สร้างพื้นที่ผ่อนคลายในบ้านด้วยการจัดมุมทำงานอดิเรก 5 ประเภท

               ในแต่ละวันคนเราต้องเจอเรื่องเครียดมากมายทั้งจากงาน ข่าวสารจากโลกโซเชียล เรื่องกดดันจากปัญหาต่างๆ ในชีวิต หากปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิดความเครียดสะสม จนอาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นโรคร่วมสมัยของคนยุคนี้เลยก็ว่าได้ ด้วยภาระหน้าที่ทำให้เราต้องสิ่งเหล่านี้ทุกวัน จนอาจลืมไปว่าการได้หยุดพักชั่วคราว วางมือลง พักจากโลกโซเชียลบ้างในบางเวลา และกลับมาทำ “งานอดิเรก” ที่เราชอบ ก็อาจเจอกับความสุขให้ชุ่มชื่นหัวใจได้ ซึ่งการทำกิจกรรมที่เราชอบในเวลาว่างจะช่วยผ่อนคลายความเครียด ความเหนื่อยล้า โดยมีงานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychotherapy and Psychosomatics ที่พบว่า งานอดิเรก ส่งผลดีกับสุขภาพจิตในวัยผู้ใหญ่ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องภาวะซึมเศร้า เมื่อพวกเขาได้ทำ งานอดิเรก จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย มีชีวิตชีวามากขึ้น และมีแรงบันดาลในชีวิตมากขึ้น

               การมีมุมในบ้านที่เหมาะสมหรับทำงานอดิเรกที่เราชอบจะทำให้บ้านน่าอยู่อาศัยมากขึ้น ทำให้เราอยากกลับมาทำกิจกรรมที่บ้านมากขึ้น วันนี้จะขอแนะนำไอเดียการจัดมุมห้องภายในบ้านที่ตรงกับงานอดิเรกที่คัดมาแล้วว่าตรงใจใครหลายๆ คน

มุมห้องเล่นดนตรี

               หากพูดถึง งานอดิเรก อันดับต้นๆ ที่ผู้คนจะนึกถึง คือ การเล่นดนตรี เป็นกิจกรรมที่สนุกและเพลิดเพลินที่ช่วยให้ได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ผ่อนคลาย และพัฒนาทักษะทางดนตรีได้ องค์ประกอบของการเล่นดนตรีประกอบไปด้วย การฝึกซ้อม การแสดงดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสดให้ผู้ฟัง และแสดงเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ การสร้างเพลง ซึ่งการฝึกซ้อมเป็นองค์ประกอบสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาทักษะ สำหรับคนรักการเล่นดนตรี การมีห้องซ้อมดนตรีภายในบ้านของตัวเองเป็นหนึ่งในความฝันของใครหลายๆ คน หากจะสร้างพื้นที่เล่นดนตรีในบ้านจำเป็นต้องออกแบบพื้นที่ไว้รองรับการฝึกซ้อมเพราะมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เชน ความดังของเสียง อุณหภูมิ และขนาดพื้นที่ที่เหมาะสม เรามีข้อควรรู้สำหรับผู้ที่สนใจอยากทำห้องดนตรีในบ้านของตัวเองมาแนะนำให้ทราบกัน

 รูปแบบการจัดพื้นที่ และขนาดพื้นที่ใช้งาน

การจัดพื้นที่เล่นดนตรีในบ้านสามารถจัดได้หลายรูปแบบ โดยรูปแบบดังต่อไปนี้จะเป็นไอเดียจัดพื้นที่เล่นดนตรีให้เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละท่าน

               การจัดห้องเล่นดนตรีภายในบ้าน หากมีพื้นที่ว่าง หรือห้องที่ต้องการจัดเป็นห้องซ้อมดนตรีโดยเฉพาะ สามารถเริ่มต้นโดยเลือกห้องที่มีขนาดเหมาะสม เพิ่มอุปกรณ์ดนตรีและอุปกรณ์เสริม เช่น โซฟาหรือเก้าอี้เพื่อส่งเสริมความสบายและการเล่นดนตรี บุผนังซับเสียง ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และยังต่อยอดเป็นห้องสำหรับบันทึกเสียงได้อีกด้วย

