ผีบ้านผีเตือนกับ 13 เรื่องอันตรายในบ้าน

แม้จะอยู่บ้านก็เกิดอันตรายได้ ซึ่งหากไม่ระวังหรือไม่ซ่อมแซมบ้านและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี ก็อาจก่อให้เกิดเรื่องเศร้าขึ้นมาได้ ช่างประจำบ้านจึงเป็นเสมือน “ผีบ้านผีเตือน” ที่จะช่วยเตือนภัยกับ 13 จุดอันตรายในบ้าน มีอะไรบ้างมาดูกัน

ประตูรั้วล้ม อันตรายในบ้าน
ภาพ : ข่าวอมรินทร์ทีวี

ประตูรั้วล้ม

ปัญหาที่หลายคนไม่คาดฝันอย่าง ประตูรั้วล้ม อันตรายในบ้าน ที่ถึงกับทำสมาชิกในบ้านบาดเจ็บและเสียชีวิตกันไม่น้อย โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุความแข็งแรงและน้ำหนักของบานประตูนั้นไม่สัมพันธ์กัน การเสื่อมสภาพของวัสดุ และการติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งวิธีป้องกันเบื้องต้นนั้นควรเลือกช่างที่มีความประสบการณ์ในการติดตั้ง เลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ และหมั่นดูแลรักษาทั้งล้อเลื่อน รางเลื่อน และลูกล้อด้านบน เนื่องจากประตูรั้วล้อเลื่อนที่ทำจากเหล็กต้องเจอกับสภาพอากาศต่างๆ โดยตรงตลอด 24 ชม. ซึ่งมีโอกาสสูงในการเกิดสนิม หมั่นขัดสนิมและทำสีใหม่ ตลอดจนติดตั้งเสากันประตูล้มให้ยึดจากด้านบนจนถึงพื้นดิน เพื่อป้องกันประตูตกรางและล้มลงมา ประตูรั้วล้ม อันตรายในบ้าน

ลูกบิดประตูห้องน้ำต้องเปิดได้ยามฉุกเฉิน

เป็นเรื่องสำคัญที่ลูกบิดประตูห้องน้ำต้องใช้ชนิดที่ปลดล็อกจากด้านนอกได้ ซึ่งไม่ต้องใช้กุญแจไข เพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือยามฉุกเฉินได้ อีกทั้งติดตั้งประตูให้เปิดออกหรือใช้ประตูบานเลื่อน ซึ่งหากมีกรณีล้มในห้องน้ำขวางหน้าประตูก็ยังสามารถเปิดเข้าไปช่วยเหลือได้ หรือบ่อยครั้งมักเกิดปัญหาลูกบิดล็อคเองอันเนื่องมากจากการเกิดสนิม ก็สามารถเปิดได้ด้วยการสอดแผ่นแข็งๆ เช่น บัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้แล้วระหว่างช่องประตูใต้ลูกบิด จากนั้นก็ค่อยๆ ดันบัตรขึ้นผ่านตำแหน่งลูกบิดประตู เท่านี้ประตูที่ล็อคก็สามารถเปิดได้แล้ว

งู ตะขาบ สัตว์มีพิษเข้าบ้าน

สัตว์และแมลงไม่พึงประสงค์โดยมากจะแอบเข้ามาตามท่อ ตามรอยร้าวของผนังและช่องเปิดของบล็อกช่องลม โดยที่พบได้บ่อยตามข่าว คือ การพบงูในโถสุขภัณฑ์ซึ่งมักมาตามบ่อเกรอะหรือท่อที่เกิดการแตกร้าว โดยเราสามารถป้องกันสัตว์หรือแมลงมีพิษไม่ให้เข้ามาในห้องน้ำได้ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์กันงูภายในโถสุขภัณฑ์ตั้งแต่แรกเริ่ม นอกจากนั้นยังต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดบริเวณบ้านและตัดแต่งกิ่งต้นไม้อยู่เสมอเพื่อป้องกันหนู จิ้งจก ตุ๊กแก กบซึ่งเป็นอาหารของงูและตะขาบเข้ามายังบริเวณบ้าน

ไฟไหม้ครัวจากการวางตำแหน่งเตาผิด

ตำแหน่งของเตาหุงต้มนั้นไม่ควรตรงกับหน้าต่างหรือพัดลม เนื่องจากขณะทำอาหารกระแสลมที่พัดเข้ามาอาจพัดพาประกายไฟหรือพัดวัตถุติดไฟง่ายต่างๆ ในครัวสัมผัสประกายไฟจนเกิดเป็นเพลิงไหม้ในที่สุด โดยวิธีที่ปลอดภัยบริเวณตำแหน่งเตาหุงต้มควรเป็นผนังทึบ อาจกรุด้วยหินหรือกระเบื้องผนังผิวมันที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย เสริมด้วยการติดตั้งเครื่องดูดควันที่ได้มาตรฐานเพื่อดูดควันและกลิ่นอาหารออกไปจากห้องครัว

ฝ้าหล่น ฝ้าทะลุ

ฝ้าหล่น ฝ้าทะลุ มักเกิดจากความชื้นที่สะสมบนฝ้าเป็นเวลานาน หรือมีน้ำรั่วซึมปริมาณมากจนฝ้ารับน้ำหนักไม่ไหว เช่น ท่อน้ำใต้ห้องน้ำรั่วซึม และหลังคารั่ว ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการติดตั้งหลังคาที่ไม่ได้มาตรฐาน การเลือกใช้ชนิดหลังคาผิดประเภท ไปจนถึงเหตุสุดวิสัยอย่างกิ่งไม้หล่นทับ หรือหากกรณีร้ายแรงก็อาจทำให้ฝ้าเพดานนั้นถล่มลงมาได้เช่นกันหากโครงสร้างของฝ้าเพดานนั้นไม่แข็งแรงพอ วิธีป้องกันเบื้องต้น หากพบคราบน้ำที่ฝ้าเพดาน ควรรีบตรวจสอบหาจุดรั่วซึมและแก้ไขก่อนปัญหาจะลุกลาม และควรทำช่องฝ้าเซอร์วิสให้เปิดขึ้นไปดูใต้หลังคาและใต้พื้นห้องน้ำได้ ก็จะช่วยให้การตรวจสอบและแก้ไขง่ายขึ้น

สนิมกินโครงสร้าง

ความชื้นเป็นสาเหตุหลักที่เหล็กเสริมภายในคอนกรีตเกิดสนิมจนดันเนื้อคอนกรีตให้แตกออกมาได้ โดยการแก้ไขควรทำการประเมินสภาพความเสียหายโดยวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการซ่อมแซมอย่างถูกต้อง อาจมีการสกัดคอนกรีตเพื่อตรวจสอบความเสียหาย โดยสามารถปรับปรุงเหล็กเสริมด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น ถ้าพบว่าเป็นสนิมที่ผิวเหล็ก ให้ซ่อมโดยขัดด้วยแปรง แล้วเคลือบด้วยวัสดุป้องกันสนิมชนิดที่สามารถยึดเกาะกับวัสดุซ่อมและเหล็กเสริมได้ดี แต่ถ้าเหล็กเสริมคอนกรีตเป็นสนิมทำให้พื้นที่หน้าตัดเหล็กเสริมลดลงเกินร้อยละ 10  ควรเปลี่ยนเหล็กเสริมหรือดามเสริมความแข็งแรง แต่ถ้าเราพบปัญหาความชื้นบริเวณโครงสร้างแล้วรีบทำการแก้ไขไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน ก็จะไม่ทำให้โครงสร้างเสียหายลุกลาม

ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว

บ่อยครั้งที่เราพบว่าเหตุไฟไหม้นั้นเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งไฟฟ้าลัดวงจรนั้นเกิดจากการไหลของกระแสไฟฟ้าจากเส้นหนึ่งไปยังอีกเส้นหนึ่ง ส่งผลทำให้เกิดความร้อนสูงจนกระทั่งเกิดเป็นประกายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งานไม่ได้มาตรฐานก็นำไปสู่เหตุเพลิงไหม้ได้เช่นกัน โดยสามารถป้องกันได้ด้วยการหมั่นดูแลและตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า  รวมถึงไม่ควรต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เกินวัตต์ที่อุปกรณ์และสายไฟรับได้ จึงควรติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน โดยอุปกรณแต่ละชนิดก็ทำหน้าที่แตกต่างกัน คือ

  • เบรกเกอร์จะช่วยป้องกันไฟช๊อต ไฟฟ้าลัดวงจร
  • เครื่องตัดไฟอัตโนมัติจะช่วยป้องกันไฟดูด ไฟรั่วของระบบไฟทั้งบ้าน
  • สายดินจะช่วยป้องกันไฟดูด ไฟรั่วในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราต้องสัมผัส เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น

สายดินต้องใช้ได้จริง

สมัยก่อนมีคนไทยเสียชีวิตจากการถูกไฟดูดภายในบ้านจำนวนไม่น้อย จนกระทั่งปี 2539 การไฟฟ้านครหลวงได้ออกประกาศให้ผู้ยื่นขอใช้ไฟฟ้ารายใหม่ต้องเดินสายไฟฟ้าให้มีระบบต่อลงดินด้วย เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตเมื่อใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ซึ่งขนาดและชนิดของอุปกรณ์ระบบสายดินจะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน โดยบ้านหนึ่งหลังไม่ควรมีจุดต่อลงดินมากกว่า 1 จุด และไม่ควรต่อสายกับโครงโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดินโดยตรงแต่ต้องต่อกับเมนเบรกเกอร์เท่านั้น เข้าไปดูมาตรฐานการติดตั้งสายดินจากการไฟฟ้านครหลวง

จุดลื่นล้มในบ้าน (ห้องน้ำ บันได ซักล้าง)

อุบัติเหตุอย่างการลื่นล้มที่พบได้บ่อยในบ้าน คือ

  • พื้นภายนอกที่เกิดตะไคร่น้ำ ซึ่งสามารถขัดหรือล้างด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง หรือใช้น้ำยากำจัดตะไคร่น้ำ และสามารถป้องกันด้วยการทาน้ำยาเคลือบผิวแบบด้าน
  • บริเวณห้องน้ำ บันไดและที่ซักล้าง หลายกรณีมักมีสาเหตุจากการเลือกใช้กระเบื้องสำหรับการปูพื้นไม่ตรงกับการใช้งาน โดยกระเบื้องสำหรับพื้นห้องน้ำนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทตามพื้นที่ใช้งาน คือ ส่วนเปียกและส่วนแห้ง ซึ่งส่วนแห้งนั้นสามารถเลือกใช้กระเบื้องห้องน้ำแบบใดในการปูพื้นก็ได้ แต่สำหรับส่วนเปียกแนะนำเลือกใช้กระเบื้องห้องน้ำที่มีผิวสัมผัสหยาบเพื่อป้องกันการลื่นล้ม โดยสามารถเพิ่มความปลอดภัยได้ด้วยการติดตั้งราวจับสำหรับผู้สูงอายุ การทาน้ำยากันลื่น การติดแถบกันลื่น รวมถึงทำพื้นให้มีความลาดเอียงในอัตราส่วน 1:200 และไม่มีแอ่งน้ำขัง เพื่อให้น้ำไหลลงท่อระบายได้ดีไม่เกิดการท่วมขังซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการการลื่นล้มได้เช่นเดียวกัน

ราวกันเด็กตก

ราวกันตกที่ปลอดภัยสำหรับเด็กควรสูง 1.10 – 1.50 เมตร ออกแบบเป็นซี่แนวตั้งเพื่อไม่ให้ปีนได้ และระยะห่างไม่เกิน 10 เซนติเมตร ป้องกันการยื่นส่วนต่างๆ ของร่างกายออกไปได้ง่าย หรือทำเป็นตะแกรงเหล็กตาถี่ๆ อีกทั้งทำราวจับยื่นเข้าไปด้านใน 20-25 เซนติเมตร ป้องกันเด็กเล็กปีน และป้องกันการพลัดตกได้ดีกว่าราวกันตกแบบตรงๆ โดยมีรูปแบบราวกันตกที่อาจเป็นอันตรายกับเด็กได้ คือ

  • ราวที่มีระยะห่างซี่เกิน 15 เซนติเมตร และสูงน้อยกว่า 90 เซนติเมตร
  • ราวที่มีขอบให้ยืนได้ ซึ่งเคยมีกรณีเด็กปีนขึ้นไปยืนบนขอบแล้วตกลงมา
  • ราวที่เป็นซี่แนวนอน ซึ่งจะกลายเป็นบันไดให้เด็กปีนได้ง่าย

อ่านเพิ่มเติม : ราว-เหล็กดัดแบบไหน กันเด็กตกจากระเบียงและหน้าต่างได้

กระจกแตก

ปัจจุบันมีประเภทของกระจกให้เลือกใช้มากมาย ในจุดที่ต้องการความปลอดภัยเป็นพิเศษ หรือมีความเสี่ยงต่อการแตก เช่น บริเวณที่ลมแรง บานกระจกขนาดใหญ่ แนะนำเลือกใช้เป็นกระจกเทมเปอร์และกระจกลามิเนตที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งบานกระจกและบานประตู ราวกันตก โดยเวลาเกิดอุบัติเหตุแตกร้าวตัวเนื้อกระจกลามิเนตจะไม่แตกกระจายหรือเกิดเป็นรอยหยักเหมือนฟันฉลาม แต่เศษกระจกจะยังคงยึดติดกัน ส่วนกระจกเทมเปอร์จะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ คล้ายเมล็ดข้าวโพดทั่วทั้งแผ่นทำให้ปลอดภัยต่อสมาชิกในบ้านโดยเฉพาะเด็กๆ เป็นอย่างยิ่ง

อ่านต่อ : ทำไมกระจกนิรภัยจึงปลอดภัย แตกไม่อันตราย

ภาพ : ข่าวอมรินทร์ทีวี

ต้นไม้ทับบ้าน

ประเทศไทยมักมีมรสุมพัดผ่านทำให้เราเห็นข่าวพายุพัดต้นไม้ทับบ้านอยู่เป็นประจำ หรือการที่ฝนตกต่อเนื่องยาวนานทำให้ดินอ่อนตัวก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ล้มทับบ้านสร้างความเสียหายได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากรากของต้นไม้ไม่แข็งแรง หรือย้ายต้นไม้มาแล้วค้ำยันต้นไม้ไม่ถูกวิธีหรือค้ำยันชำรุด โดยสามารถป้องกันได้ด้วยการตัดแต่งพุ่มเป็นประจำให้มีขนาดสมดุลกับขนาดต้น หรือหากเป็นล้อมมาให้ตรวจสอบความแข็งแรงของราก ขณะปลูกอย่าลืมเอาตาข่ายล้อมออก และอย่าปลูกใกล้กับโครงสร้างบ้านจนเกินไปเพื่อให้รากเติบโตได้ถูกทิศทาง รวมถึงรากเองก็จะได้ไม่ไปทำอันตรายต่อโครงสร้างบ้าน

อ่านต่อ : การตัดแต่งต้นไม้ใหญ่

โครงสร้างร้าวแบบไหนอันตราย

สาเหตุของการร้าวเกิดจากหลายประการ เช่น การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน การรับน้ำหนักมากเกินไป การใช้งานผิดประเภท และความเสียหายจากปัจจัยภายนอก เช่น ความชื้น  โดยรอยร้าวที่อันตรายมักมีลักษณะดังนี้ ซึ่งการแก้ไขควรให้วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มาซ่อมแซมให้

  • รอยร้าวแนวเฉียงที่ผนัง มาจากการทรุดของฐานรากด้านใดด้านหนึ่งลง ทำให้โครงสร้างอื่นๆ เกิดเสียความสมดุลส่งผลให้ผนังซึ่งเป็นส่วนที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดเกิดเป็นรอยร้าว
  • รอยร้าวแนวดิ่ง เกิดจากการที่โครงสร้างคานไม่สามารถรับน้ำหนักได้จึงส่งผลให้ผนังเกิดการแอ่นตัวและมีรอยร้าว เช่น การก่อกระบะต้นไม้ขนาดใหญ่หรือทำอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่โดยไม่ได้คำนวณโครงสร้างไว้รับน้ำหนักโดยเฉพาะ
  • รอยร้าวบริเวณเสา เกิดจากการการใช้เสาผิดประเภท หรือการที่ต้องรับน้ำหนักมากเกินไปเช่นเดียวกับรอยร้าวแนวดิ่ง

อ่านต่อ : การรีโนเวต ซ่อมแซม และปรับปรุงโครงสร้าง ค.ส.ล.


เรื่อง : ektida n. ,ศรายุทธ


ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag