โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือ โรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูงในแมว (Feline Hyperthyroidism)

โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ในแมว (Feline Hyperthyroidism) เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อในแมว โดยต่อมไทรอยด์จะหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากกว่าปกติ

โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ เกิดมาจาก ต่อมไทรอยด์ที่เป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณลำคอ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ที่มีบทบาทสำคัญ ต่อการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย รวมไปถึงมีหน้าที่ในการควบคุมพลังงาน และ มีผลต่อการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญในร่างกายของแมว เช่น หัวใจ สมอง ระบบทางเดินอาหาร ระบบกล้ามเนื้อ เป็นต้น

โรคไฮเปอร์ไทรอยด์
ภาพจาก : https://www.wikihow.com/Treat-Hyperthyroid-Disease-in-Cats

โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ มักพบในแมววัยกลางจนถึงแมวสูงอายุ ช่วงอายุที่มีรายงานในการตรวจพบคือ ตั้งแต่ 4 -22 ปี แต่โดยส่วนมากค่าเฉลี่ยมักจะพบที่อายุมากกว่า 10 ปี โดยโรคนี้สามารถเกิดได้กับแมวทุกเพศ และ ทุกสายพันธุ์

อาการของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์

อาการที่เราสามารถสังเกตได้จากภายนอก เช่น น้ำหนักลดลง ถึงแม้จะมีความอยากอาหารอยู่ หรือ สามารถยังกินอาหารได้ปกติ มีการกินจุมากขึ้น ปัสสาวะบ่อย กินน้ำบ่อย ขนหยาบกร้าน มีการเคลื่อนไหวมาก (Hyperactivity) อาเจียน ถ่ายเหลว เป็นต้น ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบตามมาได้ เช่น เบื่ออาหาร เริ่มมีการเคลื่อนไหวลดลง และ ร่วมกับมีอาการอ่อนแรง คลำบริเวณคอพบมีต่อมไทรอยด์ขยายใหญ่ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป คือ แสดงอาการดุร้ายขึ้น และ หงุดหงิด หัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติ เป็นต้น

โรคไฮเปอร์ไทรอยด์
ภาพจาก : https://icatcare.org/advice/hyperthyroidism/

การตรวจวินิจฉัย

แมวที่สงสัย สัตวแพทย์จะทำการเจาะเก็บเลือด เพื่อตรวจระดับฮอร์โมน Serum total T4 ซึ่งในแมวที่เป็นโรคนี้ จะพบอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ ร่วมกับการตรวจค่าเคมีทางเลือดอื่น ๆ เช่น การทำงานของตับ ไต การตรวจค่าโลหิตวิทยา การตรวจปัสสาวะ การวัดความดันโลหิต การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ การตรวจหัวใจ ด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) และการอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง ร่วมกับการตรวจร่างกาย พบอาการที่สำคัญ เช่น แมวจะซูบผอม อาจจะคลำพบการโตของต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอ มีหัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติ ตรวจพบเสียงฟู่ของหัวใจ (Murmur heart หรือ Gallop) เป็นต้น

การดูแลหมา-แมวป่วย ด้วย 5 รูปแบบชนิดยา พร้อมเทคนิคการป้อนยาอย่างง่าย

การรักษา

การรักษาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ในแมว สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออก (Thyroidectomy) วิธีนี้เป็นวิธีที่ให้ผลดีในการรักษาโรคนี้ แต่มักพบอาการข้างเคียง เช่น อาจเกิดภาวะ Hypothyroidism ตามมาได้ หรือทำให้เกิดภาวะแคลเซียมต่ำ ซึ่งสัตวแพทย์จะต้องมีการเตรียมตัวแมวก่อนผ่าตัด หรือ ให้ยาในการปรับระดับฮอร์โมนต่าง ๆ การรักษาทางอายุรกรรมโดยการให้ยา Methimazole ซึ่งเป็นยาที่เลือกใช้เป็นอันดับแรก (Drug of choice)

ในการรักษาโรคนี้ มีทั้งรูปแบบชนิดเม็ดกิน และ แบบที่ทาซึมผ่านผิวหนัง ซึ่งสามารถควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ได้ และให้ผลดีในระยะยาว แต่ก็สามารถพบผลข้างเคียง จากการใช้ยาได้เช่นกัน นอกจากการักษาด้วย 2 วิธีที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีการรักษาด้วยรังสี Radioactive Iodine ซึ่งเป็นการรักษาที่ให้ผลได้ดีในแมว แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในไทยและ มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

โรคไฮเปอร์ไทรอยด์

การป้องกัน

โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในแมว จึงแนะนำให้เจ้าของคอยสังเกตอาการ โดยเฉพาะในแมวที่เริ่มเข้าสู่วัยกลางและแมวสูงอายุ โดยสังเกตอาการต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น และแนะนำการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดเป็นประจำทุก ๆ 6-12 เดือน ซึ่งถ้าหากตรวจพบความผิดปกติของโรคตั้งแต่ระยะแรก ๆ สามารถให้การรักษาเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้นได้ และช่วยให้น้องแมวมีอายุยืนอยู่กับเราได้นานขึ้นอีกด้วย


บทความโดย
สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
Piyawun Phurahong , DVM
สัตวแพทย์ประจำคลินิกโรคแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

ติดตามบทความดี ๆ จากพวกเราได้ที่
Facebook : บ้านและสวน Pets