               การสร้างห้องเล่นดนตรีแยกส่วนจากตัวบ้าน หากมีพื้นที่ว่างหลังบ้าน หรือพื้นที่สวน สามารถสร้างห้องเล่นดนตรีที่เป็นในพื้นที่สวนแยกส่วนกับตัวบ้านได้ จะยิ่งช่วยเรื่องการซับเสียงให้ไม่รบกวนส่วนพักอาศัยได้เป็นอย่างดี

            การจัดวางเครื่องดนตรีในบริเวณบ้าน หากมีพื้นที่จำกัด ต้องการเล่นดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน สามารถใช้บริเวณบ้านเป็นพื้นที่เล่นดนตรีได้ เช่น วางเปียโนในห้องนั่งเล่น วางกีต้าร์ในห้องนอน การจัดพื้นที่เล่นดนตรีแบบนี้ สามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องแต่งห้องเพิ่มเพราะใช้เสียงที่พอดี ไม่ดังจนเกินไป

            ขนาดห้องดนตรี ขนาดของห้องเล่นดนตรีขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ดนตรีที่ต้องการนำเข้าไปในห้อง ห้องซ้อมขนาดเล็กที่เหมาะสำหรับฝึกซ้อมและการเล่นดนตรีแบบเดี่ยวหรือเพียงไม่กี่คน เริ่มต้นที่ขนาดประมาณ 3×3 เมตร หรือ 4×4 เมตร เหมาะสำหรับการฝึกทักษะเบื้องต้นสามารถวางเครื่องดนตรีอย่างเช่น กลองชุด กีต้าร์ เบส ลำโพง และไมโครโฟน สำหรับสมาชิก 3-4 คน หากต้องการรองรับจำนวนผู้เล่นที่มากขึ้น และต้องการฝึกทักษะระดับสูงขึ้น อาจพิจารณาขนาดห้องประมาณ 5×5 เมตรหรือ 6×6 เมตร

ข้อควรรู้

การทำพื้นที่เล่นดนตรีที่เหมาะสม ควรมีการวางแผน กำหนดวัตถุประสงค์ของห้องซ้อม ว่าต้องการซ้อมแบบเต็มวงหรือเป็นห้องสำหรับการฝึกฝนส่วนตัว แต่ละวัตถุประสงค์จะมีความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น การจัดอุปกรณ์ดนตรีและเครื่องดนตรีที่เหมาะสมในการซ้อม การติดตั้งระบบเสียง เป็นต้น

พิจารณาเรื่องเสียงสะท้อนและการรบกวนเสียงจากภายนอก เลือกวัสดุที่เหมาะสมสำหรับผนังและพื้นห้องซ้อม เช่น ใช้โฟมที่ลดเสียง หรือการติดตั้งผนังฉนวนกันเสียงที่ช่วยลดการสะท้อนของเสียง

การระบายอากาศ ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าห้องซ้อมมีระบบระบายอากาศที่เพียงพอ เพื่อป้องกันความชื้นและกลิ่นไม่พึงประสงค์

การควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ควรติดตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในห้องซ้อม เพื่อให้เครื่องดนตรีไม่เกิดความเสียหาย อีกทั้งควรติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในห้องซ้อมดนตรีเพื่อให้อุณหภูมิไม่สูงเกินไป

การติดตั้งระบบเสียง หากต้องการระบบเสียงในห้องซ้อม ควรพิจารณาการติดตั้งลำโพงและอุปกรณ์เสียงที่เหมาะสม ให้เสียงที่คมชัดและไม่เกิดการรบกวน

แสงสว่าง

               การเลือกแสงสว่างสำหรับห้องซ้อมเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากมีผลต่อประสบการณ์การซ้อม หากเป็นไปได้ควรมีหน้าต่างเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามาในห้องซ้อม หรือใช้แสงที่ปรับระดับความสว่างและเปลี่ยนสีได้ เพื่อปรับแสงตามความต้องการขณะซ้อม และควรมีแสงส่องโดยตรงเน้นไปที่ตำแหน่งที่ซ้อม เช่น การติดตั้งไฟส่องเหนือเครื่องดนตรีเพื่อให้เห็นอุปกรณ์ดนตรีและมือของผู้เล่นขณะเล่นเครื่องดนตรีได้อย่างชัดเจน

มุมอ่านหนังสือ

               การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมช่วยเสริมประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ที่หลากหลาย และเพลิดเพลิน ช่วยคลายความเครียด ส่งเสริมจินตนาการที่สามารถทำในเวลาว่าง การสร้างมุมอ่านที่ผ่อนคลาย เงียบสงบ เลือกที่นั่งที่สะดวกสบายและมีการรองรับสรีระร่างกายที่ดี รวมถึงการจัดวางไฟส่องสว่างที่เหมาะสม จะยิ่งช่วยสร้างความผ่อนคลายทำให้เกิดบรรยากาศที่น่าอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้งาน

รูปแบบการจัดพื้นที่

               การจัดมุมอ่านหนังสือสามารถปรับแต่งได้ตามไลฟ์สไตล์และความสะดวกสบายของแต่ละบุคคล สามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การจัดห้องอ่านหนังสือเป็นห้องแยกโดยเฉพาะ จัดมุมอ่านในห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องทำงาน ในสวน บริเวณนอกบ้าน ในห้องครัวหรือพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งการอ่านหนังสือสามารถทำได้หลายมุมในบ้าน เนื่องจากใช้อุปกรณ์ไม่เยอะ เพียงแค่มีมุมสงบ มีแสงสว่างที่เหมาะสม มีที่นั่งที่สบายก็สามารถเลือกใช้เป็นพื้นที่อ่านหนังสือได้ อาจใช้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งในการใช้งานส่วนต่างๆ ของบ้าน เช่น ระหว่างนั่งพักผ่อนบนโซฟา ระหว่างนั่งทำงานที่โต๊ะทำงาน หรือ อ่านก่อนเข้านอน เป็นกิจกรรมที่ทำได้ตลอดทั้งวัน และเกือบทุกพื้นที่ในบ้าน แต่ถ้าหากต้องการมีพื้นที่อ่านหนังสือที่เหมาะสม เรามีข้อควรรู้เกี่ยวกับการจัดมุมอ่านหนังสือให้สบายมาให้ฝากกัน

ข้อควรรู้

เมื่อต้องการจัดมุมอ่านหนังสือภายในบ้าน มีข้อควรรู้ที่อาจมีประโยชน์ต่างๆ ดังนี้

เลือกตำแหน่งที่เหมาะสม เลือกว่าต้องการมุมอ่านหนังสือในที่ไหนในบ้าน อาจเป็นห้องนั่งเล่น ห้องนอน หรือมีพื้นที่ที่ว่างอื่น ๆ ที่เหมาะสมสำหรับการอ่าน

คำนึงถึงการแสงสว่าง แสงธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอ่าน แต่ควรควบคุมแสงไม่ให้แสงแดดส่องเข้ามานั้นจ้าและตรงมากเกินไป จนเกิดความไม่สบายตา ควรควบคุมด้วยผ้าม่านที่ช่วยกรองแสงแดด

ใช้เก้าอี้หรือโซฟาที่สะดวกสบายในการนั่งอ่าน เพิ่มหมอนหรือผ้าห่มที่นุ่มนวลเพื่อสร้างความสบายเมื่ออ่านหนังสือ อาจแต่งห้องด้วยต้นไม้เล็กๆ เพื่อเพิ่มความสบายตา

มีพื้นที่จัดเก็บหนังสือ สร้างระบบการจัดเก็บหนังสือให้สะดวกและเป็นระเบียบ เช่น ใช้ชั้นวางหรือตู้เก็บหนังสือในระยะที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ  คำนึงถึงความสะดวกสบายอื่นๆ เช่น โต๊ะเครื่องเขียน ไฟส่องสว่าง

ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม ให้มุมอ่านอยู่ในอุณหภูมิที่สบายต่อการอ่าน ใช้เครื่องปรับอากาศหากมีอากาศร้อนเกินไป

แสงสว่าง

การออกแบบแสงสว่างสำหรับห้องอ่านหนังสือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมและสบายตา ถ้าเป็นไปได้ให้มีหน้าต่างที่ให้แสงธรรมชาติเข้ามาในระดับที่เหมาะสม ส่วนในเวลาที่แสงแดดแรงเกินไป สามารถใช้ผ้าม่านเพื่อควบคุมแสงได้ หากต้องการใช้แสงเพิ่มเติม สามารถใช้ไฟตั้งโต๊ะหรือโคมไฟส่องสว่างในส่วนที่ต้องการได้ โดยใช้แสงที่อ่อนนุ่มและไม่สว่างเกินไป เพื่อไม่ทำให้สายตาล้าขณะอ่าน

วัสดุและอุปกรณ์

หากต้องการสร้างพื้นที่อ่านหนังสือในบ้าน ขอแนะนำตัวอย่างวัสดุและอุปกรณ์ที่แนะนำเพื่อทำห้องให้สบายเหมาะกับการอ่าน ดังต่อไปนี้

  1. โต๊ะอ่านหนังสือที่ขนาดและความสูงที่เหมาะสมกับการอ่าน เก้าอี้หรือโซฟาที่สะดวกสบายในการนั่งอ่าน ควรเลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิงและรองรับหลังเพื่อส่งเสริมความสบายขณะอ่าน
  2. ตู้หรือชั้นวางหนังสือ สามารถเลือกใช้ชั้นวางหรือตู้ที่มีลิ้นชักหรือบานเปิดเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและเข้าถึงหนังสือ
  3. โคมไฟ สามารถเลือกโคมไฟที่ปรับระดับแสงได้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการ
  4. ผ้าม่าน ใช้เพื่อควบคุมแสงแดดและเงาในห้องอ่าน สามารถเลือกผ้าม่านที่มีลวดลายหรือสีที่เหมาะสมกับสไตล์และบรรยากาศของห้อง อาจใช้เป็นผ้าม่านกัน UV ช่วยในเรื่องกันแสงแดดและความร้อนเข้าสู่ห้อง
  5. เครื่องปรับอากาศ เพื่อความสะดวกสบายในการอ่านสามารถใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในห้องอ่านหนังสือให้สบายต่อการอ่าน

ห้องทำงานศิลปะ

               การทำงานศิลปะเป็นกิจกรรมช่วยผ่อนคลายจากการทำงาน พักผ่อนอารมณ์จากความตึงเครียด และยังช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เสริมการใช้ความคิดและจินตนาการ ทำให้ได้คิดค้นสิ่งใหม่ๆ โดยการทำงานศิลปะมีหลายประเภท เช่น การวาดภาพ การออกแบบ การปั้น การทำเครื่องประดับ เป็นต้น การฝึกฝนทักษะเหล่านี้มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันและช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย

รูปแบบการจัดพื้นที่

การจัดพื้นที่ทำงานศิลปะภายในบ้านมีหลายรูปแบบ สามารถใช้งานได้หลายส่วนในบริเวณบ้าน แบ่งคร่าวๆ ได้ดังนี้

ห้องทำงานศิลปะ หากต้องการพื้นที่ทำงานศิลปะแบบแยกเป็นสัดส่วนกับห้องอื่นของบ้าน เพื่อทำงานได้เต็มรูปแบบ สามารถเลือกห้องสักหนึ่งห้องภายในบ้านเป็นพื้นที่ทำงานศิลปะ ใช้วางโต๊ะทำงานขนาดใหญ่ เฟรมวาดภาพ กล่องเก็บอุปกรณ์ศิลปะ ชั้นวางของ ห้องแบบนี้ทำให้ทำงานอย่างมีสมาธิ แบ่งกับกิจกรรมของบ้านอย่างชัดเจนไม่รบกวนกัน

ส่วนจัดแสดงผลงาน เป็นส่วนจัดแสดงผลงานศิลปะหลังจากทำผลงานเสร็จ สามารถแสดงผลงานในส่วนเดียวกับห้องทำงาน ห้องรับแขกของบ้าน หรือแยกเป็นห้องแสดงผลงานโดยเฉพาะจะยิ่งช่วยเพิ่มความโดดเด่นของผลงานได้ดียิ่งขึ้น เป็นเหมือนแกลเลอรี่ภายในบ้าน ใช้แสดงผลงานให้กับผู้มาเยือน

ส่วนทำงานศิลปะที่ใช้ร่วมกับพื้นที่อื่นของบ้าน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน จัดเตรียมส่วนทำงานที่ใช้ร่วมกับพื้นที่อื่นๆ ในบ้านได้ เช่น มุมเพื่อทำศิลปะหรือโต๊ะทำงานศิลปะในห้องรับแขก สามารถทำงานได้ทันทีระหว่างพักผ่อนหรือใช้งานส่วนต่างๆ ภายในบ้าน การจัดรูปแบบนี้ช่วยให้สะดวกต่อการทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งกับการกิจกรรมอื่นภายในบ้าน

ข้อควรรู้

ไอเดียน่ารู้หากต้องการทำห้องทำงานศิลปะในบ้าน

พิจารณาขนาดพื้นที่ในการจัดห้อง ควรเพียงพอสำหรับวางโต๊ะทำงานศิลปะ ที่นั่งทำงาน และตู้เก็บอุปกรณ์ศิลปะ

การจัดเก็บของในห้องทำงานศิลปะ ควรมีที่จัดเก็บที่เหมาะสมสำหรับอุปกรณ์ศิลปะ เช่น ตู้หรือลิ้นชักเก็บของ ชั้นวางของที่สะดวกในการเข้าถึง ขาตั้งหรือที่แขวนแสดงผลงาน ควรใช้บรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงปลอดภัยเพื่อจัดเก็บงานศิลปะ

จัดแสงสว่างให้เพียงพอ เลือกใช้แสงธรรมชาติให้มากที่สุดถ้าเป็นไปได้ โดยเลือกให้มีหน้าต่างช่องแสงภายในห้อง หรือใช้งานหลอดไฟ LED แสงธรรมชาติ นอกจากนี้อาจใช้งานโคมไฟเพิ่มเติมสำหรับส่องผลงานศิลปะในส่วนแสดงผลงาน ใช้งานโคมไฟประเภท สปอตไลท์

วัสดุและอุปกรณ์

  1. โต๊ะทำงาน ควรเลือกโต๊ะทำงานที่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับงานศิลปะหลายรูปแบบทั้งการวาดภาพ หรือปั้นโมเดล อาจเป็นโต๊ะทำงานที่สามารถปรับความสูงได้
  2. ตู้เก็บอุปกรณ์ศิลปะ ของสำหรับทำงานศิลปะบางชิ้นมีขนาดใหญ่ เช่น กระดาษขนาด A0 ซึ่งมีขนาดใหญ่แผ่นเกิน 1 เมตร จำเป็นต้องมีที่เก็บขนาดใหญ่เพียงพอป้องกันไม่ให้กระดาษเสียหาย โดยตู้ที่นิยมใช้ใส่กระดาษทำงานศิลปะ เป็นตู้แบบมีลิ้นชัก และมีล้อเลื่อนเคลื่อนย้ายได้
  3. เก้าอี้ ควรใช้เก้าอี้ที่รองรับสรีระและมีความสะดวกสบายสำหรับการนั่งทำงานเป็นเวลานาน และสามารถปรับระดับความสูงได้เพื่อรองรับการทำงานได้หลายรูปแบบ

มุมปลูกต้นไม้

               การปลูกต้นไม้และจัดสวนในบ้าน เป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับบ้าน ทำให้รู้สึกสบายตา และยังเป็นกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยให้ได้ขยับร่างกายเหมือนกับการออกกำลังกาย ช่วยฟอกอากาศให้กับบ้าน ช่วยบำบัดสุขภาพจิต ทำให้อารมณ์ดีขึ้น ผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียดและยังช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทั้งสุขภาพทั้งกายและใจ เราสามารถปลูกต้นไม้ได้แทบทุกห้องภายในบ้าน หรือแค่มีมุมเล็กๆ ในห้องก็ทำเป็นมุมปลูกต้นไม้ได้

รูปแบบการจัดพื้นที่

การเลือกมุมปลูกต้นไม้ภายในบ้าน เริ่มจากเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อจัดวางต้นไม้ อาจเป็นหน้าต่างหรือมุมห้องว่างๆ ที่มีแสงแดดส่องสว่างเพียงพอสำหรับต้นไม้ สามารถใช้ชั้นวางเพื่อให้มีพื้นที่เพิ่มสำหรับวางกระถางต้นไม้

