เล้าสารพัดสัตว์ปีก เป็ด ไก่ ห่าน หมู เลี้ยงรวมกันได้ที่ Prem Farm

หากนับจำนวนของสัตว์ปีกทั้งไก่ไข่ ไก่งวง เป็ด และห่านที่คละกันอยู่ในเล้าแห่งนี้ ก็เรียกได้ว่าแทบจะจับมัดเพื่อคิดคำนวณได้ยาก ทั้งห่านเอ็มเดน (Embden) ห่านโทเลาซ์ (Toulouse) ห่านหัวสิงโต (Shitou) เป็ดมาลลาร์ด (mallard) ไก่บาร์พลีมัทร็อค (Barred Plymouth Rock) ไก่บราห์มา (Brahma) ไก่เวียนดอตต์ (Wyandotte) และยังมีหมูแคระพอตเบลลี่ (Pot Belly) ที่ตอนนี้ไม่น่าจะเรียกว่าหมูแคระได้เต็มปากผสมอลหม่านอยู่ด้วย

เรากำลังพูดถึงฟาร์มเล็กๆ อีกแห่งที่ซ่อนตัวอยู่มุมในสุดของ Prem Café in the garden จังหวัดปทุมธานี ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของบรรยากาศสวนที่ตกแต่งด้วยพืชทะเลทรายผสมกับพรรณไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาในบรรยากาศธรรมชาติ มุมในสุดของคาเฟ่ริมคลองเชียงรากคือที่ตั้งของฟาร์มสัตว์ปีกที่ คุณไม้ – ฐาปนิต โชติกเสถียร ผู้ก่อตั้ง Prem café in the garden และเป็นนักจัดสวนแห่ง Murraya Garden ตั้งใจสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ให้มาทำความรู้จักกับสัตว์ปีกในรูปแบบของฟาร์มและเรียกที่แห่งนี้ว่า Prem Farm

เล้าไก่ไข่

Prem Farm แตกต่างจากเล้าไก่ทั่วๆ ไปด้วยรูปแบบการเลี้ยงที่ผสมไก่ในหลายสายพันธุ์ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีสัตว์ปีกอื่นๆ อย่างเป็ด ห่าน ไก่งวง และหมูแคระพอตเบลลี่ รวมอยู่ในพื้นที่กว่า 375 ตารางเมตร ในฟาร์มแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งทำโต๊ะปลูกผัก และจัดสรรให้เป็นบ้านต้นไม้สำหรับชมสัตว์ต่างๆ ในคอกด้วย ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดที่แบ่งเป็นสัดส่วนเพื่อให้พื้นที่ของสัตว์แต่ละชนิดได้อยู่อย่างเหมาะสม ทำให้คอกสัตว์นานาชนิดแห่งนี้ดูเหมือนจะแน่นขนัด แต่เมื่อเทียบพื้นที่กับจำนวนสัตว์แล้วก็ไม่ได้แออัดจนเกินไป

คุณไม้ใช้เวลาศึกษาและขยับขยายพื้นที่ฟาร์มจนลงตัวอย่างที่เห็นก็เกือบ 2 ปี ซึ่งเขาเล่าว่านอกจากอยากให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้และเกิดกิจกรรมภายในคาเฟ่แล้ว เขายังตั้งใจส่งต่อความรู้สึกที่เขาเคยได้รับจากพ่อไปยังลูกชายของเขาด้วย เล้าไก่ไข่

คุณไม้ – ฐาปนิต โชติกเสถียร กับลูกเจี๊ยบที่ผสมพันธุ์ในเล้า
สารพัดสัตว์ในฟาร์มทั้งเป็ด หมู และไก่งวง

