พลาสติกคลุมโรงเรือน

รวม 10 เรื่อง ที่ต้องรู้ก่อนเลือกซื้อ พลาสติกคลุมโรงเรือน เพื่อให้ตรงกับการใช้งาน

พลาสติกคลุมโรงเรือน
พลาสติกคลุมโรงเรือน

ในช่วงนี้ #นักปลูก หลายๆ คนคงประสบปัญหาพืชผักที่ปลูกโดนน้ำฝนกระแทกจนใบช้ำ หรือไม่ก็น้ำท่วมแปลงส่งผลให้พืชหลายชนิดรากเน่า แล้วก็เกิดความคิดที่อยากจะซื้อโรงเรือนสำหรับปลูกผักสักหลัง มาช่วยน้องผักไม่ให้เจ็บปวดไปมากกว่านี้

แต่นอกจากโรงเรือนแล้ว พลาสติกคลุมโรงเรือน ก็เป็นอีกวัสดุหนึ่งที่ต้องพิจารณาให้ดี เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน และถ้าเลือกได้อย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้พืชที่ปลูกเจริญงอกงามและช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่าก่อนจะซื้อพลาสติกโรงเรือน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง ทั้งในแง่ของประเภทพลาสติกโรงเรือน ปริมาณสารต้านรังสียูวี รวมถึงข้อควรระวังก่อนสั่งซื้อ

พลาสติกคลุมโรงเรือน

พลาสติกคลุมโรงเรือน วัสดุที่ช่วยให้ปลูกพืชง่ายขึ้น

พลาสติกโรงเรือน ใช้สำหรับคลุมหลังคาโรงเรือนเพื่อป้องกันสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเพื่อให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตได้อย่างราบรื่น ซึ่งผลิตมาจากพอลิเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene หรือ HDPE) และใส่สารต้านรังสียูวี เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานมากขึ้น

พลาสติกคลุมโรงเรือน

พลาสติกคลุมโรงเรือน ที่หนาเหมาะสำหรับลมที่แรง

การเลือกความหนาของพลาสติกโรงเรือนจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการตั้งโรงเรือน ได้ตามนี้

  • โรงเรือนที่อยู่ภายในบ้าน มีรั้วบ้านเป็นแนวกันลมที่ชัดเจน มีลมไม่แรง เหมาะสำหรับพลาสติกที่มีความหนา 100 ไมครอน
  • โรงเรือนที่อยู่บริเวณบ้าน มีรั้วรอบขอบชิด แต่มีระยะห่างระหว่างบ้านและโรงเรือน มีลมพัดแรงปานกลาง เหมาะสำหรับพลาสติกที่มีความหนา 150 ไมครอน
  • โรงเรือนที่อยู่กลางแจ้ง ไม่มีแนวกันลมใดๆ มีลมพัดแรงมาก และมีระดับพื้นถึงคานสูงมากกว่า 2.50 เมตร รวมถึงคานถึงยอดหลังคาสูงมากกว่า 1 เมตร เหมาะสำหรับพลาสติกที่มีความหนา 200-250 ไมครอน

ซึ่งพลาสติกรุ่นที่หนากว่า ไม่ได้หมายความว่ายิ่งหนาจะยิ่งมีอายุการใช้งานที่นานกว่า เพราะ ความหนาที่มากขึ้นช่วยป้องกันเพียงการฉีกขาดจากแรงลม แรงกระแทกจากกิ่งไม้ และลูกเห็บเท่านั้น

พลาสติกคลุมโรงเรือน

อายุของ พลาสติกคลุมโรงเรือน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารต้านรังสียูวี

ส่วนสิ่งที่เป็นตัวกำหนดอายุการใช้งานของพลาสติกโรงเรือน ก็คือ สารต้านรังสียูวี ซึ่งเป็นสารที่ใส่ผสมเข้ากับพลาสติกโรงเรือนเพื่อให้พลาสติกนั้นสามารถยืดอายุการใช้งานให้นานมากขึ้น จะมีตั้งแต่ 3% 5% และ7% ยิ่งมีสารต้านรังสียูวีมากเท่าไหร่ อายุการใช้งานก็จะมากขึ้นตามเท่านั้น ซึ่งก็รวมถึงราคาด้วยเช่นกัน

พลาสติกคลุมโรงเรือน

พลาสติกคลุมโรงเรือน ช่วยกระจายแสง ลดอุณหภูมิได้

นอกจากพลาสติกโรงเรือนจะมีสารต้านรังสียูวีแล้ว ก็ยังมีการเพิ่มสารเติมแต่งที่ทำให้มีคุณสมบัติที่แตกต่างตามการใช้งานอีกด้วย

  • ชนิดใส (Green House -UV Clear Film) เป็นพลาสติกเนื้อใสที่ให้แสงผ่านลงมาได้โดยตรง คุณภาพของพลาสติกจะมีผลต่อค่าอัตราแสงผ่าน (Light Transmission in PAR) โดยสังเกตข้อมูลหรือขอดูเอกสารคุณสมบัติต่างๆ จากผู้จำหน่าย ซึ่งควรมีค่าอัตราแสงผ่านระบุอยู่ในเอกสาร
  • ชนิดกันรังสีอินฟาเรด (Green House – UV Cooling Diffused Film) เป็นการเพิ่มสารพิเศษให้เนื้อพลาสติกสะท้อนความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดออกมา เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับพลาสติกโรงเรือนทั่วไป เหมาะสำหรับพืชที่ไม่ทนร้อน เช่น ผักสลัด สตรอว์เบอร์รี่
  • ชนิดกระจายแสง (Green House – UV Diffused Film) มีคุณสมบัติกระจายแสงให้นวล ช่วยให้ใบพืชไม่ไหม้ และแสงสว่างกระจายได้ทั่วโรงเรือนแม้ในช่วงเวลาแสงน้อย พลาสติกมีลักษณะขุ่น แต่ด้วยเทคนิคการผลิตจึงมีค่าอัตราแสงผ่านเทียบเท่ากับแบบใสที่ประมาณ 90% และสามารถกระจายแสงได้กว่า 40%
พลาสติกคลุมโรงเรือน

พลาสติกคลุมโรงเรือนที่กันได้ทั้งแดดและฝน

เป็นพลาสติกโรงเรือนที่สามารถทั้งกันน้ำฝนได้แล้วยังพรางแสงได้อีกด้วย เรียกว่าได้ 2 in 1 เลยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับโรงเรือนเพาะชำสำเร็จรูปที่จำหน่ายกันตามศูนย์รวมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน แต่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มของโรงเรือนขนาดใหญ่ เพราะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเปลี่ยนเฉพาะเปอร์เซ็นต์การพรางแสงในภายหลังได้