บ้านชั้นเดียว

บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง พร้อมพื้นที่เกษตรพอเพียง

บ้านชั้นเดียว
บ้านชั้นเดียว

บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง รูปทรงเรียบง่ายที่ผสมผสานด้วยฟังก์ชันเก๋ๆ  โดยเชื่อมต่ออยู่ภายใต้หลังคาจั่วเดียวกัน ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบเงียบในจังหวัดปทุมธานี

หลังจากผ่านช่วงล็อกดาวน์เมืองเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคมาแล้ว เชื่อว่าเราต่างก็เริ่มค้นพบวิธีอยู่บ้านให้มีความสุขกันมากขึ้นแถมยังตระหนักถึงความสำคัญของการทำบ้านให้เป็นสถานที่ปลอดภัยมากที่สุด และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากสามารถดำรงชีวิตกันแบบพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนภายในรอบรั้วเขตบ้านของเรา   บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง

คุณศุภ – ศุภรัฐ  ทินจันทร์ และ คุณปู – ชลียา  วามสิงห์ เจ้าของบ้านหลังนี้มีแนวคิดของการสร้างบ้านอยู่อาศัยแบบพอเพียงควบคู่ไปกับการทำเกษตรพึ่งพาตัวเองได้มาหลายปีแล้ว หลังจากใช้ชีวิตแบบคนทำงานในเมืองมาอย่างเต็มอิ่ม กว่าจะมาพบกับทางสายกลางของชีวิตด้วยการสร้างบ้านขนาดพอเพียงอยู่บนที่ดินของคุณพ่อท่ามกลางธรรมชาติอันสงบเงียบในจังหวัดปทุมธานี

บ้านชั้นเดียว หลังคาจั่ว บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง
ประหยัดค่าถมที่ด้วยการใช้รถไถตักดินรอบๆ ขึ้นมาไว้ตรงกลางให้กลายเป็นที่สำหรับสร้างบ้านชั้นเดียวภายใต้หลังคาทรงจั่ว  และใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำรอบบ้านเพื่องานเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง  ทั้งคู่เรียกบ้านหลังนี้ว่าบ้าน “ Farmsup ” ที่มาจากชื่อของคุณศุภ เพราะตั้งใจทำให้เป็นบ้านพักผ่อนผสมผสานไปกับการทำเกษตรเพื่อชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืน
เฉลียง เฉลียงหน้าบ้าน บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง
เฉลียงหน้าบ้านมีขนาดกว้างหันออกไปทางทิศเหนือพร้อมชายคายื่นยาว  เป็นทิศที่แดดไม่ร้อนมาก  จึงเหมาะกับการออกมานั่งรับลมชมวิว  โดยคุณปูเลือกปลูกต้นพวงครามที่ตั้งใจให้เลื้อยสร้างความร่มรื่นให้แก่ตัวบ้านผสมผสานไปกับต้นสนที่เธอชอบ

เรียนรู้การอยู่อาศัยแบบพอเพียง

คุณศุภรัฐเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นว่า “ เมื่อก่อนตรงนี้เป็นทุ่งโล่ง ๆ ไม่มีคนอาศัยอยู่เลย  ผมลองมาปลูกต้นยางนา  พะยูง  และกล้วยทิ้งไว้  คิดว่าจะพัฒนาให้เป็นสวนไม้ผลและพืชผักสวนครัวผสมผสานกัน  พอเห็นต้นไม้เติบโตได้ดีก็เริ่มอยากสร้างบ้าน  ลองวาดภาพบ้านง่ายๆ ลงบนกระดาษ A4 แล้วเอาให้เพื่อนสถาปนิกดู  เรามีงบค่อนข้างจำกัด  ก็เลยต้องใช้วิธีคุมงานก่อสร้างและทำเอง ประหยัดเงินค่าถมที่ด้วยการใช้รถไถขุดดินรอบ ๆ ตักขึ้นมาถมเป็นที่สำหรับสร้างบ้าน  ทำให้บ้านเหมือนอยู่บนเกาะกลางน้ำ  ดูน่าจะปลอดภัยดีเพราะคนนอกเข้าถึงยากและเราสามารถมองเห็นได้รอบตัว  แต่พอฝนตกครั้งแรกน้ำท่วมเกลี้ยงเลย กว่าจะรู้ว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดอยู่ตรงไหน  ระหว่างนั้นก็ศึกษาเรื่องวิธีปรับดินเปรี้ยวให้ทำเกษตรได้ ไปอบรมและหาความรู้จากหลายที่  เปิดตำราในหลวงรัชกาลที่ 9  เรื่องการแกล้งดินยังไง  ศึกษาระบบอควาโปนิกส์เพื่อปลูกพืชและเลี้ยงปลาไปด้วยกันได้  ทำสวนครัวยังไงให้รอด  เรียนรู้ไปเรื่อยทั้งดิน  น้ำ  ลม  แดด  ระหว่างสร้างบ้านเลย”