ข้อควรรู้

เมื่อต้องการจัดมุมห้องสำหรับปลูกต้นไม้ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างข้อควรรู้ที่ควรนึกถึง

แสงและอากาศ ต้นไม้ต้องการแสงและอากาศที่สะดวกสบายในการเจริญเติบโต จึงควรเลือกมุมที่มีแสงสว่างเพียงพอและการระบายอากาศที่ดี ตรวจสอบว่ามีหน้าต่างหรือระบบระบายอากาศในบริเวณใกล้เคียง

อุณหภูมิและความชื้น ตรวจสอบระดับอุณหภูมิและความชื้นในห้องปลูกต้นไม้ มีต้นไม้บางชนิดควรอยู่ในสภาวะอุณหภูมิและความชื้นที่สูง และบางชนิดไม่ควรอยู่กับความชื้น จึงควรตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมอยู่เสมอ

การเลือกต้นไม้ ควรเลือกต้นไม้ที่ตรงกับสภาพแวดล้อมในห้องและความสามารถในการดูแล คำนึงถึงปัจจัยเช่น ขนาดต้นไม้ ความต้องการแสงและน้ำ ความทนต่อสภาพแวดล้อมอย่างแดด และอุณหภูมิ

วัสดุและอุปกรณ์

               การแต่งมุมห้องเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ ทำได้ไม่ยาก ใช้วัสดุอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้น ตัวอย่างอุปกรณ์แต่งห้องที่แนะนำ มีดังนี้

  1. กระถางหรือภาชนะปลูก เลือกกระถางหรือภาชนะที่มีขนาดเหมาะสมสำหรับต้นไม้ที่ปลูก ควรเลือกภาชนะที่มีระบบระบายน้ำดีเพื่อป้องกันน้ำขังและเกิดโรครากเน่า
  2. ชั้นวางต้นไม้ เป็นการเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้ภายในห้อง ใช้ได้ทั้งชั้นวางแบบตั้งพื้น และชั้นวางของแบบติดผนัง
  3. ที่นั่งอาร์มแชร์ สามารถจัดวางเก้าอี้อาร์มแชร์ตกแต่งให้เข้ากับมุมปลูกต้นไม้ เป็นที่นั่งพักผ่อน นั่งเล่นอ่านหนังสือได้ เพิ่มความผ่อนคลายน่าใช้งานให้กับมุมปลูกต้นไม้

ห้องเล่นสำหรับเด็ก

               นอกจากมุมกิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่แล้ว คุณลูกๆ ก็ต้องการพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมเหมือนกัน ซึ่งการทำกิจกรรมสำหรับคุณลูกจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการและทักษะในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะช่วงขวบปีแรก การเล่น เป็นกิจกรรมสำคัญสำหรับเด็ก ควรมีพื้นที่ที่เหมาะสมให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ เป็นพื้นที่สร้างความสุข ความสนุก จินตนาการ เป็นอิสระให้กับเด็ก ขอแนะนำไอเดียจัดห้องเล่นสำหรับเด็กภายในบ้านที่เหมาะสมสำหรับทุกท่าน

รูปแบบการจัดพื้นที่

               การทำห้องเล่นสำหรับเด็ก สามารถจัดเป็นพื้นที่เล่นแบบสวนสนุก มีสนามเด็กเล่นภายในห้อง มีสไลเดอร์  ของเล่น ลูกบอล หรือจัดเป็นพื้นที่เล่นแบบเสริมการเรียนรู้ โดยจัดเป็นชุดโต๊ะ มีชั้นหนังสือ บอร์ดวาดรูป กระดาษ ดินสอ สี สำหรับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และอ่านหนังสือสำหรับเด็ก ซึ่งสามารถเลือกจัดห้องได้ตามกิจกรรมที่เด็กสนใจ

ข้อควรรู้

               หากต้องการจัดห้องเด็กเล่นให้เหมาะสม มีข้อควรรู้ต่อไปนี้

คำนึงถึงความปลอดภัย ตรวจสอบว่าห้องเด็กเล่นปลอดภัยโดยตรวจสอบว่าไม่มีสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายอยู่ในระยะเด็ก อย่างเช่น สารเคมีที่อันตราย หรือของเล่นที่มีส่วนประกอบเล็กๆ ที่เด็กอาจกัดหรือกินได้ การทำห้องเด็กเล่นควรออกแบบไม่ให้มีมุมแหลมคมซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็กขณะเล่นได้

ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บของเล่น สร้างระบบการจัดเก็บที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้เด็กสามารถหาของเล่นได้ง่ายและเก็บของเล่นได้สะดวก อาจใช้ตู้หรือถาดเก็บของเล่น และใส่ภาชนะที่เหมาะสมกับประเภทของของเล่น

สร้างพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ จัดตั้งโต๊ะทำงานหรือโต๊ะเรียนที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น อ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัด หรือทดลองวิทยาศาสตร์เบื้องต้น

รักษาระเบียบและความเรียบร้อย สร้างสภาพแวดล้อมที่เรียบร้อยและเป็นระเบียบ เช่น การจัดวางหนังสือและของเล่นให้เป็นระเบียบ

แสงสว่าง

               การจัดแสงสว่างในห้องเด็กเล่นช่วยสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมและสร้างความสนุกสนานสำหรับเด็ก ซึ่งแสงธรรมชาติในเวลากลางวันจะช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับห้อง ควรให้มีหน้าต่างในพื้นที่ห้องเล่นของเด็ก ถ้าหากแสงแดดจ้าเกินไปสามารถใช้ผ้าม่านเพื่อลดความแรงของแสงลงได้ ถ้าหากใช้แสงไฟควรหลีกเลี่ยงแสงที่มีความเข้มข้นสูง ใช้หลอดไฟที่มีที่กันแสง ช่วยทำให้แสงนุ่มนวลลง และกระจายแสงไม่ให้แสงส่องที่เด็กแรงเกินไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาของเด็กได้ ส่วนบริเวณโต๊ะอ่านหนังสือสามารถเพิ่มโคมไฟตั้งโต๊ะให้มีแสงส่องสว่างเพิ่มขณะอ่านหรือทำกิจกรรมอื่น ทำให้สายตาของเด็กไม่ทำงานหนักจนเกินไป

วัสดุและอุปกรณ์

ในการเลือกวัสดุและอุปกรณ์สำหรับแต่งห้องเด็กเล่น ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นอันดับแรก ซึ่งตัวอย่างอุปกรณ์สำหรับแต่งห้องเด็กเล่น มีต่างๆ ดังนี้

  1. โต๊ะและเก้าอี้ เลือกโต๊ะและเก้าอี้ที่สามารถใช้สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ หรือการเล่น ควรเป็นชุดโต๊ะขนาดและความสูงที่พอดีสำหรับเด็ก
  2. ชั้นวางหนังสือ ใช้จัดเก็บและวางโชว์หนังสือของเด็ก เพื่อสะดวกต่อการหยิบใช้
  3. กล่องเก็บของเล่น ใช้กล่องเก็บของเล่นที่เป็นระเบียบ อาจใช้เป็นแบบลิ้นชัก เพื่อให้เด็กสามารถจัดเก็บและหาของเล่นได้ง่าย
  4. ผ้าม่าน ใช้ตกแต่งห้องด้วยสีสันและลวดลายที่น่าสนใจ เพิ่มความสนุกสนานและสร้างบรรยากาศในห้องเด็กเล่นให้สวยงาม และยังช่วยกันแสงแดดเข้าสู่ห้อง
  5. พื้นหรือพรม เลือกใช้พื้นหรือพรมที่สีสันสดใส หรือลวดลายที่น่าสนใจ เพื่อสร้างพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับการเล่น บางจุดอาจใช้เป็นพื้นยางรองรับการกระแทกขณะเล่นของเด็ก

อ่านบทความ Home Expert อื่นๆ

วิธีแต่งบ้านสไตล์มินิมัล และการปรับใช้ในบ้าน

13 วิธีออกแบบพื้นที่รอบบ้านให้ดูแลง่าย

การ ต่อเติมบ้าน ให้ถูกวิธี บ้านไม่พัง