ปลูกพืชแบบ หลุมพอเพียง (แบบย่อส่วน) ดูแลง่าย ประหยัดน้ำ

อีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลพืชผักในช่วงหน้าร้อนคือการบริหารจัดการพืชผักในพื้นที่ปลูกให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันในชื่อ หลุมพอเพียง

ปลูกพืชแบบ หลุมพอเพียง เป็นแนวคิดในการปลูกพืชผักรวมกันในหนึ่งหลุม หรือในขอบเขตที่กำหนด โดยเลือกพืชต่างชนิด และมีระดับความสูงแตกต่างกัน ปลูกไล่ระดับให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกัน มีพระเอกของแปลงเป็นต้นกล้วยน้ำว้า

หลุมพอเพียง

ต้นกล้วยน้ำว้าในแปลงจะทำหน้าที่เป็นไม้พี่เลี้ยง ให้ร่มเงา เก็บกักน้ำในช่วงหน้าแล้ง บังแดดเป็นพี่เลี้ยงให้ไม้ต้นในช่วงที่ปลูกใหม่ไม่ให้รับแดดจัดเกินไป ทิศทางการปลูกกล้วยควรปลูกในทิศตะวันตก เมื่ออายุได้ 1 ปี กล้วยจะตกเครือให้ผลผลิต พร้อมกับผักที่เริ่มโต จากนั้นตัดกล้วยที่เป็นไม้พี่เลี้ยงออก ให้ไม้ยืนต้นได้รับแสงแดดเต็มที่

พืชผักอื่นๆ ที่ปลูกรวมในหลุมจะต้องปลูกพืชต่างชนิดและต่างระดับกัน 4-5 ชนิด ให้ต้นไม้แต่ละชนิดเติบโตพึ่งพาอาศัยกันและกัน เช่น ต้นไม้ใหญ่เป็นร่มเงาให้ต้นไม้เล็ก ไม้คลุมหน้าดินลดการระเหยของน้ำช่วยให้พืชในหลุมทนแล้งได้ดี ปลูกพืชผักสมุนไพรที่มีฤทธิ์แสบร้อน ช่วยขับไล่แมลงที่จะบุกรุกเข้ามาในสวน หรือปลูกพืชคู่หูเพื่อเกื้อกูลภายในแปลง เป็นต้น โดยพืชแต่ละระดับมีชื่อเรียกดังนี้

  1. ไม้พี่เลี้ยง คือ ที่ให้ร่มเงา เก็บน้ำ ความชื้น นิยมปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม
  2. ไม้ฉลาด/ไม้ข้ามปี คือ ไม้ที่เอาตัวรอดได้ดีเก็บผลนาน เช่น ชะอม ผักหวาน มะละกอ ผักติ้ว ผักเม็ก เป็นต้น
  3. ไม้ปัญญาอ่อน/ไม้รายวัน คือ ไม้ล้มลุก ปลูกง่าย ตายเร็ว ต้องคอยปลูกและดูแลใกล้ชิด แต่เก็บผลได้ไว เช่น พริก มะเขือ กระเพรา โหระพา ตะไคร้ข่า ฟักทอง แตงไทย แตงกวา ผักบุ้งจีน คะน้า เป็นต้น
  4. ไม้บำนาญ คือ ไม้ผลยืนต้นที่ใช้เวลาปลูกนาน แต่เก็บกินผลได้เรื่อยๆ เช่น ขนุน มะม่วง มะนาว มะขาม เงาะ ทุเรียน มังคุด เป็นต้น
  5. ไม้มรดก คือ ไม้ใช้สอย ไม้ยืนต้นอายุยืน ที่ใช้เวลาปลูกนานขายได้ราคา เช่น ประดู่ สักทอง ยางนา สะเดา พยุง ชิงชัน (ควรปลูกตรงข้ามกับกล้วย)

ทั้งนี้สามารถเลือกได้ว่าจะปลูกไม้บำนาญหรือไม้มรดกอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่ต้องพิจารณาขนาดพื้นที่ที่มีด้วยเพราะหากมีพื้นที่ไม่มากการปลูกไม้ยืนต้นอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
สำหรับบ้านในเมือง มีพื้นที่จำกัด การปลูกพืชแบบหลุมพอเพียงอาจจะลดทอนให้มีแค่ ไม้พี่เลี้ยง ไม้ฉลาด ไม้ปัญญาอ่อน ก็เพียงพอสำหรับเก็บกินได้ทั้งปี อย่างเช่นตัวอย่างแปลงปลูกที่เรานำมาให้ชมกันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ “ต้นแบบ” การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ปรับเปลี่ยนพืชผักให้เหมาะกับพื้นที่และความต้องการในการบริโภค

หลุมพอเพียง
หลุมพอเพียง

วิธีการปลูกพืชหลุมพอเพียง

1. เตรียมพื้นที่ปลูกเป็นแปลงวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร
2. เตรียมดินปลูกโดยใช้ปุ๋ยหมักโรยให้ทั่วแปลงพรวนให้เข้ากันกับดิน
3. ปลูกต้นกล้วยน้ำว้าตรงกลางหลุม
4. ปลูกไม้ฉลาดและไม้ปัญญาอ่อน ตามที่ชอบรับประทาน เช่น มะละกอ ชะอม ผักหวาน กะเพรา โหระพา พริก ผักกาดหอม
5. ปลูกพืชคลุมดินอื่นๆ เพื่อป้องกันหญ้า
6. รดน้ำให้ชุ่ม 1-3 วัน/ครั้ง

แม้การปลูกพืชแบบหลุมพอเพียงจะช่วยประหยัดน้ำ ประหยัดแรง และให้พืชพึ่งพาอาศัยกัน แต่ก็ต้องดูแลใส่ปุ๋ยอยู่เสมอด้วย

เรื่อง JOMM YB

ภาพ กรานต์ชนก บุญบำรุง

รวมผักสวยน่าปลูก กินได้ ตกแต่งสวนครัวให้สวยขึ้น

ทำแปลงฮูกูลฯ ปลูกพืชผัก ทำถูกหลักอยู่นานนับ 10 ปี

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm