เลือก พุก ให้เหมาะกับการใช้งาน

พุก คือ อุปกรณ์สำหรับช่วยยึดนอตและสกรูเข้ากับพื้นหรือผนังที่มีความยืดหยุ่นน้อย เช่น พื้นคอนกรีต ผนังยิปซัม ฯลฯ ใช้งานง่ายเพียงเจาะรูนำด้วยสว่านให้ได้ขนาดความลึกที่ต้องการ

จากนั้นตี พุก เข้าไปฝังเข้าไปในช่องว่าง แล้วก็นำนอตหรือสกรูมายึดกับวัตถุที่จะติดตั้งให้เรียบร้อย แต่ การเลือกพุก ก็มีหลายชนิดให้เลือกใช้ อาทิ พุกเหล็ก พุกพลาสติก ดังนั้นเราควรไปทำความรู้จักพุกแต่ละชนิดกันก่อน เพื่อเลือกมาใช้งานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

1. พุกพลาสติก หรือ พุกตัวหนอน

เหมาะที่จะใช้กับงานง่ายๆ อย่างการแขวนรูปภาพประดับผนัง หรืองานเดินท่อน้ำต่างๆ ภายในบ้าน

พุกพลาสติก พุกตัวหนอน

2. พุกคอนกรีตบล็อก

มีรูปร่างหน้าตาจะคล้ายกับพุกตัวหนอน แต่บริเวณลำตัวของพุกจะมีสันหรือลอนถี่มากว่า โดยทำมาจากไนลอนซึ่งมีความเหนียวและแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้สูงกว่าพุกพลาสติกทั่วไป

พุกคอนกรีตบล็อก

3. พุกคอนกรีตมวลเบา

มีรูปร่างคล้ายกับพุกตัวหนอน(อีกแล้ว) และบริเวณลำตัวของพุกมีลักษณะเป็นเกลียว ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะพื้นผิวได้ดี และทำมาจากเหล็กเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของวัตถุได้มากขึ้น

พุกคอนกรีตมวลเบา

4. พุกสำหรับงานยิปซัม

เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้กับแผ่นยิปซัมโดยเฉพาะ เนื่องจากเนื้อในของยิปซัมจะมีประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักน้อยกว่าผนังที่ทำด้วยคอนกรีต ดังนั้นช่วงลำตัวของพุกจึงออกแบบให้มีลักษณะเป็นกระเปาะนูนขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อช่วยเสริมแรงในการยึดเกาะพื้นผิวยิปซัมได้ดียิ่งขึ้น โดยมีให้เลือกใช้ทั้งขนาดสั้น(อ้วน) และขนาดยาว(ผอม)

พุก สำหรับงานยิปซัม

5. พุกเหล็ก

เหมาะกับการใช้งานในที่ร่มและงานที่ต้องการรับน้ำหนักมากเป็นพิเศษ เช่น งานติดตั้งเสารับน้ำหนักบนพื้นคอนกรีตของโรงรถ งานยึดฝ้าเพดานเพื่อแขวนแชนเดอเลียร์ ฯลฯ

พุก เหล็ก

6. พุกตะกั่ว

เหมาะกับงานกลางแจ้ง เนื่องจากรับน้ำหนักและทนต่ออุณหภูมิความร้อนภายนอกบ้านได้ดีกว่าพุกพลาสติกหรือพุกเหล็กซึ่งเกิดสนิมได้ง่าย อาทิ การติดตั้งแท็งก์บรรจุน้ำดื่มน้ำใช้ที่ตั้งอยู่บนระเบียงหรือดาดฟ้า

พุก ตะกั่ว

นอกจากนี้ยังมีพุกอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า พุกเคมี ซึ่งบรรจุอยู่ในหลอดแก้ว เหมาะกับงานคอนกรีตหรืองานที่ต้องรับน้ำหนักมากเป็นพิเศษ (งานโครงสร้าง) แต่คนรักงาน DIY อย่างพวกเรา ก็ไม่ค่อยได้ใช้พุกประเภทนี้กัน เพราะเหมาะกับพวกมืออาชีพมากกว่าครับ

TIPS

พุก

เมื่อเราขันนอตหรือสกรูเข้าไปในช่องว่างที่เจาะนำร่องไว้ เขี้ยวเล็กๆ สองเขี้ยวซึ่งอยู่ด้านข้างของพุก อาทิ พุกเหล็ก ก็จะค่อยๆ ขยายตัวออกตามแรงขันจนตัวพุกมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งการขยายตัวหรือเบ่งตัวของพุกนี้ จะทำให้สามารถรับน้ำหนักของวัตถุที่ต้องการติดตั้งได้ แต่ถ้าเป็นพุกยิปซัม ช่วงลำตัวจะมีลักษณะเป็นกระเปาะนูนขึ้นมา เมื่อออกแรงขันก็จะบานออกมาด้านหลังของแผ่นยิปซัม (เป็นแฉกๆ) ช่วยเพิ่มความแข็งแรงในการยึดเกาะพื้นผิวได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

 

 >> อ่านเรื่อง ดอกสว่าน เพิ่มเติมได้ที่นี่เลย <<

>> สร้างบ้านควรใช้อิฐมอญหรืออิฐมวลเบา <<

>> ”อิฐมอญ” กับ “อิฐมวลเบา” ต่างกันอย่างไร <<