่ตอบสนองภายใน 24-48 ชั่วโมง อาจใช้วิธีการผ่าตัดรักษา

วิธีสังเกตอาการ สังเกตพบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เดินชนตู้ โต๊ะ ประตู หรือวัตถุสิ่งของที่ตั้งไว้ เวลาโยนขนมหรือสิ่งของให้ ต้องใช้การดมหาเป็นเวลานาน ไม่วิ่งไปรับทันทีเหมือนเช่นเคย ไม่ค่อยกล้าขึ้นลงบันใด จากเดิมที่สามารถเดินขึ้นลงได้เองเป็นประจำ บางตัวมีพฤติกรรมกลัว ไม่ค่อยกล้าออกไปไหน หวาดระแวงต่อเสียงหรือกลิ่นแปลก ๆ ที่ไม่คุ้น หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น บางครั้งอาจตกใจและหันมากัดได้ หากเราเข้าไปสัมผัสโดยที่ไม่ให้สุ้มให้เสียงก่อน หมามีอาการตาแดง ตาขุ่น รูม่านตาขยาย เจ็บปวดลูกตา ตาโปนขยาย หัวตก เบื่ออาหาร ซึมเศร้า ให้รีบพามาพบคุณหมอโดยทันที เพราะ หากเป็นโรคต้อหินแล้วความดันลูกตาสูงมาก ๆ ปล่อยทิ้งไว้ เพียงแค่ 1-3 วัน ก็อาจทําให้น้องหมาตาบอดได้

กลุ่มเสี่ยงรวมถึงตัวแทนของสายพันธุ์

สุนัขพันธุ์เสี่ยงโรคต้อหินชนิดมุมเปิด (Open angle glaucoma) ได้แก่ พันธุ์ beagle, American cocker spaniel, basset hound, Boston terrier, miniature Schnauzer และ Norwegian elkhound

สุนัขพันธุ์เสี่ยงโรคต้อหินชนิดมุมปิด (Narrow/closed angle glaucoma) ได้แก่ พันธุ์ Alaskan malamute, American cocker spaniel, English cocker spaniel, basset hound, chow chow, dalmatian, Great Dane, wire and smooth fox terrier, poodle, samoyed, Siberian husky และ Welsh springer spaniel

สุนัขพันธุ์เสี่ยงโรคต้อหินชนิด Goniodysgenesis ได้แก่ พันธุ์ basset hound, Bouvier des Flandres, American cocker spaniel, English cocker spaniel, chihuahua, Dandie Dinmont terrier, Norwegian elkhound, poodle toy, miniature poodle, Siberian husky และ wire hair fox terrier

สุนัขพันธุ์เสี่ยงโรคต้อหินชนิดเม็ดสีที่สร้างสีให้แก่ม่านตานั้น มีจํานวนมากเกินไป Pigmentary glaucoma ได้แก่ พันธุ์ Cairn terrier

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่