การออกแบบสระว่ายน้ำ และพื้นที่โดยรอบให้เหมาะกับการใช้งาน

สระว่ายน้ำนอกจากจะใช้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพหรือคลายร้อนให้สมาชิกในบ้านแล้ว ก็ยังใช้เป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งภายนอกอาคารที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศให้บ้านและสวนดูสวยงามโดดเด่นมีสไตล์มากยิ่งขึ้น

บ้านและสวน จึงมีไอเดียใน การออกแบบสระว่ายน้ำ และพื้นที่โดยรอบ ให้สวยงามและเหมาะกับการใช้งาน ผ่านขั้นตอนการเลือกองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

1.เลือกตำแหน่งและทิศทางให้ใช้งานได้ทุกเวลาและไม่กระทบโครงสร้างเดิม

สำหรับบ้านที่ต้องการสร้างสระว่ายน้ำใหม่นั้นควรคำนึงถึงตำแหน่งพื้นที่ว่างและขนาดของสระให้เหมาะสม โดยเฉพาะบ้านที่มีพื้นที่แคบ ควรเว้นระยะออกจากตัวบ้านประมาณ 1 เมตร เพื่อให้สามารถวางเสาเข็มโครงสร้างของสระได้สะดวก โดยไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบกับฐานรากเดิมของอาคาร หรืออาจเลือกใช้เป็นสระสำเร็จรูปแทนสระแบบฝังดินแทน แต่สำหรับบ้านสร้างใหม่สามารถเลือกทำสระว่ายน้ำให้มีขนาดและอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการได้เลย โดยควรปรึกษาสถาปนิกตั้งแต่ช่วงแรกของการออกแบบบ้าน เพื่อจะได้เตรียมโครงสร้างรองรับ และวางแผนเลือกรูปแบบสระให้มีความกลมกลืนเป็นส่วนเดียวกับสไตล์ของบ้านด้วย

โดยอาจเลือกเป็นพื้นที่มุมหน้าบ้าน หลังบ้าน ด้านข้าง หรือสามารถมองเห็นได้จากห้องภายในบ้านที่ใช้งานเป็นประจำ เช่น ห้องนั่งเล่น หรือห้องทำงาน แต่ทั้งนี้ควรออกแบบให้อยู่ในด้านทิศเหนือหรือตะวันออกของตัวบ้าน เพื่อให้ร่มเงาของตัวอาคารช่วยป้องกันไม่ให้แสงแดดสะท้อนผิวน้ำเข้าไปรบกวนภายในบ้าน และช่วยให้เล่นน้ำได้ทั้งวันโดยไม่ร้อนแดดเกินไป หรืออาจเลือกปลูกต้นไม้ใหญ่ ทำระแนงหลังคาที่บังแดดบางส่วน เพื่อให้ร่มเงาเพิ่มเติม

การออกแบบสระว่ายน้ำ
สระว่ายน้ำรูปทรงเรขาคณิตให้ความรู้สึกเรียบง่าย เหมาะสำหรับบ้านสไตล์มินิมัล หรือสไตล์โมเดิร์น รวมถึงบ้านที่มีพื้นที่จำกัด
บ้านคุณทศพร – คุณสมร วงศ์วีรธร

2.รูปทรงของสระว่ายน้ำช่วยเสริมสไตล์ของบ้าน

  • บ้านที่มีพื้นที่ไม่มาก อาจเลือกเป็นสระว่ายน้ำรูปทรงเรขาคณิต อย่างทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีรูปทรงแคบยาว แต่ไม่ควรแคบเกินไปจนเสี่ยงต่อการฟาดขอบสระเวลาว่ายน้ำ ซึ่งอาจฝังลงไปในพื้นดินหรือจะก่อสระขึ้นมาให้ลอยตัวอยู่เหนือพื้นก็ได้ นอกจากนี้ ยังอาจติดตั้งระบบเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน เช่น ทำให้เป็นสระจากุซซี่ เน้นการแช่น้ำเพื่อผ่อนคลาย หรืออาจเลือกทำเป็นสระขนาดเล็ก แล้วติดเครื่องเจ็ตสำหรับว่ายทวนน้ำอยู่กับที่แทนได้เช่นกัน
  • บ้านที่มีพื้นที่รอบบ้านขนาดใหญ่ สามารถออกแบบทั้งขนาดและรูปทรงของสระว่ายน้ำได้อย่างเต็มที่ เช่น สระว่ายน้ำรูปทรงฟรีฟอร์ม สระว่ายน้ำขอบโค้งแบบผสมสานรูปทรงเรขาคณิตและรูปทรงอิสระ ก็ช่วยทำให้สระดูสวยงาม ไม่เกิดความซ้ำซากจำเจ และยังเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งบ้านไปในตัว แต่ก็ไม่ควรออกแบบให้รูปทรงสระมีซอกมุมมากหรือพิสดารจนเกินไป เพราะอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการปูกระเบื้องพื้นและผนัง การใช้งาน และการทำความสะอาดตามมาได้
การออกแบบสระว่ายน้ำ
พื้นไม้ให้ความรู้สึกอบอุ่น สบายตาเป็นธรรมชาติ โดยพื้นไม้ที่นำมาใช้ควรผ่านกระบวนการอบแห้งเพื่อไล่ความชื้น อัดน้ำยาเพื่อป้องกันปลวกและแมลง ก่อนนำไปทาสีและเคลือบผิวหน้าเพื่อความสวย งามคงทน
บ้านคุณสายใจ อภิรัตน์วรากุล

