บ้านหนองฮ่อ ดีไซน์สงบนิ่งที่เผยความงามธรรมชาติ

จะดีแค่ไหนถ้าได้นั่งเงียบๆ ปล่อยใจสงบ เพื่อเปิดรับเสียงอันแผ่วเบา และสัมผัสธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปทุกวินาที วิวดอยสุเทพอยู่สุดปลายสายตากำลังกลืนแสงสุดท้ายของวัน เมื่อมองจากบ้านพักตากอากาศที่สถาปนิกออกแบบให้เป็น “สถาปัตยกรรมไร้เสียง” ที่จะไม่ตะโกนความเป็นตัวเองให้ดังเกินตัว จนกลบเสียงสรรพสิ่งแวดล้อมให้ดับไป แต่ถ่อมตัว แช่มช้า แจ่มใส มีเสน่ห์อย่างบุคลิกคนท้องถิ่นเจ้า

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Skarn Chaiyawat

บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น
มุมมองจากหน้าบ้านด้านติดถนนที่ออกแบบผนังทึบสีขาวล้อมสเปซภายในบ้าน ทั้งเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและซ่อนความพิเศษบางอย่างไว้ ให้ค่อยๆเผยแสดงเมื่อเดินผ่านเข้าไปยังภายในบ้าน
บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น
บ้านทรอปิคัลรูปทรงเรียบง่าย หลังคาจั่วมุงกระเบื้องดินขอที่ผลิตในท้องถิ่น ยื่นชายคลุมทั้งหลังเข้ากับบริบทของชานเมืองเชียงใหม่ แต่มีเส้นสายความลงตัวที่ออกแบบอย่างเป็นระบบ

บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น

บ้านที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่แถวถนนหนองฮ่อ จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะพื้นที่บริเวณนั้นเป็น “ตีนดอย” อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก แต่ยังแวดล้อมด้วยธรรมชาติที่สงบสวยงาม จึงเหมาะสำหรับการพักผ่อนอยู่อาศัย คุณโป้ง – สการ จัยวัฒน์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท สถาปนิก สการ จัยวัฒน์ จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นออกแบบบ้านว่า “เป็นบ้านตากอากาศสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 3 คน พ่อแม่ลูก ซึ่งปกติอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมที่กรุงเทพฯ จึงอยากมีบ้านสำหรับมาพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ลักษณะที่ดินเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว่า 300 ตารางวา และมีความพิเศษคือ เมื่อมองทะลุผืนป่าด้านหลังที่ดินจะเห็นพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่ดอยสุเทพสวยมาก” ด้วยศักยภาพของพื้นที่ที่น่าประทับใจ การออกแบบบ้านจึงไม่ได้คิดอยู่แค่ตัวบ้านเท่านั้น แต่ออกแบบบ้านเพื่อให้วิวธรรมชาติเป็นหัวใจหลัก “เมื่อวิเคราะห์พื้นที่แล้ว จึงออกแบบบ้านเป็นรูปทรงตัวไอตรงๆ หันด้านยาวเปิดรับวิวภูเขาได้ทุกห้อง เพื่อให้ทัศนียภาพนี้ซึมซับอยู่ในทุกการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้าน” บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น

สร้างลำดับการเข้าบ้านให้ค่อยๆเผยแสดง โดยทำประตูบ้านให้เข้าจากด้านข้าง เมื่อเปิดประตูเข้าไปจะพบผ้าพื้นเมืองแขวนประดับบนผนังทึบ แต่เมื่อหันไปทางซ้ายก็จะพบวิวเปิดโล่งที่มีภูเขาเป็นฉากหลัง
บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น
ภายในบ้านเปิดโล่งเป็นห้องโถงเดียวทั้งส่วนนั่งเล่น รับประทานอาหาร แพนทรี่ และมีห้องครัวไทยอยู่ด้านหลัง ทำโครงสร้างพื้นชั้นบนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กท้องเรียบที่ไม่มีคาน (Flat slab) เพื่อให้มุมมองเรียบไม่มีคานมาขวางสายตา ตกแต่งฝ้าเพดานด้วยไม้สักเก่า ทำพื้นหินขัดโดยเลือกสีให้ใกล้เคียงพื้นหินอ่อนทราเวอทีนที่ปูพื้นเฉลียงทำให้ดูต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน
มุมมองจากด้านหลังของบ้าน จะเห็นพระอาทิตย์ตกลับยอดดอยสุเทพที่อยู่สุดปลายสายตา

