บ้านปูนสีขาวผสมไม้ ในบรรยากาศริมคลอง

จากความประทับใจที่มีต่อธรรมชาติป่าเขาและสายน้ำแม่คาวในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งไหลผ่านที่ดิน เจ้าของจึงต้องการให้ทุกมุมของ บ้านปูนสีขาวผสมไม้ นี้นำสายตาออกไปสู่ลำน้ำแม่คาวซึ่งอยู่ติดกับหลังบ้าน โดยทำร้านกาแฟเล็กๆ ในรูปแบบของห้องต้นไม้ไว้ตรงฝั่งติดถนน ส่วนตัวบ้านเป็นรูปตัวแอล (L) ล็อกส่วนของห้องต้นไม้เอาไว้ และโอบล้อมพื้นที่สีเขียวซึ่งอยู่ตรงกลาง

เจ้าของ : คุณนที – คุณกนกวรรณ เนตรนิยม
ออกแบบสถาปัตยกรรม : คุณเอกภาพ ดวงแก้ว (EKAR)
ออกแบบตกแต่งภายใน : คุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล (Full Scale Studio)

minimalismhouse บ้านปูนสีขาวผสมไม้

“อยากให้เหมือนบ้านไทยสมัยก่อนที่ปลูกติดริมน้ำ มีการลดหลั่นของอาคารและเปิดมุมมองสู่ริมน้ำ มีความเคารพต่อธรรมชาติ แต่อยู่ในรูปแบบที่ดูทันสมัย ทั้งวัสดุ รูปลักษณ์ และจริตอย่างปัจจุบัน” บ้านสีขาวผสมไม้

นี่คือคำบอกเล่าของผู้ออกแบบถึงคอนเซ็ปต์เริ่มต้นของบ้านรูปทรงแปลกตาที่มีพื้นผิวเรียบเท่และหลังคาเอียงสลับกันอย่างเข้าที บ้านหลังนี้มีชื่อว่า “บ้านม่วน”

ที่ดินผืนนี้เป็นมรดกซึ่งคุณยายมอบให้ คุณหม่อน – นที และ คุณเล -กนกวรรณ เนตรนิยม ทั้งสองจึงตกลงใจสร้างบ้าน ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่ “น้องม่วน” เกิด จึงตั้งชื่อบ้านเป็นชื่อเดียวกับลูกชาย  และมอบหมายให้ คุณหนึ่ง – เอกภาพ ดวงแก้ว และ คุณอรรถ – อรรถสิทธิ์ กองมงคล เป็นผู้ออกแบบ

“เราโชคดีที่เจ้าของบ้านไว้ใจให้วางคอนเซ็ปต์ได้เต็มที่ ผมกับอรรถจึงนำเสนอความเป็นบ้านริมคลอง ซึ่งโดดเด่นเรื่องมุมมองที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ริมน้ำและการจัดวางพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ผสานไปกับพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้เราพยายามแปรคอนเซ็ปต์เริ่มแรกให้เข้ากับบุคลิกของเจ้าของบ้านไปพร้อมกัน”

การตั้งคำถามเพื่อหาจุดร่วมของความเป็น “บ้านริมคลองสมัยก่อน” กับ “โพสต์โมเดิร์น” ไปจนถึง “มินิมัลลิสม์” จึงเกิดขึ้น ผู้ออกแบบได้สร้างโถงกลางเปิดโล่งซึ่งเป็นหัวใจของ บ้านปูนสีขาวผสมไม้ หลังนี้

“เราไม่ได้มีโจทย์ชัดเจน แค่บอกไปว่าชอบโล่ง ๆ พี่หม่อนกำหนดให้มีร้านกาแฟของคุณแม่ที่หน้าบ้าน ส่วนเราต้องการห้องเปียโนไว้ซ้อมและสอนนักเรียน โจทย์เรามีเท่านี้จริง ๆ”

คุณเลอธิบายเพิ่มเติม พื้นที่โล่งจึงเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่กำหนดลักษณะสเปซของบ้านหลังนี้ไปโดยปริยาย ส่วนควบรวมของครัวกับห้องรับแขกทำหน้าที่เชื่อมทุกส่วนเข้าด้วยกัน โถงกลางของบ้านจึงเป็นทั้งพื้นที่รับแขกและส่วนนั่งเล่นประจำของทุกคนในบ้าน

“ผมชอบนั่งที่โต๊ะตัวนี้ (คุณหม่อนหมายถึงโต๊ะกินข้าว) มองไปด้านนอกเป็นน้ำ ด้านหน้าก็เป็นประตูเปิดไปยังสวน อีกทางก็เป็นโซฟารับแขกที่เลกับม่วนเอกเขนกเล่นกันอยู่ เป็นพื้นที่สบายๆ ที่ผมชอบ ถ้าให้นิยามว่าบ้านหลังนี้เป็นอย่างไร ผมคงนิยามสั้นๆ ว่า ‘สบายๆ’”

minimalismhouse บ้านปูนสีขาวผสมไม้ minimalismhouse บ้านปูนสีขาวผสมไม้ minimalismhouse บ้านปูนสีขาวผสมไม้

การออกแบบแบบ Open Plan ทำให้เกิดพื้นที่ซึ่งเหมาะกับครอบครัวขนาดเล็กที่มีเพียงพ่อแม่ลูก ทุกคนจะเห็นกิจกรรมของคนในบ้านได้หมด สร้างบรรยากาศอบอุ่นและคึกคักแบบสบายๆ อย่างที่คุณหม่อนว่า พื้นที่เปิดโล่งนี้ยังเชื่อมโยงทุกส่วนในบ้านให้เป็นเหมือนพื้นที่เดียวกัน มีความต่อเนื่อง โดยสถาปนิกได้กำหนดให้พื้นที่ส่วนตัวทั้งหมดอยู่บนชั้นสอง ชั้นล่างมีเพียงห้องเล่นของน้องม่วนและห้องซ้อมเปียโนของคุณเลเท่านั้นที่มีกำแพงกั้น ตัวอาคารแบ่งเป็นสองส่วนชัดเจน คือส่วนที่พักอาศัยด้านในกับร้านกาแฟด้านหน้าที่โดดเด่นด้วยผนังไม้

หากมองจากภายนอก รูปฟอร์มของหลังคาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างเอกลักษณ์ให้บ้านหลังนี้ แต่ที่มาของรูปฟอร์มดังกล่าวกลับเป็นเรื่องของภายในสู่ภายนอก

“เกิดจากการเปิดมุมมองสู่พื้นที่ธรรมชาติครับ ตรงไหนหันสู่น้ำ สู่ต้นไม้โถงกลางหลบ เพื่อให้ห้องนอนเห็นน้ำได้ ร้านกาแฟเปิดกว้างขึ้นในด้านติดน้ำ เราไม่ได้จะทำให้มันหวือหวา แต่มาจากเหตุและผลเสียมากกว่า” คุณหนึ่งกล่าว

minimalismhouse บ้านสีขาว minimalismhouse บ้านสีขาว minimalismhouse บ้านปูนสีขาวผสมไม้ minimalismhouse บ้านสีขาว

เช่นนี้จึงออกแบบให้หลังคาลาดเทสอดคล้องกับพื้นที่ภายในเสมอ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ โถงกลาง หรือห้องนอน
มาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงผิดคาดกับบรรยากาศของบ้านหลังนี้ จากรูปลักษณ์เมื่อแรกเห็น บ้านที่เหมือนจะหวือหวาและโฉบเฉี่ยว แท้จริงแล้วรูปลักษณ์เหล่านั้นเกิดจากเหตุและผลที่ก่อร่างมาจากบุคลิกและความต้องการของผู้อยู่อาศัย ผนวกกับความตั้งใจอิงแอบธรรมชาติของผู้ออกแบบ จึงเกิดเป็นภาษาใหม่ของบ้านริมคลองอย่างไทยๆ ในสไตล์มินิมัลลิสม์ที่แปลกตาแต่ลงตัว

minimalismhouse บ้านปูนสีขาวผสมไม้

เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ


บ้านสีขาวริมทะเล ที่นุ่มนวลแบบมินิมัลและอบอุ่นแบบสแกน

บ้านสีขาว ในบรรยากาศผ่อนคลาย