โรคระบบประสาทที่เป็นมาแต่กำเนิดในสุนัขและแมว

โรคระบบประสาทที่เป็นมาแต่กำเนิด เป็นภาวะที่เกิดจากความบกพร่องของระบบประสาทระหว่างการเจริญของลูกสัตว์ในท้องแม่ อาจมีสาเหตุจากสภาวะสิ่งแวดล้อมในมดลูกไม่เหมาะสม ความผิดปกติทางพันธุกรรม ความผิดปกติของการพัฒนาของอวัยวะ หรือความผิดปกติระดับโครโมโซมของลูกสัตว์ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติตามมาภายหลังคลอด

โดยอาการความผิดปกติดังกล่าวขึ้นอยู่กับความรุนแรงหรือความซับซ้อนของความผิดปกติก่อนเกิดและสภาพแวดล้อมรวมทั้งการเลี้ยงดูหลังเกิด โดย โรคระบบประสาทที่เป็นมาแต่กำเนิด ที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของฐานกะโหลก หรือ Chiari-like malformation การพัฒนาสมองส่วนซีรีเบลลัมหรือสมองน้อยผิดปกติ และโรคกระดูกสันหลังพัฒนาผิดปกติ ซึ่ง บ้านและสวน Pets จะพามาทำความเข้าใจกันค่ะ

1.ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ หรือ Hydrocephalus

โรคระบบประสาทที่เป็นมาแต่กำเนิด
รูปที่ 1 ลักษณะศีรษะสุนัขที่มีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ จะพบขนาดศีรษะขนาดใหญ่และอาจพบอาการตาเหล่ร่วมด้วย

เป็นภาวะที่มีน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง หรือ cerebrospinal fluid (CSF) ในโพรงสมองที่มากเกินไป ส่งผลให้โพรงสมองมีขนาดใหญ่และเกิดการกดทับและขัดขวางการเจริญเติบโตของเนื้อสมองในช่วงที่มีการพัฒนาสมองในท้องแม่ จึงเป็นเหตุให้การทำงานของสมองผิดปกติไป สามารถพบได้ในสุนัขและแมวในหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ชิวาวา ค็อกเกอร์สแปเนียล มอลทีส ปักกิ่ง ปอมเมอเรเนียน พูเดิ้ลทอย ยอร์คเชียร์เทอร์เรียร์ ชิสุ ในแมวจะพบได้ทั้งในแมวพันธุ์ผสมและพันธุ์วิเชียรมาศ (Siamese) เป็นต้น ส่วนมากมักพบในช่วงอายุน้อยกว่า 6 เดือน โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ พฤติกรรมเปลี่ยนไป เดินวนข้างใดข้างหนึ่งเป็นประจำ ศีรษะมีขนาดใหญ่ผิดปกติ (รูปที่ 1) มีรูเปิดที่กะโหลกจากการคลำ ตาเหล่ ชัก มีการเรียนรู้ช้า เดินอ่อนแรงหรือเดินไม่ได้ เป็นต้น

โรคระบบประสาทที่เป็นมาแต่กำเนิด
(ซ้าย) รูปที่ 2 ภาพถ่ายรังสี (X-ray) กะโหลกสุนัขที่มีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ จะพบลักษณะที่ด้านบนของศีรษะไม่มีกะโหลกปกคุมอยู่ (ลูกศรสีแดง) เกิดจากความผิดปกติของการพัฒนากะโหลกตั้งแต่กำเนิด (ขวา) รูปที่ 3 ภาพถ่าย MRI สมองสุนัขที่มีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ จะพบลักษณะของโพรงสมองมีขนาดใหญ่และมีน้ำสีขาวจากสัญญาณภาพของ MRI (ลูกศรสีแดง) คั่งอยู่