สุนทรียภาพที่ก่อเกิดจากโครงสร้าง

ความงามที่ลงตัวไม่ใช่การตกแต่งภายหลัง แต่คือการคิดจากจุดเริ่มต้นตั้งแต่ระบบโครงสร้างให้ถ่ายทอดความงามสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรม สถาปนิกออกแบบด้วยวิธีคิดระบบตาราง (Grid) และโมดูลาร์ (Modular) แบบง่ายๆ ที่ใช้กันทั่วไปแต่ทำให้ผลลัพธ์ปรากฏชัดขึ้น “หนึ่งในโจทย์จากเจ้าของบ้านคือให้พื้นที่ใช้สอยภายในของบ้านประมาณ 200 ตารางเมตร เนื่องจากมีขนาดใกล้เคียงกับพื้นที่คอนโดที่อาศัยอยู่ เบื้องต้นจึงแบ่งพื้นที่หลักของบ้านเป็นชั้นละ 100 ตารางเมตร ด้วยระยะช่วงเสา 5 x4 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่พอดีสำหรับการอยู่อาศัย จำนวน 5 ช่วงเสา จึงเป็นบ้านขนาด 5×20 เมตร แล้วจึงแบ่งพื้นที่ภายในให้เป็นสัดส่วนแบบโมดูลาร์ให้ลงตัวกับโครงสร้าง และสัมพันธ์กับการคิดโครงสร้างหลังคา คือ ทำจันทันห่างทุกระยะ 1 เมตร ก็จะลงตัวกับเสาและผนัง รวมถึงราวกันตก เส้นแบ่งแนวที่พื้น และขนาดของมู่ลี่ไม้ไผ่ที่สั่งทำยาว 2 เมตร  เมื่อมองรวมกันก็จะเห็นเส้นที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ทำให้ดูไม่ขัดตา อาจจะไม่มีใครมาคอยดูว่าแต่ละเส้นจะเชื่อมต่อกันไหม แต่เมื่อทุกอย่างลงตัว เป็นระเบียบสัมพันธ์กัน มีความสมดุล สิ่งที่ได้คือความนิ่ง สัมผัสได้จากห้องนั่งเล่นชั้นบนที่มองออกไปเห็นวิว เมื่อทุกอย่างนิ่งและสงบ ภาพวิวที่มองเห็นก็เผยความงามให้ปรากฏชัดกว่าปกติ”

บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น
ทำบันไดเปิดโล่งแบบกึ่งภายนอกที่ให้ความรู้สึกโล่งสบาย แต่ปลอดภัยด้วยการทำผนังชั้นล่างทึบ ซึ่งเป็นด้านที่ติดถนน จึงช่วยบล็อกการรบกวนจากภายนอกไปในตัว
มู่ลี่ไม้ไผ่ช่วยกรองแสงแดดได้ดี ทำให้ทางเดินชั้นบนไม่รู้สึกทึบ และมีแสงเงาที่สวยงาม
ห้องนั่งเล่นชั้นบนออกแบบให้โปร่งมีลมธรรมชาติพัดผ่านด้วยการใช้ประตูบานเลื่อนระแนงไม้ สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้สถาปัตยกรรมมีความนิ่ง องค์ประกอบเรียบง่าย ลงตัว สมดุล เพื่อให้ตราตรึงกับวิวธรรมชาติที่งดงาม
สเปซชั้นบนโชว์โครงหลังคาจั่วให้เห็นใต้กระเบื้องดินขอที่มีสีสันเหลือบกันอย่างเป็นธรรมชาติ การที่เส้นสายของโครงสร้างดูลงตัวเกิดจากวิธีคิดระบบตาราง (Grid) และโมดูลาร์ (Modular) ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่แบรนด์ท้องถิ่น Gerard Collection Chiangmai