3. เลือกขนาดและความลึกของสระว่ายน้ำให้เหมาะกับการใช้งาน

แม้ว่ารูปทรงของสระว่ายน้ำจะออกแบบมาให้สวยงามถูกใจและเหมาะกับพื้นที่ว่าง แต่ก็ควรคำนึงถึงขนาดมาตรฐาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวกด้วยเช่นกัน โดยสระว่ายน้ำไม่จำเป็นจะต้องมีขนาดใหญ่มาก แต่ก็ไม่ควรจะมีขนาดเล็กมากจนเกินไป ควรให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับปริมาณผู้ใช้งานหรือสมาชิกในบ้าน

  • สระว่ายน้ำสำหรับเด็ก ขนาดประมาณ 3 x 5 เมตร ความลึกประมาณ 70 – 90 เซนติเมตร
  • สระว่ายน้ำสำหรับผู้ใหญ่ มีหลายขนาด เช่น 4 x 8 เมตร  5 x 10 เมตร  6 x 12 เมตร และ 7 x 14 เมตร  ความลึกประมาณ 1.20 – 1.50 เมตร ซึ่งระดับของผิวน้ำจะสูงระดับเดียวกับหน้าอกของผู้ใช้
  • สระว่ายน้ำที่ติดตั้งสปริงบอร์ด ขนาดไม่น้อยกว่า 6 x 12 เมตร ความลึกประมาณ 2.50 เมตร ขึ้นไป
ระดับความลึกของสระว่ายน้ำ
สำหรับบ้านไหนที่ต้องการสร้างทั้งสระว่ายน้ำสำหรับเด็กและผู้ใหญ่รวมกันอาจแบ่งระหว่างส่วนของสระลึกกับสระตื้น หรืออาจเทพื้นแบบลาดเอียงเพื่อความปลอดภัย

4. ระบบสระว่ายน้ำและดีไซน์รอบขอบสระ

ระบบสระว่ายน้ำ หรือระบบหมุนเวียนน้ำในสระว่ายน้ำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมี 2 ระบบ คือ ระบบน้ำล้น (Over Flow) และระบบสกิมเมอร์ (Skimmer) โดยทั้ง 2 ระบบนี้มีการทำงานต่างกันตรงที่ระบบ Over Flow จะนำน้ำไปบำบัด โดยการให้น้ำในสระล้นออกมายังรางน้ำล้นด้านข้าง แล้วนำน้ำที่ล้นออกมาไปพักไว้ที่ถังพักน้ำ (Surge Tank) ก่อนจะปั๊มน้ำไปผ่านเครื่องกรองน้ำในห้องเครื่อง ทำให้น้ำปริ่มขอบสระ ดูใสสะอาดสวยงาม แต่ก็จะมองเห็นรางน้ำล้นรอบสระ บางครั้งอาจมีการกดรางน้ำล้นลงให้ต่ำกว่าขอบสระด้านใดด้านหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งด้าน เพื่อให้มองไม่เห็นขอบสระและรางน้ำล้น ซึ่งจะช่วยให้ดูสวยงามไร้ขอบเขตแบบ Infinity 

ขณะที่ระบบ Skimmer เป็นงานระบบสระว่ายน้ำที่เหมาะสำหรับสระว่ายน้ำที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งจะนำน้ำไปบำบัดโดยผ่านช่องด้านข้างของผนังสระ ทำให้ผิวน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นรอบสระประมาณ 15 – 20 ซม. แต่ลักษณะขอบสระที่ได้จะไม่มีช่องว่าง ทำให้สามารถออกแบบเป็นชิ้นเดียวกันกับพื้นที่ใช้งานได้เลย

