บ้านไม้

บ้านไม้ไผ่ ท่ามกลางธรรมชาติ

บ้านไม้
บ้านไม้

บ้านไม้ไผ่ ในรูปแบบสมัยใหม่ที่กลมกลืนไปกับบริบทของสิ่งแวดล้อมแบบชนบทของ คุณหมอนพ – นพรัตน์ บิดจันทึก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ ที่ตั้งใจมาเปิดคลินิกในคอนเซ็ปต์ธรรมชาติบำบัด

DESIGNER DIRECTORY เจ้าของ – ออกแบบ : คุณพิ้งค์ – กัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์, คุณนพ – นพรัตน์ บิดจันทึก

เขาจึงถือโอกาสสร้างบ้านพักและคลินิกในรูปแบบ บ้านไม้ไผ่ โดยมี คุณพิ้งค์ กัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์ ภรรยาสาว คอยอยู่ข้าง ๆ และสร้างบ้านหลังนี้ไปด้วยกัน

บ้านไม้ไผ่

คุณหมอนพเล่าให้ฟังว่า “ หลังจากเรียนจบแพทย์ได้มีโอกาสเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนและเปิดคลินิกกายภาพบำบัดในกรุงเทพฯ ก่อนจะมาเปิดสาขาที่สองในอำเภอปากช่อง ซึ่งตอนแรกเราเปิดคลินิกอยู่ในตัวเมืองเพราะต้องการจะทดลองดูว่าหากเปิดที่ต่างจังหวัด ผลตอบรับจะเป็นอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ผมโชคดีที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดี โดยท่านต้องการร่วมทำบุญและช่วยเหลือผู้ป่วยช่วยเรื่องสถานที่ โดยให้เราเปิดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ด้วยความที่พอเราทำไปสักพักก็เกิดความเกรงใจบวกกับเราต้องการพื้นที่ธรรมชาติให้กับผู้ป่วยเพราะอยากให้ผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาได้รับความรู้สึกสงบสบาย ทั้งแสง ลม ต้นไม้ และอยากให้ผู้ป่วยหรือญาติที่มาไม่รู้สึกเกร็งเหมือนเวลาไปโรงพยาบาลทั่วไป ”

บ้านไม้ไผ่
Nopharat Clinic

คุณพิ้งค์เล่าว่า “ หลังจากนั้นเราก็ตระเวนหาพื้นที่ที่เหมาะสมตามที่เราต้องการ ประจวบกับคุณแม่ของพิ้งค์เคยซื้อที่ดินที่ปากช่องเก็บไว้ประมาณ 20 ปีที่แล้ว ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นป่ารกร้าง ก่อนจะช่วยกันถางป่า ปูหญ้าใหม่และปลูกต้นไม้ไว้ เพื่อจัดงานแต่งงาน เราจึงผูกพันกับที่แห่งนี้มาตั้งแต่ต้น เราสองคนก็เลยตัดสินใจปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัย และย้ายคลินิกในเมืองมาสร้างไว้ใกล้ ๆ กัน ”

บ้านไม้ไผ่
คุณหมอนพ – นพรัตน์ บิดจันทึก และ คุณพิ้งค์ – กัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์ ภรรยาสาว

เมื่อพื้นที่อุดมด้วยธรรมชาติอันสมบูรณ์เอื้ออำนวย แน่นอนว่าวัสดุที่เจ้าของเลือกใช้ในการก่อสร้างจึงเป็นวัสดุธรรมชาติ โดยเลือกใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลัก ด้วยความพิเศษของไม้ไผ่ที่ทั้งหาง่าย ราคาไม่แพง แถมยังกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เจ้าของบ้านหลงรัก ไผ่ที่เลือกใช้คละกันหลายชนิด อย่างโครงสร้างเสา คาน เลือกใช้ไผ่ตงและไผ่ซางหม่นที่มีลำขนาดใหญ่ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ อย่างหลังคา ฝ้า ผนัง เลือกใช้ไผ่เลี้ยง ซึ่งมีลักษณะลำเล็กกว่าไผ่ตงและไผ่ซางหม่น บวกกับการผสมผสานวัสดุสมัยใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีปัจจุบัน

เสน่ห์ของบ้านหลังนี้ไม่ได้มีเพียงวัสดุที่เลือกใช้ แต่ยังรวมถึงฟังก์ชันและพื้นที่การใช้งาน โดยยกพื้นสูงขึ้นเล็กน้อยตามแนวพื้นที่ และเพื่อลดปัญหาความชื้นจากดินในขณะเดียวกันก็ช่วยให้อากาศถ่ายเท พร้อมกับมีหลังคาทรงจั่ว ชายคายื่นยาวตามสไตล์บ้านไทย หากแต่ไม่ธรรมดาด้วยการดีไซน์ ผนังกรุไม้ไผ่เป็นระแนงทั้งแนวตั้งและแนวนอนสลับกับหน้าต่างและช่องแสงคละกันไป ทำหน้าที่คอยรับลม สร้างให้บ้านมีสภาวะน่าอยู่

แบบบ้านไม้ไผ่
ผนังกรุไม้ไผ่เป็นระแนงทั้งแนวตั้งและแนวนอน สลับกับหน้าต่างและช่องแสง

คุณหมอนพเล่าต่อว่า “ พิ้งค์เขาชอบบ้านวินเทจสไตล์อังกฤษ ส่วนผมจะชอบทรงกล่องสี่เหลี่ยม มีช่องแสงเยอะๆ ซึ่งในตอนแรกที่คุยกันว่าจะออกแบบมารูปแบบไหนเราก็ค้นข้อมูลจากนิตยสาร เว็บไซต์ จนมาได้ทำความรู้จักกับพระที่เป็นคนไข้ ซึ่งท่านเป็นสถาปนิกที่เน้นการพัฒนา โดยนำไม้ไผ่มาทำบ้าน ทำกุฏิ ทำศาลา ผมก็เลยมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับบ้านที่ท่านออกแบบไว้ ซึ่งผมกับพิ้งค์ชอบทันที หลังจากนั้นก็ไปเรียนรู้การสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่อยู่เกือบสองปี จนค่อนข้างมั่นใจว่า การสร้างบ้านไม้ไผ่นั้นสามารถอยู่ได้นาน แข็งแรง และปลอดภัย ”

แบบบ้านไม้ไผ่
ออกแบบโดยยกพื้นสูงขึ้นเล็กน้อยตามแนวพื้นที่ และเพื่อลดปัญหาความชื้นจากดิน
บ้านไม้ไผ่
ระเบียงรับลมสุดสดชื่น
บ้านไม้ไผ่
คุณหมอ และคลินิกวิวธรรมชาติ

“ สิ่งแรกที่พิ้งค์คิดคือ บ้านไม้ไผ่มันดูไม่มั่นคง ไม่เหมือนบ้านปูนที่เราเคยอยู่มาพอเริ่มก่อสร้าง วางคาน และขึ้นโครง ก็แอบลุ้นว่าจะรอดไหม ทำไปแล้วก็กังวลต่างๆ นานา เพราะคนรอบข้างไม่มีใครสนับสนุนเลย พระอาจารย์ท่านก็ให้กำลังใจแต่พอบ้านหลังนี้สร้างเสร็จก็ทำให้เรายิ่งมั่นใจมากขึ้น ” คุณพิ้งค์กล่าวในส่วนของพื้นที่การใช้งาน

บ้านไม้ไผ่

ทั้งคู่ต้องการพื้นที่ภายนอกพอ ๆ กับพื้นที่ภายใน บ้านหลังนี้จึงมีชานโล่ง มีระเบียงบนชั้น 2 และสนามหญ้ากว้างขวาง ในขณะที่ภายในออกแบบพื้นที่แบบเชื่อมต่อถึงกันหมด เริ่มจากโถงกลางที่เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่มีเพดานสูงและมีชั้นลอยเท่ๆอยู่มุมหนึ่งของบ้าน ส่งผลให้บ้านดูโปร่งโล่งตามคอนเซ็ปต์ต่อเนื่องกันเป็นครัวดีไซน์เรียบง่าย ดูลื่นไหลไปกับพื้นที่ส่วนอื่น ๆ สามารถทำกับข้าวไปคุยไปหรือเดินไปล้อมวงกินข้าวในมุมรับประทานอาหารได้ไม่ยาก ต่อเนื่องไปยังห้องนอน ที่เจ้าของบ้านออกแบบให้อยู่บริเวณชั้นล่างเพื่อให้ง่ายต่อการอยู่อาศัย โดยแบ่งแยกห้องนอนเป็นสัดส่วนตกแต่งตามการใช้งาน จัดวางเพียงเตียงนอนและเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้น พร้อมประตูทางเชื่อมที่สามารถเดินออกไปยังระเบียงหลังบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัว

บ้านไม้ไผ่
ส่วนโล่งในอาคาร ให้ความโปร่งตามธรรมชาติ

คุณพิ้งค์เล่าต่อว่า “ คนส่วนใหญ่อยากมีบ้านต่างจังหวัด อยู่กับธรรมชาติแต่ด้วยข้อจำกัดของหน้าที่การงานที่ต้องอยู่กรุงเทพฯ ทำให้หลายคนต้องรอจนถึงวัยเกษียณ แต่เราไม่อยากรอจนจึงอายุ 60 ปี แล้วถึงได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ เราจึงทดลองดูว่าหากย้ายมาทำงานที่นี่จะอยู่ได้ไหมซึ่งก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะทั้งเสี่ยง ลึก ไกล แต่หากเรากล้าที่จะเปลี่ยนวิถี เปลี่ยนความคิด ก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ”

บ้านไม้ไผ่
ห้องทำงานในฝัน มีผนังคือธรรมชาติสีเขียว

“ ทุกวันนี้ถามว่าคิดถึงชีวิตที่กรุงเทพฯไหม ก็มีบ้างส่วนพิ้งค์แรก ๆ เขาก็จะดูเหงา ๆ ไม่ต้องพูดผมก็รู้ว่าเขาคิดถึงพ่อแม่ คิดถึงเพื่อน ๆ เพราะเขาใช้ชีวิตที่นั่นมาตั้งแต่เด็กจนโต แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นทุกวันนี้คือ ทุกครั้งที่กลับกรุงเทพฯ พอไปแล้วมันวุ่นวาย รถติด กลับทำให้เขารู้สึกคิดถึงบ้าน คิดถึงบรรยากาศที่นี่ และอยากรีบกลับมาบ้านหลังนี้ทุกที ” คุณหมอนพกล่าว

บ้านไม้ไผ่
ทุกมุมบ้าน ตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติอย่าง ไม้ไผ่

จากบทสัมภาษณ์ของทั้งคู่ทำให้เราได้ค้นพบบางสิ่งที่แฝงอยู่คือ ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ที่วัดความสุขของชีวิตได้นอกจากการที่เราได้ทำ ได้เห็น ได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก ทัศนคติ ความเชื่อมั่น ความตั้งใจ เหล่านี้เองที่หลอมรวมให้บ้านหลังนี้น่าอยู่ เรียบง่าย ยั่งยืน สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ลงตัวของผู้อยู่อาศัยได้โดยแท้

บ้านไม้ไผ่
ตกแต่งเรียบง่าย แต่ชัดเจนในความรู้สึก

แบบบ้านไม้ไผ่

แบบบ้านไม้ไผ่ สองชั้น

นพรัตน์ กายภาพบำบัดคลินิก

ที่อยู่ : เลขที่ 540 ม.10 ภูตะวันโครงกา 4 ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

แผนที่ : https://goo.gl/maps/2M9RCFoTqhybgj967

วันเวลาทำการ : เปิดวันอังคาร – เสาร์ เวลา 9:00 – 18:00 น. * กรุณานัดหมายล่วงหน้า

โทร : 081-814-1579

 

Owners – design : คุณพิ้งค์ – กัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์ , คุณนพ – นพรัตน์ บิดจันทึก

Story :  นภสร ศรีทอง

Photo : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู , อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

Style :  วรวัฒน์ ตุลยทิพย์


BAMBOO TODAY ไม้ไผ่ วัสดุธรรมชาติที่สวยและคงทน

Atlas Hotel Hoi An หลบหลีกความวุ่นวายมาสู่ความสงบของธรรมชาติ

วิธีเลือกไม้ไผ่สำหรับใช้ในงานสร้างอาคาร

ธนา อุทัยภัตรากูร ผู้สร้างสรรค์หลักสูตรการเรียนรู้สถาปัตยกรรมคู่ธรรมชาติ