FLUTD ; feline lower urinary tract disease

แมวปัสสาวะไม่ออก เกิดจากสาเหตุอะไร?

FLUTD ; feline lower urinary tract disease
FLUTD ; feline lower urinary tract disease

กลุ่มอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะส่วนล่างในแมว (FLUTD ; feline lower urinary tract disease) เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในแมว อาการที่พบได้แก่ แมวปัสสาวะไม่ออก ปวดเบ่งเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะมีเลือดปน ใช้เวลาในการปัสสาวะนานกว่าปกติ เลียอวัยวะเพศบ่อยๆ ปัสสาวะผิดที่หรือปัสสาวะนอกกระบะทราย มีอาการปวดเกร็งบริเวณแถวช่องท้อง

กลุ่มอาการนี้พบมากในแมวพันธุ์แท้ที่ขนยาว เช่น พันธุ์เปอร์เซีย พันธุ์ฮิมาลายัน ส่วนในแมวพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงแมวไทย สามารถพบได้เช่นกัน ความผิดปกตินี้พบบ่อยในแมวที่มีช่วงอายุระหว่าง 2-6 ปี พบมากในแมวเพศผู้ที่ทำหมัน แมวที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือ แมวอ้วน แมวที่ออกกำลังกายน้อย แมวที่กินอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด แมวที่มีนิสัยกินน้ำน้อย แมวปัสสาวะไม่ออก

สาเหตุที่ทำให้แมว เกิดความผิดปกตินั้นพบว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ

1. ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ที่ไม่ทราบสาเหตุ (Feline Idiopathic Cystitis : FIC) ซึ่งพบได้บ่อยมากในแมว  แมวจะมีอาการ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่เมื่อตรวจแล้วไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ปัจจัยโน้มนำที่ทำให้เกิดคือ ความเครียด และ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆรอบตัวแมว

2. นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (Urolithiasis) นิ่ว เป็นอีกสาเหตุนึ่งที่พบได้บ่อยในแมว ที่มีกลุ่มอาการ FLUTD นิ่ว คือ ก้อนหินปูน หรือ ผลึกเกลือแร่ ซึ่งเกิดในระบบทางเดินปัสสาวะ ก้อนนิ่วจะก่อให้เกิดการระคายเคือง ต่อระบบทางเดินปัสสาวะ และ บางรายสามารถอุดตันในทางเดินปัสสาวะได้ ชนิดของนิ่วที่สามารถพบได้บ่อยในแมว ได้แก่ struvite และ calcium oxalate

3. การอุดตันของท่อปัสสาวะ (Urethral Obstruction)  การอุดตันในท่อทางเดินปัสสาวะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ และ มักเกิดในเพศผู้ มากกว่าเพศเมีย เนื่องจาก ท่อทางเดินปัสสาวะในแมวเพศผู้ เป็นท่อที่ยาว และ แคบเมื่อเทียบกับเพศเมีย จึงทำให้เกิดการอุดตันได้บ่อยกว่า สาเหตุอาจเกิดได้จาก การอุดตันจากก้อนนิ่ว , การอุดตันจากเศษเซลล์ urethral plug  , การได้รับบาดเจ็บบริเวณท่อปัสสาวะทำให้เกิดการตีบแคบ หรือ การอักเสบเรื้อรัง

ส่วนสาเหตุอื่นๆของ FLUTD ที่พบได้ในแมว

เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  การเกิดการตีบแคบของท่อทางเดินปัสสาวะ การเกิดเนื้องอก และ ปัญหาเรื่องพฤติกรรม เป็นต้น

แมวปัสสาวะไม่ออก
แมวปัสสาวะไม่ออก
Pic 1. ลักษณะท่าทางปกติ และ ท่าทางที่ผิดปกติในการปัสสาวะของแมว
แมวปัสสาวะไม่ออก
Pic 2. ลักษณะท่าทางที่ผิดปกติในการปัสสาวะของแมว

การวินิจฉัย

การวินิจฉัย เพื่อหาสาเหตุของกลุ่มอาการ FLUTD สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การวินิจฉัยทางรังสีวิทยา การอัลตร้าซาวด์  ตรวจเลือด  การตรวจปัสสาวะ เป็นต้น

การรักษา

การรักษาแมว ที่เป็นกลุ่มอาการระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว ขึ้นอยู่กับว่า ตรวจพบความผิดปกติจากสาเหตุอะไร เช่น หากตรวจพบก้อนนิ่ว ในกระเพาะปัสสาวะ ควรทำการสลายนิ่ว ด้วยโภชนาบำบัด หรือ ผ่าตัดเอานิ่วออก ถ้ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ก็จะมีการให้ยาปฏิชีวนะคุมการติดเชื้อ หากมีการอุดตัน จะทำการสวนท่อปัสสาวะ การผ่าตัดแก้ไขการอุดตัน เป็นต้น ซึ่งในภาวะที่เกิดการอุดตันเฉียบพลัน ในทางเดินปัสสาวะบางราย อาจทำให้แมวมีอาการแย่จากภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ภาวะไตวายเฉียบพลัน เลือดเป็นกรด ขาดน้ำรุนแรง ซึ่งต้องรีบได้รับการรักษา และ แก้ไขภาวะการอุดตันโดยด่วน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

การจัดการคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการนี้ ได้แก่

1. ควรตั้งน้ำสะอาด ไว้ให้แมวกินเสมอตลอดทั้งวัน เพื่อให้แมวได้กินน้ำมาก เป็นการขับเอาตะกอน ออกไปกับปัสสาวะ

2. ควบคุมน้ำหนักตัวของแมว อย่าเลี้ยงแมวให้อ้วนเกินไป เนื่องจาก แมวอ้วน มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้ถึง 3 เท่าของแมวที่มีน้ำหนักตัวปกติ

3. หลีกเลี่ยง ปัจจัยที่ทำให้แมวเกิดความเครียด การเลี้ยงแมวจำนวนมากในพื้นที่จำกัด  การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวแมวบ่อย ๆ เป็นต้น

4. ควรตั้งกระบะทรายในบริเวณที่สงบ จำนวนกระบะ ต้องเพียงพอต่อจำนวนแมว (มักจะให้เท่ากับจำนวนแมวในบ้าน หรือ มากกว่าจำนวนแมวหนึ่งกระบะ) ทำความสะอาด และ เปลี่ยนทรายอย่างสม่ำเสมอ

แมวปัสสาวะไม่ออก

บทความโดย

สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์

Piyawun Phurahong , DVM

สัตวแพทย์ประจำคลินิกโรคแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

ติดตามบทความดีๆจากพวกเราได้ที่

Facebook : บ้านและสวน Pets