มารู้จักเขามอ…ย่อส่วนต้นไม้ให้เป็น สวนถาด

เขามอเป็นรูปแบบการจัด สวนถาด ที่มีมาแต่โบราณซึ่งคาดว่ามีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คำว่า “มอ” คาดว่าแผลงมาจากภาษาเขมรว่า “ถมอ” ที่แปลว่าหิน เขามอจึงมีความหมายว่า “เขาหิน” นั่นเอง

ดังนั้นการทำเขามอก็คือการนำหินมาประกอบกันเสมือนเป็นทิวทัศน์ในธรรมชาติ ที่ย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลงและมีต้นไม้เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้ดูสวยงามขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนในการรอให้พรรณไม้เติบโต ดูสวยเป็นธรรมชาติที่สุด และสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่นาวาอากาศเอก(พิเศษ) ช่อ วาตะ ผู้เชี่ยวชาญการทำเขามออีกท่านหนึ่งในวงการไม้ประดับในเมืองไทยได้ให้ความสำคัญอย่างมากก็คือ ต้องใส่ในในรายละเอียดของการทำทุกขั้นตอน สวนถาด

สวนถาด บอนไซ เขามอ

นาวาอากาศเอก(พิเศษ) ช่อ วาตะ
การทำเขามอให้ดูเหมือนธรรมชาติที่สุด ต้องอาศัยจินตนาการและความอดทนที่ต้องรอให้ต้นไม้เติบโต
เขามอรูปทรงต่างๆ ที่คุณช่อสร้างไว้

“ประมาณปี พ.ศ.2515 ผมนั่งรถผ่านร้านตัดเสื้อที่เลิกกิจการแล้วแถวๆ ราชเทวี เขาเอาบอนไซจีนเกาะหินไปตั้งอยู่ในตู้ พอสบโอกาสรถติดก็ลงไปถาม เขาก็ใจดีให้เข้าไปดู หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงค่อยๆ ตระเวนหาอุปกรณ์หลายแห่ง สุดท้ายไปได้ที่หน้าโรงแรมรอยัลแถวสนามหลวง ก็เริ่มลงมือทำเขามอตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชิ้นแรกที่ทำเป็นสวนถาดในกระถางลูกจันทน์ ใส่ต้นไม้ที่หาง่ายๆ อย่างบอนพระยาเศวต เศรษฐีเรือนนอก เศรษฐีเรือนใบ มีมอสส์ปิดนิดหน่อย เอากรวดโรย จัดทิวทัศน์ มีตุ๊กตา นกกระยาง ตาแป๊ะ มาประดับตกแต่ง”

ช่วงแรกที่คุณช่อจัดเขามอ ก็เลือกใช้ภาชนะที่ขายกันทั่วไป ซึ่งเป็นกระถางทรงลึก สีน้ำตาลเทาไม่ฉูดฉาด ภายในทาสีฟ้าหรือน้ำเงินและมีรูระบายน้ำ ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการ คุณช่อจึงลองทำกระถางด้วยตัวเอง ให้มีทรงเตี้ย ขนาดต่างๆ ตามที่คิดไว้

 

กระถางที่คุณช่อทำขึ้นเองเพื่อใช้จัดเป็นเขามอ
หินรูปทรงต่างๆ ที่นำมาประกอบกันเป็นเขามอ เตรียมไว้ปลูกต้นไม้และประดับของตกแต่งเพิ่ม

สำหรับพรรณไม้ในเขามอ คุณช่อนิยมใช้มีหลายชนิดเช่น มะสัง ไทร ชาดัด เพรมน่า เป็นต้น ซึ่งต้องเลือกขนาดและรูปทรงให้เข้ากับหินที่นำมาจัด อาจมีตุ๊กตาประดับให้เข้ากับทิวทัศน์ที่ผู้ทำคิดไว้ ไม่ว่าจะเป็นสะพาน เรือ กระท่อม ตุ๊กตาจีน นกกระยาง ที่มีสัดส่วนพอดีกับเขามอที่ต้องการจัด ซึ่งต้องอาศัยสมาธิในการจินตนาการรูปทรงหินที่ต้องการจัด

ของตกแต่งที่เก็บสะสมไว้สำหรับทำเขามอ

คุณช่อแนะนำวิธีดูแลรักษาเขามอว่า เหมือนกับการดูแลต้นไม้ทั่วไป หมั่นรดน้ำทุกวัน และวางในที่มีแสงส่องถึงอย่างน้อยครึ่งวัน สิ่งสำคัญอีกประการในการทำเขามอก็คือ ต้องรักษาความสะอาด หมั่นเก็บใบแห้ง ตัดแต่งกิ่งที่ยื่นยาวให้เข้าทรง และยังบอกว่า การสร้างเขามอไม่จำเป็นต้องใช้ของแพง วัสดุอุปกรณืทุกชิ้นสามารถประยุกต์ใช้จากสิ่งรอบตัวได้

“คนส่วนใหญ่มักชอบถามว่า เขามอทำยากไหม ขายยังไง อันนั้นเป็นเรื่องรอง ผมว่าเรื่องหลักคือได้ทำสมาธิ ได้ทำสิ่งที่รัก มันสร้างความเพลิดเพลิน ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ถ้าไม่ได้ไปไหนก็จะนั่งทำเขามออยู่ที่บ้าน ทำได้ทั้งวันไม่เบื่อเลย”

ถ้วยรางวัลที่ได้จากการประกวดเขามอในอดีต

เรื่อง : วิฬาร์น้อย/ ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย, ธนกิตติ์ คำอ่อน


เรื่องที่น่าสนใจ