ทุเรียน DAP เทคนิคการพัฒนารสชาติทุเรียนด้วยการช่วยผสมเกสร

นอกจากทุเรียนจะมีพันธุ์การค้าและพันธุ์พื้นเมืองแล้ว ปัจจุบันยังมี ทุเรียน DAP (Development of durian varieties by Assisted Pollination) เป็นเทคนิคการพัฒนารสชาติทุเรียนด้วยการช่วยผสมเกสร และผลที่ได้จะมีรสชาติเปลี่ยนไปตามคู่ผสมที่นำมาใช้

โดยรสชาติของ ทุเรียน DAP ที่ได้จะมาจากต้นแม่ 70% ส่วนอีก 30% จะมาจากสีและกลิ่นของต้นพ่อ เป็นการลดจุดด้อยและเพิ่มจุดเด่นของสายพันธุ์นั้นๆ ได้ เช่น ทุเรียนคู่ผสมจากต้นแม่หมอนทอง กับ เกสรจากต้นพ่อกบพิกุล ผลที่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนหมอนทอง เนื้อหนาเนียน มีสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวานมันเข้มข้น เนื้อแห้ง และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของกบพิกุล

ทุเรียน dap
อาจารย์ไก่ – รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ (ซ้าย) และ คุณตี๋ – มนตรี ตั้งไมตรีจิต (ขวา)

เทคนิคดังกล่าวริเริ่มจาก คุณตี๋ – มนตรี ตั้งไมตรีจิต ผู้ก่อตั้ง สวนประตูจันท์ ที่อยากมีทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ แต่หลังจากทดลองปลูกตั้งแต่เมล็ด ปรากฏว่าใช้เวลาและทรัพยากรมาก จึงเริ่มผสมพันธุ์ทุเรียนเองและพบว่า ผลที่ได้นั้นมีกลิ่น สี และลักษณะเนื้อที่แตกต่างไปจากเดิม

จนกระทั่งมีโอกาสพบเจอกับ อาจารย์ไก่ – รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พอได้ชิมผลทุเรียนจากการผสมเกสร ก็สัมผัสได้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไป สู่การจับมือกันร่วมพัฒนาทำคู่ผสมจากทุเรียน 1 แม่ ผสมด้วยเกสรจาก 5 พ่อ (1พู 1 พ่อ) หรือที่เรียกว่า ทุเรียน DAP 5Vsin1 เพื่อให้แต่ละพูที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่แตกต่างกันไป

นับว่าเป็นการต่อยอดทุเรียนไทยให้มีความน่าสนใจและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และทางคุณตี๋ก็ได้เล่าวิธีการผสมเกสรเพื่อทำทุเรียนแบบ DAP สำหรับท่านใดที่อยากศึกษาเบื้องต้นเอาไว้ด้วย

ทุเรียน dap

การทำทุเรียน DAP นอกจากจะช่วยให้ผลทุเรียนมีกลิ่น สี และลักษณะเนื้อที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังช่วยให้ผลทุเรียนมีรูปทรงผลที่ดีขึ้นด้วย

คุณตี๋ เล่าว่า “การปล่อยให้เขาผสมในดอกตัวเองเขาจะไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการผสมข้ามเป็นการช่วยให้ผลทุเรียนสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งก็มีเกษตรกรที่ทำมานานแล้ว จะเรียกว่า “ผ่าดอก” แต่พอเรียกว่าผ่าดอก มูลค่ามันไม่ค่อยมี เราเองมาพัฒนาต่อก็เรียกว่า DAP ด้วยปัจจัยที่ว่าเป็นการคัดเลือกทั้งสายพันธุ์พ่อและแม่ ที่เรามั่นใจว่าผสมไปแล้วมันจะดียิ่งขึ้น”

