บ้านสวย เพราะต้นไม้ผสมผสาน

อยากมี บ้านสวย ๆ ดูดีไปได้นานๆ ต้องออกแบบ ต้องแต่งบ้านอย่างไร เริ่มต้นจากอะไร นี่เป็นคำถามที่สถาปนิกอย่างผมมักถูกถามอยู่เสมอ ถึงคำจำกัดความและองค์ประกอบของคำว่า “สวยงาม” ในแนวทางที่รวบรัด พร้อมใช้งาน

บ้านสวย

แต่ผมเชื่อว่านิยามคำว่า “สวย” ของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ครั้งนี้ผมขอพาไปชมมุมมองของสถาปนิกสาวชาวมาเลเซีย ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับความสวยงามมาทั้งชีวิต มาดูกันว่าเธอจะตอบคำถามนี้กับบ้านของตัวเองว่าอย่างไร

บ้านสวย

 

บ้านสวย

 

Ms. Farah Azizan เป็นทั้งเจ้าของและสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ รวมถึงเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสำนักงานสถาปนิก Studio Bikin บ้านเดี่ยวสองชั้นที่เรามาเยี่ยมชมนี้มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 200 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในย่านบังซาร์ (Bangsar) ซึ่งไม่ไกลจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เธอเล่าให้ฟังว่า

“บ้านหลังนี้สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ก็เกือบเจ็ดสิบปีมาแล้ว แต่ยังมีสภาพโครงสร้างแข็งแรงและสัดส่วนอาคารที่ลงตัว การออกแบบดูเรียบง่ายทันสมัย เหนือกาลเวลา ตั้งใจปรับปรุงให้เป็นบ้านพักอาศัยไปพร้อมกับทำเป็นสำนักงานสถาปนิกด้วย

“พยายามเก็บองค์ประกอบความเรียบง่าย ความสวยงาม และเค้าโครงเดิมตามความคลาสสิกของบ้านเอาไว้ให้มากที่สุด ทั้งหน้าตาเดิมของบ้านแผงประตูหน้าต่าง เหล็กดัดเดิม รวมไปถึงวัสดุปูพื้นเดิมซึ่งเป็นกระเบื้องโมเสกแผ่นเล็กหลากสีสันที่จัดเรียงแพตเทิร์นได้น่าสนใจ”

ด้วยลักษณะพื้นที่ลาดชันเป็นภูเขาสลับเนินดินของประเทศมาเลเซีย การออกแบบบ้านนี้จึงมีการเล่นระดับ โดยพื้นที่จอดรถจะเสมอกับระดับถนนภายนอก แต่อยู่สูงกว่าระดับพื้นชั้นล่างของบ้านประมาณ 1 เมตร จากที่จอดรถเราต้องเดินลงบันไดไปประมาณ 5 ขั้น ซึ่งกลายเป็นข้อดีในเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ปลอดจากสายตาภายนอก ภายในชั้นล่างเป็นพื้นที่โล่ง มีผนังกั้นเพียงห้องน้ำด้านหลังเท่านั้น พื้นที่นั่งเล่นซึ่งติดกับสวนหน้าบ้านก็เชื่อมต่อกับภายในบ้านได้อย่างต่อเนื่อง มีการรื้อแนวกั้นผนังภายในบ้านบางส่วนเพื่อช่วยเรื่องความโปร่งและโล่งเก็บหน้าต่างบานเกล็ดในส่วนหลังบ้านเอาไว้เพื่อช่วยระบายอากาศและนำแสงธรรมชาติเข้ามาในบ้านตอนกลางวัน

สำหรับผนังภายในบ้านบางส่วนที่เป็นผิวฉาบเรียบทาสีธรรมดา คุณฟาราห์ได้สกัดผิวบางๆ เกิดเป็นเท็กซ์เจอร์ที่เพิ่มอารมณ์แบบลอฟต์ให้บ้าน รายละเอียดอีกอย่างที่เราชอบคือพื้นผิวบริเวณใต้ท้องพื้นหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กที่คุณฟาราห์ใช้เทคนิคการก่อสร้างโดยปูแผ่นพลาสติกบางๆ ก่อนก่อเทคอนกรีต ด้วยความยับของแผ่นพลาสติกที่ออกแบบจัดวางไว้ เมื่อแกะแบบหล่อออกมาจึงได้ลวดลายของท้องพื้นคอนกรีตที่ดูแปลกตา เพิ่มลักษณะเฉพาะตัวให้บ้านหลังนี้

 

อ่านต่อหน้า 2