บ้านเต็นท์ ในจังหวัดเชียงใหม่หลังนี้อาจมีรูปลักษณ์แปลกใหม่และไม่ให้ความรู้สึกเป็นบ้านสักเท่าไร แต่นั่นคือสิ่งที่มองเห็นแค่เพียงภายนอก เมื่อได้เข้าไปภายในก็พบว่าบ้านนี้มีอะไรน่าสนใจมากกว่านั้น
บ้านนี้ไม่ใช่เต็นท์ทั่วไปที่ใช้เวลาประกอบไม่นานและใช้งานแบบชั่วคราว หากมีลักษณะไม่ต่างจากบ้านทั่วไปซึ่งมีความแข็งแรงมากพอจะอยู่อาศัยได้นานนับสิบปี ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ตัวบ้านมีลักษณะเป็นโครงสร้าง Tension Membrane ซึ่งเป็นโครงสร้างของหลังคาผ้าใบแรงดึงสูง ดูเหมือนกระโจมดอกเห็ดที่มียอดแหลมตรงกลางสูงประมาณ 8 เมตร ส่วนหลังคาเป็นผ้าใบเย็บต่อกันเป็นรูปวงกลม และยึดขอบด้วยเสาเหล็กที่อยู่นอกตัวบ้านเป็นช่วงๆโดยรอบ ทำให้บ้านดูโดดเด่นและมีดีไซน์เฉพาะตัว เปลี่ยนบรรยากาศของการอยู่อาศัยให้เหมือนกำลังพักผ่อนในแนวผจญภัย
ภายในบ้านมีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ประกอบด้วยเสาเหล็ก 4 ต้นตั้งอยู่เกือบกลางบ้านเป็นโครงสร้างหลังคาซึ่งทำหน้าที่ค้ำและรับยอดบนสุดของเต็นท์อีกที นอกนั้นก็ไม่เห็นโครงสร้างอื่นอีก นอกจากขอบนอกของห้องมีเสาไม้ธรรมชาติ ประตูกระจกใส และช่องแสงแทนผนังเรียงเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งยึดติดกับโครงเหล็ก แต่ไม่ติดกับตัวเต็นท์โดยตรง
ภายในบ้านแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน และแต่ละส่วนครอบคลุมพื้นที่ประมาณครึ่งต่อครึ่ง ครึ่งแรกจัดเป็นพื้นที่ส่วนรวมของบ้าน เช่น ส่วนนั่งเล่น – รับแขก ส่วนรับประทานอาหาร และแพนทรี่ (แยกครัวออกไปอยู่ด้านนอกต่างหาก) ทุกส่วนเปิดโล่งถึงกันทั้งหมด
พื้นที่อีกครึ่งที่เหลือเป็นพื้นที่ส่วนตัว ได้แก่ ห้องนอน 3 ห้องขนาดเท่ากัน เรียงแถวตามรูปครึ่งวงกลม ลักษณะของห้องมีผนังกับเพดานไม่ติดกับตัวเต็นท์ (เหมือนตั้งลอยอยู่ในเต็นท์) ยกเว้นผนังริมนอกของทุกห้องเป็นผนังผ้าใบทั้งสามห้องออกแบบและจัดวางเฟอร์นิเจอร์เหมือนกัน เพียงแต่บางห้องเป็นเตียงใหญ่ บางห้องเป็นเตียงคู่ ทุกห้องมีห้องน้ำลักษณะเหมือนกันอยู่ภายในแต่ละห้องมีขนาดกว้างพอสมควรและตกแต่งแบบเรียบโล่งในโทนสีเดียวกัน
โดยภาพรวมอาจเห็นว่าบ้านเต็นท์นี้ตั้งอยู่บนที่เรียบโล่ง แต่จริงๆแล้วอยู่ท่ามกลางภูเขาสูงล้อมรอบแต่เป็นระยะที่ไกลออกไป ตำแหน่งของบ้านมีการปรับพื้นที่บางส่วน ทำให้บ้านดูมีขนาดไม่ใหญ่นัก กลมกลืนไปกับพื้นที่รอบๆซึ่งตกแต่งด้วยไม้ประดับหลากหลายชนิด โดยเฉพาะด้านหน้าบ้านมีสวนน้ำขนาดพอประมาณที่ช่วยเพิ่มความเย็นสบายได้เป็นอย่างดี สมกับเป็นบ้านสำหรับการพักผ่อนในวันว่างจริงๆ
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงหากคิดจะสร้างบ้านด้วยโครงสร้าง Tension Membrane
สถาปนิก ควรมีความรู้และความเข้าใจเรื่องโครงสร้างและวัสดุเป็นอย่างดี นอกจากออกแบบรูปแบบได้อย่างสร้างสรรค์แล้ว ต้องมีการคำนวณทางวิศวกรรมที่แม่นยำ ทำให้มีความลาดเอียงเหมาะกับคุณสมบัติของวัสดุด้วย เพื่อป้องกันแดดและฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่ แล้วทางบริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายผ้าใบจะมีสถาปนิก เฉพาะทางเพื่อออกแบบให้ลูกค้าได้ตรงกับความต้องการ เพื่อลดปัญหาที่อาจตามมาในภายหลัง
ผ้าใบ มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งควรจะมีความหนาตั้งแต่ 725 แกรมขึ้นไป (สำหรับบ้านพักอาศัย) เพื่อให้ทนทานต่อแสงแดดและฝนได้ดี ทั้งยังมีสารเคลือบผิวเพื่อป้องกัน รังสียูวีและสิ่งสกปรกยึดเกาะ สีขาวของผ้าใบยังช่วยสะท้อนความร้อนได้เป็นอย่างดี ช่วยลดความร้อนเข้าสู่ภายในบ้านได้อีกทาง
โครงสร้าง มีทั้งโครงสร้างเหล็กและอะลูมิเนียม ส่วนใหญ่นิยมใช้โครงสร้างเหล็กซึ่งแข็งแรงทนทานและประหยัดกว่า
ข้อมูล: ขอขอบคุณ บริษัทแสงทองผ้าใบ จำกัด โทรศัพท์ 0-2569-1898
เรื่อง : Otto
ภาพ : สังวาล พระเทพ
CAPELLA UBUD HOTEL เต็นท์กลางป่าฝนลึกลับจากตำนานของนักเดินทางชาวดัทช์
บ้านโครงสร้างเหล็กสไตล์โรงนาฝรั่งของสายเอ๊าต์ดอร์
l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l l