การวินิจฉัยต้องอาศัยข้อมูลตั้งแต่สายพันธุ์สุนัขและแมว อาการที่พบ ช่วงอายุที่แสดงอาการ และการตรวจเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีกะโหลก (รูปที่ 2) การทำอัลตร้าซาวด์ผ่านกะโหลกที่ยังไม่ปิด บางครั้งอาจจำเป็นต้องทำ CT scan หรือ MRI สมอง (รูปที่ 3) เพื่อยืนยันภาวะโพรงสมองคั่งน้ำและวางแผนการรักษาต่อไป ส่วนการรักษานั้นแบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ การรักษาโดยการใช้ยา และ การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการพิจารณาว่าจะให้การรักษาแบบใดขึ้นกับความรุนแรงของโรค โดยการรักษาเริ่มแรกมักให้การรักษาโดยการให้ยาเป็นหลักก่อน โดยยาที่ให้จะเป็นยาที่ช่วยลดการสร้างน้ำในสมองและลดความเสียหายของสมองจากการถูกกดเบียดด้วยโพรงสมองที่มีขนาดใหญ่ แต่หากการรักษาโดยการให้ยาดังกล่าวไม่ตอบสนองจะพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อวางท่อระบายจากโพรงสมองออกไปที่ช่องท้อง เรียกการผ่าตัดนี้ว่า ventriculoperitoneal shunt หรือ VP shunt จะเป็นการช่วยระบายน้ำในโพรงสมองออกไปได้ดีกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว

2.ภาวะการเจริญของกะโหลกส่วนท้ายทอยผิดปกติร่วมกับการเกิดโพรงในไขสันหลัง หรือ Chiari-like malformation (CM) และ Syringohydromyelia (SM)

เกิดจากการที่มีความผิดปกติของการเจริญของกะโหลกส่วนท้ายทอยที่เรียกว่า occipital bone น้อยเกินไป หรือเรียกว่า occipital hypoplasia ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของฐานกะโหลกจนทำให้สมองน้อยหรือซีรีเบลลัม (Cerebellum) เคลื่อนออกมาจนกดทับไขสันหลังส่วนคอ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในโพรงสมองและไขสันหลังเช่นกัน คล้ายกับการเกิด Arnold Chiari type 1 malformation ในมนุษย์เช่นกัน มักพบภาวะนี้ในสุนัขพันธุ์ทอย เช่น ชิวาวา ปอมเมอเรเนียน เป็นต้น และพบบ่อยในพันธุ์แควาเลียร์คิงชาลส์สแปเนียล (Cavalier King Charles Spaniel) โดยอาการที่พบขึ้นกับระดับความรุนแรงของการขยายใหญ่ของโพรงดังกล่าว และมักพบอาการในช่วงอายุ 1 ปีแรก อาการเด่นที่พบได้แก่ อาการปวดคออย่างรุนแรง อาจพบอาการเจ็บร้าวไปตามแนวกระดูกสันหลังหรือขา บางครั้งเจ้าของจะพบว่าจับตรงไหนของร่างกายสุนัขก็ร้องเจ็บได้เช่นกัน หรืออาจพบสุนัขแสดงอาการยกขาขึ้นมาเกาบริเวณหลังคอ หลังใบหู หัวไหล่ หรือบริเวณใบหน้า นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นที่พบได้ เช่น เดินอ่อนแรงทั้ง 4 ขา หรือเฉพาะ 2 ขาหลัง ตาบอด หูหนวก ชัก เป็นต้น

โรคระบบประสาทที่เป็นมาแต่กำเนิด
รูปที่ 4 ภาพ MRI จากสุนัขที่มีภาวะ Chiari-like malformation (CM) และ Syringohydromyelia (SM) โดยจะพบลักษณะกะโหลกส่วนท้ายทอยผิดปกติ (ลูกศรสีแดง) กดสมองน้อยหรือ cerebellum ให้เคลื่อนออกมา และพบการขยายใหญ่ของท่อในไขสันหลังโดยพบน้ำสีขาว (ลูกศรสีเหลือง) หรือ SM

