บ้านโมเดิร์นหน้าแคบ แต่อยู่สบายสไตล์ไทยๆ

บ้านรูปทรงเรียบง่ายแต่โดดเด่นหลังนี้ แก้ปัญหาในเชิงออกแบบด้วยความเรียบง่าย กลายเป็น บ้านโมเดิร์นหน้าแคบ จากระยะถอยร่นเข้ามาจนมีหน้ากว้างของบ้านเพียง 5 เมตร แม้ภายนอกจะดูทันสมัย แต่ภายในกลับมีความเป็นไทยที่เผยตัวตนของผู้อาศัยได้อย่างลงตัว


DESIGNER DIRECTORY

ออกแบบ: Architect 9 Kampanad

เจ้าของ : คุณนพมาศ ฮวบเจริญ

แม้ภายนอกจะดูทันสมัย แต่ภายในอบอุ่นด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าของคุณแม่อย่างชัดเจน

เลือกทำเล จากความผูกพัน

คุณปาล์ม และคุณแม่ อยู่อาศัยในย่านซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 43 นี้มาแต่ดั้งเดิม แม้จะมีที่ดินอื่นซึ่งมีพื้นที่มากกว่า ครอบครัวของคุณปาล์มก็ตัดสินใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนนี้ ซึ่งซื้อใช้งานในเชิงพาณิชย์มานานแล้วมาสร้างบ้านหลังใหม่ เพราะอยู่ในระยะเดินถึงกันจากบ้านเดิมซึ่งมีแผนว่าจะรีโนเวตในอนาคต มาเป็นทำเลในการขยับขยายปลูกบ้านหลังใหม่ภายในซอย เพราะทางครอบครัวมีความผูกพันกับย่านนี้มานาน

ด้านตรงของบ้าน แสดงให้เห็นถึงลักษณะ บ้านโมเดิร์นหน้าแคบ ที่สัดส่วนสวยงามอย่างชัดเจน
รั้วช่องลมอิฐบล็อก ช่วยให้บ้านมีการระบายอากาศที่ดี และยังมีความเป็นส่วนตัว
ตะแกรงเหล็กเป็นเสมือนผิวชั้นที่สองของบ้าน ส่วนลดแสงและความร้อนที่ปะทะตัวผนัง

ที่ดินแคบยาว ติดทางสาธารณะ

ที่ดินนี้มีขนาดหน้ากว้างเพียงแค่ 8 เมตร ในซอยขนาดเล็ก และด้านมือซ้ายตลอดแนวของที่ดินยังเป็นลำรางสาธารณะ ซึ่งเป็นทางสัญจรของคนในละแวกนั้น ทำให้ต้องมีระยะถอยร่นตามกฎหมายอีก 3 เมตร ตามกฎหมายอาคาร กลายเป็นข้อจำกัดและโจทย์เบื้องต้นในการสร้างบ้านใหม่หลังนี้ สถาปนิกในงานนี้คุณตั๊ม-เฉลิมพล สมบัติยานุชิต แห่ง Office Architect9Kampanad ได้ศึกษาความเป็นไปได้จากข้อจำกัดที่มีอยู่ ถอดออกมาเป็นบ้านโครงสร้างแคบยาวแต่โปร่งตา พร้อมรั้วสีขาวเป็นอิฐช่องลมกั้นกลางระหว่างภายในและภายนอกบ้าน

แดดจากประตูเมื่อเปิดเต็มบานในช่วงบ่าย สังเกตเห็นช่องแสงที่ทะลุมาจากส่วนบันไดทั้งสามชั้น ช่วยให้บ้านดูสว่างไม่ทึบตัน
แปลนชั้นหนึ่งเป็นไปอย่างเรียบง่าย เรียงตามผังของ บ้านโมเดิร์นหน้าแคบ จากพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และครัวด้านในสุด ดูโปร่งถ่ายเทอากาศได้ดี

แสงดี ลมดี อากาศดีและไม่ต้องพึ่งแอร์

สิ่งแรกที่คุณปาล์มคุยกับคุณแม่ก่อนสร้างบ้าน คือความต้องการของคุณแม่ โดยไม่ต้องการบ้านที่ต้องอยู่แต่ในห้องแอร์ ต้องการบ้านที่โปร่ง และชอบวัสดุอย่างไม้ อันเป็นวัสดุคุ้นเคยของบ้านเรือนไทยสมัยก่อน แต่ด้วยทิศที่สามารถเปิดให้ตัวบ้านรับแสงและลมได้คือด้านที่ติดกับทางเดินสาธารณะนั้น เป็นด้านทิศตะวันตกซึ่งได้รับความร้อนจากแสงตอนบ่าย สถาปนิกจึงต้องหาทางแก้ปัญหา ด้วยการสร้างผนังที่สองของอาคารกลายเป็นฟาซาดตะแกรงเหล็กด้านข้าง ซึ่งมีกำหนดเป็นจังหวะช่องเปิดให้รับกับช่องเปิดภายในบ้าน เพื่อจำกัดแสง ลม ความร้อน ที่เข้ามาในตัวบ้านให้เหมาะสม