สร้างบ้านแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ใช้วัสดุมาตรฐาน

ขณะที่คุณณฤชา  คูวัฒนาภาศิริ สถาปนิกแห่ง I like design studio ก็ได้ถอดภาพวาดบ้านง่ายๆ บนกระดาษแผ่นนั้นให้กลายเป็นบ้านชั้นเดียวภายใต้หลังคาทรงจั่วด้วยระยะช่วงเสา 4 x 4 เมตร ขนาดพื้นที่ใช้สอย 100 ตารางเมตร ลงเสาเข็มและยกพื้นบ้านให้สูงจากพื้นดินราว 60 เซนติเมตรเพื่อเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม แล้วก่ออิฐฉาบปูนในส่วนฐานบ้านสูงขึ้นมาอีก 60 เซนติเมตรจากนั้นก็ต่อด้วยโครงเหล็ก ใช้แผ่นยิปซัมฉาบเรียบใส่ฉนวนกันความร้อนกรุผนังแล้วปิดผิวด้านนอกด้วยไม้เทียม ส่วนหลังคาเป็นเมทัลชีต ทั้งหมดเป็นวัสดุมาตรฐานที่สร้างขึ้นด้วยระบบง่ายๆไม่ซับซ้อนเพื่อประหยัดงบประมาณให้มากที่สุดพร้อมกับจัดตำแหน่งวางตัวบ้านให้ขวางทิศลมเหนือ-ใต้ เมื่อใส่ช่องประตูหน้าต่างเปิดจึงเกิดการหมุนเวียนของลมที่เย็นสบาย

บ้านชั้นเดียว open plan บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง
เพราะไม่ได้มีพื้นที่ใช้สอยมากนักจึงเน้นการวางผังแบบ Open Plan เพื่อทำให้ทุกมุมใช้งานเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวและดูกว้างขวางสบายตา
โถงกลางบ้าน บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง
โถงกลางบ้านเป็นพื้นที่ใช้งานหลักจัดวางด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเพื่อสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันได้หลากหลาย  สร้างความโดดเด่นสวยงามไว้ด้วยเสื่อลายสวยของแบรนด์ PDM ที่ดูแลทำความสะอาดได้ง่ายและเหมาะกับวิถีชีวิตของบ้านกลางทุ่ง
ผ้าแต่งผนัง
มุมนี้เป็นช่องหน้าต่างของบ้านในบริเวณผนังใต้บันไดซึ่งอยู่ทางทิศใต้ จึงมีแดดส่องเกือบตลอดวันตามแนวอาทิตย์อ้อมใต้ คุณปูจึงเลือกจะปิดหน้าต่างส่วนนี้ด้วยผ้าพิมพ์ลายสวยๆ ซึ่งกลายเป็นดีไซน์ที่เพิ่มมุมมองเก๋ ๆ ให้บ้าน
เก้าอี้
เพื่อประหยัดงบประมาณในการตกแต่งบ้าน คุณปูจึงนำเก้าอี้ไม้เก่าที่อยู่ในบ้านหลังเดิมตั้งแต่เด็กๆ มาขัดสีแล้วเปลี่ยนใส่เบาะใหม่เข้าไป ไม่เพียงใช้งานได้ดี แต่ยังเชื่อมต่อความทรงจำส่วนตัวได้ด้วย
โถงกลางบ้าน บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง
เพื่อให้ภายในบ้านเย็นสบายโดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา  จึงเน้นช่องประตูหน้าต่างที่เปิดโล่งให้ลมหมุนเวียนได้ดีตลอดวัน พร้อมกับมองเห็นวิวธรรมชาติรอบๆ ได้จากทุกมุมในบ้าน
ชั้นหนังสือ บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง
การเปิดพื้นที่ระหว่างภายในกับภายนอกให้เชื่อมต่อกันง่าย ๆ  ช่วยทำให้พื้นที่ใช้สอยของบ้านดูกว้างมากขึ้น โดยผนังด้านบนยังเพิ่มดีไซน์ด้วยการทำชั้นเล็กๆ สำหรับวางหนังสือและของสะสมของคุณศุภไว้ด้วย

