เชาเชา (Chow Chow) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

สุนัขพันธุ์ เชาเชา หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเชา ถือเป็นสุนัขอีกหนึ่งพันธุ์ที่มีเชื้อสายยาวนาน เชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศมองโกเลีย และถือเป็นสุนัขประจำเผ่าสำหรับใช้งานการล่าสัตว์ โดยสุนัขพันธุ์เชาเชาถูกพูดถึงตั้งแต่ในช่วง 206 ปีก่อนคริสตศักราช ในช่วงราชวงศ์ฮั่น สายพันธุ์นี้ยังถือเป็นตำนานของประเทศจีน คือ ลิ้นของเชาเชาจะมีสีเทาดำ เชื่อว่าเกิดจากการเลียชิ้นส่วนของท้องฟ้าเมื่อโลกถูกสร้างขึ้นครั้งแรก

อย่างไรก็ตามสุนัขพันธุ์เชาเชายังไม่ได้ถูกตั้งชื่อนี้ จนกระทั่งมีพ่อค้าชาวอังกฤษนำสุนัขรูปร่างหมีบางตัวเข้าไปในตู้สินค้าในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำสุนัขออกนอกประเทศ ทำให้ชื่อเชาเชา (Chow chow) ที่เป็นคำแสลงของการขนส่งสินค้าแบบสุ่ม และจากการที่สุนัขเป็นสินค้าเบ็ดเตล็ดเชาเชา จึงถูกเรียกด้วยชื่อนี้เรื่อยมา

ในช่วงปลายศตรรษที่ 19 ได้มีการก่อตั้งสมาคมสุนัขพันธุ์เชาเชาขึ้นในประเทศอังกฤษ ซึ่งสายพันธุ์นี้ได้ถูกกล่าวขานว่ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยจากบรรพบุรุษ และในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการนำเข้าสุนัขพันธุ์เชาเชาเข้ามาในประเทศ และได้รับการจดทะเบียนจากสาคม AKC ในปี 1903 เนื่องจากความมีเสน่ห์ และลักษณะที่น่าจดจำ ทำให้สุนัขพันธุ์นี้ได้รับความนิยมในกลุ่มคนทั่วไปและกลุ่มคนดัง และยังคงได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะทางกายภาพ

สุนัขพันธุ์เชาเชามีลำตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีกระโหลกขนาดเล็ก มีหูขนาดเล็กรูปสามเหลี่ยมที่ส่วนปลายโค้งมน และสายพันธุ์นี้มีขน 2 ชั้นซึ่งประกอบด้วยทั้งขนเรียบและขนหยาบ โดยขนจะหนาเป็นพิเศษบริเวณคอ ทำให้มีลักษณะที่โดดเด่นคล้ายกับแผงคอ ซึ่งสีของขนมีทั้งหมด 5 สี ไม่ว่าจะเป็น สีแดงน้ำตาล สีดำ สีเทา สีเหลืองทอง และสีครีม

ตาของสุนัขควรจะตั้งลึกและรูปร่างคล้ายเมล็ดแอลม่อน และเชาเชามีลิ้นที่สีพิเศษ คือ มีสีเทาน้ำเงินหรือสีม่วง ซึ่งพบได้เฉพาะในสุนัขเชาเชา โดยยีนของสีของลิ้นเป็นยินส์เด่น ทำให้สุนัขที่ผสมกับสุนัขเชาเชามักมีจุดหรือปื้นสีม่วงที่ลิ้นเช่นกัน และเชาเชามีหางที่ม้วนงอและนอกจากนี้ยังมีขนที่หนาและมีขนหนาเป็นแถบอยู่บริเวณกลางหลังและมีจมูกสีดำซึ่งถูกจดทะเบียนในสมาคม AKC และในสมาคม FCI ยอมรับจมูกสีครีมด้วยเช่นกัน

อายุขัย

เชาเชา มีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 9-15 ปี

ลักษณะนิสัย

นิสัยของสุนัขเชาเชามักถูกเปรียบเทียบกับแมว โดยเชาเชามักชอบอยู่ธรรมชาติ ชอบความอิสระ รักตัวเองและขี้ขลาด และเป็นที่รักของเจ้าของ นอกจากนี้เชาเชายังเป็นสุนัขที่ฉลาดและมีความมั่นใจในตัวเอง เชาเชาเป็นสุนัขที่ไม่ต้องการความรักมากเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเอง

เชาเชาเป็นสุนัขที่ค่อนข้างเงียบ ต้องการกิจกรรมน้อย ทำให้สามารถเลี้ยงในห้องพักได้ต้องการเพียงพื้นที่ทำกิจกรรมเล็กน้อยให้เพียงพอต่อความต้องการต่อวัน

ถึงแม้ว่าสุนัขเชาเชาไม่มีนิสัยก้าวร้าว แต่บางทีเชาเชามีโลกของตัวเองไม่ค่อยเชื่อใจคนนอก ซึ่งสามารถลดปัญหาได้ด้วยการพาสุนัขเจอกับสุนัขตัวอื่นหรือคนแปลกหน้าตั้งแต่ยังเด็ก และจะช่วยให้เชาเชาอารมณ์ดีและเข้ากับคนอื่นๆได้ง่าย

การเข้ากับเด็ก

สุนัขพันธุ์เชาเชาสามารถเข้ากับเด็กได้ดี แต่เชาเชาไม่ชอบการเล่นแรง พวกมันจะเห่าและไม่ชอบเด็กกอดหรือเล่นแรง ซึ่งอาจทำให้เชาเชาหงุดหงิดและเริ่มก้าวร้าว จึงทำให้เชาเชาชอบที่จะเล่นกับเด็กโตมากกว่าเด็กน้อย นอกจากเชาเชาจะโตมากับเด็กน้อย

การดูแล

การออกกำลังกาย

สุนัขต้องการการออกกำลังประมาณ 15-30 นาทีต่อวัน เชาเชามีบรรพบุรุษเป็นสุนัขล่าสัตว์ แต่ในปัจจุบันที่ถูกพัฒนามาเป็นสัตว์เลี้ยง ทำให้เชาเชาต้องการการออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย คือ เดินเล่นเพียงเล็กน้อยก็เพียงพออาจไม่ต้องพาไปวิ่งเล่นในสวนถึงชั่วโมง เนื่องจากสุนัขมีขนที่หนาจึงควรระวังเรื่องอากาศร้อน หากด้านนอกอากาศร้อนไม่ควรพาสุนัขเชาเชาออกไปเดินเล่นและควรให้สุนัขอยู่ในห้องที่มีอากาศเย็น

อาหาร

สุนัขเชาเชาควรได้รับอาหารเม็ดคุณภาพ 2-3 ถ้วยต่อวัน ซึ่งควรแบ่งให้เป็น 2 มื้อต่อวัน และควรมีน้ำผสมในอาหารด้วย เนื่องจากเชาเชาเป็นสุนัขที่มีช่องอกลึกเวลากลืนอาหารอาจกลืนอากาศเข้าไปด้วย การผสมน้ำเข้าไปจะช่วยลดการเกิดท้องอืดได้ และอาจเพิ่มข้าวหรือผักเข้าไปด้วย เพื่อสมดุลอาหาร ปริมาณอาหารที่ให้แตกต่างกันตามช่วงอายุ อัตราการเผาผลาญ กิจกรรมที่ทำ และน้ำหนักของสุนัข หากพบว่าเชาเชาเริ่มน้ำหนักขึ้น ควรลดปริมาณอาหารและเพิ่มกิจกรรมให้มากขึ้น

โรคประจำพันธุ์

  • โรคระบบประสาท
    • ภาวะวิตกกังวล (Anxiety)
    • ความวิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety)
    • ความไวต่อการใช้ยาระงับความรู้สึก (Anesthesia Sensitivity)
  • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
  • โรคระบบกระดูกเอ็นและข้อต่อ
    • โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ(Hip dysplasia)
    • โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow dysplasia)
    • การเคลื่อนหลุดของกระดูกสะบ้า (Patellar Luxation)
  • โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
    • โรคตุ่มน้ำพอง (Pemphigus foliaceous)
  • โรคตา
    • โรคต้อหิน (Glaucoma)
    • โรคเปลือกตาม้วนเข้าข้างใน(Entropion Eyelids)
    • โรคต้อกระจก (Cataract)
    • ภาวะตาแห้ง (keratoconjunctivitis sicca)

เรื่อง : สุรภา ประติภาปกรณ์

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่