ซื้อ บ้านน็อคดาวน์ – บ้านสำเร็จรูปต้องรู้อะไร

การซื้อ บ้านน็อคดาวน์ หรือสร้างบ้านสำเร็จรูป เจ้าของบ้านต้องเตรียมอะไรบ้าง มีข้อจำกัดเรื่องใด ข้อสัญญาส่วนไหนที่ควรรอบคอบ บ้านน็อคดาวน์บ้านสำเร็จรูป

คอลัมน์ Home Expert มีคำตอบจาก The WILD และ BOXMODi ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจบ้านน็อกดาวน์ – บ้านสำเร็จรูป มาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยในการตัดสินใจ และเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้าง บ้านน็อคดาวน์บ้านสำเร็จรูป

ภาพ : The WILD

1 บ้านสำเร็จรูปในตลาดเมืองไทยมีกี่ประเภท

บ้านสำเร็จรูปมีทั้งที่ผลิตด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างเหล็ก และโครงสร้างไม้ โดยคอลัมน์นี้จะพูดถึงเฉพาะบ้านสำเร็จรูปโครงสร้างเหล็ก ซึ่งมี 3 ประเภทตามวิธีการสร้างและติดตั้ง

ภาพ : BOXMODi

1.ประกอบสำเร็จจากโรงงาน แล้วยกทั้งหลังไปตั้งที่หน้างาน มีทั้งการประกอบโครงสร้างเหล็กด้วยการเชื่อมแบบแน่นหนาเพื่อรองรับการยกย้ายทั้งหลัง

ข้อดี

  • สามารถติดตั้งและเก็บงานเสร็จได้ใน 1-3 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดบ้าน
  • ไม่ต้องกองเก็บวัสดุที่หน้างาน จึงไม่ทำให้บริเวณโดยรอบเลอะเทอะ

ข้อจำกัด

  • ขนาดบ้านถูกจำกัดด้วยวิธีการขนส่ง ซึ่งถ้าถนนเข้าพื้นที่ก่อสร้างแคบเกินไป ก็จะไม่เหมาะกับบ้านประเภทนี้ โดยคิดค่าขนส่งตามระยะทาง

2.ประกอบจากโรงงาน 50-80% แล้วยกไปประกอบให้สมบูรณ์ที่หน้างาน มีทั้งการประกอบโครงสร้างเหล็กด้วยการเชื่อม และการร้อยนอตที่สามารถถอดประกอบใหม่ได้ง่าย ทั้งยังลดความเสียหายจากแผ่นดินไหวได้

ข้อดี

  • ยกไปประกอบในพื้นที่แคบ หรือเตี้ยกว่าปกติได้ดีกว่า

ข้อจำกัด

  • ใช้เวลาติตตั้ง 2-5 วัน เพราะต้องเก็บรายละเอียดและความเรียบร้อยมากกว่าแบบแรก
ภาพ : The WILD

3.สร้างที่หน้างาน 100% ใช้สำหรับบ้านที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าการขนส่งตามแบบที่ 1 และ 2

ข้อดี

  • เจ้าของบ้านได้เห็นขั้นตอนในการก่อสร้าง
  • สามารถปรับขนาดและรูปแบบให้เข้ากับขนาดพื้นที่ได้ตามต้องการ
  • เข้าก่อสร้างได้แม้ทางเข้าแคบ เพราะเป็นการขนส่งเฉพาะวัสดุ

ข้อจำกัด

  • ต้องมีการกองเก็บวัสดุที่หน้างาน พื้นที่ก่อสร้างจึงมีโอกาสเลอะเทอะ และใช้พื้นที่เตรียมก่อสร้างมากกว่าแบบอื่น
  • ใช้เวลาก่อสร้างนาน 1-2 เดือน (ขนาด 18-36 ตารางเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน)
  • เจ้าของบ้านจะเสียค่าดำเนินการเพิ่มขึ้น 10-15% ขึ้นอยู่กับขนาดบ้าน เช่น ค่าขนส่งวัสดุ ค่าเดินทาง ค่าควบคุมงาน ค่าที่พักช่าง (ประเภทที่ยกทั้งหลังไปติดตั้งจะไม่มีค่าดำเนินการส่วนนี้)
  • บ้านประเภทนี้มักไม่เหมาะกับการยกย้าย

อ่านเรื่องน่าสนใจ : รวมบ้านตู้คอนเทนเนอร์สวยๆ

ภาพ : The WILD
ภาพ : The WILD
ภาพ : The WILD

2 จุดเด่นของบ้านสำเร็จรูป

การผลิตบ้านสำเร็จรูปในปัจจุบันได้พัฒนาวิธีการก่อสร้างเชิงวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมให้มีคุณภาพสูง จนมีความแข็งแรง ทนทานเทียบบ้านที่ก่อสร้างด้วยวิธีปกติ โดยมีจุดเด่น ดังนี้

  • ติดตั้งเร็วกว่าการสร้างปกติ
  • ควบคุมงบประมาณได้ งบไม่บานปลาย
  • ลดภาระเรื่องแบบก่อสร้าง ทั้งระยะเวลาการออกแบบ ค่าใช้จ่ายในการออกแบบ และไม่มีค่าออกแบบเมื่อใช้แบบสำเร็จรูป
  • เห็นตัวอย่างบ้านจริง และคุณภาพงานก่อสร้างจากบ้านตัวอย่างได้ก่อน จึงตัดสินใจเลือกได้ง่าย
  • สามารถย้ายได้ โดยหลังเล็กยกย้ายได้ทั้งหลัง ส่วนหลังใหญ่สามารถแยกชิ้นส่วนไปประกอบใหม่ได้
  • วางบนพื้นคอนกรีตได้เลย (บ้านขนาดเล็ก) จึงเหมาะกับการสร้างชั่วคราว เช่น ร้านค้าในปั๊มน้ำมัน
  • สร้างในพื้นที่แคบได้
  • พื้นที่หน้างานไม่เลอะเทอะ  มีขยะ ฝุ่นละออง เสียงดังขณะก่อสร้างน้อยกว่าการก่อสร้างปกติ
  • ตัวบ้านมีงานระบบไฟฟ้า ประปา พร้อมใช้งาน
ภาพ : BOXMODi

3 ข้อจำกัดของบ้านสำเร็จรูป

ข้อจำกัดหลักของบ้านสำเร็จรูป คือ การขนส่งโดยรถยนต์ จึงทำให้ตัวบ้านควรมีความสูงไม่เกิน 3.30 เมตร กว้างไม่เกิน 3 เมตร และยาวไม่เกิน 12 เมตร (ขนาดแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกันเล็กน้อย) โดยมีข้อควรพิจารณาในการขนส่งดังนี้

  • ถนนทางเข้าบ้านควรกว้างกว่า 6 เมตร (ระยะรถสวนได้) ถ้าเป็นถนนเดินรถทางเดียว ควรกว้างอย่างน้อย 4 เมตร ซึ่งถนนในเมืองไทยจะอยู่ในระยะนี้ จึงสามารถเข้าถึงได้เป็นส่วนใหญ่
  • ถนนไม่โค้งหักศอก เพราะหากตัวบ้านยาว จะใช้รถเทรเลอร์ในการขนส่ง ซึ่งยาวถึง 14 เมตร ถ้าถนนเล็กจะไม่สามารถเลี้ยวโค้งหักศอกได้ หากไม่แน่ใจ สามารถส่งรูปภาพและคลิปวิดีโอให้ทางบริษัท หรือทางบริษัทจะส่งเจ้าหน้าที่ไปดูหน้างานให้ (ส่วนมากเป็นบริการของบริษัทซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย)
  • สิ่งกีดขวางที่ต้องลอดผ่าน เช่น ความสูงสายไฟ สะพาน ต้องมีระยะสูงไม่น้อยกว่า 4.50 เมตร เพื่อให้รถเทรเลอร์หรือรถเฮี๊ยบ(รถบรรทุกที่มีเครนยกของในตัว) ที่บรรทุกตัวบ้านสามารถลอดผ่านไปได้
  • ความลาดชันของถนนไม่ลาดเอียงเกินไป ซึ่งมักเป็นถนนต่างจังหวัดพื้นที่ภูเขา หากไม่แน่ใจ สามารถส่งรูปภาพและคลิปวิดีโอให้ทางบริษัท หรือทางบริษัทจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจให้ (ส่วนมากเป็นบริการของบริษัทซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย)
บ้านน็อคดาวน์บ้านสำเร็จรูป
ภาพ : BOXMODi
ภาพ : BOXMODi
บ้านน็อคดาวน์บ้านสำเร็จรูป
ภาพ : BOXMODi

4 การสร้างบ้านกรณีใดที่เหมาะกับการใช้บ้านสำเร็จรูป

การใช้บ้านสำเร็จรูปเหมาะกับหลายวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น

  • บ้านพักอาศัย
  • บ้านพักตากอากาศ การสร้างบ้านที่ต่างจังหวัด เจ้าของบ้านจะต้องเดินทางไปดูหน้างานบ่อยครั้ง อย่างถ้าบ้าน 3 ห้องนอน  3 ห้องน้ำ ถ้าเป็นบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก อาจใช้เวลาประมาณ 1 ปี แต่ถ้าเป็นบ้านสำเร็จรูป จะสร้างเสร็จได้ประมาณ 60 วัน จึงลดความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายอื่นไปในตัว
  • การต่อขยายบ้านจากบ้านเดิม สำหรับใช้พักผ่อน ห้องออกกำลังกาย ห้องซ้อมดนตรี ห้องรับรองแขก ห้องผู้สูงอายุ ห้องสัตว์เลี้ยง ห้องเก็บของ
  • เรือนกระจกปลูกต้นไม้
  • บ้านพักในรีสอร์ต
  • ร้านค้า ร้านกาแฟ บนที่พื้นเช่า
  • ออฟฟิศ หรือสำนักงานขายชั่วคราว

5 ก่อนจะไปคุยกับบริษัทบ้านสำเร็จรูป เจ้าของบ้านควรเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง

การเตรียมตัวคล้ายกับการออกแบบและสร้างบ้านตามปกติ แต่มีส่วนเพิ่มเติมคือ การเตรียมข้อมูลด้านเส้นทางเข้า-ออก เพื่อช่วยให้บริษัทประเมินวิธีการก่อสร้างและขนส่งได้

  • ความต้องการในการใช้งานของเจ้าของบ้าน เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง ประโยชย์ใช้สอย จำนวนห้องต่างๆ เพื่อให้บริษัทออกแบบให้ตรงตามความต้องการได้ (มีทั้งการสั่งผลิตแบบใหม่ การปรับจากแบบมาตรฐานที่มี และใช้ตามแบบมาตรฐาน)
  • สไตล์บ้านและความชอบ
  • งบประมาณ
  • รูปถ่ายพื้นที่หน้างาน เพื่อวิเคราห์การออกแบบบ้าน และการติดตั้งให้เหมาะกับพื้นที่
  • ขนาดพื้นที่ รูปทรงที่ดิน ทางเข้า-ออก และสิ่งกีดขวางต่างๆ

6 การขนส่งบ้านเข้าพื้นที่ เจ้าของบ้านต้องแจ้งใครบ้าง

ถ้าพื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่โล่ง ไม่อยู่ในโครงการ และถนนกว้าง จะสามารถให้บริษัทยกไปวางได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งใคร แต่มี 2 กรณีที่เจ้าของบ้านจำเป็นต้องประสานงานก่อนการขนส่งบ้านมาติดตั้ง

  1. พื้นที่อยู่ในโครงการหมู่บ้าน เจ้าของบ้านจะเป็นผู้แจ้งกับนิติบุคคลของโครงการก่อน
  2. พื้นที่อยู่ในซอยแคบ มีรถเพื่อนบ้านจอดริมทาง มีรถผ่านเข้า-ออกบ่อย หรือมีต้นไม้ กิ่งไม้ยื่นล้ำมาในถนนสาธารณะ โดยเจ้าของบ้านต้องแจ้งทางบริษัท เพื่อหาช่วงเวลาขนส่งที่มีสิ่งกีดขวางน้อยที่สุด รวมทั้งเจ้าของบ้านต้องไปพูดคุยกับเพื่อนบ้าน เพื่อให้ช่วยเลื่อนรถในวันเวลาที่มีการขนส่งบ้าน หรือขอตัดแต่งกิ่งไม้ในส่วนที่ยื่นล้ำมาในถนนสาธารณะ หากรถที่บรรทุกบ้านไม่สามารถผ่านได้
บ้านน็อคดาวน์บ้านสำเร็จรูป
ภาพ : The WILD

7 งบประมาณ และราคาต่อตารางเมตรประมาณเท่าไหร่

ในกรณีที่เลือกบ้านสำเร็จรูปตามแบบมาตรฐานจะคิดเป็นราคาเป็นแพ็กเกจต่อหลังที่รวมค่าก่อสร้าง ค่าติตตั้ง ค่าขนส่ง(ตามระยะทาง) และอุปกรณ์ภายในบ้านตามที่ระบุในแพ็กเกจ ซึ่งราคาจะแตกต่างกันตามคุณภาพและดีไซน์ ส่วนกรณีเป็นบ้านสำเร็จรูปที่ออกแบบใหม่ สามารถประเมินราคาเบื้องต้นได้ โดยคิดเป็นราคาต่อตารางเมตรคร่าวๆดังนี้

  • บ้านไม่รวมงานฐานราก ตารางเมตรละประมาณ 17,000 – 18,000 บาท บ้านที่ไม่ต้องทำฐานรากใช้ในกรณีที่นำบ้านไปตั้งบนพื้นคอนกรีตเดิมที่แข็งแรง (การวางบ้านจะเป็นการกระจายน้ำหนัก สามารถวางพื้นที่แข็งแรงได้) หรืกรณีที่เจ้าของบ้านเป็นผู้เตรียมฐานรากเอง
  • บ้านรวมงานฐานราก ตารางเมตรละประมาณ 20,000 – 22,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับสเป็กบ้านที่เลือก

รวมไอเดียวัสดุฟาซาด บังแดด บังตา เพิ่มคาแร็กเตอร์ให้บ้าน