การวินิจฉัยจะดูจากการพบการเจริญของกะโหลกส่วนท้ายทอยผิดปกติร่วมกับการพบน้ำคั่งอยู่ในท่อแกนกลางไขสันหลังส่วนคอ โดยสามารถพบได้จากการตรวจวินิจฉัยด้วย MRI เท่านั้น (รูปที่ 4) ส่วนการรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค โดยในกรณีที่มีอาการปวดแนวกระดูกสันหลังหรือเกาตามหลังคอ ใบหน้า หัวไหล่ สามารถรักษาโดยการให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดที่มี แต่หากอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงหรือไม่ตอบสนองกับการให้ยาแก้ปวดจะพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อขยายช่องกะโหลกส่วนท้ายทอยให้กว้างขึ้นเพื่อลดการกดทับสมองน้อยและไขสันหลังส่วนคอเพื่อลดการขัดขวางการระบายน้ำในสมองต่อไป

3.ภาวะสมองน้อยพัฒนาผิดปกติ (Cerebellar hypoplasia)

เกิดจากการพัฒนาของสมองน้อยหรือซีรีเบลลัมที่ผิดปกติโดยมีการพัฒนาที่น้อยเกินไป สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม สามารถเจอได้ในสุนัขสายพันธุ์ต่างๆ เช่น เชาเชา บอสตันเทอร์เรียร์ บูลเทอร์เรียร์ รวมทั้งสุนัขพันธุ์ไทยผสมเช่นกัน ส่วนในแมวนั้นสามารถเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ เกิดจากพันธุกรรมเช่นเดียวกับในสุนัข ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หัดแมว (feline panleukopenia virus) โดยการติดเชื้อนี้ในระยะที่แม่แมวตั้งท้อง เชื้อไวรัสจะผ่านจากมดลูกของแม่แมวเข้าสู่ลูกแมวในท้องช่วงที่สมองน้อยกำลังพัฒนา เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้มีความจำเพาะกับเซลล์ที่มีการแบ่งตัวสูงซึ่งตรงกับช่วงที่เซลล์ประสาทในสมองน้อยกำลังมีการแบ่งตัว ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการแบ่งตัวของเซลล์ประสาทของสมองน้อยตามมา ทำให้เมื่อลูกแมวคลอดออกมาเกิดความผิดปกติของการทำงานของสมองน้อย โดยอาการที่พบได้ทั้งในสุนัขและแมว ได้แก่ อาการสั่น (tremor) เป็นจังหวะเวลายืน เดิน หรือเมื่อตั้งใจจะทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง มีการก้าวขาที่ผิดปกติไปโดยระยะก้าวจะยาวกว่าปกติ ทำให้บางครั้งพบการสั่นและล้มกลิ้งไป อาจพบอาการหัวทิ่มลงไปในชามอาหารชามน้ำ หรือก้มลงผิดจากตำแหน่งชามอาหาร การกะระยะในการเคลื่อนไหวผิดไป การวินิจฉัยอาจดูได้จากประวัติการเจ็บป่วยในสุนัขหรือแมวครอกเดียวกันว่ามีหรือไม่มีอาการคล้ายกันหรือไม่ ประวัติการติดเชื้อของแม่แมวระหว่างตั้งท้อง รวมทั้งอาการสั่นที่เป็นลักษณะเฉพาะของความผิดปกติของสมองน้อย นอกจากนี้สามารถใช้ MRI เป็นตัวช่วยวินิจฉัยร่วมได้ ส่วนการรักษานั้นไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะและไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สุนัขหรือแมวที่มีภาวะนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้เพียงแต่เจ้าของอาจต้องช่วยดูแลเรื่องการป้อนอาหาร การขับถ่าย โดยเฉพาะในแมวที่ยังไม่สามารถขึ้นกระบะทรายเพื่อขับถ่ายได้

4.โรคกระดูกสันหลังพัฒนาผิดปกติ (Vertebral malformation)

กระดูกสันหลังผิดปกติสามารถพบได้ทั้งในสุนัขและแมว แต่มักพบในสุนัขมากกว่าโดยเฉพาะในบางสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มักจะได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่มีการพัฒนาที่บกพร่อง ความผิดปกติของกระดูกสันหลังมักเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดหรือในช่วงสองสามสัปดาห์แรกหลังคลอด นอกจากนี้กระดูกสันหลังที่ผิดรูปร่างนั้นสามารถแฝงอยู่จนกระทั่งสุนัขผ่านการเจริญเติบโตเลยมาถึงอายุประมาณห้าถึงเก้าเดือนจึงจะแสดงอาการได้เช่นกัน บางครั้งลักษณะความผิดปกติสามารถพบเจอได้จากการสังเกต เช่น ภาวะกระดูกสันหลังบิดเบี้ยวโค้งงอ หรือ ภาวะกระดูกสันหลังโก่งตัวผิดรูป (รูปที่ 5) เป็นต้น

