แมวมีสิวใต้คาง

สิวใต้คางแมว และโคนหางเหนียว เกิดจากอะไร (Feline chin acne and stud tail)

แมวมีสิวใต้คาง
แมวมีสิวใต้คาง

สิวใต้คางแมว และ โคนหางเหนียว ๆ เป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้บ่อยในน้องแมว ซึ่งเกิดจากการทำงานมากไปของต่อมไขมัน ทำให้ที่บริเวณนั้นมีคราบมันเยิ้ม หรือมีเศษสีดำเยิ้มออกมา

สิวใต้คางแมว จะทำให้บริเวณคางของแมวมีคราบมันเยิ้ม หรืออาจจะเป็นเศษสีดำเยิ้ม ๆ ซึ่งจะมักจะถูกเรียกว่าสิวใต้คาง (Chin acne) ส่วนบริเวณโคนหางนั้น ก็เกิดจากการทำงานมากไปของต่อมไขมันบริเวณหางเช่นกัน จึงเกิดเป็นคราบเยิ้ม ๆ สีน้ำตาล ไปจนถึงสีดำ มีชื่อเรียกว่า Stud tail (หางสตั๊ด หรือ หางเหนียว)

ในแมวเพศผู้ที่ยังไม่ได้ทำหมัน จะพบปัญหานี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากการผลิตสารของต่อมไขมัน มีความสัมพันธ์กับอิทธิพลของฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรนในแมวเพศผู้ แต่ในส่วนของแมวเพศผู้ที่ทำหมันแล้ว และแมวเพศเมียก็สามารถพบ Stud tail ได้เช่นกัน

ข้อดีและข้อเสียของ การทำหมันสุนัขและแมว

สิวใต้คางแมว
ขอบคุณภาพจาก : https://icatcare.org/

มาทำความรู้จักกับต่อมไขมันในผิวหนังของแมว (Sebaceous glands)

ในชั้นผิวหนังของแมว จะมีต่อมอยู่ 2 ชนิด คือ ต่อมไขมัน และ ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมันมีความเกี่ยวข้องกับบริเวณรูขุมขน จะผลิตสารคัดหลั่งที่สำคัญ คือ ซีบัม (Sebum) ซึ่งช่วยกันน้ำให้กับเส้นขน และ รักษาความอ่อนนุ่มของผิวหนัง นอกจากบริเวณผิวหนังแล้ว ยังพบต่อมไขมันขนาดใหญ่ ที่บริเวณคาง ริมฝีปาก บริเวณผิวหนังด้านบนของโคนหาง ขอบตา หนังหุ้มอวัยวะเพศ และ ถุงอัณฑะ เป็นต้น

การหลั่งน้ำมันของต่อมไขมันขนาดใหญ่เหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการสร้างการสื่อสารทางกลิ่นของแมว โดยแมวจะนำคาง ริมฝีปาก ขมับ โคนหางไปถูกับวัตถุต่าง ๆ โดยเมื่อแมวถูซ้ำไปซ้ำมากับวัตถุนั้นนาน ๆ เราอาจจะเห็นคราบสีน้ำตาลดำบนวัตถุนั้น ๆ เช่น ผนัง โซฟา เป็นต้น หรือ แม้กระทั่งเวลาเรากลับเข้าบ้าน แมวก็จะมาใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเหล่านี้มาถูไถ เพื่อสร้างการจดจำ และ ทำเครื่องหมายของการสื่อสารเช่นกัน

สิวใต้คางแมว
ขอบคุณภาพจาก : Pic: https://icatcare.org/

สาเหตุของเกิดการสิวใต้คาง และ โคนหางเหนียวในแมว

การทำงานมากเกินไปของต่อมไขมัน ทำให้เกิดสิว รูขุมขนจะผลิตสารที่เป็นไขมันมากเกินไป รวมถึงการผลิตสารกลุ่มเคราตินมากเกินไปด้วย (เคราตินเป็นโปรตีนหลักในผิวหนัง และ รูขุมขน) ดังนั้น รูขุมขนบริเวณใต้คาง และ โคนหาง จึงถูกอุดด้วยสารไขมันสีดำ ซึ่งก่อตัวเป็นสิวอุดตัน (Comedones) และ มักจะพบการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งนำไปสู่การอักเสบของรูขุมขน และ กลายเป็นตุ่มแดง หรือ ตุ่มหนองขึ้น และ ในบางรายที่อาการรุนแรง อาจจะเกิดการบวมแดงติดเชื้อบริเวณผิวหนังรอบ ๆ บริเวณใต้คางร่วมด้วย

การรักษา

การรักษาสิวใต้คาง และ โคนหางเหนียว จะเป็นการขจัดซีบัมส่วนเกิน และ ป้องกันการเกิดสิวอุดตัน (Comedones) และ การติดเชื้อแทรกซ้อน โดยการใช้กลุ่มยาทาภายนอกต้านแบคทีเรีย เช่น Chlorhexidine เช็ด และ ทำความสะอาดบริเวณผิวหนังวันละ 2-3 ครั้ง , ยา Mupirocin ทาต้านแบคทีเรีย

สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จนเกิดการอักเสบของรูขุมขน จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน ระยะเวลา 2-6 สัปดาห์ รวมถึง การให้ยาลดอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ระยะสั้น ๆ ร่วมกับการรักษา ในแมวที่มีขนยาว จะแนะนำให้มีการไถขนบริเวณใต้คาง และ โคนหางให้สั้น เพื่อง่ายต่อการเช็ดทำความสะอาดในทุก ๆ วันร่วมกันด้วย


บทความโดย
สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
Piyawun Phurahong , DVM
สัตวแพทย์ประจำคลินิกโรคแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

ติดตามบทความดี ๆ จากพวกเราได้ที่
Facebook : บ้านและสวน Pets