บ้านไม้กลางทุ่งนา

บ้านไม้กลางทุ่งนา ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ

บ้านไม้กลางทุ่งนา
บ้านไม้กลางทุ่งนา

บ้านไม้กลางทุ่งนา ที่มีความเป็นอีสานผสมล้านนา โดยประยุกต์ฟังก์ชันและองค์ประกอบให้ทันสมัยขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาที่มองเห็นความสวยงามของธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล

DESIGNER DIRECTORY: ช่างเฮ็ดแบบ

บ้านไม้
บ้านไม้กลางทุ่งนา
บ้านไม้ขนาดกะทัดรัดโอบล้อมด้วยทุ่งนาและทิวเขาในจังหวัดเชียงใหม่  ผสมผสานลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้กลมกลืนกับบริบท

บ้านไม้กลางทุ่งนา หลังนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการของ คุณเป้ เจ้าของบ้านที่มองหาพื้นที่ปลูกบ้านพักผ่อนสำหรับทำกิจกรรมกับครอบครัวและเพื่อนๆ จนมาประทับใจพื้นที่กลางทุ่งนาในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยตั้งใจสร้างบ้านไม้ให้มีกลิ่นอายโมเดิร์นพื้นถิ่นที่ทั้งเติมเต็มความฝันและเป็นไทม์แมชีนพาย้อนกลับไปยังความทรงจำวัยเยาว์ที่เคยใช้ชีวิตอยู่บ้านไม้ รวมถึงปลูกฝังให้ลูกๆ รักและเข้าใจธรรมชาติรอบตัว เพราะการอยู่กับธรรมชาติคือการสร้างสมดุลชีวิต โดยเลือก คุณน๊อต – สุริยา เขาทอง สถาปนิกแห่ง ช่างเฮ็ดแบ มาเป็นผู้ออกแบบให้

บ้านไม้กลางทุ่งนา
หน้า บ้านไม้กลางทุ่งนา ที่เข้าจากถนนหันด้านทิศตะวันตก จึงออกแบบให้เป็นโรงจอดรถ ห้องครัว และทำช่องเปิดน้อย เพื่อลดความร้อนเข้าบ้าน
บ้านไม้ชนบท
โครงสร้างพื้นและเสาชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร ป้องกันความชื้นและสัตว์เลื้อยคลาน ด้านหน้าบ้านทำแปลงผักสวนครัวสำหรับใช้ในครัวเรือน
บ้านไม้ริมน้ำ
พื้นที่เดิมเป็นทุ่งนา จึงขุดบ่อเป็นรูปตัวแอล (L) เพื่อกักเก็บน้้ำำจากลำเหมืองและนำดินมาถมที่ให้สูงขึ้นสำหรับสร้างบ้าน

เรือนอีสานผสมล้านนา

จากความประทับใจการอยู่บ้านไม้ในวัยเด็กของเจ้าของบ้านซึ่งมีพื้นเพเดิมอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ และย้ายมาอยู่จังหวัดเชียงใหม่นานจนหลงรัก จึงกลายเป็นโจทย์ในการออกแบบ บ้านไม้กลางทุ่งนา หลังนี้ “ชอบอยู่บ้านไม้ เพราะเป็นบ้านที่มีเสน่ห์ และชอบงานช่างฝีมือ แต่ไม่ชอบบรรยากาศของบ้านไม้เก่า จึงคุยกับสถาปนิกว่าอยากให้บ้านไม้มีความทันสมัยมากขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานปัจจุบัน มีมุมถ่ายรูปหลายๆ มุม มีห้องใต้หลังคาให้เด็กๆ ขึ้นไปเล่นได้ และมีความเป็นอีสานผสมล้านนา” ซึ่งตรงกับความถนัดของสถาปนิกชาวยโสธรในการออกแบบบ้านไม้ ทั้งยังเข้าใจวิถีชีวิตคนอีสานอย่างดี จึงมีกลิ่นอายอีสานที่ทำให้เจ้าของบ้านได้หวนนึกถึงบ้านเกิดอย่างอบอุ่นหัวใจ

บันไดนอกบ้าน
บันไดไม้
ออกแบบบันไดไว้นอกบ้านตามลักษณะของบ้านไทยพื้นถิ่น โดยทำประตูบานเลื่อนกั้นพื้นที่ชั้นบนเพื่อความปลอดภัย
ประกอบบันไดด้วยวิธีดั้งเดิม โดยทำขั้นบันไดลูกนอนเป็นเดือยสอดกับแม่บันไดที่เจาะเป็นช่องและยึดด้วยสลักไม้
ฮ้านน้ำ
“ฮ้านน้ำ” (ร้านน้ำ) เป็นวัฒนธรรมของชาวไทยล้านนา รวมถึงคนภาคอีสานและทุกภาคซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันไป นิยมทำแท่นหรือชั้นวางภาชนะใส่น้ำดื่มสำหรับผู้สัญจรหรือแขกที่มาเยือน จึงนำมาออกแบบเป็นองค์ประกอบหนึ่งของบ้าน
ประตูกระจกบานเลื่อน
ทำประตูกระจกบานเลื่อนให้เลื่อนซ่อนไว้หลังตู้ได้ ช่วยประหยัดพื้นที่และแก้ปัญหาเปิดประตูไปชนกับบันได
เสริมไม้คานซอย (คานย่อย) โดยบากยึดกับไม้ตงที่รับพื้น เพื่อช่วยรับนํ้าหนักและป้องกันไม้ตงที่พาดช่วงยาวบิดตัว
ล็อกฝาไหลด้วยการทำสลักไม้แบบง่ายๆ แทนการใช้กลอนให้เข้ากับบ้านไม้พื้นถิ่น
ทำเฉลียงให้เดินได้รอบ ปูพื้นด้วยอิฐมอญปั้นมือ ซึ่งเป็นวัสดุในท้องถิ่นและวางตุ่มน้ำไว้ข้างบันไดสำหรับล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน
โ๕รงสร้างคานและตง
ชั้นล่างวางผังเป็นห้องโถงโล่งสำหรับนั่งเล่นและรับประทานอาหาร โดยโชว์โครงสร้างคานและตงรับพื้นไม้ชั้นบนตามลักษณะของบ้านไม้พื้นถิ่น

กันแดด รับลม ชมวิว

บนที่ดิน 243 ตารางวา เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นท้องนาที่เป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าซึ่งมีลำเหมืองผ่านริมที่ดินในการสร้างบ้านจึงขุดบ่อน้ำด้านที่อยู่ใกล้ลำเหมืองเพื่อผันนํ้าเข้ามาในบ่อ ทำให้มีปลาตามธรรมชาติเข้ามาอยู่ในบ่อด้วย แล้วนำดินจากการขุดบ่อมาถมพื้นที่ให้สูงขึ้นประมาณ 1 เมตร และด้วยโจทย์ข้างต้นสถาปนิกจึงออกแบบบ้านพื้นที่ใช้สอยประมาณ 200 ตารางเมตรให้ผสมผสานลักษณะอีสานและความเป็นเชียงใหม่ปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดยประยุกต์ฟังก์ชันและองค์ประกอบให้ทันสมัยขึ้น วางผังบ้านให้เปิดรับวิวด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านที่มีวิวสวยที่สุด ด้านทิศตะวันตกซึ่งร้อนที่สุดทำเป็นโรงจอดรถ ส่วนทิศใต้เป็นห้องครัวและห้องนํ้าที่ทั้งช่วยป้องกันความร้อนเข้าบ้าน และใช้ประโยชน์จากแสงแดดสร้างสุขอนามัยที่ดีภายในห้อง

โครงสร้างพื้นไม้ชั้นบน
ทำโครงสร้างพื้นชั้นบนยื่นออกมา นอกจากเป็นการเพิ่มพื้นที่แล้ว ยังช่วยกันแดดกันฝนให้ชั้นล่างด้วย
บ้านวิวทุ่งนา
ออกแบบผนังเป็นประตูบานเฟี้ยมกรุกระจกที่เปิดโล่งได้รอบ รับลมและมองเห็นวิวทุ่งนาและทิวเขาได้แบบเต็มตา ให้บรรยากาศใต้ถุนบ้านแบบบ้านพื้นถิ่นอีสานที่พาย้อนอดีตถึงความทรงจำวัยเยาว์
มุมนั่งเล่นชมวิว
มุมนั่งเล่นริมเฉลียงด้านทิศเหนือได้ร่มเงาจากตัวบ้านจึงเย็นสบายตลอดวัน ทำเป็นชุดที่นั่งหันออกด้านเดียวเพื่อชมวิวและคลุมด้วยหลังคาโปร่งแสง
ครัว
แม้จะทำอาหารอยู่ในห้องครัวก็เห็นวิวทุ่งนาได้รอบตัว ออกแบบให้สามารถเปิดรับแสงและระบายอากาศได้ดี วางโต๊ะไม้แทนเคาน์เตอร์ไอส์แลนด์ช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น
แผงบังแดด
ชั้นบนประกอบด้วย 3 ห้องนอน โดยห้องนอนใหญ่อยู่ด้านทิศตะวันออกที่เห็นบรรยากาศยามเช้าได้สวยงาม ส่วนบันไดที่มีแดดส่องช่วงบ่าย จึงทำไม้สานกับโครงไม้เป็นแผงบังแดด
ห้องนอนชมวิว
ออกแบบฝ้าเพดานเอียงตามหลังคาเพิ่มความโปร่งและทำผนังห้องเป็นฝาไหลให้เปิดเชื่อมต่อกับระเบียงด้านข้างได้
ระเบียงชมวิว
ระเบียงชั้นบนเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ติดตั้งมู่ลี่ไม้ไผ่โดยรอบช่วยกรองแสงและลดละอองฝนได้

