ฟาร์มผักบนดาดฟ้าของกลุ่มคนตัวเล็กที่เปลี่ยน “ขยะอาหาร” ให้เป็น “อาหาร” อีกครั้ง

“กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะ 11,000 ตัน/ปี กับงบประมาณที่ใช้จัดการ 76,000 ล้านบาท และ 55% ของปริมาณขยะเหล่านั้นเป็นขยะจากเศษอาหารที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้”

นี่คือข้อเท็จจริงที่ชวนตระหนักและกระตุกต่อมสำนึกให้ย้อนกลับไปคิดถึงมื้ออาหารในแต่ละวัน “เรารับประทานเหลือจนต้องทิ้งให้เป็นขยะหรือเปล่า?” “เราสร้างขยะกันมาเท่าไร?” หรือ “เราแยกขยะเป็นไหม?” ก่อนที่จะผลักภาระทิ้งเศษอาหารเหลือๆ เหล่านั้นให้หน่วยงานอื่นๆ มารับผิดชอบ “เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม”

ฟาร์มผัก
รูปแบบการปลูกผักของที่นี่มีหลากหลาย ทั้งปลูกในถุงปลูก โต๊ะปลูกผัก ที่มีทั้งวัสดุโครงเหล็ก และเป็นโต๊ะไม้ดีไซน์น่ารัก

ขยะจากเศษอาหาร กลายเป็นมูลเหตุให้กลุ่มคนตัวเล็กกลุ่มหนึ่งมาอยู่รวมกันบนดาดฟ้าของตึกเซ็นเตอร์วัน ห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ กับหนึ่งแพชชั่นที่มีร่วมกันคือจัดการขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลและสร้างมลพิษเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์แล้วย้อนกลับไปเป็นต้นกำเนิดของอาหาร กลายเป็นวัฏจักรของการ Upcycle “เปลี่ยนขยะอาหารเป็นปุ๋ยหมัก แล้วนำไปปลูกผัก ก่อนกลับมาเป็นอาหารอีกครั้ง”

Bangkok Rooftop Farming คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เหล่าสมาชิกต่างที่มา และมีงานประจำที่แตกต่าง แต่ Second Jobs ของพวกเขาคือเรื่องเดียวกัน นั่นคือการเป็นเกษตรกรในเมืองที่ปลูกผักบนดาดฟ้าและพวกเขาสร้างกองกำลังขยายการเรียนรู้ไปสู่บุคคลในวงกว้าง โดยเซ็ตอัพโมเดลของ Bangkok Rooftop Farming ธุรกิจการจัดการขยะให้เป็นฟาร์มปลูกผักในแบบ Circular Economy และเป็นต้นแบบขยายไปสู่หน่วยงานอื่นๆ

“Bangkok Rooftop Farming ไม่ใช่แค่ที่สำหรับให้คนมาเรียนรู้เรื่องปลูกผัก แต่เป้าหมายธุรกิจของเราคือจะทำฟาร์มรูปแบบนี้ให้ได้เยอะที่สุดในกรุงเทพฯ ที่นี่เป็นฟาร์มแรกและเป็น Full Model ที่สุด ซึ่งจะเป็น Social Innovation ในเชิง Social Process Innovation เราทำงานกับผู้คน ทำงานกับเจ้าของตึก ทำงานกับการตัดสินใจของเจ้าของพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และมองว่าการทำสิ่งนี้ไม่ใช่การทำ CSR ครั้งเดียวจบ แต่ทำเป็นกิจกรรมที่มีความต่อเนื่อง แก้ปัญหาได้จริง จัดการขยะอาหารได้ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเจ้าของพื้นที่ที่ทำตรงนี้แล้วเห็นผล ลดขยะอาหาร มีผักรับประทานในครัวเรือนและมีรายได้จากการทำตรงนี้ด้วยค่ะ ” คุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ หรือพี่หนู ผู้ชักชวนทีมงานทุกคนมารวมตัวกันเล่าถึงจุดมุ่งหมายและเป้าหมายในหนทางสู่การทำเกษตรที่ยั่งยืนทั้งในภาคครัวเรือน ชุมชน และภาคธุรกิจซึ่งเป็นภาพใหญ่และมีพลังต่อการเปลี่ยนแปลง

คุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ หรือพี่หนู ผู้ชักชวนให้ทุกคนมารวมตัวกันที่นี่ ในบทบาทของฝ่ายบุคคลและพัฒนาความยั่งยืน

เรามานั่งล้อมวงคุยกับกำลังแรงสำคัญต่างที่มา ต่างสาขาอาชีพ พวกเขาคือทีมที่คอยขับเคลื่อนฟาร์มผักบนดาดฟ้าให้เติบโตขึ้น ซึ่งประกอบด้วย คุณสมทรัพย์ รัตนมนตรีชัย คุณสุขสันต์ เขียนภาพ คุณอรรถพล นิพัทธ์โรจน์ คุณธนกร เจียรกมลชื่น และคุณกฤษฎา น้อยบุดดี ขาดเพียงคุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ประธานกรรมการผู้จัดการ และ คุณพร้อมทรัพย์ ซื่อสัตยวงศ์ ผู้วางกลยุทธ์ธุรกิจที่ไม่ได้ร่วมวงสนทนาอย่างออกรสครั้งนี้

“ทีมงานของเราไม่ได้เกิดจากการมีความรู้ขึ้นมาก่อน แต่เกิดจากการมี ‘ไอเดีย’ สิ่งที่เราทำก็คือ เปิดให้คนที่มีความรู้ มีศักยภาพ มาเจอกัน แล้วเอาความรู้มาปรับประยุกต์ใช้ ถอดบทเรียน ทำกระบวนการ แล้วนำความรู้นั้นมาลงมือทำ กระบวนการเรียนรู้ของพนักงานที่นี่จึงไม่ใช่แค่เวิร์คชอป แต่เป็นการลงมือทำและเรียนรู้ไปพร้อมกัน” พี่หนูกล่าว

ทีมงาน Bangkok Rooftop Farming
ไปรู้จักแนวคิดการจัดการขยะของพวกเขาให้มากขึ้นได้ที่ >> https://ngthai.com/sustainability/34732/wastegetable/
คุณพร้อมทรัพย์ ซื่อสัตยวงศ์ ผู้วางกลยุทธ์ธุรกิจเป็นดั่งกุนซือของที่นี่
คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ประธานกรรมการผู้จัดการ ที่ปรึกษาของทีมงานทุกคน
ต้นผักสำหรับจำหน่ายภายในฟาร์มซึ่งมี ใบกับบัว ฝ่ายผลิต ทำหน้าที่ดูแลผักอย่างดี

ในระยะเวลา 2 ปี Bangkok Rooftop Farming กำลังเข้าสู่การเติบโตในเฟส 3 ซึ่งต่อยอดความประสบการณ์ของทีมขยับขยายไปทีละสเต็ป ไม่ใช่แค่การขายปุ๋ยหมัก ขายดิน ต้นผักกล้าผัก แต่เป็นการสร้างโปรดักส์สำหรับปลูกผักออกสู่ตลาด ซึ่งพัฒนาจาก Prototype ที่ผ่านการทดลองใช้จริงในหลายๆ ขั้นตอน และหัวใจสำคัญของที่นี่คือการขายระบบต่อยอดโมเดลที่ทุกคนช่วยกันเซ็ตขึ้นมาไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ และสะท้อนให้ทุกคนได้เห็นภาพ Circular Economy ที่ชัดเจน

ปุ๋ยหมักจากขยะอาหารสู่การปลูกเพื่อสร้างอาหาร

เพราะหัวใจหลักของที่นี่ยังคงเป็นเรื่องของการจัดการขยะอาหาร คุณโจ๊ก – ธนกร เจียรกมลชื่น หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ผู้ควบคุมการผลิต ทั้งกระบวนการปุ๋ยหมัก ปรุงดิน ปลูกและดูแลผัก เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่าเขาสนใจเรื่องการจัดการขยะจากเศษอาหารเป็นทุนเดิม ก่อนถูกชักชวนให้มาสร้างพื้นที่ตรงนี้ และปุ๋ยหมักจากเศษขยะอาหารภายในฟาร์มล้วนเกิดจากน้ำมือของเขาทั้งสิ้น

เครื่องปั่นปุ๋ยที่ใช้กำลังมือในการปั่น มีขนาดเล็กใช้ตามครัวเรือนได้

การทำปุ๋ยหมักของที่นี่มีทั้งแบบปุ๋ยหมักกลับกอง เครื่องปั่นปุ๋ยที่ใช้กำลังมือในการปั่น และใช้เทคโนโลยีเครื่อง Cow Tech ในการผลิต ซึ่งทางห้างเซ็นเตอร์วันให้การสนับสนุน สามารถผลิตปุ๋ยจากเศษอาหารได้วันละ 150-200 กิโลกรัม จะได้ปุ๋ยหมักในรูปของเหลวต้องแยกน้ำออก ส่วนที่แห้งจะนำไปหมักกับดินในขั้นตอนต่อไป

เครื่อง Cow Tech เทคโนโลยีในการกำจัดขยะอาหาร หลังปั่นจะได้เป็นของเหลวซึ่งต้องแยกน้ำออกจึงจะได้ปุ๋ยหมักนำไปผสมดินอีกครั้ง
ปุ๋ยหมักที่ได้จากเครื่อง Cow Tech

ส่วนปุ๋ยหมักแบบกลับกอง จะเป็นการหมักวัตถุดิบรวมกันเป็นเวลา 20 วัน กลับกอง 5-7 วันต่อครั้ง วิธีสังเกตว่าปุ๋ยหมักพร้อมใช้หรือยังคืออุณหภูมิจะไม่ร้อน ไม่มีราขาว กลิ่นจะคล้ายๆ ดิน

คุณธนกร เจียรกมลชื่น หรือคุณโจ๊ก ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตทั้งการทำปุ๋ยหมักและปลูกผัก
ขั้นตอนของการเตรียมใบไม้เพื่อคลุกผสมทำปุ๋ยหมัก
เศษอาหาร และอินทรีย์วัตถุอย่างใบไม้กิ่งไม้ ในแปลงปุ๋ยกลับกอง

คุณโจ๊กเล่าถึงสูตรการปรุงดินของเขาว่า ขั้นตอนการหมักตรงนี้จะไม่ใช้เวลามาก ถึงสัก 60-70% ก็จะนำไปหมักกับดินต่อ ผสมดินในแปลงปลูก ทิ้งไว้ 15-20 วัน ก็สามารถใช้ปลูกผักและจำหน่ายได้ ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบจะใช้เวลาใกล้เคียงกันและมีส่วนผสมของวัตถุดิบในอัตรส่วนเท่ากันคือ ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ปุ๋ยขี้ม้า 1 ส่วน ใบไม้กิ่งไม้แห้ง 1 ส่วน และเศษอาหาร 1 ส่วน โดยเศษอาหารจะแบ่งเป็นเศษอาหารก่อนปรุงจำพวกเศษผักเหลือใบ กับอาหารหลังปรุงอย่างกับข้าว โดยจะนำทั้งหมดปั่นรวมกันแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการหมักปุ๋ย

ดินคือหัวใจสำคัญ

ปลูกผักปลอดสารพิษ หัวใจสำคัญคือดิน จากกระบวนการทำปุ๋ยหมักในขั้นต้นเข้าสู่กระบวนการปรุงดิน ที่นี่จะใช้ดินที่ตากแห้ง มาผสมกับปุ๋ยหมัก ทิ้งไว้ 3-7 วันเพื่อให้ได้ดินที่สมบูรณ์ โดยสังเกตจากกลิ่นเหมือนดิน ไม่มีเศษอาหารชิ้นใหญ่ๆ ย่อยหมดแล้ว ไม่ร้อน ไม่มีราขาว หากดินโอเคแล้วถึงจะลงกล้าผัก โดยดิน 1 แปลงที่ผสมดินจะใช้ปลูกผักประมาณ 2 รอบ

ดินผสมปุ๋ยหมักที่พร้อมปลูก จะมีความละเอียด ไม่มีเศษอาหารก้อนใหญ่ ไม่ร้อน ไม่มีราขาว

เลือกปลูกผักให้ผักเลี้ยงเราได้

แนวคิดการทำฟาร์มของที่นี่คือต้อง “ปลูกเป็น ขายเป็น จัดการเป็น และบริหารจัดการเงินเป็น” โดยมีกลยุทธ์ง่ายๆ “วิธิการของเราก็คือไปหาลูกค้าก่อน ว่าเขาอยากกินอะไร แล้วปลูกอันนั้น เป้าหมายของที่นี่ไม่ได้แค่สร้างเล่นๆ แต่สร้างให้เป็นผู้ประกอบการ ที่หมายถึงเป็นเจ้าของให้มันเกิดรายได้ มีรายได้จากการจัดการขยะจริงๆ” พี่หนูกล่าว

