โรคกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบเรื้อรังในแมว

อาเจียน ท้องเสีย น้ำหนักลด ติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ น้องแมวอาจกำลังเผชิญกับ โรคกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบในแมว

โรคกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบในแมว หรือ Inflammatory Bowel Disease มีชื่อย่อว่า IBD เป็นโรคระบบทางเดินอาหารเรื้อรังที่พบได้ในแมวโตเต็มวัย จนถึงแมวสูงอายุ โดยค่าเฉลี่ยอายุที่พบประมาณ 6 ปี บางกรณีสามารถพบได้ในแมวอายุน้อยได้เช่นกัน แต่พบได้น้อย (มีรายงานพบว่า แมวป่วยด้วยโรคนี้ ตั้งแต่อายุ 6 เดือน)

อาการส่วนใหญ่ของแมวที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบเรื้อรัง คือ อาเจียน หรือท้องเสีย น้ำหนักลด อาจจะมีอุจจาระปนมูก หรือปนเลือดสดออกมา แสดงอาการเรื้อรัง ต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 3 สัปดาห์ แต่ตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ไม่พบ รวมไปถึง บางรายอาจจะมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย

โรคกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบเรื้อรังในแมว, โรคทางเดินอาหารในแมว, โรคกระเพาะอาหารในแมว, ลำไส้อักเสบในแมว, แมวอาเจียน, แมวท้องเสีย, แมวน้ำหนักลด, แมวไม่ยอมกินอาหาร
ภาพถ่าย Victoria Tronina

สาเหตุของการเกิดโรค IBD

โรคกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบเรื้อรังในแมว เกิดจากเซลล์อักเสบแทรกเข้าไปในชั้นผนังของระบบทางเดินอาหาร ทำให้ผนังของกระเพาะอาหาร และลำไส้หนาตัวขึ้น ซึ่งรบกวนการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในกระบวนการย่อย และการดูดซึมอาหาร

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ได้ศึกษาวิจัยไว้ คือ การติดเชื้อก่อโรคต่าง ๆ ในทางเดินอาหาร เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อปรสิต และพยาธิลำไส้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าสาเหตุของการเกิดโรค IBD อาจเกิดได้จาก ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของลำไส้ (Mucosal immune system) การสูญเสียความต้านทานโรค ต่อเชื้อแบคทีเรียตัวร้าย และแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ในทางเดินอาหาร รวมไปถึงการแพ้ หรือการแพ้โปรตีนบางชนิด ในส่วนผสมของอาหาร ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 49 ของแมวที่เป็นโรค IBD โดยหลังจากตจรวจวินิจฉัยแล้วพบว่า แมวส่วนใหญ่ แพ้เนื้อวัว ข้าวสาลี และข้าวโพด

การตรวจวินิจฉัยโรค IBD

การตรวจวินิจฉัยโรค IBD จำเป็นต้องใช้การตรวจวินิจฉัยร่วมกันหลายวิธี ทั้งอาการทางคลินิกที่แมวแสดงออก การใช้รังสีวินิจฉัย เช่น เอกซเรย์ (X-ray) และการอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง เพื่อสังเกตความหนาของผนังลำไส้ แต่ต้องประเมินร่วมกับการตรวจร่างกายอื่น ๆ ด้วย

ในแมวที่ผนังลำไส้ยังไม่หนามาก อาจจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงในภาพอัลตร้าซาวด์ได้ จึงต้องวินิจฉัยร่วมกับวิธีการตรวจอื่น ๆ ต่อไป เช่น การตรวจอุจจาระ การตรวจเลือดเพื่อดูค่าโลหิตวิทยา และค่าเคมีทางเลือด เพื่อวินิจฉัยแยกแยะโรคให้ได้อย่างชัดเจน

หากสงสัยว่า แมวอาจป่วยเป็นโรค IBD สัตวแทพย์จะสั่งตรวจวัดระดับ serum folate และ cobalamin ในเลือด โดยในแมวที่มีความผิดปกติของลำไส้เล็กรุนแรงจะพบค่า cobalamin ในเลือดลดลง

ส่วนการตรวจวินิจฉัยขั้นสุดของโรค IBD คือ การเก็บชิ้นเนื้อบริเวณทางเดินอาหาร เพื่อส่งตรวจจุลพยาธิของชิ้นเนื้อ (Biopsy) ซึ่งอาจจะต้องทำโดยการผ่าตัด หรือส่องกล้องเข้าไปในทางเดินอาหารของแมว

โรคกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบเรื้อรังในแมว, โรคทางเดินอาหารในแมว, โรคกระเพาะอาหารในแมว, ลำไส้อักเสบในแมว, แมวอาเจียน, แมวท้องเสีย, แมวน้ำหนักลด, แมวไม่ยอมกินอาหาร
ภาพถ่าย Kate Stone Matheson

การรักษาโรค IBD ในแมว

  1. การใช้โภชนาการบำบัด และการทดสอบอาหาร เนื่องจากสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรค IBD มีความเกี่ยวข้องกับการแพ้อาหารในแมว กลุ่มอาหารที่ใช้บำบัดจึงเป็นอาหารที่มีการใช้โปรตีนจากแหล่งโปรตีนพิเศษ ให้แมวกินเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และติดตามประเมินอาการ หลังได้รับการปรับอาหาร
  2. การใช้ยารักษาการติดเชื้อในทางเดินอาหาร เช่น ยาปฏิชีวนะ เพื่อคุมการติดเชื้อแบคทีเรีย ยารักษาการติดเชื้อ “โปรโตซัว” และพยาธิในทางเดินอาหาร
  3. การให้โพรไบโอติก (probiotics) เพื่อปรับสมดุลในระบบทางเดินอาหาร
  4. การให้ยากดภูมิคุ้มกันในราย ที่ไม่ตอบสนองต่อการปรับอาหาร และให้ยาปฏิชีวนะ
  5. การให้ยาปรับการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร และลำไส้
  6. ในแมวที่ตรวจพบว่ามีค่า folate และ cobalamin ในเลือดลดต่ำลง จะเสริมวิตามินเพิ่มเติมด้วย

โรค IBD มักเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เป็นโรคที่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ ถ้าหากน้องแมวมีอาการที่ต้องสงสัย แนะนำพาไปตรวจวินิจฉัยกับสัตวแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาและควบคุมอาการของโรค ต่อไป

เรื่อง สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ พยาธิในทางเดินอาหารของแมว รู้ไว้เพื่อป้องกัน