ใช้ทรัพยากรหมุนเวียน

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ความชื้น จึงออกแบบบ้านยกพื้นสูง โดยทำโครงสร้างพื้นและเสาชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อความทนทานต่อความชื้นและการใช้งาน ชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ ซึ่งเป็นไม้ที่มาจากการซื้อบ้านไม้เก่าของชาวบ้าน แล้วนำไม้มาปรุงแต่งและประยุกต์ใช้เป็นส่วนต่างๆ จึงยังเห็นร่องรอยของการเข้าไม้แบบพื้นถิ่น ผสมกับการเพิ่มฟังก์ชันและดีเทลสมัยใหม่ เช่น การทำช่องเปิดขนาดใหญ่เพื่อเปิดมุมมองเห็นวิวและรับลม ซึ่งต่างจากบ้านพื้นถิ่นภาคเหนือที่มักทำช่องเปิดขนาดเล็ก เน้นการเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมชุมชน ลดค่าขนส่ง อย่างกระเบื้องวิบูลย์ศรีและอิฐมอญปั้นมือ โดยใช้ทีมช่างสล่าไม้ที่ก่อสร้างตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายในบ้านจัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบเรียบง่ายซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์เดิมที่มีอยู่แล้ว ในห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหารวางโต๊ะไม้ตัวยาวและที่นั่งตอไม้ซึ่งเป็นไม้ที่มาจากต้นไม้ประธาน ที่ปลูกในพื้นที่บ้านอีกหลังของเจ้าของบ้านแล้วยืนต้นตายเอง จึงนำเนื้อไม้มาแปรรูปให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน โดยใช้ไม้สร้างบ้านจากบ้านไม้เก่า ซึ่งมีข้อดีที่ไม้มีการยืดหดตัวน้อย โต๊ะไม้และที่นั่งตอไม้ทำจากไม้ที่ยืนต้นตายเอง จึงนำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์
ห้องน้ำไม้
ส่วนเปียก
ห้องน้ำแบ่งพื้นที่ส่วนแห้งและส่วนเปียก ออกแบบส่วนอาบน้ำแบบเปิดโล่งที่สามารถปิดม่านบังตาเมื่อใช้งานได้
ห้องใต้หลังคา
การทำห้องใต้หลังคาเป็นการเติมเต็มความฝันของเจ้าของบ้าน และให้เด็กๆได้ขึ้นมาเล่นกัน ซึ่งยังคงมองต่อเนื่องกับระเบียงด้านล่างได้
เปลี่ยนริมระเบียงเป็นมุมจิบกาแฟสุดชิลชมหมอกยามเช้าหรือนั่งนับดาวยามคํ่าคืน โดยทำเป็นเคาน์เตอร์บาร์แทนราวกันตก

อยู่อย่างเข้าใจธรรมชาติ

ความเป็นธรรมชาติมักมีความไม่แน่นอนที่ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ จึงเป็นความตั้งใจของเจ้าของ บ้านไม้กลางทุ่งนา หลังนี้ ที่อยากปลูกฝังให้ลูกได้ซึมซับตั้งแต่ยังเด็ก “อยากสร้างประสบการณ์ในการอยู่กับธรรมชาติให้ลูกทั้ง 2 คน ได้ทำ กิจกรรมและเติบโตกับธรรมชาติ เด็กๆ ก็จะพาเพื่อนมาตกปลา ทำสวนครัว ได้สัมผัสกับธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะเฝ้ารอเวลาปรับตัวและเข้าอกเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัว ในขณะเดียวกันแม่ก็ได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ ได้ด้วย ซึ่งนอกจากบ้านจะอยู่สบายแล้ว ยังประทับใจในบรรยากาศทุ่งนาที่ในหน้านาก็จะเห็นเป็นทุ่งสีเขียวขจี เห็นการเติบโตและเปลี่ยนแปลง พอหน้าหนาวก็จะกลายเป็นทุ่งสีทองอร่าม เป็นทัศนียภาพที่เกิดจากวิถีชีวิตซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูกาล”

เจ้าของ : คุณรวิษฎาวิมล หฤทรังสรรค์

ออกแบบสถาปัตยกรรม : ช่างเฮ็ดแบบ โดยคุณสุริยา เขาทอง


เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส

สไตล์ : Suntreeya   

25 บ้านสวนทุ่งนา ของคนรักท้องทุ่ง

70 แบบบ้านไม้ยอดนิยมตลอดกาลของบ้านและสวน