ไรขน

ไรขน (Cheyletiella) และ ไรในหู (Otodectes cynotis)

ไรขน
ไรขน

โรคไรขน

ไรขน (Cheyletiella) อาศัยอยู่บนผิวหนังของแมวและสุนัข โดยจะเข้าทำลายด้วยการกัดกินผิวหนังชั้นเคราตินและกินของเหลวที่อยู่ภายในเนื้อเยื่อผิวชั้นบน ทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดลักษณะของรังแค ขนร่วง และมีอาการคัน ไรชนิดนี้ยังสามารถพบได้ทั่วไปในกระต่ายและสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย ซึ่งมันสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โดยสามารถอยู่บนผิวของคนและทำให้เกิดผื่นคันได้อีกด้วย

Cheyletiella มีหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์จะชอบ Host ที่แตกต่างชนิดกันออกไป ไรขนจะตัวเต็มวัยมีขนาด 0.385 มิลลิเมตร มีขา 4 คู่ มีกรงเล็บที่บริเวณขา มีรยางค์ส่วนปากคล้ายคลึงกับคีมหนีบ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่พบได้ในปรสิตชนิดนี้ ไรขนมักอาศัยอยู่ภายในผิวหนังชั้นเคราตินและพัฒนาตัวเองให้เข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยและมีชีวิตอยู่รอดได้เพียง 10 วันเท่านั้น

ลักษณะการเข้าทำลายของ ไรขน มักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รังแคเดินได้” เนื่องจากไรชนิดนี้จะเคลื่อนที่ไปมาใต้ชั้นเคราติน และผลักเศษผิวหนังขึ้นมา จึงทำให้ดูเหมือนว่ามีการเคลื่อนไหวของรังแค

การวินิจฉัย

สามารถสังเกตเห็นไรขนได้บ้างบนผิวหนัง มีลักษณะเหมือนรังแคที่กำลังเคลื่อนที่บนผิวหนัง สามารถเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาไรขี้เรื้อน โดยใช้สก็อตเทปแปะไปที่บนผิวหนังที่สงสัยหรือใช้หวีสาง และนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาไรขน หรือไข่ของไรขน

การรักษา

มีทางเลือกหลายอย่างสำหรับการรักษา Cheyletiella โดยจะต้องรักษาทั้งตัวสัตว์และสภาพแวดล้อมภายในบ้าน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ เช่น พื้นปูเตียง ของเล่น เป็นต้น และหากที่บ้านมีสัตว์หลายตัว ควรได้รับการรักษาทุกตัวไปพร้อมกัน ถึงแม้จะไม่มีอาการก็ตาม

1. ตัดขนและอาบน้ำด้วยแชมพูหรือพ่นสเปรย์ที่มีสารละลายออกฤทธิ์กำจัดไรขน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไพรทริน (Pyrethrins), น้ำมะนาวและกำมะถัน
2. หยดยา Selamectin (เช่น Revolution®) เป็นประจำสม่ำเสมอ
3. หรือ ให้ยาที่มี Milbemycin (เช่น Nexgard spectra®) เป็นประจำสม่ำเสมอ
4. หรือฉีดยา Ivermectin 300 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 2 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากแมวอาจมีอาการเป็นพิษจากยาที่ใช้ได้ง่าย

โรคไรในหู

ไรในหู หรือ Otodectes cynotis มักพบในช่องหูชั้นนอกของน้องแมวและน้องหมา ซึ่งพบในแมวมากกว่าสุนัข โดยไรในหูจะอาศัยไขมันและเศษผิวหนังเป็นอาหาร ไม่สามารถอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมภายนอกได้นาน (อยู่ได้ประมาณ 4-5 วัน) แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งจะพบเป็นจุดขาว เคลื่อนไหวอยู่บนขี้หู หากพบว่าน้องแมวหรือน้องหมามีอาการสะบัดหัว เกาหูจนขนที่อยู่บริเวณหูร่วง ในช่องหูมีขี้หูสีดำจำนวนมาก และผิวหนังภายในช่องหู มีลักษณะช่องหูบวมแดงอักเสบ นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าน้องแมว อาจกำลังมีปัญหาไรในหูอยู่

ไรในหู Otodectes cynotis พบได้ทั่วโลก และติดต่อกันได้โดยตรง (direct contact) ไปยังสุนัข แมว ทุกอายุ ทุกสายพันธุ์ แต่มักจะพบในแมวได้มากกว่าในสุนัข และพบได้มากในลูกแมว มากกว่าช่วงโตเต็มวัย การติดต่อเกิดได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ติดต่อสู่คน

วงชีวิตประกอบไปด้วยระยะต่าง ๆ ได้แก่ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย
– ไข่ของไรจะใช้เวลาฟักตัวนานประมาณ 3-4 วัน เข้าสู่ระยะตัวอ่อน
– แม้จะอยู่ในระยะตัวอ่อน แต่ไรก็ยังอาศัยอยู่ในช่องหูของน้องแมวจนเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย
– ไรในระยะตัวเต็มวัยจะมีชีวิตอยู่ได้นานราว 2 เดือน

ไร Otodectes cynotis เป็นสาเหตุให้เกิดโรคช่องหูอักเสบ มักพบว่าเป็นที่หูทั้งสองข้าง จะเกิดอาการของโรคหลังจากที่ติดไรไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ และเกิดร่วมกับการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ทั้งยีสต์และแบคทีเรีย

ลักษณะอาการ

พบขี้หูสีน้ำตาล ถึงดำ มีอาการคันหู น้องแมวบางตัวเกาและคันมากจนหูอักเสบบวมแดง ขนที่ใบหูร่วง และอาจพบว่ามีการสะบัดหูจนเส้นเลือดในใบหูแตก และเกิดเลือดคั่งในใบหู (aural hematoma) หากเป็นรุนแรงมากจะเกิดการติดเชื้อเข้าไปยังช่องหูชั้นกลางและชั้นใน นอกจากนี้ยังอาจพบปัญหาทางระบบประสาท เช่น เดินหัวเอียง เดินเซ เนื่องจากเยื่อแก้วหูฉีกขาดได้ ในสัตว์เลี้ยงอายุน้อยมีโอกาสหายได้สูง แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีการติดไรหูซ้ำบ่อย ๆ หรือในสัตว์อายุมากการพยากรณ์การหายของโรคอาจไม่ดีนัก

การวินิจฉัย

สามารถสังเกตเห็นไรในหูได้บ้าง โดยเห็นเป็นตัวสีขาวเล็ก ๆ กำลังเคลื่อนไหวอยู่บนขี้หู สามารถเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจหาไรในหูได้โดยนำขี้หูของสัตว์ไปส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาไรขี้หูหรือไข่ของไรขี้หูนั้นเอง

การรักษา

การรักษาสามารถทำได้หลายวิธีและบางครั้งควรจะต้องทำหลาย ๆ วิธีร่วมกัน ซึ่งการรักษาประกอบไปด้วย

1. ทำความสะอาดช่องหูด้วยนำยาล้างหูสำหรับสัตว์ ความถี่ขึ้นกับปริมาณของขี้หู และการพิจารณาของสัตวแพทย์
2. การหยอดยาหยอดหูที่มีตัวยาที่สามารถฆ่าตัวไรได้ เช่น Thiabendazole (Dexoryl®)
3. หยอดหลังด้วยยาหยดที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดไรในหู เช่น Selamectin (Revolution®) หยอด 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 14 วัน
หรือหยอดหลังด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ Moxidectin และImidacloprid (Advocate®) หยอด 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 14 วัน
4. ฉีดยา Ivermectin 300 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 2 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากแมวอาจมีอาการเป็นพิษจากยาที่ใช้ได้ง่าย
5. การรักษาบรรเทาตามอาการต่างๆ เช่น ยาลดคัน, ยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อในช่องหูแทรกซ้อน, การใส่ Collar ป้องกันการเกา

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อน้องแมวของเรามีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรพาน้องไปพบสัตวแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษา ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยงนะคะ

บทความโดย

สพ.ญ. เณศรา ชมวิวัฒน์
Nessara Chomwiwat, DVM
โรงพยาบาลสัตว์จัสโก้ รัชดา
Jusco Ratchada Animal Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่