วัสดุพื้นถิ่นสะท้อนบริบท

สถาปนิกและเจ้าของบ้านเห็นพ้องกันว่าควรเป็นบ้านที่เปิดให้สัมผัสบรรยากาศและบริบทรอบตัว “เนื่องจากเป็นบ้านตากอากาศจึงไม่อยากให้บ้านมีความแข็งกระด้างหรือโมเดิร์นเกินไป แต่ควรจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ได้รับลมธรรมชาติและเปิดให้สัมผัสบรรยากาศรอบตัว จึงผสมผสานการใช้วัสดุท้องถิ่น งานไม้ทั้งหมดเป็นไม้สักที่รื้อจากบ้านเก่า  หลังคามุงกระเบื้องดินขอ กระเบื้องพื้นและผนังบางส่วนใช้กระเบื้องเคลือบดินเผาของแม่ริมเซรามิค ซึ่งโรงงานอยู่ใกล้บ้านลดการขนส่งและหาเปลี่ยนได้ง่าย กระเบื้องแต่ละแผ่นทำแบบกึ่งแฮนด์เมดจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสีเหลือบกันและพื้นผิวต่างกันซึ่งเป็นข้อดีสำหรับบ้านนี้ แต่กระเบื้องประเภทนี้เวลาปูต้องเว้นร่องยาแนวกว้าง ในส่วนที่ต้องดูแลรักษาง่ายอย่างพื้นห้องน้ำ จึงใช้กระเบื้องปกติที่ปูชิดได้ รอยต่อน้อย และทำความสะอาดง่าย” บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น

ใช้กระเบื้องเคลือบดินเผาที่ผลิตในท้องถิ่นกรุผนังให้แสดงเนื้อวัสดุและกรรมวิธีผลิตที่เป็นเอกลักษณ์

เปิดบ้านรับวิวแต่บังแดดได้

เมื่อเปิดบ้านโล่งรับวิวได้มาก ก็ย่อมมีแสงแดด ฝน และความร้อนเข้ามาด้วย สถาปนิกจึงแก้ไขด้วยกระบวนการออกแบบและวิธีแบบพื้นบ้าน “ด้านที่เปิดรับวิวจะเยื้องทางทิศตะวันตก จึงทำชายคายื่นออกจากตัวบ้านเยอะ และทำพื้นระเบียงชั้นสองยื่นออกมาช่วยบังแดดให้ชั้นล่างได้ด้วย แต่แดดทางทิศตะวันตกจะมีองศาค่อยๆต่ำลง ตลอดริมแนวระเบียงชั้นบนและชั้นล่างจึงติดมู่ลี่ไม้ไผ่ ซึ่งความพิเศษของมู่ลี่ไม้ไผ่จะเหมือนเป็นแผงบังแดดแนวนอนถี่ๆ ลดฝนสาดเข้ามาและยังกันแดดได้ดี โดยที่เรายังมองทะลุเห็นบรรยากาศภายนอกได้ ยังเห็นเป็นภาพต้นไม้ใบไม้ ซึ่งม่านบังแดดอื่นๆมักจะบดบังวิวไปด้วย แล้วยังช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวภายในบ้านได้อย่างดี”

วางแปลนบ้านเป็นรูปตัวไอเพื่อให้ทุกห้องเปิดรับวิวได้ ชั้นล่างทำเป็นประตูบานเฟี้ยมที่สามารถเปิดเชื่อมต่อกับภายนอกได้เต็มที่ ทำชายคายื่นยาวและพื้นระเบียงชั้นบนยื่นออกมาบังแดดและฝนให้ชั้นล่าง
บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น
เนื่องจากด้านที่เปิดรับวิวอยู่เยื้องทิศตะวันตก จึงติดตั้งมู่ลี่ไม้ไผ่ที่ปรับขึ้นลงได้ตลอดแนวริมระเบียง โดยสั่งทำขนาดความยาว 2 เมตร เพื่อให้เส้นรอยต่อลงตัวกับระบบ Grid ของบ้าน
บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น

สุขภาวะแห่งการพักผ่อน

บ้านที่ดีไม่ใช่เพียงอยู่สบาย แต่ยังส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ซึ่งสะท้อนตั้งแต่การวางผัง “วางผังให้บ้านค่อนมาด้านถนน เพื่อเปิดด้านหลังบ้านให้เป็นพื้นที่สวนสำหรับการพักผ่อนที่เป็นส่วนตัว มีสระว่ายน้ำสำหรับออกกำลังกายและสร้างมุมมองไปยังวิวภูเขา พื้นที่ที่ยังว่างมีแผนสำหรับการปลูกพืชผักสวนครัวเมื่อมาอยู่จริงจัง ส่วนสวนด้านหน้าบ้านที่ติดถนนเป็นสวนด้านทิศตะวันออกที่นั่งสบายช่วงบ่าย จึงทำรั้วโปร่งไว้ทักทายเพื่อนบ้าน หรือเห็นความเป็นไปของคนรอบบ้าน ซึ่งแม้ไม่ได้พูดคุยแต่แค่ยิ้มให้กันก็เกิดปฏิสัมพันธ์กันแล้ว” ด้วยบ้านเป็นรูปตัวไอที่ภายในวางผังแบบโอเพนท์แปลนจึงมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ดีรอบบ้าน สถาปนิกได้ทิ้งท้ายถึงผลลัพธ์ที่ไม่ใช่เพียงการออกแบบบ้านแต่เป็นการออกแบบองค์ประกอบของการใช้ชีวิต “การใช้ชีวิตในบ้านจะมีเสียงนกร้อง มีลมพัดผ่าน มีกลิ่นต้นไม้ กลิ่นฝน อยู่โดยไม่ต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา มีความเงียบ จิตใจสงบ และรู้สึกสบาย ซึ่งเป็นความหมายของบ้านตากอากาศที่เราทำ”

วางผังบ้านให้แบ่งพื้นที่ว่างเป็นสวนหน้าบ้านที่เปิดให้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน และสวนหลังบ้านสำหรับพักผ่อนส่วนตัวท่ามกลางแมกไม้และวิวภูเขา
บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น
ข้อดีของการใช้วัสดุธรรมชาติ คือ วัสดุไม่อมความร้อนนาน เมื่ออากาศโดยรอบเย็นลง วัสดุก็จะคายความร้อนที่สะสมระหว่างวันได้เร็ว ทำให้บ้านเย็นไปพร้อมกับบรรยากาศใกล้พลบค่ำ
บ้านไม้พื้นถิ่นโมเดิร์น
สระว่ายน้ำวางอยู่กึ่งกลางห้องนอนชั้นล่างที่เปิดต่อเนื่องกันได้ เป็นอีกมุมที่สวยงามยามพระอาทิตย์ตกสะท้อนผิวน้ำ
ออกแบบศาลพระภูมิเรียบง่ายน่ารักให้เข้ากับตัวบ้านทรงจั่วและผนังระแนงไม้

ออกแบบ : บริษัท สถาปนิก สการ จัยวัฒน์ จำกัด โดย คุณสการ จัยวัฒน์, คุณภูวดล คำมะลิ, คุณกฤษณ์ จาติกวณิช Email : [email protected]www.skarnchaiyawat.com

  • คอลัมน์ บ้านสวย ฉบับ พฤษจิกายน 2564
  • เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
  • ภาพ DOF Skyground

รวมมิตร 50 “บ้านไม้” ยอดนิยมตลอดกาลของบ้านและสวน

บ้านไม้มินิมัล สเปซโปร่งๆ ที่อบอุ่นด้วยงานไม้

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag