มะเร็งหรือเนื้องอกในแมวที่พบบ่อย พร้อมวิธีการรักษาและการพยากรณ์โรค

หากได้ยินคำวินิจฉัยจากคุณหมอว่าเเมวของคุณเป็นมะเร็งหรือเนื้องอก เเน่นอนว่าหลายคนก็คงต้องเศร้าไปกับคำวินิจฉัยนั้น เเต่ใช่ว่านั่นจะเป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป เพราะมะเร็งบางชนิดหากตรวจพบได้ไวในระยะไม่ลุกลาม ก็มีโอกาสทำการรักษาได้รวดเร็วและหายขาด

มะเร็ง (cancer หรือ malignant tumor) เป็นคำศัพท์ที่ใช้อธิบายโรคที่เกิดขึ้นจากเนื้องอก (tumor หรือ neoplasm) ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์ที่ผิดปกติที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องในร่างกายโดยไม่หยุด ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงมีแนวโน้มลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เลือด และระบบน้ำเหลือง ส่วนเนื้องอกที่ไม่ได้มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น และไม่ได้มีการลุกล้ำไปยังอวัยวะข้างเคียง ภาษาอังกฤษเรียกว่า benign tumor เนื้องอกในแมว

วันนี้คุณหมอจะมาเล่าให้ฟังเนื้องอกหรือมะเร็งที่พบบ่อยในแมว พร้อมวิธีการรักษาและการพยากรณ์โรคมาฝากครับ

1.มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ lymphosarcoma (อ่านว่า ลิมโฟซาร์โคมา) หรือ อาจเรียกว่า lymphoma (อ่านว่า ลิมโฟมา)

เนื้องอกในแมว
ขอบคุณภาพจาก : www.meowlovers.com

เป็นมะเร็งซึ่งมีเซลล์ต้นกำเนิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า lymphocyte แมวที่เป็นโรคลิวคีเมียจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งชนิดนี้มากขึ้น ถ้าแมวมีโรคลิวคีเมียมักจะพบมะเร็งชนิดนี้ที่อายุเฉลี่ยเพียง 3 ปี เท่านั้น อายุเฉลี่ยที่พบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในแมวที่ไม่เป็นลิวคีเมียคือ 8 ปี อาการที่แสดงขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มะเร็งลุกลามไป

  • มะเร็งที่อยู่ในช่องอกในต่อมไทมัส แมวจะหายใจลำบาก อ้าปากหายใจและไอ
  • มะเร็งอยู่ภายในทางเดินอาหาร ผนังลำไส้หนาตัว มีอาการอาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือดสดหรือเลือดสีดำ
  • มะเร็งอยู่ที่ไต ไตขยายขนาดและมีผิวไม่เรียบ แมวแสดงอาการของโรคไตวาย (เช่น อาเจียน เบื่ออาหาร ดื่มน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ เเละซึม)
  • มะเร็งกระจายหลายตำแหน่ง อาการจะไม่จำเพาะ มีภาวะเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึม ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย
  • ก้อนมะเร็งเดี่ยว อาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งในจมูกทำให้จาม น้ำมูกไหล มะเร็งในไขสันหลังทำให้อัมพาต หรือพบก้อนเดี่ยวที่ผิวหนัง เป็นต้น

การรักษาสามารถทำได้ด้วยการใช้เคมีบำบัด การใช้ยาสเตียรอยด์เพียงหนึ่งตัวเพื่อทำเคมีบำบัดมีค่ามัธยฐานการรอดชีวิตอยู่ที่ 2 เดือน การใช้ยาเคมีบำบัดหลายตัวร่วมกันมีค่ามัธยฐานการรอดชีวิตอยู่ประมาณ 6-9 เดือน มะเร็งที่จมูกอาจจะสามารถควบคุมมะเร็งได้มากกว่า 2 ปี

2.มะเร็งเต้านม (mammary gland tumor)

เนื้องอกในแมว
ขอบคุณภาพจาก : wamiz.co.uk

ในขณะที่เนื้องอกเต้านมในสุนัขมีโอกาสเป็นมะเร็งเพียง 50% โรคนี้ในเเมวถือว่าเป็นโรคร้ายแรงเพราะเนื้องอกเต้านมในแมวเป็น “มะเร็ง” ที่มีการลุกลามไปเนื้อเยื่อข้างเคียง และกระจายไปอวัยวะอื่นสูงถึง 80% โดยกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ตับและปอด เราเจอได้บ่อยในแมวไทยและแมวบ้านขนสั้น คุณหมอสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดร่วมกับการทำเคมีบำบัด ถ้าคุณหมอทำการตัดก้อนเนื้อออกเป็นบริเวณกว้างแบบถอนรากถอนโคน  (radical mastectomy) มีระยะเวลาที่ตรวจไม่พบเนื้องอกนานถึง 575 วัน ระยะเวลาที่มีชีวิตรอดอยู่ที 800 วัน ถ้าคุณหมอทำการผ่าตัดโดยตัดออกเฉพาะเนื้องอกแต่ไม่ได้รวมถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงเป็นบริเวณกว้าง ช่วงระยะเวลาที่ตรวจไม่พบมะเร็งเป็น 325 วัน ระยะเวลาที่รอดชีวิตนานถึง 500 วัน ปัจจัยที่ใช้ในการพยากรณ์โรคอีกตัวหนึ่งคือขนาดของก้อนมะเร็ง ถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดมากกว่า 3 เซนติเมตร ค่ามัธยฐานการมีชีวิตรอดหลังผ่าตัดอยู่ที่ 6 เดือน ถ้ามะเร็งมีขนาดน้อยกว่า 2 เซนติเมตร แมวมีโอกาสชีวิตรอดอยู่นานถึง 3 ปี

3.มะเร็งชนิด squamous cell carcinoma (อ่านว่า สควอมัสเซลล์คาร์ซิโนมา)

เนื้องอกในแมว
ขอบคุณภาพจาก : catmylove.com

มักตรวจพบในส่วนของช่องปาก ซึ่งมักเป็นชนิดรุนแรง คือลุกลามไปเนื้อเยื่อข้างเคียงมาก อีกบริเวณที่พบคือผิวหนัง เช่น ดั้งจมูก เเละปลายหู หรือกระจายตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ลักษณะของมะเร็งเป็นผื่น บวมแดง มีน้ำเหลืองเยิ้ม หรือมีสะเก็ด การตากแดดและได้รับรังสียูวีถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งที่บริเวณดั้งจมูกและปลายหู สำหรับมะเร็งที่ใบหู แมวที่มีขนสีขาว และผิวมีสีอ่อน จะมีความเสี่ยงมากกว่าแมวทั่วไป การรักษาสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัด และอาจจะทำการฉายแสงซ้ำในกรณีที่สงสัยว่าไม่สามารถตัดมะเร็งออกได้หมด สำหรับมะเร็งชนิดนี้ที่บริเวณช่องปากมีค่าการรอดชีวิตอยู่ที่ 6 เดือน สำหรับมะเร็งที่ผิวหนัง ถ้าสามารถตรวจพบไว และทำการผ่าตัด จะสามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้

4.กลุ่มมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissue sarcoma)

ขอบคุณภาพจาก : www.abcdcatsvets.org

เป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงที่ประกอบด้วยเนื้องอกหลายกลุ่มที่มีต้นกำเนิดเดียวกันคือเซลล์มีเซนไคม์ (messenchymal cells) โดยเนื้องอกเหล่านี้อาจเกิดจากกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน หรือหลอดเลือด ในแมวมะเร็งชนิดนี้มักจะเกิดที่บริเวณที่มีการฉีดวัคซีนเป็นประจำ การฉีดยา การฝังไมโครชิพ และการหยดยาก็อาจจะมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ได้ การรักษาทำได้ด้วยการผ่าตัดเป็นหลักซึ่งอาจจะทำร่วมกับการฉายแสง ค่ามัธยฐานการมีชีวิตอยู่หลังจากทำการผ่าตัดและฉายแสง ทั้งก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดอยู่ที่ประมาณ 1-2 ปี การผ่าตัดแบบถอนรากถอนโคน (radical surgery) ซึ่งหมายถึงการตัดขา มีแนวโน้มทำให้หายขาดจากโรคได้ เนื่องจากการรักษามะเร็งชนิดนี้แนะนำให้ทำการผ่าตัดเป็นบริเวณกว้างหรืออาจจะถอนรากถอนโคน ถ้าเกิดมะเร็งขึ้นบริเวณกลางลำตัวหรือสันหลัง จะทำให้ไม่สามารถตัดออกได้หมดดังนั้นในต่างประเทศมักจะฉีดวัคซีนหรือยาในตำแหน่งที่เป็นข้างกระดูกสะบักหรือทางขาหลังข้างใดข้างหนึ่งเสมอ เช่น วัคซีนโรคลิวคีเมียจะฉีดด้านซ้ายของสะบักซ้ายเสมอ ((Leukemia is on the Left) วัคซีนรวมและพิษสุนัขบ้าจะฉีดข้างสะบักด้านขวา (Rabies is on the Right) เพราะถ้าเกิดโรคขึ้น คุณหมอทำการผ่าตัดสามารถที่จะตัดขาทางขาออกได้ง่ายกว่า

คุณหมอย้ำอีกครั้งนะครับ เช่นเดียวกับ มะเร็งในสุนัข การที่จะบอกได้ถึงโรคต้องตรวจเซลล์หรือชิ้นเนื้อก่อนทุกครั้งเพื่อให้รู้ถึงชนิดของมะเร็ง การพยากรณ์โรคที่แม่นยำต้องมีการตรวจการแพร่กระจายและครับ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งในแมวที่สำคัญคือการติดโรคลิวคีเมียสำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื้องอกทุกโรคที่คุณหมอเขียนถึงในวันนี้โดยส่วนใหญ่เกิดกับแมวสูงวัย แต่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถเกิดกับแมวอายุน้อยได้เช่นกัน เราสามารถลดความเสี่ยงได้ถ้าเราเลี้ยงแมวในระบบปิด หรือให้อยู่ในบ้าน แมวไม่ได้สัมผัสกับแมวตัวอื่น เช่น โดนกัด การเลียขนให้แมวอีกตัว  การทำวัคซีนลิวคีเมียก็ลดความเสี่ยงได้ แต่ไม่สามารถป้องกันได้ 100%  ดังนั้นการป้องกันการสัมผัสกับแมวอื่นสำคัญมากครับ สำหรับมะเร็งชนิด squamous cell carcinoma เราก็สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการลดการตากแดดเป็นเวลานานครับ

มะเร็งสามารถเกิดขึ้นกับแมวของเราโดยที่เราไม่คาดคิดแต่ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถจัดการได้ครับ อย่างที่คำโบราณสอนไว้ครับ กันไว้ดีกว่าแก้ ครับ

บทความโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว. สพ. ศัลยศาสตร์)

Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS

โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์

Parichart Suwinthawong Animal Hospital