เปลี่ยน ผักตบชวา และตอซังข้าวให้เป็น คราฟต์โซดา เครื่องดื่มสุดซ่าเจ้าเดียวกับ “NAMSAI”

หลังจากที่ “NAMSAI” เครื่องดื่มจาก ผักตบชวา ที่กระตุกต่อมความอยากรู้ให้เพิ่มขึ้นว่าผักตบชวา วัชพืชคุ้นหน้าพวกนี้ทำเป็นเครื่องดื่มได้จริงหรือไม่?

ที่หลายคนคุ้นเคย ผักตบชวา พืชต่างถิ่น (Alien Species) ที่ถูกนำเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นวัชพืชที่แพร่กระจายรวดเร็ว เพราะทนแล้งได้ดี โตและขยายพันธุ์ได้เร็ว สร้างปัญหามาทุกยุคทุกสมัย รวมไปถึง ตอซังข้าวขยะจากการเกษตรที่ไร้ค่า ที่บางครั้งชาวนากำจัดทิ้งด้วยการเผา สร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้สิ่งแวดล้อมตามมา แต่วันนี้ผักตบชวาเจ้าปัญหาได้กลายเป็นเครื่องดื่มสุดซ่าที่มีวี่แววว่าจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

ผักตบชวา
คุณครูขวัญ – จิดาภา สินปรีดี
ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผักตบชวาและตอซังข้าว ผู้พาชมสถานที่เล่าที่มาของศูนย์แห่งนี้ให้เราฟัง

กศน.ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือต้นกำเนิดของ “NAMSAI” เครื่องดื่มคราฟต์เบียร์จากผักตบชวาที่กล่าวถึงในเบื้องต้นและคราฟต์โซดาที่กำลังจะพาไปรู้จักกันในครั้งนี้ ทั้งหมดเริ่มต้นโดย ครูเต้ย – ดาธิณี ตามเพิ่ม ครูกศน. ผู้เป็นคนต้นคิดนวัตกรรมกำจัดสิ่งที่สร้างปัญหาให้ชุมชนอย่างผักตบชวาและตอซังข้าวให้หมดไปแบบ Zero Waste และยังนำมาเพิ่มมูลค่า เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน ด้วยแนวคิด “ถ้าทำแบบธรรมดาๆ เหมือนคนอื่นทั่วไป มันก็ไม่ดังและไปต่อไม่ได้”

จากไอเดียอยากช่วยลดปัญหา รักษาสิ่งแวดล้อม ต่อยอดสู่การสร้างศูนย์ฝึกมีชีวิต รวมถึงรังสรรค์ให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆ ที่มีประโยชน์ โดยหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ “NAMSAI” เครื่องดื่มคราฟต์ชื่อดังที่เป็นจุดสนใจในกลุ่มของนักดื่ม ก็มาจากชุมชนแห่งนี้เช่นกัน ซึ่งที่นี่มีการแปรรูปและการจัดการกันอย่างไรนั้น ตามไปดูกัน

ผักตบชวา

ผักตบชวา แปรรูป เป็นเครื่องดื่มได้อย่างไร?

ครูขวัญผู้ทำหน้าที่ดูแลในส่วนของการแปรรูปผักตบชวาและตอซังข้าวเป็นเครื่องดื่ม เล่าถึงขั้นตอนและวิธีการทำคราฟต์โซดาจากผักตบชวาให้ฟังว่า

“คราฟต์โซดาผักตบชวาถูกพัฒนาต่อยอดมาจากคราฟต์โซดาตอซังข้าวค่ะ ผักตบชวามีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แต่มีน้ำตาลน้อยกว่าตอซังข้าว ที่สำคัญคือเมื่อคั่วด้วยความร้อนก็จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เช่นกัน สำคัญที่สุดคือผักตบชวาที่จะนำมาใช้ต้องเก็บมาจากแหล่งน้ำที่น้ำไหลผ่าน น้ำไม่นิ่ง ซึ่งจะสะอาดและปลอดภัย บริเวณนั้นต้องไม่มีโรงงาน ไม่มีการปล่อยน้ำเสีย เราให้กรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมภาค 6 นนทบุรี มาตรวจค่าน้ำในแหล่งที่เราเก็บผักตบชวาให้ค่ะ นอกจากตรวจค่าน้ำแล้วเรายังต้องนำต้นผักตบชวาจากแหล่งทีเก็บนั้นไปตรวจอีกครั้งเพื่อความมั่นใจว่าปลอดภัยแน่นอนค่ะ”

ผักตบชวา

“ผักตบชวาสามารถใช้ได้เกือบทุกส่วน ยกเว้นบริเวณส่วนโคนที่ติดรากและรากค่ะ หั่นแล้วคั่วในกระทะจนเริ่มมีกลิ่นหอมอ่อนๆ แล้วนำไปต้มในน้ำที่อุณหภูมิ 70°C ประมาณ 1 ชั่วโมง กรองน้ำแล้วจะได้เป็นน้ำเวิร์ธ (Wert) ที่จะใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำเครื่องดื่มต่างๆ แล้วนำไปต้มต่อที่อุณหภูมิ 100°C อีก 1 ชั่วโมงเพื่อฆ่าเชื้อ”

ผักตบชวา

ช่วงแรกที่ต้มน้ำที่อุณหภูมิ 70°C เนื่องจากเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมในการดึงน้ำตาลออกมาให้ได้ในปริมาณมากที่สุด ถ้าใช้อุณหภูมิที่สูงกว่านี้ สี กลิ่น และรสชาติจะเปลี่ยนไป และระหว่างต้มต้องคอยกดให้จมน้ำอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากผักตบชวาจะมีลักษณะเป็นฟองน้ำด้านในจึงมักจะลอยขึ้นด้านบน

ผักตบชวา

หลังจากที่ต้มฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิ 100°C เพื่อฆ่าเชื้อแล้ว สามารถเติมไซรัปรสชาติต่างๆ ที่ทำขึ้นมาเองจากวัตถุดิบธรรมชาติ จากของพืชผักพื้นบ้านที่หาได้ในชุมชน เช่น หม่อนหรือมัลเบอร์รี่ มะม่วงหาวมะนาวโห่ ฝักคูน เพื่อปรุงแต่งสี กลิ่น และรสชาติตามต้องการ ผักตบชวา 50 กิโลกรัม สามารถทำเป็นคราฟต์โซดาได้ 20 ลิตร

“ตอนนี้คราฟต์โซดายังอยู่ในขั้นศึกษาทดลอง จึงยังไม่มีวางขายทั่วไป หากอยากชิมต้องมาที่นี่เท่านั้นค่ะ”

ในอนาคตอาจมีการพัฒนาต่อยอดเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น สบู่เหลว น้ำยาล้างจานด้วย รวมถึงฟางข้าวก็สามารถนำมาทำกระถาง ทำกระดาษได้ดีพอๆ กับเศษจากการต้มของผักตบชวาและตอซังข้าว อาจพัฒนาไปเป็นส่วนประกอบในไม้อัด ซึ่งต้องทำในระบบอุตสาหกรรมและมีผู้สนับสนุน รวมทั้งต้องศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป

ผักตบชวา
ภาพ : กศน.ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ต้มเพื่อทำสีย้อม เกิดกลิ่นหอม สู่การพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องดื่มชื่อดัง

“ปีที่ผ่านมาเรามีปัญหาการเผาตอซังข้าว ซึ่งส่งผลให้ค่า PM2.5 ในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เรามีโรงทอผ้าและทำสีย้อมจากธรรมชาติอยู่ก่อนแล้วค่ะ เลยลองนำตอซังข้าวมาต้มทำสีย้อมผ้า ก็ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ และสังเกตได้อีกว่าหลังจากที่ตัด ตอนเกี่ยวข้าวใหม่ๆ บริเวณนั้นจะมีกลิ่นหอมมากเช่นกัน เลยลองทำเป็นน้ำชาค่ะ น้ำชามีรสหวาน เลยคิดว่าน่าจะพัฒนาเป็นเครื่องดื่มชนิดอื่นต่อไปได้ค่ะ” ครูขวัญเล่าถึงที่มาของคราฟต์โซดาให้เราฟัง

“ตอซังข้าวที่จะนำมาใช้ทำเครื่องดื่มต้องตัดมาสดใหม่นะคะ ยิ่งพอมาโดนความร้อนก็จะมีกลิ่นหอมมาก เราสามารถนำตอซังจากข้าวทุกพันธุ์มาใช้ได้ ที่สำคัญคือต้องเป็นข้าวอินทรีย์ที่ปลูกในแปลงแบบออร์แกนิก ซึ่งข้าวแต่ละพันธุ์ก็จะให้ผลที่ต่างกันในเรื่องของกลิ่นและรสชาติ เราใช้ข้าวหอมจากแปลงนาออร์แกนิกของชาวบ้านในพื้นที่ปลอดสารเคมี ผ่านการตรวจค่าสารตกค้างจากกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมแล้วค่ะ”

ผักตบชวา
“NAMSAI” เครื่องดื่มคราฟต์ชื่อดังที่เป็นจุดสนใจในกลุ่มของนักดื่ม
ผักตบชวา
ภาพ : กศน.ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นอกจากคราฟต์โซดาแล้ว ทางศูนย์ยังมีการพัฒนาต่อยอดไปทำ ไข่เค็มพอกตอซังข้าว ไข่อำพันที่ใช้ไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่นกกระทาผ่านกระบวนการถนอมอาหาร โดยการนำความเป็นด่างจากตอซังข้าวมาพอกขึ้นรูป หมักบ่มนาน 4-15 วัน จะได้ไข่ขาวสีเหลืองทองเหมือนอำพัน

ผักตบชวา
เส้นใยจากผักตบชวา สามารถนำมาทำเป็นเครื่องนุ่มห่มได้

ผักตบชวา ประโยชน์ ใช้ต้นทำใย ใบทำจาน ต้นอ่อนทำอาหาร และรากทำปุ๋ย

ในปีพ.ศ. 2559 ประเทศไทยประสบปัญหาผักตบชวาแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง ส่งผลต่อการระบายน้ำ เกิดการรณรงค์ให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำริมคลองมีส่วนร่วมในการขุดลอกและใช้ประโยชน์จากผักตบชวา

“ศูนย์เราได้รับมอบหมายจากดร.สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้คิดหาทางนำผักตบชวาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในแม่น้ำน้อยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง ครูเต้ยคิดนำไปใช้ในมุมต่างๆ ใช้ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าและการนำผักตบชวาใช้ประโยชน์อย่างครบวงจรและยั่งยืน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชน มีการบริหารจัดการแบบ Zero Waste และสร้างเป็นโมเดลผักตบชวาขึ้นมา

“เราทำผักตบชวามาตั้งแต่เริ่มเปิดศูนย์ที่นี่ค่ะ โดยเริ่มจากการทำเส้นใยส่งให้โรงงานผ้า ต้นที่นำมาใช้ทำเส้นใยต้องมีขนาดความยาวก้าน 90 เซนติเมตรขึ้นไป ทอเป็นผืนผ้าใยทอผักตบชวานำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า และเครื่องใช้ต่างๆ

เสื้อที่ผลิตจากเส้นใยผักตบชวา

ใบที่สมบูรณ์และไม่มีรูพรุน เลือกที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตรนำมาขึ้นรูปเป็นจานที่ย่อยสลายได้ ใช้ทดแทนจานพลาสติก

ต้นที่ไม่ได้ขนาดและเหลือเศษ จะนำไปทำบับเบิ้ล (กันกระแทก) ซึ่งทำส่งออกไปที่ญี่ปุ่น ทำทรายแมว และเครื่องจักรสาน

ต้นอ่อน ยอดอ่อน และช่อดอกซึ่งจะมีรสชาติหวาน เรานำไปทำเป็นน้ำพริกชวาเสวย ปั้นขลิบผักตบชวา ส้มตำชวา และแปรรูปนำไปเป็นส่วนผสมในบะหมี่หยกชวา

เศษที่เหลือไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ราก เราจะนำไปทำปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยหมักชีวภาพ

“ศูนย์ฝึกมีชีวิต” ประกอบไปด้วยวิสาหกิจชุมชน 3 กลุ่ม

  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านหนองเครือบุญ
  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผักตบชวา
  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปตอซังข้าว

คุณครูขวัญ เล่าว่า “ศูนย์ของเราเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการ สามารถรวมกลุ่มกันติดต่อเข้ามาขอฝึกอบรมเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจได้ เราต้อนรับได้มากถึง 300 คน พร้อมทั้งให้บริการอาหาร โดยคนในชุมชนมาช่วยกัน นำวัตถุดิบที่เรามีมาใช้ มีเมนูแกงคั่วเห็ด ยำไข่เค็มใบเตย ก๋วยเตี๋ยวเรือที่เป็นอาหารขึ้นชื่อของอยุธยาที่ใช้บะหมี่หยกชวาที่เราทำกันเอง ส่วนชาวบ้านที่เคยมาอบรม ฝึกฝนฝีมือจนเชี่ยวชาญก็จะมาช่วยเป็นวิทยากรด้วยค่ะ”

ฐานเรียนรู้แบ่งออกเป็น 4 ฐาน โดยในแต่ละฐานใช้เวลาเรียนรู้ประมาณ 30 นาที

  • โรงทอ เราเริ่มทำผ้าทอมือมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว มีผ้าขาวม้าลายน้ำไหลที่เรียกว่า “ผ้าขาวม้าชวาหวาน” เป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์ของที่นี่ เดิมเราใช้แต่เส้นใยฝ้าย ต่อมาพัฒนาโดยผสมเส้นใยตอซังข้าวและเส้นใยผักตบชวาเข้าไป ซึ่งมีคุณสมบัติซึมซับเหงื่อได้ดี สัมผัสหนานุ่ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีเสน่ห์ที่มีเท็กซ์เจอร์มีลายอยู่ในเนื้อผ้า เราทำทั้งที่เป็นสีธรรมชาติ และผ้าที่ย้อมสีจากวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ เปลือกไม้ ที่เราคิดและทำขึ้นเอง
  • โรงเห็ด เราทำส่งที่ตลาดไทเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่า 20,000 ก้อน จำหน่ายทั้งแบบที่เป็นก้อนเห็ดและเก็บเฉพาะดอกเห็ดจำหน่าย
  • โรงผักตบชวา อาคารที่แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการปัญหาผักตบชวา แยกองค์ประกอบต่างๆ ของผักตบชวาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
  • ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นในเรื่องของการคัดแยกขยะและของเหลือใช้ที่ไร้ค่านำไปผลิตเป็นปุ๋ย ทั้งปุ๋ยแห้ง และปุ๋ยหมักชีวภาพ นอกจากนี้ยังมีแปลงปลูกผักเพื่อนำปุ๋ยที่ผลิตได้มาใช้ เป็นแปลงสาธิตปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี

นอกจากจะกำจัดขยะและนำมาสร้างมูลค่าแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่ฝึกสอนวิชาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่จนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน ช่วยสร้างรายได้ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาดูงานและเป็นที่ฝึกอาชีพระดับประเทศ จนตั้งชื่อว่าเป็น “ศูนย์ฝึกมีชีวิต” การันตีด้วยรางวัล “กศน. ตำบลต้นแบบ ๕ ดี พรีเมี่ยม พลัส” ระดับประเทศ ประจำปีพ.ศ. 2565

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจ อยากขอข้อมูล รวมกลุ่มกันไปศึกษาหาความรู้ สั่งซื้อสั่งทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผักตบชวาและตอซังข้าว รวมถึงติดตามอัพเดทข้อมูลที่น่าสนใจได้ที่

  • โทร. 0-3520-0411 / 09-5861-8524 (คุณขวัญ)
  • Line id : 0816483005

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ทำแปลงฮูกูลฯ ปลูกพืชผัก ทำถูกหลักอยู่นานนับ 10 ปี

สวนครัวหน้าบ้าน ที่ปลูกอาหารกายให้เป็นอาหารใจ