ขั้นตอนการทำทุเรียน DAP 1 IN 1

  1. คัดเลือกดอกที่แข็งแรงสมบูรณ์โดยจะเริ่มทำในระยะดอกขาว ช่วงที่เกสรตัวเมียเริ่มแทงออกจากดอกแล้ว แต่ดอกยังไม่บาน ซึ่งมีเวลาในการเตรียมเกสรตัวเมียให้พร้อม ตั้งแต่เวลาช่วงเช้าถึง 5 โมงเย็นของวัน
  2. พอเลือกได้แล้วให้ตัดกลีบดอกและเกสรตัวผู้ทิ้งไปให้หมด
  3. ห่อด้วยกระดาษสา (ที่ใช้ห่อทุเรียน) เพื่อป้องกันแมลงมาผสมเกสร หรือ เกสรจากต้นอื่นปลิวมา  
  4. ในวันเดียวกันหลังจาก 1 ทุ่ม (ช่วงที่อากาศเริ่มเย็น) จึงเริ่มผสมเกสรได้ โดยนำเกสรตัวผู้จากอีกสายพันธุ์มาผสม ให้ใช้พู่กันแตะกับเกสรตัวผู้ที่เตรียมไว้ สัมผัสเข้ากับยอดเกสรตัวเมียที่ต้องการผสมพันธุ์
ทุเรียน dap

ทางอาจารย์วรภัทร ก็ได้เล่าสาเหตุที่เกิดขึ้นว่า ทำไมหลังจากที่ผสมเกสรข้ามสายพันธุ์แล้ว ถึงทำให้รสชาติของทุเรียนเปลี่ยนไป

“หลังจากที่ได้ผลจากการผสมเกสรออกมาแล้ว เนื้อที่ได้แตกต่างจากเดิมมาจาก Xenia effect ก็คือ อิทธิพลจากเกสรตัวผู้ไปมีผลต่อลูก ทำให้ลักษณะของเนื้อ กลิ่น สี ที่ได้แตกต่างไปจากเดิม

“ในช่วงปี 1800 ปลายๆ มีการศึกษาพบว่าในข้าวโพด พ่อสีม่วงผสมกับแม่สีขาว เม็ดข้าวโพดที่ได้จะมีสีขาวครึ่งหนึ่ง บางเม็ดม่วงเกือบเต็มเม็ด อิทธิพลจากเกสรตัวผู้ของต้นพ่อไปมีผลต่อลูก สามารถเห็นได้บนฝักข้าวโพดนั้นเลย อย่างทุเรียนเราก็หวังว่าสิ่งที่ได้จากการผสมทั้งลักษณะเนื้อ กลิ่น สี จากพ่อ ไปอยู่ในเนื้อนี้เลย เพื่อทำสินค้าที่แตกต่างออกไป”

ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ข้าวโพดกับทุเรียนเท่านั้น อาจารย์วรภัทรอธิบายเพิ่มเติมว่า อิทธิพลจากต้นพ่อไปสู่ลูก ยังมีผลกับ มะพร้าวน้ำหอม (พ่อ) ไปผสมกับมะพร้าวน้ำหวาน (แม่) ทำให้ลูกมะพร้าวที่ได้มีกลิ่นหอมขึ้น และ ส้มโอทับทิมสยาม (พ่อ) ผสมกับขาวน้ำผึ้ง (แม่) ลูกที่ได้ก็จะมีสีของทับทิมสยามแต่อ่อนกว่า ซึ่งมีผลไม้อีกหลายชนิดที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้

ทุเรียน dap

การทำ ทุเรียน DAP 5Vsin1

จากจุดเริ่มต้นที่อาจารย์วรภัทรได้ให้ลูกศิษย์ไปศึกษาปัญหาทุเรียนผสมเกสรไม่ติดในช่วงฤดูฝน และได้ทดสอบสารละลายที่คิดค้นมาเพื่อช่วยให้ทุเรียนสามารถติดผลได้ทุกฤดูกาลที่สวนประตูจันท์ ก็พบว่า ที่นี่มีการผสมพันธุ์ทุเรียนข้ามสายพันธุ์ระหว่าง 2 ต้นอยู่แล้ว จากนั้นจึงได้ต่อยอดงานของคุณตี๋ สู่การทำทุเรียน DAP 5Vsin1

พออาจารย์วรภัทรได้ส่องดอกทุเรียนก็พบว่า แต่ละดอกจะมีจำนวนพูที่ไม่เท่ากัน และมีเนื้อเยื่อบางๆ กั้น จึงได้นำเกสรตัวผู้จาก 5 สายพันธุ์มาผสมกับต้นแม่ 1 สายพันธุ์ ซึ่งจะทำยากกว่าแบบ 1 IN 1 เพราะต้องระวังไม่ให้ผสมข้ามไปพูอื่น

อาจารย์วรภัทร เล่าว่า “ผมก็เอาเกสรทุเรียนที่นักศึกษากำลังศึกษาเรื่องการงอกไปใส่ในสารละลาย พอดูว่าเกสรมันงอก ก็นำไซริงค์ไปดูดเกสรแล้วไปหยอดในแต่ละพูของดอกทุเรียน พูไหนที่ไม่ได้หยอดก็เอาพลาสติกปิดเอาไว้ รอให้น้ำหวานซึมเข้าไป อับเรณูของตัวผู้มันก็จะงอกลงไป และข้ามไปพูอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเราจับคู่ผสมผิดแม้แต่นิดเดียวหรือพูเดียว ดอกจะร่วงไปเลย เพราะอิทธิพลจากเกสรตัวผู้พอผสมไม่ได้ก็จะสร้างสารขึ้นมาทำให้ดอกนั้นร่วงไป”

และเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับทุเรียน DAP ทางคุณตี๋ ก็ได้แนะนำวิธีการเรียก “พ่อ 5 สายพันธุ์ ผสมกับ 1 แม่ เรียก DAP 5Vsin1 เราไม่ได้เรียกทุเรียนลูกผสม 5 สายพันธุ์อันนี้ผิด และสำหรับการเรียกชื่อทุเรียน DAP ให้ใช้คำว่า “คู่ผสม” ส่วนที่เพาะแล้ว ให้ใช้คำว่า “ลูกผสม” อย่างทุเรียนจันทร์ 1-10 เราเรียกว่าเป็นทุเรียนลูกผสมแล้ว หรือเปรียบเทียบได้ว่าเป็นทุเรียน DAP ที่เอาเมล็ดไปเพาะแล้ว”

ส่วนในเรื่องการตรวจสอบนอกจากการชิม สามามารถตรวจสอบได้โดยการนำเมล็ดไปเพาะ ก็จะรู้ได้ว่ามาจากสายพันธุ์ไหน ซึ่งตอนนี้ทางอาจารย์วรภัทรก็มีการเตรียมทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเก็บสีและกลิ่นสำหรับทุเรียน DAP ด้วย

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากลองซื้อทุเรียน DAP ไปลองชิมสามารถติดต่อผ่านเฟซบุ๊กเพจ สวนประตูจันท์ หรือ มาเลือกซื้อกันได้ที่งาน “Amazing Thai Fruit Paradise 2024” ตั้งแต่ วันนี้-31 พฤษภาคม 2567 ที่ เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม ที่มาพร้อมกับเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนผลไม้ไทย

นอกจากทุเรียน DAP ก็ยังมีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองอีกมากมาย ได้แก่ กบสุวรรณ นวลทองจันทร์ หมอนทองน้ำกร่อย ทุเรียนชะนีเกาะช้าง โอวฉี หลงลับแล หลินลับแล ก้านยาว ชะนี จันทบุรี 1 กบพิกุล กบเล็บเหยี่ยว พวงมนกกระจิบ กระดุมทอง

รวมถึงมีผลไม้ตามฤดูกาลอย่าง สละสุมาลี เงาะ ลองกอง มังคุด ส้มโอทับทิมสยาม มะละกอเรดเลดี้ ลิ้นจี่ฮงฮวย มะม่วงน้ำดอกไม้ ลำไยพวงทอง ขนุนแดงสุริยา เมล่อน แตงโมแบล็คชูการ์ เสาวรสพันธุ์หม่าเทียนซิน ส่วนผลไม้นำเข้าตามฤดูกาล ได้แก่ แอปเปิ้ลชินาโนะโกลด์ แอปเปิ้ลฮารุกะ แอปเปิ้ลเมเก็ตสึ ให้เลือกซื้อกันด้วย

เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์

ภาพ : สวนประตูจันท์ / สุดารัตน์ หาญชนะ

รวม 10 สายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านหากินยาก สักครั้งต้องได้ลอง

รวม 10 เรื่อง ที่ชาวสวนมือใหม่ต้องรู้ ก่อนเริ่มปลูกทุเรียน