Prem Farm คือเรื่องราวของพ่อถึงเปรม

“สมัยเด็กๆ พ่อเราทำเป็นตัวอย่าง หัดให้รู้จักเลี้ยงไก่ เก็บไข่ไปให้แม่ไก่ฟัก ทำให้ถูกปลูกฝังมาแบบนั้น พอโตมาก็เลยเก็บความทรงจำในตอนนั้นมาทำตรงนี้ต่อ เลี้ยงไก่ไข่ เรียนรู้การขยายพันธุ์ ซึ่งมันก็โอเคนะที่เรายังสนุกและมีความสุขกับมันอยู่ ตั้งใจจะส่งต่อความรู้สึกนี้ไปยังลูกชายซึ่งอยู่ในวัยกำลังซน ให้เขาได้เรียนรู้และจดจำไปจนถึงวันที่เขาโต ทำให้เขาเห็น ซึ่งก็ต้องบังคับให้ไปเก็บไข่บ้างตามประสาเด็กวัยซน หรือขั้นตอนการให้ผักเป็นอาหารไก่ก็เพื่อให้เขาได้เห็นกิจกรรมที่พ่อทำ และเขาต้องอยากทำบ้าง วันหนึ่งเขาจะเข้าใจและเข้าถึงตรงนี้”

ชื่อ Prem Café มาจากชื่อของน้องเปรม ลูกชายคนโตของคุณไม้และคุณปลา ซึ่งต่อยอดมายัง Prem Farm ด้วย นอกจากกิจกรรมเก็บไข่ที่คุ้นชินแล้ว น้องเปรมยังคุ้นเคยกับสัตว์อื่นๆ ที่รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน อย่างหมูแคระพอตเบลลี่ที่มีตัวขนาดใหญ่กว่าหลายเท่าด้วย

น้องเปรม กับภารกิจเก็บไข่ในตอนเช้า

 

เลี้ยงหลายอย่างรวมกันมีทั้งดีและด้อย

ภาพความอลม่านเมื่อฝูงห่านที่กร่างเหมือนมาเฟียไล่ตีกันเอง แล้วแอบจิกไก่งวงบ้างในบางจังหวะ ในขณะที่หมูแคระตัวใหญ่ก็เดินต้วมเตี้ยมไปมา ความวุ่นวายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้คุณไม้ใช้วิธีจับแยกหากเกิดการตะลุมบอนเกิดขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นจุดด้อยเพียงข้อเดียวของการเลี้ยงสัตว์ปีกร่วมกันในตอนนี้

เล้าไก่ไข่

หมูแคระพอตเบลลี่
ห่านเอ็มเดน (Embden)
เล้าไก่งวง
ไก่งวง

“สัตว์ที่เลี้ยงรวมกัน เป็นอะไรที่ปวดหัวอยู่ประมาณหนึ่ง มันจะเกิดการทะเลาะ โดยเฉพาะห่านที่ดุและเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว ก็จะแบ่งกลุ่มตีกันอีก ยิ่งในฤดูผสมพันธุ์ก็จะไล่จิกกัน โหวกเหวกมาก ในเล้าจึงต้องแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันมันจิกตีกัน เริ่มจากสร้างวินัยให้สัตว์ด้วยการสร้างพื้นที่ให้เขากกไข่ในขั้นแรก ซึ่งตามธรรมชาติสัตว์จะหวงพื้นที่เมื่อเขาออกไข่และอยู่เป็นสัดส่วนได้เอง แต่ก็ไม่ใช่สัตว์ทุกสายพันธุ์ที่สามารถปล่อยเลี้ยงแบบอิสระ อย่างไก่ไข่จะยังไม่ได้ปล่อยออกนอกพื้นที่ เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ซึ่งจะทำให้ได้ลูกเจี๊ยบไม่ตรงตามพันธุ์ เพียงแต่ว่าตอนนี้อายุมันยังแตกต่างกันเลยยังไม่รบกวนกันมาก ก็ปล่อยเลี้ยงด้วยกันได้”

ไก่เวียนดอตต์ (Wyandotte)

“ข้อดีของการเลี้ยงสัตว์ปีกรวมกันคือพันธุ์ไก่ที่เลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นไก่ไข่ซึ่งจะไม่ยอมฟักไข่ ผมก็เอาไข่ไปให้ไก่งวงฟักแทน หรือให้แม่ห่าน แม่เป็ดเทศ ช่วยฟักให้ เป็นการเกื้อกูลกันได้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จจากการให้แม่ไก่งวงฟักไข่มาหลายรุ่น ซึ่งเทคนิคนี้มันเป็นความทรงจำในวัยเด็ก และยังรู้สึกมาถึงตอนนี้”

ผักสับละเอียด อาหารเสริมของสัตว์ในฟาร์ม

เมนูแบบมิกซ์ สัตว์ต่างชนิดก็กินด้วยกันได้

สัตว์ปีกเลี้ยงรวมกันให้อาหารเหมือนกัน หรือแม้แต่อาหารหมูที่มีโปรตีนสูง เป็ดก็สามารถกินได้ เลี้ยงคละกันได้ไม่ต้องแบ่งแยก อาหารสำหรับสัตว์ปีกแบ่งเป็น 2 ส่วน คืออาหารหลักที่ให้ทั้งข้าวเปลือกและหัวอาหารสำเร็จรูป ในความถี่ทุกวัน ส่วนอาหารเสริมให้สัปดาห์ละ 3 ครั้งจะเป็นผักต่างๆ โดยเลือกผักที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี ใช้ผักที่รับประทานเองแบ่งมาให้สัตว์ในเล้า ซึ่งก็ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว มีทั้งคะน้า กวางตุ้ง หัวปลี กะหล่ำปลี ให้ทั้งสับและไม่สับ มีข้าวโพดเพื่อให้ไก่จิกด้วย ทั้งไก่ เป็ด ห่าน ให้กินอาหารด้วยกันได้ ส่วนอาหารหมูก็จะเป็นเศษอาหารที่เหลือจากร้าน ผสมรำ ผสมหัวอาหาร ผักก็เป็นอาหารเสริมของเขาอีกทีหนึ่ง บางครั้งก็ใช้เศษผักตบชวาที่ลอยมากับแม่น้ำให้กินด้วย

ตะแกรงอาหารไก่ที่ยึดติดกับผนัง ยกสูงให้ไก่จิกกินได้ง่าย

ส่วนหนึ่งที่ออกแบบได้อย่างน่าสนใจคือรางข้าวเปลือกและถาดตะแกรงผักที่ยึดติดผนังแนวตั้ง ให้ไก่ได้จิกผักในระดับที่พอดี ส่วนข้าวโพดใช้วิธีห้อยจากคอนไก่ในความสูงที่พอดีกับไก่สามารถจิกกินได้ง่าย

ไก่บราห์มา (Brahma)
ไก่บาร์พลีมัทร็อค (Barred Plymouth Rock)
รางข้าวเปลือกที่ดัดแปลงจากท่อพีวีซี

เล้าไก่ดีไซน์ให้เด่นแต่ต้องไม่แพง

ประตูรถเก่า ป้ายร้านค้า กรงเหล็ก โครงเหล็ก เศษไม้ แผ่นหลังคา ทุกอย่างที่เหมือนจะเป็นของเหลือใช้ถูกดีไซน์ใหม่ให้เป็นเล้าไก่แบบเก๋อารมณ์สไตล์จั๊งค์ แนวงานดิบๆ เหมือนฟาร์มในต่างประเทศ ฉีกคำว่าฟาร์มทั่วๆ ไป ประยุกต์วัสดุให้เกิดประโยชน์ ให้เห็นว่าของเก่าทุกอย่างยังใช้ได้ หลายๆ อย่างที่มันดูไร้ค่าก็นำมาสร้างให้เกิดเรื่องราว เกิดความน่าสนใจให้เด็กหรือผู้ปกครองที่มาชม หากได้เห็นไอเดียเหล่านี้ก็สามารถนำไปสร้างที่บ้านได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดประสงค์ของ Prem Farm

“ลักษณะเบสิก เรื่องของสัตว์ปีกคือให้เขามีสเปซ มีความสูงของหลังคา มีความกว้างที่เหมาะสม ที่สำคัญคือพื้นที่อินดอร์เพื่อหลบแดดหลบฝนและส่วนเอ๊าต์ดอร์เพื่อให้อยู่บนพื้นดินได้ด้วย ได้คุ้ยเขี่ย เดิน เล่นน้ำธรรมชาติมันจะยิ่งดีต่อสุขภาพเขา เมื่อร่างกายแข็งแรงก็ช่วยให้ระบบสืบพันธุ์มีเชื้อในการออกไข่ได้มากกว่าไก่ไข่ที่อยู่ในคอกเพียงอย่างเดียว มีโอกาสที่จะได้ฟักเป็นตัวสูงขึ้นด้วย”

รูปแบบของเล้าเป็นอาคารยาวแบ่งเป็นห้องๆ สำหรับไก่ไข่ส่วนสำคัญคือพื้นที่อินดอร์ที่ต้องมีบริเวณให้คุ้ยเคี่ยอาหารได้ ถัดมาคือเรื่องของสเปซที่มีผลต่อความแข็งแรงและขนาดน้ำหนักของไก่ ทิศทางลมจะต้องไม่ให้อับเกินไปแต่ก็หลบฝนได้ เล้าไก่จะแบ่งเป็น 2 ห้อง แบ่งย่อยเป็นห้องเลี้ยงไก่อนุบาล ทั้งห่าน ไก่งวง ก็มาไข่ในส่วนนี้ได้ สัดส่วนที่เหมาะสม 1 ตารางเมตรเหมาะกับไก่จำนวน 3-4 ตัว หากมีสเปซที่กว้างไก่จะรู้สึกผ่อนคลาย ไม่แย่งอาหาร และเหมาะสมที่จะผสมพันธุ์

งูและกลิ่น สองเรืองใหญ่ที่แก้ได้ถ้าดูแลดี

งูยังคงเป็นอริตัวร้ายของสัตว์ปีก แต่ไม่ใช่กับ “ห่าน” เพราะผลของการเลี้ยงห่านในบริเวณที่อุดมตามธรรมชาติ ติดแม่น้ำที่มีท้องนาป่ารกล้อมรอบ แต่งูกลับไม่ปรากฎให้เห็นเลย

“ก่อนจะเลี้ยงห่าน ที่นี่เจองูประจำครับ เพราะทำเลมันเป็นริมแม่น้ำด้วย บางวันก็จะเห็นว่ายน้ำข้ามฝั่งมา หลังจากที่เริ่มเลี้ยงห่านก็ไม่มีให้เห็นอีกเลย แต่เราก็ป้องกันหลายอย่าง เช่น ใช้ตาข่ายกั้นในน้ำอีกชั้นเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายที่มากับน้ำ ใช้ตาข่ายกรงลวดกั้นรอบๆ และยังมีตาข่ายกรงไก่ช่วยกั้นพื้นที่ภายในแต่ละเล้าอีกชั้น ”

ส่วนปัญหาเรื่องกลิ่นที่เกิดจากมูลสัตว์ คุณไม้ใช้วิธีกำจัดกลิ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพหรือ EM ฉีดพ่นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่หากมีฝนตกก็ฉีดพ่นเพิ่ม เพราะพื้นที่อาจมีกลิ่นรบกวนมากขึ้น และด้วยบริเวณรอบข้างที่เป็นพื้นที่เปิด อากาศถ่ายเท ส่วนของฟาร์มจึงไม่ค่อยมีกลิ่นมากวนใจมากนัก

นอกจากพื้นที่เลี้ยงสัตว์นานาชนิดแล้ว ใน Prem Farm ยังแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกผักสำหรับประกอบอาหารในส่วนของคาเฟ่ ป้องกันสัตว์คุ้ยเขี่ยด้วยแผงตาข่าย โดยทำเป็นโต๊ะปลูกผักยกสูงและปลูกในกล่องโฟมแบบง่ายๆ ในเบื้องต้น ซึ่งมีแผนจะขยับขยายในอนาคตให้ใช้งานได้แข็งแรงขึ้น เพื่อให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำฟาร์มสำหรับเด็กได้อย่างสมบูรณ์

Prem Farm เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 8.30 น.- 18.00 น.

Facebook : https://web.facebook.com/PremCafeIntheGarden

โทรศัพท์ 08-4563 – 9292


เรื่อง: JOMM YB

ภาพ: อภิรักษ์ สุขสัย