พื้นที่ความสุขท่ามกลางธรรมชาติในบ้านคอนเทนเนอร์

บ้านคอนเทนเนอร์ แบบกึ่งสำเร็จรูปที่สวยงาม สร้างไว โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์เป็นองค์ประกอบหลักมาจัดวางเพื่อโอบรับความสดชื่นจากธรรมชาติรอบด้าน

บ้านคอนเทนเนอร์ หลังนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัวที่ต้องการมีบ้านสวนใกล้กรุงเทพฯ ในวันพักผ่อน และตระเวนมาดูที่ดินแถวจังหวัดนครนายก ก่อนจะพบที่ดินผืนที่ถูกใจที่นี่ ด้วยสภาพอากาศที่ดีใกล้เขาใหญ่ และตอบโจทย์ด้านการเดินทางที่สะดวกสบายที่ คุณโหน่ง – ธีร ธนะมั่น เจ้าของและผู้ออกแบบ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ตั้งไว้ทุกประการ

คุณโหน่งและครอบครัวบนระเบียงชั้น 2 ของบ้านคอนเทนเนอร์
บ้านทรงเอเฟรม (A Frame) ที่ใช้หลังคาและระแนงคลุมเหนือตู้คอนเทนเนอร์
นอกจากความสวยงามที่ลดทอนความเป็นกล่องแล้ว ยังช่วยเรื่องลดความร้อนและระบายอากาศอีกด้วย
หลังคาจั่วให้ความรู้สึกเป็นบ้านและดูไม่แปลกแยกจากสิ่งแวดล้อม ด้วยโทนสีน้ำตาลที่เข้ากับสีเขียวของต้นไม้เป็นอย่างดี

บ้านกึ่งสำเร็จรูปที่สะดวกสำหรับการก่อสร้าง

เนื่องจากการก่อสร้างบ้านต้องใช้พลังงานมาก ด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยาก คุณโหน่งจึงเลือกใช้ตู้คอนเทนเนอร์เป็นโครงสร้างหลัก เพราะสะดวกและช่วยประหยัดเวลาได้ แม้จะมีขนาดเล็ก ร้อน และอาจไม่เหมาะที่จะใช้ทำบ้านมากนัก แต่มีข้อดีคือ ตู้คอนเทนเนอร์เป็นชิ้นส่วนมาตรฐานแบบโมดูลาร์ จึงทำให้ออกแบบได้ง่าย สามารถคำนวณได้ว่าต้องใช้จำนวนกี่ตู้ โดยคุณโหน่งเลือกใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่ใหญ่มาก สามารถนำเข้ามาผ่านถนนภายในหมู่บ้านที่ค่อนข้างแคบได้ ผนังด้านในตู้คอนเทนเนอร์แต่ละห้องปล่อยเปลือย รวมวางงานระบบแบบโชว์แนวเพื่อการจัดการดูแลรักษาง่าย อีกทั้งเดิมห้องเล็กอยู่แล้วเลยไม่อยากบุผนังเพิ่มให้ห้องดูเล็กลง โดยหลังคาด้านบนช่วยเรื่องความร้อนได้ประมาณหนึ่ง และเมื่อต้นไม้รอบๆ โตขึ้นในอนาคตก็จะช่วยกันความร้อนได้ดีขึ้นอีก ส่วนครัวไทยด้านนอกออกแบบเป็นตู้ซุ้มโครงสร้างเหล็กและเมทัลชีตให้ดูกลมกลืนไปกับบ้านหลัก

บ้านเหล็กทรงเอ (A) ท่ามกลางบึงน้ำและทุ่งนากว้าง เข้ากับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน
หลังคาเมทัลชีต เลือกขนาดลอนที่ใกล้เคียงกับตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้วัสดุโดยรวมดูกลมกลืนกัน
บันไดทางขึ้นชั้น 2 นอกตัวบ้านให้อารมณ์แบบบ้านไทย
สเปซดูโปร่งโล่งด้วยผนังระแนงระบายอากาศและแสงธรรมชาติจากหลังคาโปร่งแสง
ระแนงเหล็กแผ่นที่พาดกับเหล็กกล่อง ทำให้เกิดเงาจากแสงที่ตกกระทบเข้ามาในบ้าน บ้านจึงดูมีมิติมากขึ้น

การติดตั้งและแก้ปัญหาความร้อน

คุณโหน่งเริ่มต้นที่การแก้ปัญหาเรื่องอากาศร้อน เพราะเป็นพื้นที่โล่งไม่มีต้นไม้ จึงออกแบบให้บ้านมีหลังคาคลุม โดยวางตู้คอนเทนเนอร์ให้ซ้อนกันสองชั้น และเว้นพื้นที่ว่างเป็นระเบียงตรงกลาง ประกอบด้วยห้องครัวพร้อมกับห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น ห้องนอนชั้นบน และห้องนอนชั้น 1 แยกอีกหลัง โดยตรงกลางเป็นลานบาร์บีคิว มองออกไปเห็นวิวบึงและภูเขา ส่วนด้านหลังห้องนอนที่แยกออกไปเป็นสระว่ายน้ำท่ามกลางสวนธรรมชาติ

ที่เลือกออกแบบหลังคาให้เป็นรูปทรงตัวเอ (A) เพราะรูปลักษณ์ดูลงตัวที่สุด ทำหน้าที่เป็นทั้งผนังและหลังคา โดยแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่กันฝนด้านบนและส่วนด้านล่างที่เป็นระแนงบังแดดที่ใช้เหล็กแผ่นวางบนเหล็กกล่องสำหรับระบายอากาศ ที่สำคัญคือการคลุมพื้นที่ด้วยรูปทรงตัวเอ (A) ของหลังคาช่วยลดความร้อนภายในตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงมีหลังคาส่วนที่ยื่นปกคลุมส่วนระเบียงกลางบ้าน และบางส่วนใช้หลังคาไฟเบอร์กลาสโปร่งแสงเพื่อเพิ่มแสงธรรมชาติเข้ามาด้านใน ขนาดของประตูหน้าต่างเลือกใช้ขนาดมาตรฐานเพราะจัดการง่าย พื้นไม้ตกแต่งใช้เป็นไม้สังเคราะห์ ส่วนวัสดุอื่นๆ เลือกใช้ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านวัสดุก่อสร้างท้องถิ่น

สำหรับฐานรากเลือกใช้ฐานรากแบบแผ่บนเสาเข็มหกเหลี่ยม แล้ววางจึงตู้บนฐาน โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างฐานรากพร้อมๆ กับรอผลิตตู้และจัดส่งราว  2-3 เดือน จากนั้นจึงทำโครงเหล็กหลังคา งานปิดผิวต่างๆ เก็บงานสี และงานระบบไฟฟ้าในเวลาต่อมา แม้พบปัญหาเรื่องช่างหน้างานบ้าน แต่โดยรวมๆ แล้วใช้เวลาทั้งหมดไม่ถึง 1 ปี

ระเบียงกลางบ้านใกล้ชิดธรรมชาติ สำหรับนั่งเล่นพักผ่อน ชมวิวบึงน้ำ ภูเขาและป่า
ระเบียงกว้างเปิดโล่งรับลมเย็นสบายตลอดทั้งวัน ใช้นั่งพักผ่อนทำกิจกรรมหลบแดดได้ไม่ต่างจากบ้านใต้ถุนสูง

บ้านกึ่งเอ๊าต์ดอร์แบบ Inside-out, Outside-in

            คุณโหน่งเล่าว่ากิจกรรมส่วนใหญ่เวลามาที่นี่ คุณพ่อคุณแม่จะชอบทำสวน ตัดหญ้าดูต้นไม้ ส่วนคุณโหน่งจะใช้เวลาเพื่อพักผ่อนจากงานประจำและเล่นกับลูก โดยที่นี่มีสระว่ายน้ำและสนามเด็กเล่น ที่ดินขนาด 17  ไร่ผืนนี้เดิมเป็นที่นาทั้งหมด โดยคุณโหน่งเลือกขุดบ่อตรงกลางมาถมที่เป็นบริเวณประมาณ  5 ไร่ ซึ่งบ่อน้ำไม่ได้ใช้เลี้ยงปลา แต่สามารถพายเรือคายัคเล่นได้ พื้นที่ธรรมชาติโดยรอบสามารถขับรถเอทีวี ปั่นจักรยานไปจนถึงป่ายางนาร่มรื่นด้านหลังได้ พื้นที่ตรงริมรั้วมีแปลงผักและสวนผลไม้ท้องถิ่น เช่น ทุเรียน มะม่วง มะยงชิด ฝรั่ง ซึ่งปลูกพร้อมๆ ไปกับการสร้างบ้าน ส่วนอีกด้านปลูกเป็นสวนป่าประเภทต้นสัก ต้นพะยูง และยังมีที่นาให้ชาวบ้านมาเช่าทำนาด้วย

            ภายนอกเลือกทำสีเป็นสีน้ำตาล เพราะต้องการให้บ้านดูกลมกลืนไปกับสีเขียวของธรรมชาติโดยรอบ ด้านในทาสีขาวเพื่อให้ดูปลอดโปร่งไม่อึดอัด อย่างห้องนอนที่อาจดูเล็ก แต่พอนอนจริงๆ ก็ไม่ได้รู้สึกคับแคบ เพราะด้านในสว่างและมีหลังคาเชื่อมพื้นที่ออกไปภายนอก ภายในบ้านมีของตกแต่งน้อย โดยมีเฉพาะของที่จำเป็น เพราะเน้นใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านมากกว่า อีกทั้งยังเปิดผนังหลายด้านให้ธรรมชาติล้อมตัวบ้านเป็นเหมือนภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่

ห้องนั่งเล่นเจาะหน้าต่างบานใหญ่รับวิวธรรมชาติ ทำบานกระจกและติดมุ้งลวดกันยุง
แต่สามารถมองเห็นวิวภายนอกได้อย่างสบายตา
ห้องครัวขนาดเล็กเหมาะสำหรับใช้อุ่นและจัดเตรียมอาหาร เน้นโต๊ะรับประทานอาหารขนาดใหญ่
เจาะผนังเป็นบานกระจกสองด้าน ทำให้ห้องดูกว้างไม่อึดอัด
ภายในห้องนอนทำผนังเป็นสีขาวเพื่อให้ดูสว่าง ไม่อึดอัด
และเจาะช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ให้ห้องดูโล่งสบายจนลืมไปว่านอนอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์

วิถีชีวิตที่เลือกเองได้โดยอยู่กับธรรมชาติ

คุณโหน่งทิ้งท้ายเกี่ยวกับแนวคิดการมีบ้านพักในต่างจังหวัดเอาไว้ว่า “เป็นวิถีชีวิตที่ดีครับ ที่เราได้มาพักผ่อน ทำกิจกรรมส่วนตัว หลีกหนีจากความแออัดในเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวจำกัด รวมถึงมาฝึกใช้ชีวิตกับธรรมชาติ จริงๆ ส่วนตัวไม่ได้วางแผนจะผันตัวมาเป็นเกษตรกรหรอกครับ แต่พอได้มาลงมือปลูกต้นไม้เอง ก็เหมือนได้มาฝึก มาเรียนรู้ เพราะจริงๆ แล้วการปลูกพืชผักนั้นไม่ได้ง่าย ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป”

นอกจากนั้นคุณโหน่งยังวางแผนจะเปิดที่นี่เป็นบ้านพักให้เช่าด้วย “วันไหนที่เราไม่ได้มาพัก ก็ปล่อยเช่าได้ครับ ถือเป็นการลงทุนอีกอย่างหนึ่ง เพราะเราไม่ได้อยู่ที่นี่ประจำ ของในบ้านก็เลยไม่ได้เยอะ เวลาที่พาครอบครัวมาเองก็เหมือนมาเที่ยวด้วยเหมือนกันครับ ต้องเตรียมของและอาหารมาด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เราได้ร่วมทำกับครอบครัวในช่วงวันหยุด แล้วชาร์จพลังไปทำงานต่อครับ”

ลานบาบีคิวและกิจกรรมนอกบ้านที่เชื่อมกับครัวไทยมองเห็นรูปทรงเอ (A) ของบ้านได้อย่างชัดเจนสวยงาม
สระว่ายน้ำแบบสำเร็จรูปขนาดกะทัดรัด เน้นเรื่องการดูแลรักษาง่ายและปลอดภัย

Owner’s Tips
เคล็ดลับการเลือกตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับสร้างบ้านกึ่งสำเร็จรูป

  1. สามารถกำหนดงบประมาณได้ง่าย เพราะแบ่งเป็นตู้ชัดเจน
  2. ควรไปเลือกตามร้านด้วยตัวเองเพื่อตรวจเช็กสภาพให้ไม่รั่วซึม และเมื่อมีการเจาะช่องหน้าต่าง หรือเจาะตู้สองตู้ต่อกันให้ห้องใหญ่ขึ้น ก็จำเป็นต้องอุดรอยรั่วให้ดีด้วย
  3. ผู้ให้บริการทำบ้านจากตู้คอนเทนเนอร์โดยทั่วไปสามารถเจาะช่องเปิด และทำห้องน้ำให้ได้ โดยจะทำตามแบบมาตรฐาน เจ้าของบ้านควรออกแบบด้วยตัวเองหรือปรึกษาสถาปนิกว่าจะจัดสรรพื้นที่ และเลือกทิศทางในการเปิดช่องเปิดอย่างไร

เจ้าของ – ออกแบบ : คุณธีร ธนะมั่น


คอลัมน์ “บ้านสวย” นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565

เรื่อง : jEedwOndER

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, ปณิตา ตันกระโทก

สไตล์ : ชลสิทธิ์ ด้วงสีแก้ว

ที่ตั้ง : จังหวัดนครนายก


บ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก ที่สร้างขึ้นจากสังกะสี

รวมบ้านหลังน้อย ขนาดกะทัดรัด น่ารักน่าอยู่

รวม 50 แบบบ้านชั้นเดียวที่ดีที่สุด สวยที่สุด จากบ้านและสวน

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag