การจัดห้อง เพื่อลดความผิดพลาดเล็กๆ ช่วยให้ใช้งานสะดวกยิ่งขึ้น - บ้านและสวน

วางผังผิดชีวิตเปลี่ยน มาปรับใหม่ให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น

หลาย ๆ ครั้งปัญหาที่เกี่ยวกับบ้านอาจไม่ใช่เรื่องของสไตล์ ขนาด การตกแต่ง หรือเฟอร์นิเจอร์ อาจเกิดจากข้อผิดพลาดเล็ก ๆ จาก การจัดห้อง ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่กลับเป็นปัญหาที่ชวนขัดใจ เช่น ประตูเปิดมาชนตู้ ทางเดินแคบเกินไป ปลั๊กไฟอยู่ในจุดที่ใช้งานลำบาก ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจมองข้ามระหว่างการออกแบบ อาจไม่ถึงขนาดทำให้ใช้งานไม่ได้ แต่ก็ทำให้หงุดหงิดได้ทุกครั้งที่ต้องใช้งาน การวางผังไม่ใช่เพียงเรื่องความสวยงาม หากต้องออกแบบให้สอดคล้องกับการใช้งานในชีวิตประจำวันด้วย เพื่อความสะดวกตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง ๆ

ห้องน้ำ

พื้นที่ขนาดเล็ก ที่สำคัญมากสำหรับทุกบ้าน ห้องน้ำมักออกแบบให้ใช้ทุกพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยมีส่วนประกอบหลัก สำหรับห้องน้ำ 3 ส่วน คือ โถส้วม อ่างล้างมือ และมุมอาบน้ำ ถึงจะใช้เวลาช่วงสั้น ๆ แต่หลายครั้งต่อวัน ซึ่งถ้าเรียงตามการใช้งานบ่อย และความเปียก/แห้ง ก็จะช่วยให้การจัดวางตำแหน่งการเข้าถึง และการใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น

เปิดประตูเจอมุมอาบน้ำ ใช้งานได้ แต่ไม่สะดวก

ต้องเลี้ยวถึงสองครั้ง เพื่อไปถึงโถส้วมที่อยู่ด้านในสุด ยิ่งในเวลารีบ ๆ อาจมีพลั้งเผลอเดินสะดุดลื่นล้มได้

เปิดประตูตรงไปเจออ่างล้างมือ แบบนี้สะดวกดีนะ

พุ่งตรงเข้าไปถึงอ่างล้างมือ เลี้ยวซ้ายปุ๊บเจอโถส้วม เร่งรีบแค่ไหนก็ไปทัน วางมุมอาบน้ำให้อยู่ด้านในสุด เพราะไม่ได้ใช้งานบ่อย

การจัดห้อง

เปิดประตูกลางห้องเจอโถส้วม ใช้งานได้ แต่ไม่สะดวก

มองเห็นโถส้วมทุกครั้งที่เดินผ่านห้องน้ำ และต้องเลี้ยวไปอีกเล็กน้อย เพื่อเข้าถึงอ่างล้างมือ ถึงจะใช้งานไม่สะดวกเท่าไรแต่ก็ยังใช้งานได้อยู่

เปิดประตูเจออ่างล้างมือ แบบนี้สะดวกดีนะ

เข้าถึงอ่างล้างมือได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเดินผ่านส่วนที่เปียก ทำให้ใช้งานได้สะดวก

ประตูเปิดชิดฝั่งหนึ่ง แบบนี้สะดวกดีนะ

วางเรียงลำดับการเข้าถึง และการใช้บ่อย แยกส่วนเปียก-ส่วนแห้งได้อย่างชัดเจน โดยวางมุมอาบน้ำไว้ด้านในสุด

ประตูทางเข้าตรงกับด้านลึก แบบนี้สะดวกดีนะ

ประตูฝั่งนี้ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้า-ออก และช่วยหลอกตาให้รู้สึกว่าห้องน้ำกว้างขึ้น

บ้านคุณขัตติยา เหมณี และคุณสราวุฒิ สังฆคุณ

ห้องน้ำรูปทรงแคบยาว วางฟังก์ชันใช้งานเรียงไปตามแนวยาว และติดกระจกเงาช่วยสะท้อน ทำให้ห้องน้ำรู้สึกกว้างขึ้น

ห้องทำงาน

ในยุคที่เราใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์นานหลายชั่วโมงต่อวัน ทั้งการทำงาน และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เล่นเกม หรือดูซีรีส์ เมื่อเราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จึงไม่ต้องการให้มีสิ่งอื่น ๆ มารบกวน ทำให้ตำแหน่งของโต๊ะทำงาน ทิศทาง และแสงสว่าง มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการใช้งาน

การจัดห้อง

วางโต๊ะทำงานหันไปทางหน้าต่าง

มองเห็นวิวนอกหน้าต่าง แต่แสงสว่างจากข้างนอกอาจทำให้รู้สึกแสบตา เกิดอาการตาล้า อาจลองใช้วิธีหันโต๊ะให้แสงเข้าจากด้านข้างแทน หรือติดม่านกรองแสงเพิ่ม ช่วยลดแสงสว่างจ้า ในช่วงระหว่างวัน

วางโต๊ะทำงานหันหน้าไปทางประตูห้อง

มองเห็นประตูได้ตลอดเวลา ทำให้รู้สึกปลอดภัย ไม่มีแสงสว่างรบกวนจากด้านหลัง แต่ใช้พื้นที่ภายในห้องค่อนข้างมากเพราะต้องเว้นระยะสำหรับการเลื่อนเก้าอี้ลุก-นั่ง เป็นตำแหน่งการนั่ง ที่ช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้เป็นอย่างดี และสามารถเพิ่มตู้เก็บของ เก็บเอกสารไว้รอบ ๆ ให้หยิบใช้งานได้สะดวกอีกด้วย

การจัดห้อง

วางโต๊ะทำงานหันหลังให้หน้าต่าง

มองเห็นประตูได้ตลอดเวลาทำให้รู้สึกปลอดภัย แต่มีแสงสว่างมาจากด้านหลัง ทำให้เกิดแสงสะท้อนบนหน้าจอคอมพิวเตอร์รบกวนการมองเห็น ใช้วิธีติดผ้าม่านหรือมู่ลี่เพื่อช่วยกรองแสงได้ หรือลองหันโต๊ะเพื่อให้แสงเข้าทางด้านข้างแทน เพื่อลดแสงสะท้อนโดยตรง บนหน้าจอคอมพิวเตอร์

วางโต๊ะทำงานชิดผนังฝั่งประตูห้อง

ประหยัดพื้นที่ในห้อง เข้าถึงโต๊ะทำงานได้รวดเร็ว แต่ก็ถูกรบกวนได้ง่ายเช่นกัน ทำให้เสียสมาธิทุกครั้งที่มีคนเปิดประตูเข้ามาในห้อง อาจเพิ่มชั้นวางของ หรือฉากกัน ระหว่างโต๊ะทำงาน กับประตู เพื่อลดการปะทะทันทีเมื่อมีคนเปิดประตูห้อง

บ้านคุณกรกนก เชาว์ปรีชา – คุณวุฒิชัย นันทิวาวัฒน์

วางโต๊ะทำงานให้แสงเข้าทางด้านข้าง และมีตู้เก็บของเป็นฉากหลัง ช่วยลดแสงสว่าง ที่จะมาสะท้อนบนหน้าจอทำงานได้สบายไร้แสงรบกวน

ห้องนอน

การได้นอนหลับสนิทในห้องที่มืด และเงียบ ไร้สิ่งรบกวน ช่วยให้การนอนมีคุณภาพ ส่งผลต่อสุขภาพกาย และใจเป็นอย่างมาก การจัดห้อง ตำแหน่งของหัวเตียง มีผลต่อการนอนเป็นอย่างมาก จึงควรวางเตียงนอนให้สัมพันธ์ กับส่วนอื่น ๆ ของห้องเพื่อการนอนหลับฝันดีทุกค่ำคืน

การจัดห้อง

หัวเตียงชิดหน้าต่างมองเห็นประตูห้อง

มองเห็นประตู ทำให้รู้สึกปลอดภัยแต่อาจถูกรบกวนจากแสงสว่าง และลมที่พัดเข้ามาทางหน้าต่าง รวมไปถึงฝุ่น และความชื้นที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงของปี

หัวเตียงชิดผนังฝั่งตรงข้ามประตูห้อง

หัวเตียงอยู่ห่างจากประตูมากที่สุด ทำให้เห็นทุกการเคลื่อนไหว รู้สึกปลอดภัย มีพื้นที่โดยรอบเข้าถึงเตียงได้สะดวก สามารถวางโต๊ะหัวเตียงได้ทั้งสองฝั่ง เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน วางแว่นตา หนังสือ มือถือ ข้าวของต่างๆก่อนเข้านอนได้สบาย เป็นตำแหน่งการวางเตียงที่นิยมมากที่สุด

การจัดห้อง

หัวเตียงชิดฝั่งประตู

รู้สึกไม่ปลอดภัย และเมื่อมีคนเดินผ่าน อาจเกิดเสียงดัง หรือแรงสั่นสะเทือนรบกวนการนอน ทำให้นอนหลับไม่สนิท

หัวเตียงชิดผนังตรงกับประตูห้อง

รู้สึกถูกรบกวนทุกครั้งเมื่อมีการเปิดประตูเข้า-ออกห้อง ทำให้นอนหลับไม่สนิท และไม่มีที่สำหรับวางโต๊ะข้างเตียง อาจเพิ่มฉากกั้น หรือชั้นวางของ เพื่อลดการปะทะ เมื่อมีคนเปิดประตูห้อง

บ้านคุณกรกนก เชาว์ปรีชา – คุณวุฒิชัย นันทิวาวัฒน์

หัวเตียงวางชิดผนังทึบและมีพื้นที่โดยรอบเพื่อความสะดวกในการเข้าถึงเตียง หน้าต่างเปิดรับแสงสว่างในช่วงกลางวัน ติดม่านและมู่ลี่เพื่อความเป็นส่วนตัวและลดแสงสว่างที่อาจรบกวนการนอน

คอลัมน์ House Ideas มิ.ย. 68

เรื่อง : jOhe

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล


Laundry Room มุมซักผ้าพอดีใช้

หน้าต่าง 6 ประเภทยอดฮิต เลือกใช้ให้เข้ากับบ้าน

ติดตามดูข้อมูลดีๆเพิ่มเติมได้ที่ บ้านและสวน