แยกฟังก์ชันการใช้งานเป็น 2 ฝั่ง ตอบสนองความชอบที่ต่างกัน

ในความเรียบง่ายของบ้านทรงจั่วนี้ยังผสมผสานด้วยฟังก์ชันเก๋ๆ จากสไตล์ความชอบที่ต่างกันของคุณศุภและคุณปู โดยฝั่งขวาของบ้านเรียกกันว่าส่วนของวิลล่าตากอากาศที่ออกแบบให้ดูสวยงามและชวนผ่อนคลายพร้อมพื้นที่ใช้สอยจำเป็นครบถ้วน ทั้งส่วนนั่งเล่น แพนทรี่ ห้องน้ำและห้องนอนบนชั้นลอย พร้อมกับเฉลียงไว้นั่งเล่นหน้าบ้าน ขณะที่ฝั่งซ้ายของบ้านเป็นส่วนของโรงนาสำหรับเก็บเครื่องมือการเกษตรของคุณศุภ กรุด้วยเมทัลชีตที่ดูเรียบเท่ โดยทั้งสองส่วนเชื่อมต่ออยู่ภายใต้ผืนหลังคาจั่วเดียวกัน แต่มีช่องทางเดินนอกบ้านคั่นไว้ ซึ่งกลายเป็นช่องเปิดที่ช่วยให้ลมหมุนเวียนได้ดีมาก ๆ

แต่งบ้านให้อยู่สบายแบบประหยัดงบ

คุณปูเล่าเสริมถึงงานตกแต่งภายในซึ่งเป็นงานถนัดของเธอว่า “อยากให้ในบ้านอยู่สบายค่ะ แต่ก็ต้องประหยัดด้วย  เราเลยเอาเก้าอี้ไม้เก่าจากบ้านเดิมมาขัดสีและบุที่นั่งใหม่  ผ้าม่านก็บุกไปรื้อที่เอ๊าต์เล็ต  เลือกจากล็อตที่เกินจากทางโรงแรมสั่งไว้ สีเลยจะไม่เหมือนกันแต่เน้นโทนให้กลมกลืนกันอยู่ ซึ่งตอนนี้เราอินกับสีเขียวมินต์และสีแซลมอนอ่อน แพนทรี่ก็ใช้ชุดครัวสำเร็จรูป IKEA  พื้นเป็นกระเบื้องลายไม้ดูแลง่าย  เตียงนอนยกมาจากบ้านเดิม  ส่วนโคมไฟเราก็ซื้อจากจตุจักรมาประยุกต์ฟังก์ชันเอง ที่ชอบมากคือเคาน์เตอร์หินในห้องน้ำซึ่งเป็นหินตัวอย่าง  แต่ลงตัวพอดีกับขนาดพื้นที่เป๊ะ  แม้แต่บานหน้าต่างยังใช้บานเก่าที่เหลือจากบ้านลูกค้ามาติดเลยค่ะ” (หัวเราะ)

มุมจิบกาแฟ
มุมจิบกาแฟยามเช้าที่แสนสบายโดยเชื่อมต่อออกไปที่เฉลียงด้านข้างของบ้านได้
แพนทรี่
ส่วนของแพนทรี่ใช้ชุดครัวสำเร็จรูปสีขาวของ IKEA ที่เลือกให้พอดีกับความกว้างของผนังด้านนี้  และด้วยโทนสีขาวทำให้พื้นที่เล็กๆ นี้ดูไม่อึดอัดเลย
แพนทรี่
ผักและผลไม้บางส่วนที่ปลูกเองก็มักกลายมาเป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่มของบ้านด้วย
มุมวางรองเท้า มุมแขวนหมวก
ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทางเดินด้วยการวางชั้นวางรองเท้าและติดที่แขวนเสื้อกับหมวก
ห้องน้ำ ห้องน้ำสีขาว
คุณปูยังนำวัสดุหินตัวอย่างที่ได้จากงานออกแบบตกแต่งภายในของเธอมาออกแบบเป็นเคาน์เตอร์ส่วนอ่างล้างหน้าให้ลงตัวกับพื้นที่ในห้องน้ำได้อย่างพอดี
ไทรใบสัก
ไทรใบสักช่วยเพิ่มความสดชื่นและฟอกอากาศภายในบ้าน
โถงกลางบ้าน
มุมมองโปร่ง ๆ จากห้องนอนบริเวณชั้นลอยทำให้รู้สึกถึงการเชื่อมต่อพื้นที่แบบไม่ตัดขาดออกจากกันแม้จะอยู่คนละมุม
ห้องนอน ห้องนอนสีขาว
ห้องนอนในบรรยากาศเหมือนห้องใต้หลังคาเพราะใช้พื้นที่บริเวณชั้นลอยจึงใกล้ชิดกับเพดานจั่วของบ้าน แต่ยังคงความโปร่งสบายด้วยโทนสีขาวสว่าง  พร้อมกับช่องหน้าต่างแนวนอนที่เป็นช่องให้ลมหมุนเวียนและมองเห็นความเคลื่อนไหวนอกบ้านได้โดยไม่เสียความเป็นส่วนตัว
บ้านชั้นเดียว บ้านหลังคาจั่ว บ้านชั้นเดียว กลางทุ่ง
ฟังก์ชันที่แยกกันระหว่างส่วนพักผ่อนแบบวิลล่าตากอากาศฝั่งขวาและโรงนาเก็บอุปกรณ์ฝั่งซ้ายภายใต้หลังคาจั่วเดียวกันแต่คั่นไว้ด้วยช่องทางเดินกลางบ้านซึ่งกลายเป็นช่องลมหมุนเวียนที่ทำให้ภายในบ้านเย็นสบายขึ้น  ส่วนรถไม้ติดล้อด้านหน้านั้นเป็นที่นอนของคุณศุภในช่วงดูแลงานก่อสร้างบ้าน
โรงนา โรงนาฝรั่ง มุมเก็บอุปกรณ์การเกษตร
แทนที่จะแยกพื้นที่โรงนาออกจากตัวบ้านให้เป็นอาคารสองหลังเลย แต่สถาปนิกก็ยังนำความต้องการใช้พื้นที่โรงนาสำหรับเก็บอุปกรณ์การเกษตรของคุณศุภมาเชื่อมต่อไว้ภายใต้หลังคาทรงจั่วเหมือนเติมเต็มพื้นที่ของกันและกันไว้อย่างน่ารัก แล้วใช้เมทัลชีตกรุผนังแบบง่ายๆ คั่นไว้ด้วยช่องทางเดินซึ่งสร้างเส้นทางหมุนเวียนของลมที่ดีไปในตัว
หน้าต่าง
หน้าต่างเดิมในบ้านใหม่ อีกหนึ่งแนวคิดที่ช่วยประหยัดงบประมาณการตกแต่งคือ คุณปูนำบานหน้าต่างไม้ที่ลูกค้าเหลือทิ้งจากบ้านเก่ามาใช้งานในบ้านนี้ ช่วยทดแทนการใช้ช่องหน้าต่างอะลูมิเนียมใหม่ แถมยังได้ความอบอุ่นของไม้เก่ามาผสมผสาน

วันนี้แม้บ้านจะสร้างเสร็จแล้ว แต่คุณศุภบอกว่างานเกษตรของเขายังคงมีสิ่งที่ต้องทำอยู่ทุกวัน ยิ่งลงมือปลูกยิ่งมีความสุข ยิ่งเติมยิ่งหลากหลาย ทั้งไม้ผล พืชผัก เลี้ยงปลา ทำปุ๋ยติดระบบกรองน้ำ ต่อระบบโซลาร์เซลล์ในส่วนโคมไฟนอกบ้าน และเมื่อจบงานลงในทุกๆ วัน ทั้งคู่มักจะมานั่งผ่อนคลายที่เฉลียงหน้าบ้าน ดื่มด่ำกับผลงานรอบตัวและเก็บเกี่ยวความงามจากธรรมชาติทั้งหมดนี้ไปเข้านอนอย่างมีความสุขเสมอๆ

คุณศุภบอกว่างานเกษตรมีสิ่งที่ต้องทำทุกวันไม่เคยหมด
โรงนา มุมเก็บอุปกรณ์การเกษตร
ภายในโรงนาที่กรุด้วยเมทัลชีตใช้สำหรับเก็บเครื่องมือการเกษตร ของใช้ต่างๆ รวมถึงเป็นที่จอดรถด้วย

แปลงผัก
บางส่วนของพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ทั้งแบบลงแปลงและแบบลงกระถาง ตามที่คุณศุภบอกว่าทดลองปลูกและทดลองเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

สถาปนิก : I like design studio โดยคุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ

ตกแต่งภายใน : Chaleeya DESIGN

เจ้าของ : คุณศุภรัฐ ทินจันทร์ และคุณชลียา วามสิงห์

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์

นิตยสารบ้านและสวนฉบับสิงหาคม 2563

เปลี่ยนบ้านเก่าให้โมเดิร์นและเข้าถึงธรรมชาติ

บ้านชั้นเดียวกลางทุ่งที่เปิดรับธรรมชาติอย่างเต็มที่

บ้านเปื้อนดิน – บ้านดินพอเพียงที่ซ่อนตัวอยู่กลางกรุง