สวนครัวที่มีพืชผักกว่า 30 ชนิด พอกินตลอดเดือนโดยไม่ต้องซื้อ

สวนครัว หลังบ้าน ของบ้านหลังนี้อยู่ไกลถึงเมืองมารีบา รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ที่มีภูมิอากาศใกล้เคียงกับภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้สามารถปลูกพืชผักไทย ๆ แบบบ้านเราได้และยังปลูกพืชผักเมืองหนาวบางอย่างได้ด้วย ภายในสวนจึงมีผักปลูกไว้มากกว่า 30 ชนิดเลยทีเดียว

ใน สวนครัว หลังบ้าน แห่งนี้มีทั้งพืชผักที่เป็นไม้ยืนพื้นและผักตามฤดูกาลที่ปลูกหมุนเวียน ทำให้แทบไม่ต้องซื้อผักจากนอกบ้านมาประกอบอาหารเลย รวมทั้งยังมีเล้าไก่ที่เลี้ยงไก่ไข่จำนวนไม่มากแต่เพียงพอรับประทานสำหรับครอบครัวเล็กๆ

สวนครัว หลังบ้าน
อ่านเรื่องราวของสวนแห่งนี้ และติดตามเทคนิคการจัดสวนขนาดเล็กดูแลง่ายแบบอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ หนังสือ Easy Little Garden สวนเล็ก … ดูแลง่าย สั่งซื้อออนไลน์

คุณชัช-ดร.ชัชมาศ กาญจนอุดมการ และ คุณใหม่-ดร.อุษณา นันทะวัน ทำงานเป็นนักวิจัยด้านมะละกออยู่ที่ประเทศออสเตรเลียมา 12 ปีแล้ว เมื่อทั้งคู่ย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้ได้สักระยะก็เริ่มทำสวนครัวขึ้นตั้งแต่ 4 ปีก่อน จุดเริ่มต้นมาจากต้องการปลูกผักกินเองเพื่อสุขภาพ ในสวนแห่งนี้ไม่มีการใช้สารเคมีเลยแต่ใช้วิธีธรรมชาติในการดูแลและให้ความสำคัญกับการเตรียมดินตั้งแต่แรก

สวนครัว หลังบ้าน
คุณชัชมาศและกระบะสวนครัวที่มีครบทุกชนิด สามารถเก็บมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู

ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ใน สวนครัว หลังบ้าน

“ตอนเริ่มทำสวนใหม่ๆ เราลงทุนซื้อดินที่ดีมา ที่นี่จะมีดินที่ย่อยจากเศษไม้แล้วหมักขายเลยปลูกผักได้งามโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเลย แต่พอเราจะทำแปลงเพิ่มอีกรอบปรากฏว่าได้ดินคุณภาพไม่ดีเท่าไหร่จึงต้องปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยคอกจากขี้วัว ขี้ม้า และขี้ไก่ ผสมเพิ่มลงไป”

การปรุงดินนั้นสามารถใช้ปุ๋ยคอกแบบใดก็ได้ เน้นปุ๋ยที่หาง่ายในท้องถิ่น สำหรับแปลงผักยกกระบะไม้ง่าย ๆ ใช้ไม้สนที่ผ่านการทรีทน้ำยาสำหรับใช้งานภายนอกโดยเฉพาะ มีความทนทานสามารถใช้งานได้หลายปี  บางส่วนยกแปลงผักธรรมดาแต่ละแปลงเน้นปลูกผักหลายชนิดผสมผสานกันทั้งผักกินใบและพืชเครื่องแกงแบบไทยๆ ใช้ใบอ้อยแห้งคลุมดินแทนฟาง เนื่องจากที่นั่นไม่มีการปลูกข้าวจึงไม่มีฟางให้ใช้

สวนครัว หลังบ้าน
สวนครัว หลังบ้าน

ปลูกพืชผักมากกว่า 30 ชนิด และดูแลแบบธรรมชาติ

สำหรับพืชผักในสวนหลักๆมีกลุ่มไม้ยืนพื้นที่ใช้งานบ่อยๆ และสามารถเก็บได้ตลอด ได้แก่ มะกรูด มะนาว ส้ม ตะไคร้ ขิง ข่า ขมิ้น ชะพลู พริกไทย มันเทศ กะเพรา เบซิล พริกขี้หนู มะเขือ ผักชีใบเลื่อย  โรสแมรี่ ผักตามฤดูกาลสามารถดูตามคำแนะนำข้างซองเมล็ดพันธุ์ว่าควรปลูกผักอะไรฤดูไหน เช่น ฤดูหนาว กะหล่ำปลี ผักกาดแก้ว บล็อกโคลี่ ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ในหน้าร้อนจะปลูกกวางตุ้ง คะน้า ผักบุ้ง มะเขือเทศ

นอกจากนี้ก็จะมีกลุ่มพืชผักที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี เช่น แตงกวา ผักสลัด(แต่ในช่วงหน้าหนาวเจริญเติบโตดีกว่า) ต้นหอม กุ่ยช่าย รวมทั้งไม้สมุนไพรฝรั่งอื่น ๆได้แก่ โรสแมรี่ ไธม์ มาจอแรม ออริกาโน ทาร์รากอน มิ้นท์ เสจ ดิลล์ เป็นต้น

เมื่อมีการเตรียมดินดีแต่แรกจึงไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มระหว่างปลูกเลย ส่วนศัตรูพืชใช้วิธีกำจัดแบบชีวภาพทั้งพ่นน้ำหมักคอมบูชะทำเองเพื่อป้องกันและกำจัดเชื้อรา และรด BT (Bacillus thuringiensis) แบคทีเรียที่ใช้กำจัดหนอนนอกจากนี้ยังปลูกไม้ดอกเพื่อเรียกแมลงที่เป็นประโยชน์ให้เข้ามาผสมเกสร เช่นแพนซี อลิสซัม คอสมอส ทาร์รากอน ลาเวนเดอร์ คาร์โมมาย สแตติส เวอร์บีน่า แนสเตอร์เตียม รวมทั้งยังมีไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นอย่างสนเกรวิลเลียและแปรงล้างขวด ที่มีดอกสีสันสดใสช่วยเรียกนกให้เข้ามากินแมลง หนอน และตั๊กแตนต่าง ๆ

กล้าผักเพาะใหม่ประมาณ เดือนละครั้ง มีผักกว่า 10 ชนิด ได้แก่ คะน้า ซุกินี มะเขือยาว หัวไชเท้า ถั่วลันเตา บวบ ถั่วพลู ผักชี แรดิช เป็นต้น
สวนครัว หลังบ้าน

“เราจะเพาะกล้าผักกินใบชุดใหม่ประมาณเดือนละครั้ง แต่ละครั้งจะปลูกอย่างละ 20 ต้น ซึ่งได้ผลผลิตหมุนเวียนพอรับประทานตลอดโดยไม่ต้องซื้อผักเพิ่มเลย ยกเว้นบางชนิดที่เราไม่ได้ปลูกเท่านั้น เช่น แครอท ส่วนผักที่เก็บทานไม่ทันบางครั้งเราแพคเป็นชุดขายในออนไลน์สำหรับลูกค้าย่านนี้ ซึ่งทุกคนชอบมากเพราะมีพืชผักไทย ๆสำหรับทำอาหารเอเชียได้หลายอย่าง”

ปลูกผักกินใบทั้งกวางตุ้งไต้หวัน คะน้า ติดมินิสปริงเกลอร์ให้น้ำอัตโนมัติวันละ 1 ครั้ง ช่วงหน้าหนาวจะตั้งไว้ 15 นาที ส่วนหน้าร้าน 20 นาที และปิดระบบช่วงหน้าฝน ช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลารดน้ำ

ภายในสวนของบ้านหลังนี้มีแปลงผักสองรูปแบบคือแปลงผักแบบกระบะไม้ยกสูงทำขอบกว้างใช้เป็นที่นั่งด้วยในตัวเนื่องจากอยู่บริเวณแคมป์ไฟบนลานกว้าง ซึ่งเป็นมุมที่มักจะออกมานั่งทานอาหารในช่วงหน้าหนาวอยู่เสมอ และแปลงปลูกแบบยกแปลงปกติชิดแนวรั้ว โดยยกแปลงกว้างและแบ่งส่วนย่อย ๆในแปลงปลูกผักหลายชนิดคละกัน คุณชัชยังมีเพจสอนทำอาหารชื่อว่า Chat Cook และเปิดคลาสสอนทำอาหารสำหรับเพื่อนๆชาวต่างชาติที่นำเอาพืชผักชนิดต่าง ๆในสวนมาทำเมนูน่ารับประทานอีกมากมายด้วย

ยกแปลงผักสูงขึ้นมาจากดิน 25 เซนติเมตร แม้จะมีขนาดกว้างเกินระยะเอื้อมมือแต่สามารถให้เดินเข้าไปในแปลงได้เลยจึงง่ายต่อการทำงานในสวน แปลงที่ปล่อยว่างบางช่วงเพื่อรอย้ายกล้าชุดใหม่ลงไป วัสดุคลุมแปลงมาจากใบอ้อยแห้งที่หาได้ง่ายในย่านนี้
กำหนดให้มีแปลงกว้าง ปลูกผักเป็นแถวเข้าไปโดยเว้นระยะห่างระหว่างชนิด มีไม้ต้นขนาดเล็กในแปลงเป็นกลุ่มพรรณไม้พื้นเมือง เช่น สนเกรวิลเลีย แปรงล้างขวด มีดอกสวยงามดึงดูดนกให้เข้ามากินหนอน และตั๊กแตน

นอกจากพืชผักนานาชนิดที่เป็นแหล่งอาหารคุณภาพดีและปลอดภัยในบ้านแล้ว ก็ยังมีไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้อีก 4 ตัว ออกไข่ให้เก็บมารับประทานได้ทุกวัน  สวนแห่งนี้ทั้งคู่บอกว่าดูแลไม่ยากเลยเพราะมีการตั้งระบบให้น้ำอัตโนมัติเปิดวันละรอบรอบละ 15-20 นาทีเท่านั้น  การทำสวนที่มองทุกอย่างให้เป็นเรื่องง่ายช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกว่าอยากจะลองสร้างสรรค์มุมสวนครัวดูบ้าง สวนนี้มีทั้งไอเดียการทำแปลงผักง่าย ๆและเทคนิคดี ๆให้นำไปปรับใช้สำหรับสวนพื้นที่เล็กได้ไม่ยากเลยทีเดียว

เล้าไก่ที่คุณใหม่ออกแบบและลงมือสร้างบางส่วนเองร่วมกับช่างสำหรับเลี้ยงไก่แค่ 4 ตัว ทำช่องเปิดเล็กๆนอกเล้าให้เก็บไข่ได้โดยไม่ต้องเข้าไปด้านในเศษอาหารและเศษผักที่เหลือจากในครัวนำมาเป็นอาหารของไก่และเสริมอาหารไก่ไข่โดยเฉพาะเพื่อให้ออกไข่สม่ำเสมอ ไก่ที่อายุน้อยจะออกไข่ทุกวันช่วง 3 ปีแรก หลังจากนั้นจึงออกไข่น้อยลง การเลี้ยงไก่นอกจากจะได้ไข่ไว้รับประทานทุกวันแล้วยังได้ปุ๋ยมูลไก่ใส่ผักสวนครัวด้วย

 

วิธีทำกระบะปลูกผักพร้อมที่นั่ง ใน สวนครัว หลังบ้าน

  1. กำหนดขอบเขตพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่ต้องการ
  2. ใช้กระดานไม้สนหน้า 10 นิ้ว หนา 1.5 นิ้ว ตีเป็นกรอบสี่เหลี่ยมรูปตัวยู (U) ตามขนาดที่ต้องการ
  3. ปิดทับขอบกระบะด้านบนด้วยไม้กระดานกว้าง 10 นิ้วเข้ามุมเฉียง 45 องศา ใช้เป็นที่นั่งทำเฉพาะด้านในที่ใช้นั่งเพื่อประหยัดไม้
  4. ใส่ดินปลูกผักลงไปในกระบะให้เต็ม
  5. วางระบบให้น้ำอัตโนมัติแบบมินิสปริงเกลอร์ให้ทั่วถึงทั้งแปลง
  6. ปลูกต้นกล้าผักที่เตรียมไว้ โดยให้ในแปลงมีทั้งผักอายุยืนและผักล้มล้มสลับกัน

เรื่อง : วรัปศร

เจ้าของ- จัดสวน- ภาพ : ดร.ชัชมาศ กาญจนอุดมการ –ดร.อุษณา นันทะวัน

ภาพประกอบ : Pstaryu

อัปเดทข่าวสารงานเกษตรได้ที่บ้านและสวน Garden&Farm