การออกแบบสระว่ายน้ำ

5. พื้นสระและสีสันของน้ำ สร้างอารมณ์แห่งการพักผ่อน

พื้นและผนังสระว่ายน้ำส่วนใหญ่จะนิยมใช้เป็นแผ่นกระเบื้อง เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาง่าย แข็งแรงทนทาน  และมีให้เลือกหลายแบบ หลากสไตล์ ซึ่งแต่ละแบบก็จะส่งผลให้บรรยากาศของสวนแตกต่างกันได้ โดยขนาดของกระเบื้องปูพื้นแผ่นเล็กและแผ่นใหญ่จะให้อารมณ์ของสระที่แตกต่างกัน เช่น หากใช้กระเบื้องแผ่นใหญ่จะทำให้สระดูกว้าง รู้สึกโปร่งสบาย ไม่ต้องทำความสะอาดบ่อย แต่มักมีราคาแพงและต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการติดตั้งเพราะอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย ส่วนกระเบื้องแผ่นเล็กจะช่วยให้สระดูมีระเบียบ สบายตา ติดตั้งง่าย แต่มีรอยยาแนวมาก ซึ่งจะกลายเป็นจุดสะสมคราบสกปรกได้ง่าย ส่วนสีของกระเบื้อง อย่างสีฟ้า สีเทอร์ควอยซ์ หรือสีเขียวแบบน้ำทะเล ช่วยให้สระว่ายน้ำดูเป็นธรรมชาติ หรือกระเบื้องสีเข้ม อย่างสีดำ หรือสีน้ำเงินเข้ม จะทำให้รู้สึกว่าสระว่ายน้ำดูลึกและมีมิติมากกว่า อีกทั้งยังทำให้ผิวน้ำในสระสะท้อนเงาของสถาปัตยกรรมอาคารได้ชัดเจนด้วย

สระว่ายน้ำโทนสีน้ำเงินเข้มสะท้อนเงาของศาลาสไตล์นีโอคลาสสิกด้านข้างได้อย่างชัดเจน
บ้านคุณอารยา อัลเบอร์ต้า ฮาร์เก็ต

6. พื้นที่ใช้งานรอบสระ

การตกแต่งรอบสระว่ายน้ำช่วยเสริมความโดดเด่นให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเพิ่มพื้นที่ใช้งานให้บริเวณโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ ใช้เป็นพื้นที่นอนอาบแดด อ่านหนังสือ เล่นโยคะ หรือไว้แฮงค์เอาต์กับเพื่อนๆ และครอบครัว ซึ่งวัสดุปูพื้นรอบสระว่ายน้ำสามารถเลือกใช้ได้หลายแบบ ทั้งไม้ระแนง กระเบื้อง และพื้นหินชนิดต่างๆ แต่เนื่องจากพื้นรอบสระว่ายน้ำต้องสัมผัสกับความร้อนจากแสงแดดและความชื้นจากน้ำอยู่ตลอดเวลา ผิวสัมผัสควรมีความหยาบที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และต้องคำนึงถึงการดูแลรักษาในระยะยาวด้วย

จัดวางแผ่นทางเดินเป็นแพตเทิร์นแปลกตาลายตารางหมากรุก ด้วยการปูแผ่นคอนกรีตสลับกับหนวดปลาดุกแคระ เพิ่มกลิ่นอายความเป็นวินเทจ และปลูกไทรอินโดเป็นแนวยาวบังสายตาให้เกิดพื้นที่ส่วนตัว พร้อมเลือกใช้ระแนงหรือโครงเหล็กดัดที่เว้นตรงกลางไว้สำหรับกระถางเอิร์น แซมด้วยไม้ดอกช่วยเพิ่มสีสัน เป็นจุดพักสายตา
บ้านคุณวิไล อรุณรัติยากร

7. พรรณไม้และองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มบรรยากาศและความสวยงาม

การออกแบบสระว่ายน้ำ ให้สวยงามน่าใช้มากยิ่งขึ้น สามารถตกแต่งเพิ่มเติมได้หลากหลายวิธี อย่าง การจัดวางประติมากรรม น้ำพุ น้ำล้น กระถางดอกไม้ รวมถึงศาลา โดยอาจออกแบบให้ของตกแต่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสระว่ายน้ำได้เลยเช่นกัน เช่น ทำน้ำตกที่ด้านหนึ่งของผนังสระ หรือออกแบบให้ศาลายื่นเข้ามาในสระ และอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในสวนที่ขาดไม่ได้คือ ต้นไม้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้บรรยากาศน่าใช้งานแล้ว ยังช่วยสร้างจุดจบสายตาช่วยบังแนวกำแพงที่ไม่สวยงาม หรือสร้างเพื่อเป็นฉากกั้นสร้างความเป็นส่วนตัวของพื้นที่ โดยต้นไม้ที่เลือกมาปลูกนั้นควรจะใช้ต้นไม้ใบใหญ่ ให้ร่มเงา ชนิดไม่ผลัดใบหรือออกผล อย่าง ไผ่ หูกระจง ทองหลางด่าง เพราะอาจทำให้พื้นรอบๆ และน้ำในสระสกปรกได้ง่าย อีกทั้งควรจะเป็นต้นไม้ที่มีระบบรากไม่ชอนไชและแผ่วงกว้าง เพื่อไม่ให้รากไปทำลายโครงสร้างสระว่ายน้ำเสียหาย เช่น ตระกูลปาล์ม ตีนเป็ดน้ำ ตีนเป็ดฝรั่ง จั๋ง หมาก พิกุล เสม็ดแดง  

การออกแบบสระว่ายน้ำ
สระว่ายน้ำโทนสีฟ้าสว่างเข้ากันได้ดีกับสวนสไตล์มินิมัลโดยรอบ
บ้านคุณผกามาศ ผุยโพนทัน

นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนมกราคม 2567
เรื่อง: สริดา
ภาพ: คลังภาพบ้านและสวน
ภาพประกอบ: เอกรินทร์ พันธุนิล