โรคระบบประสาทที่เป็นมาแต่กำเนิด
รูปที่ 5 ลักษณะของสุนัขที่มีความผิดปกติของกระดูกสันหลังโก่งตัวผิดรูป (kyphosis)

โรคกระดูกสันหลังพัฒนาผิดปกติที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่

โรคระบบประสาทที่เป็นมาแต่กำเนิด
รูปที่ 6 ภาพถ่ายรังสีกระดูกสันหลังสุนัขเฟรนช์บูลด็อกที่มีปัญหากระดูกสันหลังมีครึ่งอัน (ลูกศรสีแดง) ลักษณะกระดูกสันหลังผิดปกติไปดูคล้ายผีเสื้อหรือเลข 8 (เส้นสีแดง)
  • ภาวะกระดูกสันหลังมีครึ่งอัน (hemivertebra) มักพบในสุนัขพันธุ์หน้าสั้นที่มีหางขดเป็นม้วน (Screw-tailed) เช่น เฟรนช์บูลด็อก ปั๊ก บอสตันเทอร์เรียร์ เป็นต้น เกิดจากการที่มีการเชื่อมกันของชิ้นกระดูกสันหลังผิดปกติ จากภาพถ่ายเอ็กซเรย์จะพบลักษณะของกระดูกสันหลังคล้ายรูปผีเสื้อหรือเลข 8 (รูปที่ 6) ส่วนมากพบเป็นปกติในสายพันธุ์ดังกล่าวโดยที่ไม่มีอาการทางระบบประสามใดๆ หรืออาจพบการกดทับไขสันหลังจนทำให้เดินอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตได้
  • ภาวะมีการเคลื่อนหลุดของข้อต่อระหว่างกระดูกคอข้อที่ 1 และข้อที่ 2 (Atlantoaxial subluxation) มักพบเป็นความผิดมาแต่กำเนิดได้ในสุนัขพันธุ์ทอย โดยเฉพาะ ปอมเมอร์เรเนียน โดยเกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการข้อต่อของกระดูกคอดังกล่าวทำให้การยึดกันไม่เกิดความเสถียร ส่งผลให้มีโอกาสการเคลื่อนตัวออกจากกันได้ง่ายหากได้รับการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้สุนัขมีอาการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตทั้ง 4 ขาแบบเฉียบพลันได้
  • ภาวะกระดูกสันหลังพัฒนาผิดปกติแบบ Spina Bifida เป็นความบกพร่องของกระดูกสันหลังโดยมีโครงสร้างคล้ายถุงยื่นผ่านจากกระดูกสันหลังออกมาด้านนอก พบบ่อยที่กระดูกสันหลังส่วนเอวต่อก้นกบ เกิดจากความบกพร่องของการเชื่อมกันของหลังคากระดูกสันหลัง โดยส่วนที่ยื่นออกมามักพบเป็นน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลังและเนื้อไขสันหลัง มักพบในพันธุ์อิงลิชบูลด็อก
  • ภาวะกระดูกสันหลังไม่แยกจากกัน (Block vertebra) เกิดจากความบกพร่องในการแยกตัวของกระดูกสันหลังเป็นชิ้นๆช่วงที่มีพัฒนาการกระดูกสันหลัง อาจพบการไม่แยกจากกันพียง 2 ข้อหรือมากกว่าได้โดยมักพบที่กระดูกสันหลังคอเป็นส่วนใหญ่ โดยมากสุนัขมักไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆให้เห็นหรืออาจเจออาการปวดตรงตำแหน่งกระดูกสันหลังที่เป็นได้

บทความโดย

อ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ สุวรรณา (อว.สพ.อายุรศาสตร์)

Nirut Suwanna, DVM, MS, PhD, DTBVM

ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Department of Companion Animal Clinical Science, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University