5 เคส รีโนเวตบ้าน เก่าโทรมให้สวยปิ๊ง เหมือนได้บ้านหลังใหม่

รีโนเวตบ้าน ทุกคนย่อมผูกพันกับบ้านที่อยู่อาศัยกันมา แต่เราก็ไม่อาจฝืนกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงไปได้ กาลเวลาที่ล่วงเลยอาจทำให้บ้านทรุดโทรมลงไป แนวทางการตกแต่งที่เมื่อก่อนเคยคิดว่าสวยก็อาจดูล้าสมัยไปแล้วในยุคนี้ หรือแแม้แต่ผู้ที่ซื้อบ้านมือสองเองก็ตาม

เราสามารถปรับเปลี่ยนบ้านที่มีสภาพทรุดโทรมให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ขึ้นได้ ลองมาดูไอเดียจาก 5 รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่ เป๊ะ ปังจริงๆ รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่

1. บ้านหลังเล็ก เรียบง่ายในความรู้สึก แต่ดูดีทุกมุมมอง

  • เจ้าของ-ออกแบบ : คุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล และคุณวิไลลักษณ์ กุลศักดิ์นันท์

บ้านหลังนี้เป็นบ้านจัดสรรเก่าอายุกว่า 20 ปี ขนาด 78 ตารางวา ภายในประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ได้แก่ บ้านหลัก ห้องทำงาน และศาลา สำหรับแนวคิดในการปรับปรุงบ้านเดี่ยวมือสองให้เป็นบ้านใหม่แสนอบอุ่นหลังนี้ เจ้าของบ้านกล่าวว่า “ผมชอบบ้านที่ดูกลมกลืน ไม่แปลกแยกจากคนอื่นมากนัก เน้นความเป็นส่วนตัว ผมคิดว่าการออกแบบบ้านต้องมาจากภายในสู่ภายนอก”

รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
เดิมเป็นบ้านให้เช่า สภาพค่อนข้างโทรม เนื่องจากมีอายุมากกว่า 20 ปี แต่เมื่อปรับโฉมให้กลายเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์น โดยทาสีผนัง ทำหลังคาใหม่ และก่อผนังอิฐเพื่อบังสายตาจากคนภายนอก ออกแบบแนวรั้วและประตูหน้าบ้านใหม่ พร้อมปลูกต้นไม้สร้างความเป็นส่วนตัว

ผนังบังตา 

บริเวณเฉลียงหน้าบ้านก่อนรีโนเวตมีขนาด 8 ตารางเมตร มีม้านั่งปูนโดยรอบ ฝ้าและพื้นค่อนข้างเก่า หลังการต่อเติมครั้งใหม่ทำให้ได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นถึง 14 ตารางเมตร หลังจากทุบสเต็ปพื้นเดิมออก ปูกระเบื้องสีเทาใหม่ รวมทั้งติดประตูเหล็กลูกฟักกรุแผ่นเหล็กเจาะรูบริเวณทางเข้าบ้าน โครงหลังคาเปิดโชว์ให้เห็นโครงเหล็กกรุแผ่น พอลิคาร์บอเนตเพื่อกรองแสง นอกจากจะดูกว้างขึ้นแล้ว ยังมีพื้นที่สำหรับปลูกและแขวนต้นไม้ เป็นอีกมุมสบายๆ ที่ดูร่มรื่น

ออกแบบผนังบริเวณเฉลียงหน้าบ้านด้วยการก่ออิฐสีขาว เพื่อบังสายตาจากคนภายนอก นอกจากนี้ยังปลูกไม้ประดับ สร้างพื้นที่สีเขียวให้ บริเวณนี้ดูสดชื่นรื่นตาด้วย
1. รื้อผนัง พื้น และที่นั่งปูนบริเวณเฉลียงออกเพื่อเตรียมปรับพื้นที่ใหม่
2. ปรับพื้นโดยเทคอนกรีตทับ ขยายพื้นที่ออกมา ก็จะได้พื้นที่เพิ่มเป็น 14 ตารางเมตร จากเดิมที่มีเพียง 8 ตารางเมตร
3. ก่อผนังอิฐบริเวณลานที่ทำเพิ่ม โดยลักษณะการก่อจะเว้นช่องว่างเพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามาถึง
4. ฝ้าเพดานเดิมเป็นฝ้า T-Bar มีความสูง 2.40 เมตร ปรับเปลี่ยนโดยรื้อฝ้าขึ้นไปให้เห็นโครงสร้างทรงจั่ว ทำให้ได้ความสูงเพิ่มเป็น 5 เมตร บ้านจึงดูโปร่งและสว่างขึ้น
5. บริเวณหลังคาด้านบนที่ยื่นออกมาเก็บโครงสร้างเดิมไว้ แล้วต่อเติมโครงเหล็กสีขาว
6. เริ่มงานทาสี พร้อมปูกระเบื้องพื้น
7. ดำเนินงานระบบไฟตามแบบและติดตั้งประตู

เชื่อมพื้นที่และปรับมุมมอง 

เดิมทีรั้วของบ้านหลังนี้ค่อนข้างต่ำ เมื่อมองเข้ามาก็จะเห็นภายในบ้านได้ชัดเจน เจ้าของบ้านจึงทุบทำใหม่เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว ส่วนทางเดินระหว่างอาคาร 3 หลัง คือ  บ้านหลัก ห้องทำงาน และศาลา เป็นพื้นกระเบื้องที่มีระนาบไม่เท่ากันและทรุดโทรม เมื่อปรับปรุงใหม่บริเวณศาลาก่อเคาน์เตอร์ปูนเป็นมินิบาร์เล็ก ๆ เพื่อรองรับกิจกรรมภายในครอบครัว สามารถมานั่งพักผ่อนได้ตลอดทั้งวัน และยังเก็บพื้นกระเบื้องเคลือบดินเผาหกเหลี่ยมของเดิมเอาไว้ เนื่องจากเป็นลายที่หาค่อนข้างยากและยังสวยอยู่ บริเวณใกล้กันจัดเป็นสวนกระถาง เพิ่มความเขียวสดชื่น

เชื่อมอาคาร 3 หลังให้มีความต่อเนื่องกัน เพิ่มพื้นที่คอร์ตตรงกลางบ้านและสร้างกำแพงใหม่ ช่วยปรับมุมมองไม่ให้คนภายนอกมองเข้ามาเห็นภายในบ้านได้
1. รื้อพื้นกระเบื้องบริเวณทางเชื่อมอาคาร 3 หลังออก เทคอนกรีตพื้นทางเชื่อมให้สูงกว่าบริเวณศาลา 10 เซนติเมตร รื้อรั้วบ้านออก แล้วเปลี่ยนไปใช้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ดแทน
2. ทาสีบริเวณเสาและฝ้าเพดานของศาลาใหม่ทั้งหมด และก่อเคาน์เตอร์ปูน
3. ปูพื้นระแนงไม้เพื่อให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ สามารถเข้าไปใช้งานได้สะดวก ส่วนพื้นบริเวณศาลายังคงใช้พื้นกระเบื้องเคลือบดินเผาหกเหลี่ยมของเดิม
4. ติดตั้งซิงค์ล้างจานที่เคาน์เตอร์ปูน พร้อมดำเนินงานระบบน้ำและไฟฟ้าตามแบบที่กำหนดไว้

งบประมาณที่เจ้าของบ้านจ่าย

  • งานต่อเติมเฉลียงหน้าบ้าน 30,000 บาท
  • งานปรับปรุงรั้วและทางเดินรอบบ้าน 150,000 บาท
  • งานปรับปรุงศาลากลางบ้านและพื้นระเบียง 35,000 บาท
  • งานทาสี 40,000 บาท
  • งานสวน 50,000 บาท                                                                                                                                                                         รวม 305,000 บาท

ชมมุมอื่นๆของบ้านหลังนี้ต่อ


2. รีโนเวตบ้านเก่าหลังคาทรงจั่ว ให้งดงามด้วยเส้นสายเรียบนิ่งทันสมัยสไตล์มินิมัล

  • เจ้าของ : คุณเปรม – คุณวศินี ฉัตรมานพ/ สถาปนิก : Perspacetive โดยคุณสิทธิชัย ชมภู

รีโนเวตบ้านในเมืองอายุร่วม 40 ปี ที่ต้องรื้อพื้น ผนัง และเพดานซึ่งผุพังทรุดโทรมทิ้งออกทั้งหมด ให้เหลือไว้เพียงโครงสร้างเสาและคาน มีการยกระดับพื้นของตัวบ้านให้สูงขึ้นจากระดับถนน และจัดเรียงสเปซภายในใหม่ให้เน้นถึงการเปิดช่องแสงและการเชื่อมต่อมุมมองหรือฟังก์ชันระหว่างกัน จุดไฮไลท์หลักของบ้านยังอยู่ที่การเปิดมุมมองจากในบ้านผ่านผนังกระจกแนวยาวออกไปสู่สวนด้านข้างซึ่งตั้งใจให้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดกว้างที่เติมเต็มธรรมชาติให้บ้านน่าอยู่ขึ้น

รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
จากบ้านทรงจั่วสมัยเก่าที่รีโนเวตใหม่โดยลดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นลง คงโครงสร้างแบบเดิมไว้ และเพิ่มเติมครีบกันแดดด้านหน้าซึ่งเป็นดีไซน์เส้นแนวตั้งสวยๆ ที่สร้างเสน่ห์เฉพาะตัวให้กับบ้าน ส่วนด้านล่างเป็นรั้วแบบทึบเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อาศัยภายใน
สถาปนิกออกแบบครีบเพื่อกันแสงแดดจากหน้าต่างห้องนอนเพิ่มขึ้นมา โดยใช้วีธีก่ออิฐมวลเบา ฉาบผิวทับและทาสีควันบุหรี่จนกลายเป็นดีไซน์สมัยใหม่ที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับบ้านได้ดี
ต้องยกพื้นบ้านให้สูงจากเดิมราว 30 เซนติเมตร ทำให้ความสูงของพื้นที่ชั้นล่างลดลงจึงจำเป็นต้องเปิดฝ้าโชว์คานเพื่อดันเพดานไปให้สุด แล้วจัดร้อยเรียงสเปซให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ที่เน้นการเปิดโล่งผ่านช่องแสงเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด
เปลี่ยนครัวเดิมให้เป็นชุดครัวบิลท์อินในโทนสีไม้สีอ่อนสว่างและสบายตา พร้อมกับเพิ่มช่องหน้าต่างรับแสงธรรมชาติเข้ามาภายใน
ด้วยโทนสีและการเลือกใช้วัสดุที่ผสมผสานกันอย่างนุ่มนวลแบบทูโทนระหว่างผนังสีควันบุหรี่กับสีของไม้นั้นช่วยยืนยันแนวคิดของบ้านที่เรียบง่ายและผ่อนคลายไว้ได้อย่างชัดเจน ภายใต้พื้นที่เปิดโปร่งถึงกันจากส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหารและแพนทรี่
ห้องนอนตกแต่งอย่างเรียบง่ายและใช้โทนสีสบายตาของผนังควันบุหรี่และสีของไม้ต่อเนื่องมาจากชั้นล่าง พร้อมกับขยายขนาดของหน้าต่างให้กว้างเต็มผืนผนังเพื่อเปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามาสร้างความปลอดโปร่ง
เปลี่ยนกระเบื้องปูพื้นและผนังเป็นแผ่นใหญ่ในโทนสีเรียบนิ่ง ผสมกับงานไม้ โดยแยกส่วนเปียกและส่วนแห้งไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลทำความสะอาด
ส่วนสำคัญของบ้านอยู่ที่การเปิดสเปซให้เชื่อมต่อจากภายในสู่พื้นที่สีเขียวด้านข้าง เพื่อให้ได้ทั้งแสงสว่างธรรมชาติ ความผ่อนคลายจากสวน และพื้นที่ใช้งานที่ต่อเนื่องไปถึงด้านนอกได้
ปรับลานเฉลียงด้านนอกด้วยการปูพื้นไม้เทียม ให้เป็นมุมที่เชื่อมต่อออกมาจากส่วนรับประทานอาหารในบ้านเพื่อให้สามารถขยายฟังก์ชันใช้งานออกไปอยู่ใกล้ชิดกับสวนได้มากขึ้น
ก่อนเข้าบ้าน มีเคาน์เตอร์ที่นั่งยาวที่ต่อเติมมาจากของเก่าให้ดูสวยงามและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และเปลี่ยนผนังหน้าบ้านให้เป็นระแนงไม้สีขาวแนวตั้งเพื่อเป็นช่องเปิดให้แสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในบ้านได้

ชมมุมอื่นๆของบ้านหลังนี้ต่อ


3. รีโนเวตบ้านใหม่ในบริบทที่คุ้นเคย

  • เจ้าของ : คุณดวงเดือน – คุณพิศิษฐ์ เงาวิจิตร / สถาปนิก : Gooseberry Design โดยคุณณัฐพงศ์ เพียรเชลงเอก

เมื่อบ้านสไตล์โคโลเนียลที่อยู่มานานถึง 19 ปี เริ่มไม่ตอบรับฟังก์ชันการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สถาปนิกจึงเลือกที่จะเก็บโครงสร้างเดิมไว้แต่เลาะผนังเก่าออกไปราว 50% และต่อเติมพื้นที่ในบ้านออกไปอีก 10% ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยจากเดิม 300 เพิ่มเป็น 600 ตารางเมตร แล้วออกแบบฟาซาดหน้าบ้านที่นำรูปทรงจั่วสไตล์โมเดิร์นมาครอบเป็นชายคาบ้านทับซ้อนไปกับโครงสร้างหลัก พร้อมกับวางผังในบ้านใหม่หมด และแก้ปัญหาความมืดทึบภายใน ปรับเปลี่ยนจนเหมือนได้บ้านหลังใหม่ที่อยู่ในทำเลที่คุ้นชินแบบเดิมๆ

จากบ้านสไตล์โคโลเนียลเปลี่ยนมาสู่สถาปัตยกรรมสไตล์โมเดิร์นที่ใช้รูปทรงจั่วมาเป็นทั้งสัญลักษณ์ของบ้านและเป็นชายคาที่เชื่อมต่อไปกับโครงสร้างหลักเดิมที่มีอยู่
สถาปนิกแห่ง Gooseberry สเก็ตช์แบบบ้านและไอเดียการรีโนเวตไว้ก่อนลงมือทำ
ซุ้มประตูทางเข้าบ้านที่ปรับเปลี่ยนเป็นงานก่อปูนฉาบเรียบแบบโมเดิร์นภายในรูปทรงจั่วเหมือนเดิม
โถงทางเข้าบ้านที่มีการปรับเปลี่ยนวัสดุตกแต่งใหม่ทั้งหมดโดยเน้นโทนสีเทาและขาวที่ดูทันสมัยและสว่างตา
ปรับทิศทางและขยายพื้นที่ของห้องนั่งเล่นใหม่ พร้อมเพิ่มช่องรับแสงธรรมชาติกับการสร้างโทนสีที่สว่างและอบอุ่นภายในแบบเอิร์ธโทน
ขยายพื้นที่ส่วนครัวให้กลายเป็นห้องครัวสีขาวขนาดใหญ่ ที่สามารถใช้งานครัวหนักหรือทำขนมได้ทั้งวัน โดยออกแบบให้มีเคาน์เตอร์กรุท็อปด้วยหินเทียมสีขาวเป็นพื้นที่จัดเตรียมอาหารขนาดกว้างและยังเช็ดล้างทำความสะอาดได้ง่าย
รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
เปลี่ยนพื้นไม้จากปาร์เก้สีเข้มแบบเดิมมาสู่พื้นไม้สีสว่างและราวบันไดใหม่ให้ทันสมัยและโปร่งตามากขึ้น
จัดวางผังห้องชั้นบนและตกแต่งใหม่ ทำให้ได้ห้องนอนขนาดกว้างถึง 3 ห้อง โดยห้องที่แต่งด้วยโทนสีน้ำเงินผสมเบจนี้เป็นห้องนอนของลูกชาย
รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
เปลี่ยนรูปแบบของกระเบื้องและสไตล์ของสุขภัณฑ์ใหม่ให้เรียบง่ายและทันสมัยขึ้น ภายใต้โทนสีขาวสะอาดแบบเดิมๆ

ชมมุมอื่นๆของบ้านหลังนี้ต่อ


4. เนรมิตบ้านเก่าเป็นบ้านพักตากอากาศ

  • เจ้าของ : คุณสุภาพ ตั้งอมตะกุล
  • ตกแต่งภายใน : Thanks Nature โดยคุณสุรพงศ์-คุณศุภวัฒน์ สุวรรณรัตน

บ้านเก่าอายุประมาณ 40 ปีที่โครงสร้างของบ้านยังคงแข็งแรง ไม่สึกกร่อนไปตามกาลเวลา ทีมงานนักออกแบบจึงทำงานกันไม่ยากมากนัก จากบ้านเก่าทรุดโทรมกลับกลายเป็นบ้านสวยสดใสสไตล์โมเดิร์น ดูอบอุ่น โปร่งโล่งเสมือนได้อาศัยอยู่ในบ้านพักตากอากาศ โดยมีไอเดียการปรับปรุงงานสถาปัตยกรรมภายนอกที่สามารถกำบังฝนและแดดไม่ให้บ้านร้อนจนเกินไป ที่สำคัญ เปิดรับลมได้ตลอดเวลา รวมถึงการเชื่อมต่อพื้นที่บริเวณระเบียงชั้นบนให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น 

หลังปรับเปลี่ยนและต่อเติมอาคารภายนอกบ้านก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ช่องลมทำหน้าที่คล้ายโล่กำบังแดดและฝน รวมถึงช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกยิ่งขึ้น

เปลี่ยนลุคให้ดูดี

รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
เดิมทีประตูและกำแพงทึบหน้าบ้านค่อนข้าง โทรม ประตูไม้เริ่มผุพังไปตามกาลเวลา มีคราบสกปรก เกาะติดเต็มไปหมด รวมถึงพื้นถนนที่ไม่เป็นระนาบ เดียวกัน หลังการปรับปรุงส่วนหน้าบ้านใหม่ทั้งหมดทำให้ กำแพงรั้วบ้านดูโปร่งตา ประตูทางเข้าสเตนเลสสีดำ สร้างบรรยากาศเท่ๆ ในลุคโมเดิร์น เพิ่มลูกเล่นด้วย การปูพื้นกระเบื้องเป็นแพตเทิร์นรูปทรงสี่เหลี่ยม

1. ทุบกำแพงรั้วบางส่วนออกเพื่อต่อเติมอิฐช่องลมเข้าไปแทน
2. เทพื้นคอนกรีตเป็นถนนทางราบสำหรับเข้าบ้าน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีความหนาอยู่ที่ 15 เซนติเมตร หรือ 6 นิ้ว
จากนั้นก็ปูพื้นกระเบื้องเป็นแพตเทิร์นตามที่ออกแบบไว้
3. เริ่มงานทาสีกำแพงรั้ว
4. ติดตั้งประตูทางเข้าทั้งประตูใหญ่และประตูเล็ก โดยผู้ออกแบบนำประตูเก่าจากบ้านอีกหลังของคุณอ้อ
มาดัดแปลงทำสีผิวใหม่  โดยใช้สีเพนการ์ด ไพรเมอร์ เอสอีเอ (สีรองพื้นกันสนิม) ปรับผิวก่อนพ่นสีจริง

สร้างสภาพแวดล้อมให้โอบกอดบ้าน

รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
บริเวณเฉลียงทางเข้าและโรงจอดรถต่อเนื่อง ไปถึงด้านข้างบ้านอยู่ในสภาพทรุดโทรม ผนังส่วนใหญ่ เริ่มโป่งพอง ลอกล่อน และมีคราบเชื้อรา หลังจากเปลี่ยนส่วนเฉลียงหน้าบ้าน รวมถึง ด้านข้างบ้านแล้ว พื้นที่โดยรอบกลายเป็นสวนขนาดเล็ก ที่โอบล้อมตัวอาคาร ดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติ กันสาด และอิฐช่องลมช่วยกำบังแสงแดดและฝน ทำให้บรรยากาศ ดูร่มรื่น นอกจากนี้ยังปรับให้เป็นส่วนซักล้างง่ายๆ ด้วย การเดินท่อน้ำสำหรับเครื่องซักผ้าและอ่างล้างมือในสวน ปูพื้นใหม่เพื่อให้เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่เอ๊าต์ดอร์

1. ต่อเติมหลังคากันสาดด้วยโครงเหล็กให้ยื่นออกไปจากตัวอาคารทั้งบริเวณเฉลียงหน้าบ้านและด้านข้างบ้านเพื่อกำบังแดดและฝน
2. บริเวณโรงจอดรถเดิมซึ่งแปรสภาพไปเป็นห้องนั่งเล่นก่อผนังอิฐช่องลมเพื่อไม่ให้แสงแดดส่องเข้าไปถึง
ภายในมากจนเกินไปและช่วยประหยัดพลังงาน
3. เทพื้นคอนกรีตบริเวณเฉลียงและด้านข้างบ้านให้เป็นระนาบเดียวกัน
4. ก่อปูนสำหรับทำที่นั่งหน้าบ้านและเคาน์เตอร์อ่างล้างมือ หลังจากนั้นปูกระเบื้องลายไม้และเริ่มงานทาสีผนังและฝ้าเพดาน
5. เดินงานระบบไฟฟ้าใหม่ตามที่ออกแบบไว้
6. ติดตั้งประตูทางเข้าใหม่

ทุบเพื่อเชื่อมต่อ

รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
ก่อนรีโนเวตระเบียงชั้นบนถูกกั้นพื้นที่ด้วยผนังรูปวงกลม ทำให้มีพื้นที่น้อยและ ใช้งานลำบาก แต่เมื่อรวมพื้นที่ระเบียงเข้าด้วยกันแล้วทำให้ได้พื้นที่ที่ยาวขึ้น มีมุมสำหรับนั่ง พักผ่อน อ่านหนังสือ และรับลม โดยแฝงกลิ่นอายคลาสสิกจากพื้นกระเบื้องลวดลายโบราณ

งบประมาณที่เจ้าของบ้านจ่าย

  • งานตกแต่งรั้ว 17,000 บาท
  • งานระบบไฟฟ้า 34,000 บาท
  • งานฮาร์ดสเคป 224,000 บาท
  • พรรณไม้ 180,000 บาท
    รวม 455,000 บาท

5. เปลี่ยนบ้านเก่าวินเทจให้ดูโมเดิร์นขึ้น

  • เจ้าของ: คุณนพพันธ์  ตั้งกัลยานนท์ และคุณพันธิตรา เกียรตินิยมศักดิ์
  • สถาปัตยกรรม – ตกแต่งภายใน : คุณพันธิตรา เกียรตินิยมศักดิ์

บ้านเก่าอายุกว่า 40 ปีหลังนี้แต่เดิมเป็นบ้านของฝั่งตระกูลคุณนพ เรียกกันติดปากว่า “บ้านกงสี” ด้วยว่าอยู่ติดกับบ้านคุณพ่อคุณนพนั่นเอง ภายหลังคุณพ่อได้ซื้อบ้านนี้เก็บเอาไว้ เมื่อคุณนพและคุณติ๊กแต่งงานกันจึงถึงเวลาต้องปัดฝุ่นบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นเรือนหอเรียบเท่อันอบอุ่น
“ตอนแรกที่เข้ามาสำรวจ บ้านเก่าและโทรมมาก หลายอย่างไม่เป็นไปตามการใช้งานอย่างปัจจุบัน และมีการซอยห้องยิบย่อยเกินไป อีกทั้งสภาพอากาศของกรุงเทพฯก็เปลี่ยนไปด้วย จึงมีการบ้านให้คิดเยอะ” คุณติ๊กเล่าให้ฟังก่อนจะเสริมต่อว่า
“เป็นคนชอบบ้านเก่าและรายละเอียดของช่างสมัยก่อน ทั้งไม้และงานช่างเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้ในปัจจุบัน จึงอยากจะเก็บเอาไว้ให้ได้มากที่สุด อีกอย่างก็ช่วยประหยัดงบด้วย”
กรอบหน้าต่างทั้งหลายจากยุค 1960 จึงรอดพ้นจากการรื้อทิ้งมาประกอบกันอยู่ในบ้าน หากปรับปรุงบ้านเก่าแล้วเก็บรายละเอียดเหล่านี้ไว้ได้ ก็ส่งเสริมให้รูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคสมัยที่เริ่มสร้างบ้านดูเด่นชัดขึ้น

“ทีแรกตั้งใจจะเก็บแค่บานหน้าต่าง แต่เมื่อเริ่มลงมือ รายละเอียดอื่นๆก็ค่อยๆเผยออกมาให้เก็บเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นชุดบันไดไม้ที่เป็นโครงไม้ประกอบ และการรื้อฝ้าเพดานที่ทำให้ค้นพบคานพื้นไม้ที่ดูดีกว่าการปิดเอาไว้เสียอีก”

กว่าจะเป็นบ้านสวยหลังนี้จึงต้องผ่านขั้นตอนต่างๆมากมาย เราจะค่อยๆ ดูกันไปทีละส่วน 

เชื่อมกันไว้ได้พื้นที่ใช้สอย 

รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
เดิมบ้านจะแบ่งเป็น 2 หลัง  มีหลังคาโรงรถ สูงเท่ากับชั้นหนึ่ง  เชื่อมพื้นบ้านไว้ด้วยกัน เราเห็นว่าทำให้บ้านดูอึดอัด  จึงตั้งใจจะปรับ พื้นที่รอบๆ บ้านเสียใหม่ให้โล่งขึ้น โดยออกแบบโครงสร้างให้กลมกลืนกับราวลูกกรงเดิม  เพื่อไม่ให้โครงสร้างโรงรถใหม่  ดูแปลกแยก  อีกทั้งการยกสูงยังทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด  เกิดเป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่ใช้เป็น  มุมกึ่งเอ๊าต์ดอร์ได้สะดวก

1. รื้อหลังคาโรงรถเดิมออก แล้วออกแบบโครงหลังคาสูงจนพ้นหน้าต่างชั้น 2 เผยให้เห็นรูปด้านของบ้านทั้งสองหลัง
2. รื้อที่นั่งปูนรอบชานบ้านออกเพื่อเตรียมปรับพื้นที่ใหม่ออกแบบโครงสร้างให้กลมกลืนกับราวลูกกรงเดิม  เพื่อไม่ให้โครงสร้างโรงรถใหม่ ดูแปลกแยก  อีกทั้งการยกสูงยังทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด  เกิดเป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่ใช้เป็น มุมกึ่งเอ๊าต์ดอร์ได้สะดวก
3. ปรับพื้นรอบบ้านโดยการเทคอนกรีตทับ แต่ตรงจุดที่วางเสาให้ขุดหลุมเพื่อทำฐานให้เสาเหล็กกล่องก่อนเทปูน
4. หลังคาโรงรถเป็นเหล็กกล่องน้ำหนักเบา ด้านหนึ่งวางเสาบนพื้น ส่วนอีกด้านฝากเสาวางไว้บนระเบียงบ้าน โดยออกแบบให้ดูกลมกลืนกัน
5. ปูกระเบื้องเพื่อให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ สามารถใช้งานได้สะดวก

แสงและเงาที่ร่มรื่น

รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
เมื่อปรับพื้นที่หน้าบ้านในส่วนโรงรถแล้ว ก็มีความคิดที่จะปรับพื้นที่หลังบ้านให้ ใช้งานได้ง่ายขึ้น  จากเดิมที่เป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีชายคา  ใช้เป็นที่ตากผ้า  จึงออกแบบ ให้มีระแนงไม้บังแดด  แต่ยังโปร่งโล่ง พอให้มีการระบายอากาศที่ดีอยู่ ระแนงไม้เทียมที่ดูแลรักษาง่ายบนโครงเหล็กกล่อง  สร้างบรรยากาศร่มรื่น  คุณติ๊กวางแผนจะนำไม้แขวน  ที่ชอบแดดมาเติมความร่มรื่น  เปลี่ยนจากมุมตากผ้า  กลายเป็นอีกมุมสบายๆ ของบ้านได้เลย

1. ปรับพื้นที่โดยการเทคอนกรีตทับแต่ตรงจุดที่วางเสาให้ขุดหลุมเพื่อทำฐานก่อนเทปูนเช่นเดียวกับฝั่งโรงรถ
2. หลังคาโรงรถเป็นเหล็กกล่องน้ำหนักเบา ด้านหนึ่งวางเสาบนพื้น ส่วนอีกด้านฝากเสาวางไว้บนโครงสร้างชั้นสองเลือกใช้ไม้เทียมเพราะน้ำหนักเบาติดตั้งง่าย และดูแลรักษาง่ายในระยะยาว

ปรับให้โปร่ง ลดความทึบตัน

รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
เจ้าของบ้านชอบพื้นที่เปิดโล่ง ไม่อยากให้อึดอัด ไหนๆ จึงออกแบบใหม่ เพื่อลดความยิบย่อยของพื้นที่เดิม ทั้งยังอยากเปิดพื้นที่ให้บ้านคุณพ่อกับบ้านนี้มองเห็นกันได้ด้วย เมื่อแล้วเสร็จจะได้พื้นที่ซึ่งมีความเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ทั้งยังดูโปร่งโล่งสบายตากว่าของเดิม สีอ่อนยิ่งทำให้รู้สึกสว่างขึ้น ดูสบายตา และไม่ทึบตัน อีกทั้งการคุมโทนสียังทำให้รูปแบบอาคารดูไม่รก  และเกิดความต่อเนื่อง

1. ปรับพื้นที่โดยรอบ รื้อม้านั่งปูนบริเวณประตูบ้าน เทพื้นให้เป็นระดับเดียวกันทั้งหมด
2. รื้อกำแพงบ้านบางส่วนออกเพื่อให้ประตูหน้าต่างมีขนาดใหญ่ขึ้น รื้อกำแพงรั้วข้างบ้านออกให้เหลือไว้แค่ระดับเอว แล้วเปลี่ยนไปใช้เหล็กเส้นประกอบเข้าไปแทน
3. ทำสีอาคารด้วยสีโทนพาสเทล

งบประมาณที่เจ้าของบ้านจ่าย

  • ค่าเทพื้นคอนกรีต 60,000  บาท
  • ค่าปูกระเบื้องภายนอก 18,000  บาท
  • ค่าก่อสร้างโรงรถ 52,000  บาท
  • ค่าก่อสร้างชุดระแนงไม้หลังบ้านพร้อมวัสดุ 48,000  บาท
  • ค่าทำสีโรงรถ หลังบ้าน และกำแพงรั้วบ้าน 35,000  บาท
    รวม 213,000  บาท 

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์, วุฒิกร สุทธิอาภา, Noon SD.  รีโนเวทบ้านเก่าให้สวยเหมือนใหม่
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, นิตยสาร my home  

10 จุดการรีโนเวตบ้านที่ไม่ควรพลาด

รีโนเวตบ้านเก่า 80 ปี มาเป็น “บ้านโนบิตะ” แสนอบอุ่น