ดอกบัวตอง วัชพืชแสนสวยจากแดนไกล

เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว เรียกได้ว่าเป็นฤดูกาลแห่งไม้ดอกจริงๆ สวนดอกไม้ต่างๆก็เริ่มทยอยผลิดอกกันสะพรั่ง เช่นเดียวกันกับ ดอกบัวตอง ที่แข่งกันเบ่งบานกันเต็มทุ่ง เป็นจุดถ่ายรูปที่สวยมากอีกที่หนึ่ง ที่หลายคนเริ่มไปแชะภาพเช็กอินกันอย่างต่อเนื่อง

ดอกบัวตอง

วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับอีกมุมหนึ่งของ “บัวตอง” ว่ามีลักษณะ ข้อดี ข้อเสียอย่างไร แล้วเราจะรู้จักกับ ดอกบัวตอง นี้มากขึ้น

ดอกบัวตอง

บัวตอง หรือ ทานตะวันหนู/Tree Marigold มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tithonia diverifolia (Hemsl.) A. Gray จัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับทานตะวัน คือ Asteraceae มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโกแล้วกระจายไปทั่วโลก ปลูกเป็นไม้ประดับได้ ชอบอากาศเย็น เป็นวัชพืชประเภทล้มลุก ที่มีอายุหลายปี สูงประมาณ 1-2 เมตร หรือสูงได้มากถึง 4-5 เมตร ลำต้นเป็นพุ่ม ใบรูปรีขอบหยักเว้า 3-5 แฉก ปลายใบแหลม ผิวใบหยาบและมีขนปกคลุม ดอกลักษณะเป็นช่อเดี่ยว หรือกลุ่ม ดอกวงนอกสีเหลืองสดประมาณ 10-13 กลีบ ดอกวงในสีเหลืองเข้มเป็นกระจุกกลม ออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะดกมากในช่วงฤดูหนาว ผลแห้งมีสีน้ำตาล มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง

ดอกบัวตอง

นอกจากความสวยงามของดอกบัวตองแล้ว เบื้องหลังความสวยงามของนางเอกแห่งยอดดอยแม่ฮ่องสอนนี้ ยังอีกมุมหนึ่งที่หลายคนยังไม่รู้จัก โดย บัวตอง เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกากลาง เม็กซิโก และคิวบา  ปัจจุบันบัวตองเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานรุนแรงในหลายประเทศ ทั้งจีน อินเดีย เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หลายประเทศในแอฟริกา และรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา และถูกจัดให้อยู่ในรายการชนิดพันธุ์รุกรานระดับโลกตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 (Global Invasive Species Database – GISD 2008)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บัวตองเจริญเติบโตแพร่พันธุ์ได้ดีมาก เป็นเพราะต้นบัวตองสร้างสารซึ่งเป็นพิษต่อพืชอื่น เรียกว่า สารอัลลีโลพาธี (allelopathy) เช่น ทาจิตินิน (tagitinin A และ tagitinin C) และ ฮิสปิดูลิน (hispidulin) ยับยั้งการเจริญของหน่อและราก และการดูดซึมแร่ธาตุของพืชหลายชนิด

นอกจากนี้บัวตองไม่ใช่จะมีโทษแต่อย่างเดียว ยังมีคุณประโยชน์หากนำมาสกัดให้ถูกวิธี สารสกัดจากใบบัวตองจะมีคุณสมบัติกำจัดแมลงได้ และมีรายงานว่าต้น กิ่ง ใบบัวตองเป็นปุ๋ยให้ไนโตรเจนมาก อย่างไรก็ตามหากเราร่วมมือกันช่วยดูแลและควบคุม ไม่ให้รุกรานมากจนเกินไป แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ทางแหล่งท่องเที่ยวนี้ไว้ เราเชื่อว่าต้องมีจุดกึ่งกลางความสมดุลของประเด็นโต้แย้งนี้อย่างแน่นอน

เรื่อง : อธิวัฒน์

ภาพ : กชพรรณ ทองดี


บัวตอง

รู้จักแมตทิโอลา ไม้ดอกรับฤดูหนาว