แมวเปอร์เซีย (Persian) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

แมวเปอร์เซีย มีต้นกำเนิดในเถบเปอร์เซีย (เป็นที่ตั้งประเทศตุรกี และอิหร่านในปัจจุบัน) นักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับพวกมันในปีค.ศ. 1684 โดยพ่อค้าชาวเปอร์เซียนมักบรรทุกสินค้ามากมาย และได้ปรากฏแมวพันธุ์ขนยาวติดมากับกองคาราวานสินค้าด้วย อีกหลักฐานหนึ่งได้กล่าวบรรพบุรุษของแมวเปอร์เซียได้ถูกนำเข้ามายังยุโรปตั้งแต่ช่วง ปีค.ศ. 1620 แล้วได้รับความนิยมในยุโรปอย่างมาก และแพร่กระจายไปทั่วยุโรป

จากนั้นในช่วงปลายปีศตวรรษที่ 19 นักพัฒนาสายพันธุ์แมวชาวอังกฤษได้นำแมวเปอร์เซียสมกับสายพันธุ์อื่น เพื่อต้องการให้พวกมันมนขนที่ยาวและหนากว่าเดิม ซึ่งเป็นจุดเด่นของสายพันธุ์ในปัจจุบัน จึงได้มีการนำไปขยายพันธุ์ในสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี ค.ศ.1900 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแมวพันธุ์นี้ก็ได้รับการยอมรับในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และเป็นหนึ่งในแมวที่มีคนนิยมเลี้ยงมากที่สุดในโลกอีกด้วย

ลักษณะทางกายภาพ

แมวเปอร์เซีย เป็นแมวขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ มีโครงสร้างกระดูกที่ใหญ่และแข็งแรง โดยเพศเมียมีน้ำหนักอยู่ราว 3-5 กิโลกรัม ในขณะที่เพศผู้มีน้ำหนักได้ถึง 4-6 กิโลกรัม หัวและหน้ากลม หน้าผากโหนก แก้มมีโหนกเต็ม ดวงตากลมโต และอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกัน มีจมูกที่หักที่เป็นจุดเด่นบนใบหน้า จากคำอธิบายของ The Cat Fanciers Association (CFA) ได้ระบุลักษณะสายพันธุ์ไว้ว่า โครงสร้างลำตัวสั้นและกลม หัวกลมมน คอสั้น ขาสั้นเตี้ย หูเล็กมีปลายหูที่กลมมน และอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกัน หางสั้นตรงและฟูคล้ายกับหางกระรอก จมูกเป็นสั้นและหัก ขนยาวหนาฟู มีท่วงท่าการเดินดูสง่างาม แต่มีจุดเด่นที่ใบหูพับลงไปข้างหน้า และพับลงต่ำ ซึ่งบางตัวมีปากโค้งได้รูปรับกับคางพอดี

ขนของแมวเปอร์เซียจะมีความยาวและหนาฟู มีความมันวาว เป็นหนึ่งในสายพันธุ์แมวขนสวยเงางาม เส้นขนของแมวเปอร์เซียจะยาวตลอดทั้งลำตัว และมีขนเส้นเล็กแซมระหว่างขาหน้า ใบหู นิ้วเท้า และที่หาง ส่วนสีขนของแมวเปอร์เซียที่มักจะพบเห็นบ่อยจะเป็น สีขาว สีดำ สีน้ำเงิน สีครีม สีแดง และสีช็อกโกแลต โดยมีได้หลายรูปแบบทั้งสีเดียวตลอดตัว สองสี หรือสายสี ส่วนสีดวงตาก็จะเป็นสีเดียวกับสีขน นอกจากสีที่มีหลากหลายแล้ว ลวดลายก็มีหลายแบบเช่นกัน โดยอาจจะพบขนสีหลักและแซมด้วยสีเงิน ทอง ดำ ทำให้เกิดเป็นเฉดสีหลายแบบและลายต่างๆ เช่น สีควันบุหรี่ ลายแบบสลิด สองสี เป็นต้น

อายุขัย

เปอร์เซียมักมีอายุประมาณ 8-15 ปี หรือมากกว่านั้น

ลักษณะนิสัย

เปอร์เซียมักมีนิสัยที่สงบเสงี่ยม สุภาพ อ่อนโยน ฉลาด และมีนิสัยว่านอนสอนง่าย ชอบที่จะนั่งนิ่ง ๆ อยู่ข้างกายเจ้าของ อีกทั้งยังสามารถปรับตัวได้ดี แต่จะไม่ค่อยชอบใจเมื่ออยู่ในสถานที่มีเสียงดัง เพราะพวกมันค่อนข้างรักสงบ รวมๆแล้วเป็นแมวที่มีนิสัยง่าย ๆ ไม่ค่อยก่อกวนเจ้าของและรวมถึงไม่ค่อยแสดงออกว่าต้องการความรัก ความสนใจจากเจ้าของเท่าไหร่

การเข้ากับเด็ก

พวกมันมีความเป็นมิตรกับครอบครัว และยังเข้ากับเด็กๆ ได้ดี แต่ด้วยนิสัยชอบอยู่เงียบ ๆ บางครั้งอาจจะไม่ค่อยชอบให้ถูกรบกวนมากนัก อาจต้องอาศัยความคุ้นเคยเพื่อให้สัตว์เลี้ยง และเด็ก ๆ คุ้นชินกัน และจำเป็นจะต้องฝึกให้อยู่ร่วมกันตั้งแต่อายุยังเล็ก ๆ

การดูแล

การออกกำลังกาย

การเลี้ยงแมวพันธุ์เปอร์เซียนั้นการออกกำลังหนักอาจจะไม่จำเป็นมากนัก เพียงให้แมวได้ใช้พลังงานในแต่ละวันบ้าง การเล่นกับเจ้าของเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้แมวออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง อีกทั้งยังดีกับสภาพจิตใจ ทำให้แมวไม่รู้สึกเบื่อ

อาหาร

สารอาหารที่จำเป็นสำหรับแมวเปอร์เซียควรมีสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย และกิจกรรมในแต่ละวัน เพียงให้อาหารที่เหมาะสมและปริมาณแคลอรี่ที่เพียงพอต่อสัตว์ โดยปริมาณแคลอรี่ที่แนะนำต่อวันในแมวคือ 60 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) แต่การให้อาหารแมวในแต่ละช่วงวัยก็มีความแตกต่าง และอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความสวยงามของแมวด้วยเช่นกัน ผู้เลี้ยงก็ต้องใส่ใจกับความสะอาดของอาหารพอสมควร เพราะ อาหารที่บูดเสียก็อาจส่งผลต่อสุขภาพของแมวได้

โรคประจำพันธุ์

  • โรคผิวหนัง
    • การติดเชื้อที่หู (Ear Infection)
    • การติดเชื้อราในแมว (Dermatophytosis)
  • โรคระบบประสาท
    • โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก หรือเกิดจากบาดแผลทางใจ (Separation Anxiety Disorder)
  • โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy : HCM)
  • โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
  • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    • ภาวะก้อนขนอุดตัน (Hairball obstruction)
    • ภาวะหลอดเลือดดำที่ตับลัดเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด (Portosystemic Shunts : PSS)
  • โรคระบบทางเดินปัสสาวะและไต
    • โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างของแมว (Feline Lower Urinary Tract Disease : FLUTD)
    • ภาวะเกิดถุงน้ำภายในไต (Polycystic Kidney Disease : PKD)
  • โรคระบบทางเดินหายใจ
    • โรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติของสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic Syndrome)
  • โรคตา
    • ภาวะไม่มีเปลือกตาตั้งแต่กำเนิด (Eyelid Agenesis)
    • โรคต้อกระจก (Cataract)
    • โรคเชอร์รี่อาย (Cherry Eye)
    • โรคเปลือกตาม้วนออก (Ectropion Eyelids)
    • คราบน้ำตา (Tear Staining) จากการที่ร่างกายผลิตน้ำตามากเกินไป

เรื่อง : ชนิฏฐา กล้าแข็ง

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่