กลุ่มผักสลัด ผักหลักที่ปลูกสร้างรายได้สม่ำเสมอ ทั้งเก็บขายและขายเป็นต้น
ฟาร์มผัก
ผักเคล ปลูกเป็นผักเสริม ตัดใบขาย ซึ่ง 1 ต้นมีอายุนานถึง 6 เดือน

ปลูกผักที่ขายได้ ชนิดของผักที่ปลูกจึงสัมพันธ์กับความต้องการของตลาด ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ต้องการซื้อต้นผักไปปลูกต่อและกลุ่มที่ต้องการซื้อผักสดไปรับประทาน  โดยแบ่งชนิดของผักออกเป็น 3 กลุ่มคือ

ผักหลัก ได้แก่ ผักที่สร้างรายได้หลัก เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น กลุ่มผักสลัด คอส เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก คะน้า

ผักรอง คือ ผักที่ปลูกเพื่อขายเป็นต้น หรือปลูกป้อนให้ร้านอาหาร เช่น เคล กะเพรา โหระพา พาร์สลีย์ ไธม์ เสจ ออริกาโน่

ผักเสริม คือ ผักขายเป็นต้น ปลูกในปริมาณไม่มาก เช่น ไมโครกรีน ลาเวนเดอร์ สวิสชาร์ด

สูตรการเลือกชนิดผักเพื่อปลูกจึงไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งพื้นที่ทำเกษตรที่แตกต่างย่อมเหมาะกับชนิดผักที่ต่างกัน ความต้องการของตลาดภายในพื้นที่ชุมชนนั้นด้วย

โต๊ะปลูกผัก ขนาด 1.50 x 3 x 0.90 เมตร สามารถปลูกผักได้ครั้งละ 100-120 ต้น

ภาชนะปลูก การเปลี่ยนสู่สิ่งที่ดีขึ้น

“ยุคเริ่มแรกภาชนะปลูกเราเน้นใช้ภาชนะรีไซเคิล ในตึกนี้มีเยอะคือกล่องโฟมที่จะใช้เป็นภาชนะปลูกได้ เรามีโต๊ะปลูกประมาณ 10 โต๊ะ ยาวประมาณ 6 เมตร กว้าง 1.80 เมตร โครงหลังคาเป็นท่อพีวีซี ใช้กล่องโฟมมาวาง การใช้กล่องโฟมปลูกผักมันดีนะ แต่ก็มีข้อด้อยคือมันจะกรอบเมื่อโดนแดด บวกกับการคลุกดินและการระบายน้ำไม่ค่อยดีเท่าไร จึงเปลี่ยนเป็นถุงปลูกแทน ถุงปลูกก็มีข้อดีตรงที่มันง่าย สะดวกในการเคลื่อนย้าย บางคนก็ชอบที่จะซื้อต้นผักในถุงไปปลูกต่อเลย” คุณป๋อง – อรรถพล นิพัทธ์โรจน์ ผู้รับหน้าที่ดูแลงานขายเล่าถึงปัญหาก่อนปรับเปลี่ยนสู่ภาชนะปลูกที่สะดวกขึ้น

ฟาร์มผัก
หากต้องการลัดขั้นตอน ที่นี่มีต้นผักในถุงปลูกให้นำไปดูแลต่อได้
สมุนไพรฝรั่งในถุงปลูก ผักรองของที่นี่ ตัดเก็บขายได้เรื่อยๆ

แม้จะมีข้อดีคือความสะดวก แต่เมื่อเทียบการเติบโตของผัก การปลูกในแปลงจะเติบโตดีกว่า เพราะรากผักจะขยายได้ตามขนาดของภาชนะ ทำให้ถุงปลูกมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องแรงงานปลูก เพราะมันต้องเทถ่ายเข้าถ่ายออก จึงเริ่มพัฒนาสู่โต๊ะปลูกผักที่พัฒนาจากโต๊ะปลูกรุ่นแรกสู่ Prototype เพื่อผลิตออกสู่ตลาดพร้อมระบบรดน้ำอัตโนมัติ

โต๊ะปลูกโครงเหล็ก หลังจากที่พัฒนาจากรุ่นกล่องโฟมที่ยังไม่มีหลังคาคลุม เป็นเพียงโครงตะแกรง แล้วมาเพิ่มซาแลนที่หลัง กันฝนในช่วงหน้าฝน ขยับขนาดให้มันสั้นขึ้นเพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้น หั่นจากขนาดเดิม 6 เมตรให้เหลือเพียง 3 เมตร สูง 90 เซนติเมตร กว้าง 1.50 เมตร ให้เอื้อมมมือไปถึงจุดตรงกลางได้ทั้งซ้ายขวา โต๊ะนี้สามารถปลูกผักได้ประมาณ 100-120 ต้น

โต๊ะปลูกผัก
โต๊ะปลูกผักมุงหลังคาด้วยซาแลนปัญหาเรื่องความร้อน และติดตาข่ายเพื่อกันนก
คุณสุขสันต์ เขียนภาพ ฝ่ายการตลาดและควบคุมคุณภาพ

นอกจากโต๊ะปลูกผักโครงเหล็กที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนฟาร์มในสเต็ปต่อไปแล้ว ยังมีโต๊ะไม้สำหรับบ้านที่มีพื้นที่ไม่เยอะมาก แต่อยากได้แปลงผักขนาดเล็ก ปลูกผักได้ 30-40 ต้น ดีไซน์สวยน่ารัก เป็นอีกหนึ่งโปรดักส์ที่จำหน่ายอยู่ด้วย

ปลูกผักต้องดูแลและเทคแคร์กันเสมอ

ด้วยสภาพชุมชนเมืองที่อยู่กลางกรุงเทพฯ สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือเหล่าศัตรูพืชที่ไม่คาดคิด นั่นคือปัญหาเรื่องนก ที่นี่จะใช้ตาข่ายกางป้องกันรอบๆ แปลง และสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือ ผีเสื้อ หนอนผีเสื้อ ซึ่งต้องกำจัดโดยใช้น้ำส้มควันไม้ จุลินทรีย์ไล่แมลง ฉีดพ่นเรื่อยๆ แต่ก็มีบ้างที่ต้องคอยเก็บทิ้งอย่างกรณีถ้าเกิดเจอบุ้งตัวใหญ่ที่มีขนปกคลุม สารจุลินทรีย์ต่างๆ จะฆ่าไม่ได้แล้ว ต้องคอยสังเกตแล้วเก็บทิ้งอย่างเดียว

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือความร้อน ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่บนดาดฟ้า รับแรงปะทะของแดดเต็มวัน การจัดการความร้อนและการให้น้ำของที่นี่จึงสำคัญไม่แพ้กัน

คุณกฤษฎา น้อยบุดดี วิศวกรหนุ่มที่ทำหน้าที่ในฝ่ายวิจัยและพัฒนา และนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ภายในฟาร์ม
คุณสมทรัพย์ รัตนมนตรีชัย ผู้ดูแลบัญชีและการเงินให้เกิดแคชโฟล์วภายในฟาร์ม

“การให้น้ำในแปลงปลูกใช้ฝักบัวเป็นหลักเคยใช้สปริงเกลอร์แล้วปรากฏว่าน้ำกระจายไม่ทั่ว ทั้งยังเปลืองน้ำ คุมระบบน้ำไม่ได้ แต่การรดน้ำเองจะทั่วถึงมากกว่า ส่วนความร้อน ใช้วิธีขึงซาแลนแล้วติดตั้งระบบพ่นหมอก เพื่อลดอุณหภูมิให้มีความชื้นมากขึ้น ทั้งยังช่วยป้องกันเพลี้ยบางตัว อย่างเพลี้ยไฟที่ระบาดในช่วงหน้าร้อน ที่นี่จะใช้จุลินทรีย์บิวเวอร์เรียฉีดตอนเย็น หรือใช้สบู่ด่างฉีด แต่ที่น่ากลัวคือมันมาปุ๊บมันจะไข่เป็นตัวอ่อนในแปลงดิน ถ้ามันมาจะฆ่ามันยากมาก ต้องควบคุมอุณหภูมิให้ชื้น ไม่ให้มันเกาะใบ” คุณโจ๊กกล่าว

ระบบรดน้ำอัตโนมัติที่ติดพ่วงไปกับโต๊ะปลูกที่กำลังวางจำหน่าย อำนวยความสะดวกให้การดูแลแปลงผักเป็นเรื่องง่ายขึ้น

มือร้อนไม่มีอยู่จริง ปลูกรอดไม่รอดอยู่ที่ใจ

“คนที่ปลูกผักไม่รอด ผมว่า มันอยู่ที่ใจ มากกว่า อย่างพวกเราก็ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ศึกษาไป การปลูกผักปลอดสารมันลงทุนน้อยกว่าซื้อผักปลอดสาร มันไม่ได้ยากมาก หลายคนบอกมือร้อนปลูกผักไม่ได้ ผมว่ามือร้อนไม่มีอยู่จริง มันอยู่ที่การเตรียมงานมากกว่า การเตรียมกล้าที่สมบูรณ์ การเตรียมดินปลูก ที่เหลือคือการดูแลมัน หากเริ่มต้นให้ถูกทาง ผลลัพธ์มันจะดีเอง แต่ถามว่าถ้าเริ่มต้นถูกทาง ปลายทางมันจะแกว่งไหม มันมีทางแกว่งได้ แต่ผลลัพธ์มันก็จะได้ 50% มันไม่เท่ากับ 0 ถึงตอนนั้นก็ต้องศึกษาเรียนรู้ ต่อยอดไป อย่างที่ทำกันอยู่ตรงนี้ก็ไม่มีใครทำสำเร็จในครั้งแรกเลยมาก่อน แต่ก็มาเรียนรู้เพิ่มจากการลงมือ” คุณป๋องกล่าว

อรรถพล นิพัทธ์โรจน์ ผู้ดูแลฝ่ายขาย สร้างให้ฟาร์มเกิดรายได้

“อีก 2 พนักงานฝ่ายผลิตผู้ทำหน้าที่ดูแลฟาร์มอย่าง บัวกับใบ ตอนนี้กำลังพัฒนาเป็นคนขาย พวกเขาเป็นผู้ประกอบการเกษตรกรในเมืองตัวจริงที่เราตั้งใจจะไปปั้นโมเดลนี้ที่อื่นๆ แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือทำงานร่วมกับเจ้าของตึก เจ้าของที่ดิน ห้างสรรพสินค้า โดยมีคนทำงานให้คือทีมเราทำหน้าที่จัดการขยะเศษอาหารให้เกิดผลสำเร็จ อีกรูปแบบหนึ่งคือเราไปอยู่ในพื้นที่รวมตัวเป็นกลุ่มในชุมชน เพื่อจะได้มีแปลงผักรวมตัวกันในกลุ่มไม่ใช่ทำแค่คนเดียว เป็นการร่วมมือเชิง Collaboration หากใครสนใจตรงนี้ ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้” พี่หนูกล่าวทิ้งท้าย

Bangkok Rooftop Farming เปิดคอร์สเรียนรู้ 2 รูปแบบ คือ จัดการอบรม ให้นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูต้นแบบการจัดการขยะอาหารและทำฟาร์ม อีกส่วนคือเปิดอบรมแบบ Public Class เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเวิร์คชอป เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ประมาณเดือนละครั้ง ซึ่งที่นี่ไม่ได้แค่ชวนให้มาทำฟาร์มเท่านั้นแต่ยังเน้นย้ำให้จัดการขยะอาหารอย่างถูกวิธีโดยใช้ทำปุ๋ยหมัก สำเร็จก็ต้องใช้ปลูกผัก สร้างรายได้ต่อไป

ติดต่อได้ที่

Facebook: https://www.facebook.com/bangkokrooftopfarm

Website: http://www.bangkokrooftopfarming.com/

โทรศัพท์: 09-2691 – 5051


เรื่อง: JOMM YB

ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข


อาชีพปลูกผักของกราฟิกดีไซเนอร์ที่หัวใจบอกว่าผักฉันต้องรอด

รปภ.-ธุรการ-นักการตลาด ผู้เปลี่ยนดาดฟ้าอพาร์ตเมนต์
ให้เป็นสวนผักออร์แกนิกกลางกรุง

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.con/baanlaesuanmag

ฟาร์มผัก