โล่รางวัล

โล่รางวัล 10 บ้านน่าอยู่ 10 สวนสวย และบ้านและสวน Awards ประจำปี 2565

โล่รางวัล
โล่รางวัล

โล่รางวัล 10 บ้านน่าอยู่ 10 สวนสวย ประจำปี 2565 และบ้านและสวน Awards’22 ที่นิตยสารบ้านและสวน ร่วมงานกับทีมออกแบบจาก ดอยตุง โดยใช้เศษฝ้ายเป็นวัสดุประกอบในการทำโล่ด้วยการหล่อปูนหลายหินขัด(Terrazzo)

ไม่ว่าจะเป็นแค่คนตัวเล็ก ครอบครัวเล็กๆ หรือองค์กรขนาดจะเล็กหรือใหญ่ก็มีส่วนร่วมช่วยกันทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นได้ เพียงแค่รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อไม่เพิ่มขยะให้โลกโดยไม่จำเป็น รวมถึงดูแลรักษาพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวมให้เหมาะสม น่าอยู่ ปลอดภัย และยั่งยืน นั่นเป็นแนวคิดหลักที่เกิดขึ้นในงานบ้านและสวนแฟร์ 2022 “Worthy Living” ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงการทำโล่รางวัล 10 บ้านน่าอยู่ 10 สวนสวยประจำปี 2565 และบ้านและสวน Awards’22 ด้วยเช่นกัน

ทุกๆ สิ้นปี นิตยสารบ้านและสวนจะคัดเลือกบ้านและสวนที่สวยที่สุดประจำปีนั้นๆ เพื่อมอบรางวัลให้ทั้งเจ้าของบ้าน สถาปนิก และนักจัดสวนทุกคน พร้อมกับจัดทำโล่รางวัลพิเศษขึ้นมาในแต่ละปีเพื่อแทนคำขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ได้ลงแรงลงใจในการออกแบบและสร้างบ้านหรือจัดสวนสวยๆ รวมถึงในปีนี้ยังมีรางวัลบ้านและสวน Awards ’22 ซึ่งคัดเลือกบ้านที่นิตยสารบ้านและสวนเคยนำเสนอไปตั้งแต่ปี 2562 แบ่งเป็น 5 หมวดรางวัล ได้แก่ บ้าน Well-being บ้านประหยัดพลังงาน บ้านรีโนเวต บ้านหลายวัย และบ้านรักสัตว์เลี้ยง เพื่อเป็นเสมือนตัวแทนบ้านแห่งยุคที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยในปัจจุบัน โดยได้ทีมนักออกแบบจาก ดอยตุง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาช่วยพัฒนาออกแบบและจัดทำกระบวนการผลิตโล่รางวัลที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตงานหัตถกรรมของชุมชน นั่นคือเศษฝ้ายที่เหลือใช้จากงานทอผ้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของ ดอยตุง มาใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการเปลี่ยนขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านการ Upcycling ที่ช่วยยืดอายุของเหลือใช้ไม่ให้กลายเป็นขยะ แต่นำกลับมาพัฒนาให้เป็นของชิ้นใหม่ที่เหมือนได้ต่อลมหายใจให้สิ่งแวดล้อมไปในตัว

รูปทรงของโล่รางวัลนั้น ดร.กฤษณ์ เย็นสุดใจ หัวหน้าทีมออกแบบของ ดอยตุง ได้แรงบันดาลใจมาจากกรอบรูปตั้งโต๊ะที่มีมุมของการมองอยู่ในระดับ 60 องศา ซึ่งพอดีกับแนวสายตา ด้านหน้าของโล่รางวัลเป็นรูปทรงจั่วสื่อถึงสัญลักษณ์อันเรียบง่ายและคลาสสิกของความเป็นบ้าน อีกทั้งแฝงนัยถึงความคลาสสิกของนิตยสารบ้านและสวนที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน 46 ปี และการทำให้โล่รางวัลมีลักษณะเอนไปด้านหลังนั้นยังเพิ่มมิติการมองให้น่าสนใจขึ้น พร้อมช่วยเสริมความแข็งแรงภายใต้รูปทรงที่ดูคล้ายดินสอไม้ตั้งอยู่ เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่แทนถึงการขีดเขียนและการออกแบบในงานสถาปัตยกรรม

คุณจิม-จักรายุธ์ คงอุไร และคุณยิม-ไพรสณ แววบัณฑิตระยับ สองผู้ช่วยพัฒนาการออกแบบโล่รางวัลได้เล่าถึงการทำงานครั้งนี้ว่า “ตอนแรกเรานึกถึงเปลือกแมคคาเดเมียกับเศษฝ้ายซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ที่เรามีอยู่เยอะมาก แต่สุดท้ายตัดสินใจเลือกใช้เศษฝ้าย เพราะเป็นทางเลือกที่เชื่อมโยงไปถึงงานหัตถกรรมได้ดี มีความเป็น Sustainable Design และเข้ากับความเป็น ‘บ้านและสวน’ ด้วย โดยกระบวนการแรกคือเราเลือกเศษฝ้ายที่คัดแยกแบ่งไว้เป็นหมวดสีตามโทนต่างๆ ที่ต้องการใช้ ซึ่งก่อนนี้ก็เคยนำไปเป็นส่วนผสมในกระดาษสาหรือเย็บต่อกันเป็นปลอกหมอนมาแล้ว แต่จะนำมาขึ้นรูปทรงอย่างไรให้เป็นโล่รางวัล เราเลยคิดถึงการหล่อปูนลายหินขัด (Terrazzo) ที่ผสมเศษฝ้ายเข้าไปด้วยเพื่อสร้างลวดลาย โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบสามมิติ (3D Printing) ทำต้นแบบตัวโล่รางวัลขึ้นมาก่อน แล้วจึงทำแม่พิมพ์ซิลิโคนหล่อปูนต่อไป

คุณไพรสณ แววบัณฑิตระยับ คุณศตายุ เฉลิมสวัสดิ์วงศ์ และคุณจักรายุธ์ คงอุไร

จากนั้นก็เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ดอยตุง กับ สตูดิโอ Humemeในกรุงเทพฯ ซึ่งเราต่างก็มีความเชื่อในเรื่องนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Upcycling เหมือนๆ กัน และก็เป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาช่างฝีมือของ ดอยตุง ในจังหวัดเชียงรายให้ได้มีประสบการณ์และทักษะอาชีพชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สะท้อนงานฝีมืออันสวยงามซึ่งเป็นหัวใจหลักของ ดอยตุง ผสานไปกับความคงทนถาวรจากการผลิตกึ่งอุตสาหกรรมของสตูดิโอในกรุงเทพฯ”

จากเศษฝ้ายที่คัดเลือกโทนสีมาแล้วจาก ดอยตุง จึงส่งต่อมาถึงมือ คุณเอิร์ท-ศตายุ เฉลิมสวัสดิ์วงศ์ นักออกแบบแห่ง สตูดิโอ Humeme เพื่อใช้เป็นส่วนผสมร่วมกับผงปูนและขึ้นรูปให้เป็นโล่รางวัลตามที่ออกแบบไว้ โดยคุณเอิร์ทเล่าถึงขั้นตอนการทำจากนี้ว่า

“ที่จริงผมยังไม่เคยทำงานจากเศษฝ้ายมาก่อน ก็เลยต้องทดลองเรื่องปริมาณเพื่อความเหมาะสมซึ่งอยู่ที่ประมาณ 40 กรัมต่อโล่ 1 ชิ้น ปัญหาแรกที่เจอคือฝ้ายมันดูดน้ำและในกระบวนการหล่อปูนต้องผสมน้ำเพื่อทำปฏิกิริยาขึ้นรูป ผมเลยแก้ปัญหาด้วยการนำฝ้ายไปแช่น้ำก่อน จากนั้นค่อยมาผสมกับผงปูน ใส่สีฝุ่นเพื่อทำให้โล่มีสีตามที่ออกแบบไว้คือสีครีม เทา และส้ม แล้วยังเพิ่มเศษชิ้นปูนสีขาวสีดำเข้าไปด้วยเพื่อให้ลวดลายมีลูกเล่นและโดดเด่นสวยงามขึ้นอีก ซึ่งแต่ละชิ้นก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีลวดลายออกมาอย่างไร เพราะนี่เป็นเสน่ห์ของงานโฮมเมดและทำให้โล่รางวัลทุกชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต่างกัน พอได้ส่วนผสมครบแล้วก็นำมาเทใส่แม่พิมพ์ซิลิโคน แล้วก็รอให้ชิ้นงานได้เซ็ตตัวราว 1 ชั่วโมง ค่อยแกะออกมาขัดผิวรอบๆ เพื่อให้สีสันและลวดลายของเศษฝ้ายกับเศษปูนชัดเจนขึ้น พอนำไปตากจนแห้งสนิทดีแล้วถึงเคลือบผิว และขั้นตอนสุดท้ายคือพิมพ์ชื่อผู้รับรางวัลและรายละเอียดต่างๆ ลงไปด้วยเทคนิค UV Screen”

โล่รางวัลประจำปีนี้จึงเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่ดีต่อชุมชนและดีต่อโลกจากทั้งของนิตยสารบ้านและสวน ดอยตุง และ สตูดิโอ Humeme โดยผู้ออกแบบยังได้ฝากความรู้สึกทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติที่นิตยสารบ้านและสวนไว้วางใจแบรนด์ไทยอย่าง ดอยตุง กับสตูดิโอ Humemeให้มาสร้างสรรค์งานฝีมือให้คนไทยด้วยกัน และยังให้ความสำคัญกับ Sustainable Design ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างคุณค่าใหม่ พวกเราตั้งใจทำโล่รางวัลชิ้นนี้มาก ใส่ใจทุกรายละเอียด เพราะเข้าใจดีว่ากว่าจะได้บ้านน่าอยู่หรือสวนสวยมานั้นต้องอาศัยความพิถีพิถันและใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอนเช่นกัน หวังว่าทุกท่านจะชอบโล่รางวัลนี้ ที่เป็นเหมือนบ้านหลังเล็กๆ ในลวดลายและสีสันที่ไม่เหมือนกันเลย และยังเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถวางประดับไว้ในบ้านได้อย่างภาคภูมิใจ”

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

ชมรายชื่อ 10 บ้านน่าอยู่ ประจำปี 2565

ชมรายชื่อ 10 สวนสวย ประจำปี 2565

5 บ้านที่ได้รางวัลบ้านและสวนAwards