ต้นพะยอม ไม้มงคลทรงพุ่มสวย กลิ่นหอม มีสรรพคุณทางสมุนไพร

ต้นพะยอม เป็นไม้ยืนต้นประเภทพืชใบเลี้ยงคู่ชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Shorea roxburghii G.Don พบได้ในกัมพูชา, อินเดีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ไทย และเวียดนาม มีลักษณะใบที่เรียงสลับกัน ดอกมีสีขาว กลิ่นหอม นิยมนำเนื้อไม้ไปใช้ในการก่อสร้าง ลักษณะคล้ายกับต้นตะเคียน

ลักษณะโดยทั่วไป ต้นพะยอม คือไม้ต้นผลัดใบ ที่มีทรงพุ่มสวย รูปไข่หรือกรวยคว่ำ หากอยู่ในที่โล่งแจ้งและไม่มีพรรณไม้ใหญ่อยู่ใกล้เคียง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตัดแต่งกิ่งออกเลยตลอดอายุการปลูก มีความสูงประมาณ 15 – 30 เมตร ลำต้นเปลือกสีเทาเข้มแตกเป็นร่องตามยาว

ส่วนใบของต้นพะยอม เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3 – 7.5 เซนติเมตร ยาว 8 – 15 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือเป็นติ่งสั้น โคนใบมน ใต้ใบมีขนนุ่ม เห็นเส้นใบชัดเจน

ต้นพะยอม

ขณะที่ดอกของต้นพะยอมจะเป็นช่อแยกแขนงออกที่ปลายกิ่ง โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 5 กลีบ เรียงเวียนแบบกังหัน กลีบดอกเชื่อมติดกันและร่วงง่าย กลีบเลี้ยงขยายขนาดเป็นปีกและติดทนนานจนเป็นผล ดอกมีสีขาว และ ดอกสีเหลืองอ่อน บานพร้อมกันหรือทยอยบานทั้งช่อ ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ช่วงเย็น ออกดอกเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ ซึ่งดอกพะยอม เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ จากการที่ได้รับการชื่นชมว่าคือ ไม้ต้นที่ชวนให้สบายตาและน่าชมเวลาเดินผ่าน

สำหรับผล จะมีรูปกระสวย มีปีกยาว 3 ปีก สั้น 2 ปีก ห่อหุ้มผลไว้ภายใน กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเจริญไปเป็นปลีกยาว 3 ปีกสั้น 2 ปีกคล้ายผลยาง

พะยอม มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ได้แก่ กะยอม (เชียงใหม่) ชะยอม (ลาว) กะยอม (อีสาน) ขะยอมดง พะยอมดง (ภาคเหนือ) แคน (ร้อยเอ็ด) เชียง เชี่ยว (กะเหรี่ยง – เชียงใหม่) พะยอม (ภาคกลาง) พะยอมทอง (สุราษฎร์ธานี, ปราจีนบุรี) ยางหยวก (น่าน)

การเพาะพันธุ์ต้นพะยอม

ต้นพะยอมถือว่ามีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้า ชอบดินร่วนปนทรายหรือดินที่ระบายน้ำดี ชอบแสงแดดเต็มวัน ชอบอากาศเย็น การรดนํ้าควรมีปริมาณปานกลาง โดยการขยายพันธุ์เพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง แต่ออกรากยากมาก ควรปลูกลงแปลงกลางแจ้งให้ห่างจากต้นไม้อื่น 6 – 8 เมตร หากปลูกในดินเหนียวแฉะ จะออกดอกน้อยมาก

นอกจากนี้ยังใช้เวลาหลายปีกว่าจะออกดอก พันธุ์ไม้ที่ออกดอกจากยอดอ่อนที่แตกใหม่ การทำให้แตกใบใหม่จะทำให้ออกดอกได้ เมื่อเห็นต้นพะยอมใบร่วงเกือบทั้งต้นในช่วงประมาณเดือน ธ.ค. ไม่ต้องตกใจ และไม่ควรให้น้ำและปุ๋ยในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้ใบไม่ร่วงทั้งหมดและไม่แตกใบอ่อนพร้อมๆ กันทั้งต้น

ดังนั้น หลังจากที่ใบแก่ร่วงหมดต้นแล้วและเห็นใบที่เริ่มแตกใหม่ ควรให้น้ำและปุ๋ยทันที จะช่วยให้มีใบแตกใหม่จำนวนมาก และออกดอกครั้งละมากๆ ในส่วนของ เนื้อไม้ของต้นพะยอม สีเหลืองอ่อนถึงน้ำตาล สามารถนำไปใช้ก่อสร้างทั่วไป เช่น เสา รอด ตง พื้น ฝา และไม้หมอนรถไฟ เป็นต้น

สรรพคุณทางสมุนไพร

ดอกของต้นพะยอมมีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย โดยใช้ทำอาหาร เช่น ยำหรือแกงส้ม หรือใช้เป็นสมุนไพร และสามารถทำยาหอมแก้อาการ เป็นลม บำรุงหัวใจ ลดไข้ ได้ , ดอกอ่อน นำมารับประทานสด หรือนำมาลวกเป็นผักร่วมกับน้ำพริก

ด้าน เปลือกต้นพะยอม ช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน ใช้กินแทนหมาก ช่วยแก้ลำไส้อักเสบได้ รวมถึงยังมีสีสาร Tannin มาก สามารถใช้เป็นยาฝาดสมานแผลในลำไส้ได้ และยังช่วยสมานบาดแผล ชำระบาดแผล ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาฝนแล้วทาบริเวณบาดแผล

อย่างไรก็ตาม คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านไหนปลูกต้นพะยอมไว้ประจำบ้าน จะทำให้มีอุปนิสัยที่อ่อนน้อม เนื่องจากพะยอม คือ การยินยอม ตกลง ผ่อนผัน ประณีประนอม นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่าจะไม่ขัดสน เพราะบุคคลทั่วไปให้ความเห็นใจและยอมให้ในสิ่งที่ดีงาม และยังเชื่ออีกว่าถ้าปลูกต้นพะยอมทองก็จะทำให้ไม่ขันสนเงินทอง จึงถือเป็นอีกหนึ่งไม้มงคลของไทยด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

สายมูพลาดไม่ได้กับ “ 50 ต้นไม้มงคล ” ตามความเชื่อของไทย

กวักมรกต ต้นไม้ในบ้านที่มีอันตรายกว่าที่คิด

แก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคลมีกลิ่นหอมให้ร่มเงา ที่ปลูกได้ทั้งในและนอกตัวบ้าน

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com