[ SOLO EXHIBITION ] มนต์เสน่ห์ เลห์ ลาดัก

“ที่นี่เสมือนเป็นสถานที่ในฝัน เป็นสถานที่ที่อยากไปมานานมากตั้งแต่สมัยเรียน เคยคุยกับเพื่อน ๆ ว่ายังไงก็ต้องไปกันสักครั้งในชีวิต แล้วพอได้ไปก็ตื่นตาตรึงใจสมกับที่รอคอย เราชอบทิวทัศน์และบรรยากาศที่นั่น เลยอยากจะนำเสนอภาพออกมาในแบบของเรา”

“เลห์ ลาดัก” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “เลห์” คือเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศทิเบต จนที่นี่ถูกเรียกว่า Little Tibet หรือทิเบตน้อย เพราะได้อิทธิพลของวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษาของทิเบตมา อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและหุบเขา อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ทำให้ที่นี่สลัดภาพจำความเป็นอินเดียไปเสียสิ้น

“ปกติเราถ่ายงานสถาปัตยกรรมและงานภูมิสถาปัตยกรรมเป็นหลัก ได้ถ่ายนก ถ่ายไม้ ถ่ายวิวบ้างตามโอกาสเวลาได้ไปเที่ยว แต่สำหรับที่เลห์นี้ เต็มไปด้วยทิวทัศน์แปลกตาที่เรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็สวยไปหมด บวกกับบรรยากาศในเมืองที่ถึงแม้ว่าจะเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่ผู้คนน่ารัก ตัวเมืองก็น่ารัก มีความสบาย ๆ ที่ไม่ว่าคุณจะตั้งใจไปออกทริปถ่ายภาพ ก็รับประกันว่าต้องได้ภาพเด็ด ๆ ติดตัวกลับบ้าน หรือใครเน้นเที่ยวชิล ๆ ก็ได้รูปสวยไม่แพ้กัน”

“หากให้พูดถึงเสน่ห์ของเลห์ คงหนีไม่พ้นภูมิทัศน์ที่แปลกตา ภูเขาหินที่มีน้ำแข็งอยู่บนยอดเขาสลับกับพื้นดินสีเหลือง-แดง อีกทั้งแม่น้ำ ทุ่งหญ้า ทะเลสาบ เทือกเขาที่ยาวสุดสายตา พอตกกลางคืนท้องฟ้าก็ระยิบระยับไปด้วยดวงดาว เป็นบรรยากาศที่เราลืมไม่ลง”

“จริง ๆ หลังเครื่องบินลงที่สนามบินเลห์ก็หันไปคุยกับเพื่อนว่า แค่เห็นวิวบนเครื่องก่อนลงกับตอนขับรถเข้าไปในเมืองก็คุ้มค่าแล้ว…”

“จากตอนแรกที่เราไม่ได้ตั้งใจให้ทริปนี้เป็นทริปถ่ายภาพจริงจัง เจอวิวก็แค่ยกกล้องมาถ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเปิดกระจกถ่ายจากบนรถที่กำลังวิ่งบนถนนขรุขระด้วยเลนส์  telephoto ภาพจึงมีสั่นบ้าง ภาพเสียบ้าง และมีอุปสรรคคือเรื่องฝุ่นที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้ต้องทำความสะอาดเลนส์บ่อย ๆ บางจังหวะก็ความขี้เกียจหยิบกล้อง แล้วนั่งทอดอารมณ์ชมวิวมากกว่า บวกกับความเหนื่อยล้าจากการนั่งรถนาน ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการที่ทำให้แทบไม่ได้ถ่ายรูปช่วงกลางคืนหรือเช้ามืดเลย แต่เท่าที่ถ่ายมาด้วยเลนส์กล้อง กับ บันทึกความทรงจำด้วยเลนส์ตาตัวเองก็คงต้องบอกว่าทริปนี้เกิดคาดหวังไปมากโข คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม”

มิ้ลค์-ติณณภพ เชาว์วาทิน คือภูมิสถาปนิก ผู้เรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เลือกผันตัวมาเป็นนักจับกล้องกดชัตเตอร์ มิ้ลค์เป็นช่างภาพอาชีพโดยเขาเริ่มจากการถ่ายรูปเล่น ๆ ตั้งแต่ช่วง ม.6 แล้วก็ถ่ายมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาจริงจังตอนช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ปี 4 ที่ได้เริ่มถ่ายงานสถาปัตยกรรมและงานภูมิสถาปัตยกรรม

“เราชอบดูงานออกแบบสวย ๆ ทั้งอาคาร งานภูมิสถาปัตยกรรม หากแต่เมื่อเริ่มทำงานเป็นภูมิสถาปนิก เราก็เริ่มรู้ตัวว่าเราอาจจะไม่เหมาะเป็นคนสร้างงาน แต่ถนัดเป็นคนสื่อสารงานผ่านภาพถ่ายน่าจะดีกว่า เพราะชอบเสพความสวยของมันผ่านกล้องมากกว่า เลยตัดสินใจมาถ่ายภาพแบบจริงจัง”