ต้นไม้ประจำจังหวัด

11.จังหวัดขอนแก่น ต้นกัลปพฤกษ์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia bakeriana Craib วงศ์ : LEGUMINOSAE

ลักษณะทั่วไปต้นกัลปพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูง 20 เมตร โคนมีพูพอน เปลือกสีดำแดงแตกเป็นร่องลึก กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนนุ่มสีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับกัน รูปหอกแกมขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งพร้อมใบอ่อน ใบประดับรูปหอก ดอกเริ่มบานสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวตามลำดับ ผลเป็นฝักทรงกระบอก

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

12.จังหวัดชัยภูมิ ต้นขี้เหล็กบ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia siamea Lank. วงศ์ : LEGUMINOSAE

ลักษณะทั่วไปต้นขี้เหล็กบ้านเป็นไม้ยืนต้น เปลือกสีเทาอมน้ำตาลแตกตามยาวเป็นร่อง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับกัน ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองที่ปลายกิ่ง ฝักแบนสีน้ำตาล

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และตอนกิ่ง

13.จังหวัดนครพนม ต้นกันเกรา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fagraea fragrans Roxb. วงศ์ : LOGANIACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นกันเกราเป็นไม้ยืนต้นสูง 10–15 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี เนื้อใบบางแต่เหนียว ปลายใบแหลมยาว โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ หลังใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบสีจางกว่า ก้านใบยาว มีหูใบระหว่างก้านใบคล้ายรูปถ้วยเล็กๆ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและซอกใบตอนปลายกิ่ง เมื่อเริ่มบานกลีบดอกสีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมีกลิ่นหอม ออกดอกระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ผลเป็นผลสดทรงกลม มีติ่งแหลมสั้นติดอยู่ที่ปลาย สีส้มอมเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อผลแก่

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

14.จังหวัดนครราชสีมา ต้นสาธร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Millettia leucantha Kurz วงศ์ : LEGUMINOSAE

ลักษณะทั่วต้นสาธรเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 18–19 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ค่อนข้างกลมหรือทรงกระบอก ใบเป็นใบประกอบเรียงสลับ ใบย่อยติดเป็นคู่ตรงกันข้าม 3–5 คู่ ปลายสุดเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบย่อยรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบและยอดอ่อนมีขนยาว ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายกิ่ง สีขาว รูปดอกถั่ว สีชมพูอ่อน ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ผล เป็นฝักแบนคล้ายฝักมีด

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

15.จังหวัดบึงกาฬ ต้นสิรินธรวัลลี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia sirindhorniae วงศ์ : FABACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นสิรินธรวัลลีเป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ ลำต้นเป็นเถาเลื้อยพาดตามต้นไม้อื่น สามารถเลื้อยได้ยาวมากกว่า 20 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็งในวงศ์ถั่ว กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมแดง กิ่งแก่ไม่มีขน กิ่งเกลี้ยง ใบ เป็นลักษณะใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่จนเกือบกลม ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน เมื่อใบแก่มีสีเขียวแก่ ปลายใบฉีกเป็นสองแฉก ฐานใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ปลายใบพูมน มีขนบริเวณเส้นกลางใบ แผ่นของใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนเข้มเป็นมัน เส้นใบข้างละ 9–11 เส้น จากโคนใบ ก้านใบยาว 2–7 เซนติเมตร ดอก มีสีน้ำตาลแดงหรือสีส้มเข้ม ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกตูมรี ช่อดอกยาวได้ถึงประมาณ 15 เซนติเมตร ออกดอกตลอดปี แต่ดอกจะบานมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง

สภาพที่เหมาะสมเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย และดินเหนียว ปลูกได้ทั้งการปลูกลงดิน และปลูกในกระถาง

ถิ่นกำเนิดเป็นไม้ถิ่นเดียวในประเทศไทย พบครั้งแรกโดย ดร.ชวลิต นิยมธรรม เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2538 ที่ภูทอกน้อยจังหวัดบึงกาฬ ต่อมากรมป่าไม้ได้ขอพระราชทานชื่อด้วยการใช้พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพราะพระองค์ได้ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับทางด้านพฤกษศาสตร์มาตลอด

16.จังหวัดบุรีรัมย์ ต้นกาฬพฤกษ์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia grandis Linn. F. วงศ์ : LEGUMINOSAE

ลักษณะทั่วไปต้นเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูงประมาณ 20 เมตร โคนมีพูพอน เปลือกสีดำแตกเป็นร่องลึก กิ่งอ่อนหรือช่อดอกมีขนสีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ใบย่อย 10–20 คู่ ใบอ่อนสีแดง แผ่นใบย่อยรูปขอบขนาน หลังใบเป็นมัน ท้องใบมีขน ดอก เมื่อเริ่มบานจะมีสีแดง แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูและสีสันตามลำดับ ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

17.จังหวัดมหาสารคาม ต้นพฤกษ์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia lebbeck Benth. วงศ์ : LEGUMINOSAE

ลักษณะทั่วไปต้นพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 20–30 เมตร ผลัดใบ เปลือกนอกขรุขระ สีเทาแก่ แตกเป็นร่องยาว เปลือกในสีแดงเลือดนก กระพี้สีขาว แยกจากแก่น กิ่งอ่อนเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดประปราย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก แกนช่อใบยาว บนแก่นช่อมีช่อแขนงด้านข้าง ใบรูปรี ปลายใบมน โคนใบกลมหรือเบี้ยว หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนละเอียด ออกดอกสีขาวเป็นช่อกลมตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง กลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ผลเป็นฝักรูปบรรทัด แบนและบาง สีเทาอมเหลือง หรือสีฟางข้าว ผิวเกลี้ยงเป็นมัน เมล็ดรูปไข่

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

18.จังหวัดมุกดาหาร ต้นช้างน้าว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ochna integerrima (Lour.) Merr. วงศ์ : OCHNACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นช้างน้าวเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูง 3–8 เมตร ตามปลายกิ่งมีกาบหุ้มตาแข็งและแหลม ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับ แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบจักถี่ ออกดอกเป็นช่อสั้นตามกิ่ง มีสีเหลือง ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ผล ทรงกลม เมื่อสุกสีดำ

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง

19.จังหวัดยโสธร ต้นกระบาก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anisoptera costata Korth. วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นกระบากเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 30–40 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกในสีเหลืองอ่อนเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปขอบขนาน หลังใบมีขนสีเหลือง ปลายใบทู่ถึงแหลม โคนใบมน ท้องใบมีขน ดอกสีขาวปนเหลืองอ่อน ขนาดเล็ก ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ผลเป็นผลแห้งทรงกลม ผิวเรียบ มีปีกยาว 2 ปีก

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด

20.จังหวัดร้อยเอ็ด ต้นกระบก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Irvingia malayana Oliv. Ex A. Benn. วงศ์ : SIMAROUBACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นกระบกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10–30 เมตร ผลัดใบ เปลือกสีเทาอ่อนปนน้ำตาลค่อนข้างเรียบ เรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปมนแกมขอบขนานถึงรูปหอก ผิวใบเกลี้ยง โคนใบมน ปลายใบทู่ถึงแหลม ดอกขนาดเล็ก สีขาวปนเขียวอ่อน ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ผลทรงกลมรี เมื่อสุกสีเหลืองอมเขียว เมล็ดแข็ง เนื้อในมีรสมัน

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด