โรคกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน (Gastric Dilatation and Volvulus : GDV)

Gastric Dilatation and Volvulus (GDV) หรือ โรคกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน จัดเป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิตต้องได้รับการรักษาในทันที โดยมักจะเกิดขึ้น ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง หลังจากการกินอาหารเข้าไปเป็นปริมาณมากใน 1 มื้อ

โรคกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน คือ การที่กระเพาะอาหาร (Stomach) มีการขยายตัวคล้ายลูกโป่ง หรือเรียกว่า “Bloat” หรือ  Gastric Dilatation จากการมีปริมาณแก๊ส น้ำ และอาหารที่สัตว์กินสะสมอยู่มากกว่าปกติ และถ้าเกิดการบิดหมุนของกระเพาะอาหารที่มีอาหารและแก๊สขึ้น จะก่อให้เกิด โรคกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน (GDV)  ซึ่งสามารถเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

คือการระบายแก๊สออกจากกระเพาะอาหาร ซึ่งจะมีขั้นตอนกระบวนการนำแก๊สออกจากกระเพราะอาหารได้หลายวิธี เพราะในขณะที่กระเพาะอาหารเริ่มมีการพองขยายใหญ่ แรงดันในกระเพาะอาหารจะเริ่มสูงขึ้น และเมื่อกระเพาะอาหารมีการขยายตัวมากขึ้นและบิดหมุนไปมาภายในช่องท้อง เรียกว่า “Volvulus” โดยการบิดหมุนของกระเพาะอาหารบางส่วนจะมีทิศทางตามเข็มนาฬิกา ซึ่งสามารถเกิดการบิดตัวของกระเพาะอาหารได้ตั้งแต่ 180-360 องศา การบิดส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 180 องศาตามเข็มนาฬิกา การขยายตัวและบิดทำให้ไปกดเส้นเลือดหลักที่เดินทางเข้าสู่หัวใจ ทำให้เกิดปัญหาตามมา ได้แก่

  • เลือดบริเวณช่องท้องไหลกลับเข้าสู่หัวใจน้อยลง
  • การไหลเวียนของเลือดบริเวณช่องท้องลดลง
  • ผนังกระเพาะอาหารตายและฉีกขาด ม้ามขาดเลือดและเกิดเนื้อตาย
  • เมื่อกระเพาะอาหารขยาย กล้ามเนื้อกะบังลมจะถูกกดไม่สามารถขยายตัวได้ ทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก ส่งผลทำให้เกิดการตายของเซลล์ภายในเนื้อเยื่อหลายตำแหน่ง
  • กระบวนการย่อยอาหารหยุดลง ทำให้เกิดการสะสมของสารพิษมากขึ้นในเลือด รวมถึงทำให้เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าไปในเลือดได้มากขึ้น เรียกว่า ภาวะเลือดมีแบคทีเรีย (Bacteremia) และโลหิตเป็นพิษ (Sepsis)
  • เกิดการช็อกแบบทุกระบบ (Systemic shock)
  • เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ไตวายเฉียบพลัน (Kidney failure), และตับวาย (Liver failure)

พันธุ์สุนัขที่เกิดโรคกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน (Gastric Dilatation and Volvulus) ได้บ่อย

  • เกรตเดน (Great Danes)
  • เซนต์เบอร์นาร์ด (Saint Bernards)
  • ไวมาราเนอร์ (Weimaraners)
  • ไอริช เซทเทอร์ (Irish setters)
  • ไอริช วูล์ฟฮาวด์ (Irish wolfhound)
  • กอร์ดอน เซนเทอร์ (Gordon setters)
  • อะกิตา อินุ (Akita Inu)
  • บลัดฮาวด์ (Bloodhound)
  • บาสเซ็ต ฮาวด์ (Basset Hound)
  • คอลลี่ (Collie)
  • นิวฟาวด์แลนด์ (Newfoundland)
  • ร็อตไวเลอร์ (Rottweiler)
  • พูเดิล พันธุ์มาตรฐาน (Standard Poodle)
  • โดเบอร์แมน (Doberman Pinscher)
  • โอลด์ อิงลิช ชีพด็อก (Old English Sheepdog)
  • โกลเดน รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever)
  • บ็อกเซอร์ (Boxer)
  • เยอรมัน เชพเพิร์ด (German Shepherd)
  • ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever)

ลักษณะกลุ่มอาการสัตว์ที่พบอาจสัมพันธ์กับการเหนี่ยวนำทำให้เกิดโรคได้ จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • สุนัขเพศผู้มีโอกาสเป็นมากกว่าสุนัขเพศเมีย
  • สัตว์เลี้ยงมีลักษณะอกลึก (Deep chest) คือทรวงอกสูงมากกว่ากว้าง
  • กินอาหารปริมาณมากครั้งเดียวในแต่ละวัน หรือกินอาหารเร็วเกินไป
  • สัตว์เลี้ยงมีอายุมาก โดยช่วงอายุ 7-12 ปี มีความเสี่ยงการเกิดโรคมากที่สุด
  • มีประวัติครอบครัวของสัตว์ป่วย เคยเกิดโรคกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน
  • สัตว์มีน้ำหนักมากกว่า 100 ปอนด์ หรือ 45 กิโลกรัม จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 20%
  • มีอาการวิตกกังวล (Anxious)

อาการแสดงของโรคที่พบ

อาการเบื้องต้นที่สามารถพบได้

  • กังวล (Anxious look)
  • ยืนและโก่งตัว (Standing and Stretching)
  • น้ำลายไหลเยอะกว่าปกติ (Drooling)
  • ท้องพองขยาย (Distending abdomen)
  • อาการคล้ายอาเจียน แต่ไม่มีอะไรออกมา (Retching without producing anything)
  • อาการปวดท้อง (Abdominal pain)

อาการรุนแรงที่สามารถพบได้ :

  • หอบ (Panting)
  • ท้องขยายเต็มไปด้วยแก๊ส (Bloated belly)
  • อ่อนแรง (Weak)
  • ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงเฉียบพลันจนไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ (Collapse)
  • ตัวลงนอน (Recumbent)
  • shock

การวินิจฉัยโรค

  • การตรวจร่างกายเบื้องต้นพบอัตราการเต้นหัวใจสูงขึ้นหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ อัตราการหายใจสูงขึ้น ชีพจรเบาและไม่เป็นจังหวะ การไหลเวียนของเส้นเลือดฝอย (Capillary refilling time) มากกว่า 2 วินาที
  • เมื่อใช้มือเคาะตรงบริเวณท้องที่พองขยายจะได้ยินเสียงที่จำเพาะเหมือนคนตีกลอง (Drum like sound) เป็นเสียงที่เกิดจากการสะท้อนของแก๊สที่สะสมในกระเพาะอาหาร
  • ความดันเลือด
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram (ECG)) เพื่อดูภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ตรวจโลหิตวิทยา เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count), ค่าชีวเคมี (Serum Chemistry), เกลือแร่ในเลือด (Blood electrolytes), และ ความเป็นกรดดด่างของเลือด (Blood gas analysis)
  • ตรวจปัสสาวะ (Urinalysis)
  • การฉายรังสีเอกซเรย์บริเวณช่องท้อง (Abdominal x-rays) เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค

การรักษา

1.ก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดแก้ไขสัตว์ จำเป็นต้องให้สัตว์อยู่ในอาการคงที่ให้มากที่สุด แก้ไขสภาวะช็อค ลดความดันภายในกระเพาะ
เริ่มด้วยการให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ (Intravenous fluids) และการให้ออกซิเจน (Oxygen therapy) รวมถึงการลดความดันภายในกระเพาะอาหารด้วยการสอดท่อสวนกระเพาะอาหาร (Stomach tube) เข้าทางปากไปทางหลอดอาหารและเข้าไปในกระเพาะอาหาร นำอากาศกับของเหลวออกมาให้ได้มากที่สุด และทำการล้างกระเพาะอาหารด้วยน้ำสะอาดเพื่อให้เศษอาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารออกมา ในบางกรณีจำเป็นต้องใช้แทงเข็มเข้าทางสีข้างเพื่อระบายลมในกระเพาะร่วมด้วย

2.การผ่าตัดเปิดบริเวณช่องท้องทั้งหมด เพื่อคลายการบิดหมุนของกระเพาะอาหาร
สุนัขควรได้รับโดยศัลยแพทย์สัตวแพทย์เฉพาะทางเนื่องจากเป็นโรคที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูง การรักษาที่ดีที่สุด คือการผ่าตัดให้กระเพาะอาหารกลับสู่ตำแหน่งปกติพร้อมกับยึดผนังกระเพาะกับผนังช่องท้องด้านขวาของลำตัว เรียกการผ่าตัดนี้ว่า “Gastropexy” ซึ่งหากไม่ได้ทำการผ่าตัดจะมีโอกาสการกลับมาเกิดโรคนี้ซ้ำได้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์

นอกจากการหมุนกระเพาะคืนตำแหน่งเดิมและทำการเย็บรั้งแล้ว สัตวแพทย์จะดูความผิดปกติผนังของกระเพาะอาหาร, ม้าม, และอวัยวะภายในทั้งหมด ซึ่งหากอวัยวะดังกล่าวมีความผิดปกติจะต้องทำการผ่าตัดเพิ่มเติมทันที เช่น การตัดผนังของกระเพาะอาหารออกบางส่วน (Partial gastrectomy) เพื่อตัดผนังกระเพาะที่ตายออกหรือการตัดม้าม (Splenectomy) ที่มีเลือดคั่งและเนื้อตายออกเนื่องจากม้ามบิดไปพร้อมกับกระเพาะ

โรคกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน
ภาพที่ 2 : การขยายและบิดของกระเพาะทำเลือดไหลเวียนสู่อวัยวะต่างๆในช่องท้องผิดปกติ ที่มา : https://www.friendshiphospital.com/friendship-news/dogs-and-bloat/

การดูแลหลังการผ่าตัด และการพยากรณ์โรค

หลังจากการผ่าตัด สัตว์เลี้ยงต้องอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลสัตว์อย่างใกล้ชิด และให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำเป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดรวมถึงควรให้สัตว์เลี้ยงออกกำลังกายอาทิตย์ละครั้ง เพื่อช่วยในการสมานของแผลได้

อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของโรคกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุนประมาณ 10 – 26.8 เปอร์เซ็นต์ หากสัตว์มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วยจะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 38 เปอร์เซ็นต์, หากพบเนื้อตายในกระเพาะอาหารจะมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 28-38 เปอร์เซ็นต์, หรือหากต้องตัดม้ามออกด้วยจะมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 32-38 เปอร์เซ็นต์ โดยอัตราการเสียชีวิตและอัตราการป่วยจะเพิ่มมากขึ้นหากความรุนแรงของโรคมาก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น มีดังนี้

  • สัตว์มีอาการแสดงออกของโรคมากกว่า 6 ชั่วโมง
  • สัตว์มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะมาก่อนได้รับการผ่าตัด
  • กระเพาะอาหารอยู่ผิดตำแหน่ง ทำให้ขาดเลือดมาเลี้ยงเป็นเวลานาน
  • จำเป็นต้องตัดม้ามออก
  • การวางยาสลบเพื่อการผ่าตัด ถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงมากที่สุดของสัตว์ที่เกิดโรคกระเพาะอาหารขยายและบิดหมุน การวางยาสลบควรได้รับการดูแลโดยวิสัญญีสัตวแพทย์เฉพาะทาง

โดยการเสียชีวิตก่อนหรือหลังการผ่าตัดจากสาเหตุของโรคนี้ ส่วนมากเกิดจากสัตว์มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาในทันที รวมถึงการตายของเซลล์และการนำอวัยวะภายในช่องท้องออก เพราะการมีสารพิษที่มาจากกระเพาะอาหารเมื่อกระเพาะอาหารกลับสู่ตำแหน่งเดิม แต่การผ่าตัดด้วยวิธี Gastropexy ก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการผ่าตัดรักษาโรคกระเพาะขยายและบิดหมุน

การป้องกันการเกิดโรค

  • การจำกัดปริมาณอาหารให้น้อยลงต่อมื้อ หรือให้ร่วมกับอาหารกระป๋องเพื่อคุมปริมาณอาหาร
  • ให้อาหารเม็ดที่อุดมด้วยแร่ธาตุแคลเซียม เช่น เนื้อลูกแกะ (Lamp meal), เนื้อปลา (Fish meal), เครื่องในไก่ (Chicken by product meal), หรือกระดูกป่น (Bone meal) เป็นต้น
  • ควรแบ่งให้อาหารเป็นวันละ 2-3 มื้อ มากกว่าการให้มื้อเดียวแต่ปริมาณมาก
  • ทำให้สัตว์เลี้ยงมีอารมณ์ผ่อนคลาย และอารมณ์ดี
  • สัตว์เลี้ยงที่เจ้ารับการผ่าตัดทำหมันเพศเมีย ควรได้รับการผ่าตัดยึดกระเพาะกับผนังช่องท้องตั้งแต่ยังเป็นสุนัขวัยรุ่น (Prophylactic gastropexy)

บทความโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital

และ

น.สพ. วิจิตร สุทธิประภา (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)
Wichit Sutiprapa, DVM, MS, DTBVS
หน่วยศัลยกรรม โรงพยาบาลสัตว์โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Surgery Unit, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital, Bangkhen

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่