หลายคนอาจเคยได้ยินว่า ” อิฐมวลเบา ” ไม่แข็งแรงเท่าวัสดุก่อแบบอื่น แต่จริงๆ แล้วอิฐมวลเบามีคุณสมบัติรับแรงได้ดีเทียบเท่ากับวัสดุอื่นๆ เลยทีเดียว
- Q. วัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการก่ออิฐมวลเบามีอะไรบ้าง?
- Q. การก่ออิฐมวลเบามีหลักการที่ควรรู้อย่างไร?
- Q. อิฐมวลเบากันความร้อนได้ดีกว่าวัสดุชนิดอื่นจริงไหม
- Q. อิฐมวลเบาทนไฟหรือไม่
- Q. อิฐมวลเบากันชื้นได้ไหม?
- Q. อิฐมวลเบาถูก หรือแพงกว่าอิฐชนิดอื่น
- Q. อิฐมวลเบา มีข้อเสียหรือไม่?
แม้ตัววัสดุ อิฐมวลเบา จะรับแรงได้ดี แต่สิ่งที่มักจะทำให้ผนังก่ออิฐมวลเบาไม่แข็งแรงหรือแตกร้าว อาจมาจากความคุ้นชินของช่างบางท่านที่ยังใช้วิธีการก่ออิฐมอญหรืออิฐบล็อกมาใช้กับอิฐมวลเบา ซึ่งเป็นสาเหตุให้งานก่อไม่ได้มาตรฐานและไม่แข็งแรงนั่นเอง
ฉะนั้นเพื่อให้งานก่อและบ้านของคุณผู้อ่านทุกท่านได้มาตรฐาน มีความแข็งแรงทนทาน โดยเฉพาะเมื่อเลือกใช้อิฐมวลเบา มาเป็นวัสดุหลักในการสร้างบ้าน เราจึงได้รวบรวมทิปส์ดี ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับการก่อผนังอิฐมวลเบามาไว้ในบทความนี้แล้ว
Q. วัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการก่อ อิฐมวลเบา มีอะไรบ้าง?
A. ว่ากันด้วยเรื่องของ “ปูน” ก่อน ปูนก่อทั่วไปไม่เหมาะกับการนำมาใช้ก่ออิฐมวลเบา เเเต่จำเป็นต้องใช้ “ปูนก่ออิฐมวลเบา” โดยเฉพาะ (หรือช่างบางท่านก็เรียกปูนกาว) ขณะที่การเลือกใช้ปูนฉาบก็เช่นเดียวกัน เพราะปัญหาผนังอิฐมวลเบาแตกร้าวนั้น ส่วนมากมักเกิดจากการใช้ปูนผิดประเภท และไม่ได้ฉาบผิวหยาบก่อนฉาบเรียบอย่างที่ควรจะเป็น

ต่อมาคือ อุปกรณ์ในการก่ออิฐมวลเบา เกรียงใบโพธิ์ที่ใช้ในการก่ออิฐทั่ว ๆไปนั้น ไม่ใช่อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการก่ออิฐมวลเบา โดยอุปกรณ์สำคัญในการก่ออิฐมวลเบานั้นเเท้จริงมีอยู่ 2 ชิ้น (นอกเหนือจาก 2 ชิ้นนี้คือใช้อุปกรณ์โดยทั่วไป) นั่นก็คือ “เกรียงก่ออิฐมวลเบา” ซึ่งใช้ในการตัดปูนกาว และเกลี่ยให้ปูนมีความหนาที่เหมาะสม อีกชิ้นหนึ่งคือ “เกรียงฟันปลา” ใช้สำหรับขัดผิวอิฐมวลเบาส่วนที่เกินออกให้หน้าสัมผัสราบเรียบเสมอกัน ก่อนจะก่ออิฐมวลเบาชั้นต่อไป

Q. การก่ออิฐมวลเบามีหลักการที่ควรรู้อย่างไร?
A. แม้ว่าอิฐมวลเบาจะมีลักษณะคล้ายวัสดุก่อประเภทอื่น ๆ แต่หากต้องการให้ผนังที่ก่อด้วยอิฐมวลเบามีความแข็งแรงและมีประสิทธิภาพ การก่อที่ถูกต้องจึงมีหลักการดังนี้

- อิฐแต่ละก้อนต้องเหลื่อมกันไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร เพื่อให้การก่อมีความแข็งแรง เเละอิฐแต่ละก้อนยึดเหนี่ยวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- ต้องเรียงอิฐในระดับพื้นตามแนวผนังให้รอบเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้อิฐในชั้นต่อ ๆ เรียงตัวไม่ตรง หรือสม่ำเสมอ

- หากต้องมีการตัดก้อนอิฐเพื่อให้จบพอดีกับความยาวผนัง ควรเหลืออิฐในแนวตั้งไว้ประมาณ 10 เซนติเมตร และแนวนอน 5 เซนติเมตร

- ทุก ๆ สองชั้นของการก่อ เเนะนำให้มีการแทงเหล็กคั่น โดยใช้วิธีเชื่อมเหล็กเส้นขนาด 0.6 เซนติเมตร ไว้กับแนวเสา หรือใช้ Metal Strap ในกรณีที่เป็นเสาปูน

- หากมีกรอบบานประตูหน้าต่าง หรือวงกบ จะต้องมีทับหลัง และเสาเอ็น รัดรอบช่องเปิดนั้น โดยควรมีแผ่นเหล็กยึดแรง หรือ Metal Strap ติดตั้งไว้ที่มุมของช่องเปิดนั้นด้วย

- หากก่อชนท้องพื้น หรือท้องคาน ให้เว้นระยะไว้ 1-2 เซนติเมตร แล้วอุดด้วยปูนทราย แต่ถ้าหากท้องพื้นนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะหย่อนตัว ให้เว้น 2.5 เซนติเมตร แล้วคั่นด้วยโฟม
เพื่อความแข็งแรงของผนังจะต้องมีเสาเอ็น โดยมีความถี่แปรผันตามความสูงของผนัง ตามตารางดังนี้

Q. อิฐมวลเบากันความร้อนได้ดีกว่าวัสดุชนิดอื่นจริงไหม
A. จริง เพราะปฏิกิริยาเคมีในขั้นตอนการผลิตอิฐมวลเบา จะทำให้เกิดโพรงอากาศแบบปิดเป็นรูพรุนอยู่ในเนื้อวัสดุถึง 75 เปอร์เซ็นต์ โดยโพรงอากาศเหล่านี้จะช่วยทำให้อิฐมวลเบามีน้ำหนักที่น้อยกว่าอิฐประเภทอื่น และยังทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนได้ในตัว อิฐมวลเบาจึงต้านทานการส่งผ่านความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญถึง 8 เท่า และดีกว่าอิฐบล็อก 4 เท่า
Q. อิฐมวลเบาทนไฟหรือไม่
A. เพราะส่วนผสมหลักที่เป็นคอนกรีต จึงทำให้สามารถทนไฟเทียบเท่าอิฐบล็อกคือที่ 4 ชั่วโมง ในขณะที่ อิฐมอญ สามารถกันได้เฉลี่ย 2 ชั่วโมง (ในการก่อแบบทั่วไป)
Q. อิฐมวลเบากันชื้นได้ไหม?
A. อิฐมอญและอิฐบล็อกมีความพรุนในเนื้อวัสดุที่มาก จึงทำให้อิฐมวลเบาได้เปรียบในการป้องกันความชื้น เนื่องจากโพรงอากาศของอิฐมวลเบาเป็นโพรงอากาศแบบปิด ส่งผลให้ น้ำและความชื้นไม่สามารถซึมผ่าน ได้นั่นเอง

Q. อิฐมวลเบา ถูก หรือแพงกว่าอิฐชนิดอื่น
A. เมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุก่อชนิดอื่น จะพบว่า มีราคาที่ใกล้เคียงกัน แต่ด้วยน้ำหนักที่เบากว่า สามารถออกแบบโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลง และประหยัดขึ้นได้มากกว่า โดยที่อิฐมวลเบามีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 80 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ในขณะที่อิฐมอญหนัก 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และอิฐบล็อก 100 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
Q. อิฐมวลเบา มีข้อเสียหรือไม่?
A. ข้อเสียใหญ่ที่สุดของอิฐมวลเบาคือ คุณสมบัติในการนำวัสดุอื่นมายึดเกาะกับผนังอิฐมวลเบา รวมถึงการเจาะยึดทั่วไป หรือแม้แต่การติดตั้งกรุวัสดที่มีน้ำหนัก เช่น อิฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ ยกเว้นการติดตั้งด้วยสกรูพิเศษสำหรับเจาะแขวนผนังอิฐมวลเบาเท่านั่น
และทั้งหมดนี้ก็คือคุณสมบัติและหลักการโดยทั่วไป ที่จะทำให้การเลือกใช้ “อิฐมวลเบา” เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมสำหรับบ้านคุณ
หากท่านผู้อ่านมีคำถามที่อยากหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องบ้านแล้วละก็ สามารถส่งคำถามมาหาเราได้ที่ Facebook Fanpage : บ้านและสวน baanlaesuan.com โดยระบุคำถามถึง “ช่างประจำบ้าน” เราจะเลือกคำถามที่เป็นประโยชน์มาตอบไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นทิปส์ดี ๆ ให้แก่ผู้อ่านท่านอื่น ๆ ต่อไป
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพประกอบ : มนธีรา มนกลาง