จากด้านนอกนี้เองเราจึงเห็นตะแกรงเหล็กสีขาวขนาดใหญ่ ล้อไปกับรั้วช่องสีเหลี่ยมซ้ำๆ กันของรั้วสีขาว เป็นที่มาของการแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมาแต่เรียบง่าย สวยงามได้สัดส่วน สอดคล้องกับแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

พื้นที่นั่งทำงานของคุณปาล์มบนชั้นสองของบ้านยามบ่าย

“พอตอนที่เรา Work from Home เราก็รู้เลยว่าเราสามารถนั่งทำงานตรงชั้นสองนี่ได้ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายได้โดยไม่ต้องเปิดพัดลมเลยเพราะตรงนี้จะไม่มีแสงบ่ายเข้ามา แต่พอถึงบ่ายก็แค่เปิดพัดลมก็อยู่ได้” คุณปาล์มเจ้าของบ้านยืนยันผลสำเร็จของงานออกแบบที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยใชชีวิตได้อย่างมีความสุข

ชุดโครงสร้างบันไดเหล็กผสมไม้ของบ้านนี้ ดูโปร่งด้วยรูปแบบที่ไม่มีลูกตั้ง และราวเหล็กบางสีขาว
ชั้นสองของบ้านมีความแคบยาว ผนังสีขาวด้านในกั้นส่วนหน้าเป็นห้องออกกำลัง
เพดานบ้านเป็นพื้นไม้ของชั้นบนถัดไป ไม่ทึบตัน ช่วยระบายอากาศได้ดี
มุมที่มองย้อนกลับไปของชั้นสอง องค์ประกอบพื้นไม้โชว์ให้เห็นทั้งพื้นและเพดานด้านบน ผนังด้านขวามือวางเฟรมอะลูมิเนียมเป็นลายฝาปะกน

ออกแบบอย่างไรให้อยู่เย็น เป็นสุข

นอกจากผนังที่สองซึ่งช่วยลดแสงและความร้อนที่มาปะทะแล้ว ภายในก็สำคัญ ตั้งแต่การวางช่องเปิดรับลมทางทิศตะวันตก ยังมีการวางแปลนบ้านให้โปร่ง เพื่อที่จะได้ไม่มีอะไรอะไรมากั้นทางลมด้านทิศเหนือใต้ในส่วนของหน้าบ้านและหลังบ้าน การใช้โครงสร้างบันไดโปร่งไม่มีลูกตั้งเพื่อให้ลมและแสงถ่ายเทระหว่างชั้น สัมพันธ์ไปกับพื้นไม้ที่ระบายอากาศได้ จากการที่เลือกใช้โครงสร้างเป็นเสาคอนกรีต แต่คานและตงพื้นเป็นเหล็กแล้ววางไม้พาดลงไปเลย เหมือนบ้านไทยสมัยก่อนที่เห็นส่วนประกอบต่างๆ อย่างชัดเจน ทั้งยังช่วยระบายอากาศระหว่างชั้นได้ดีกว่าพื้นทึบอย่างคอนกรีต

รวมไปถึงรั้วจากอิฐช่องลมที่ให้มีลมระบายออกไปยังด้านข้างด้วย ขณะที่ภายในก็ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวในระดับที่คนภายในบ้านยังรู้สึกปลอดภัย

บันไดของผู้สูงอายุ ออกแบบบโดยย่อลูกตั้งให้เหลือ 15 เซนติเมตร และขยายลูกนอนให้วางเท้าลึกเข้าไปได้ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเดินได้อย่างสะดวก
ห้องนอนของคุณปาล์มบนชั้นสาม มีระเบียงด้านหน้าอย่างเรียบง่าย

ภายนอกโมเดิร์น ภายในอบอุ่นอย่างไทย

จากโจทย์ตอนแรกในด้านความชอบเรื่องวัสดุอย่างไม้ของคุณแม่ เพราะไม่ต้องการเดินบนพื้นกระเบื้องหรือปูนที่เย็นกว่าและไม่นุ่มเท้า พื้นทุกชั้นในบ้านนี้จึงเป็นไม้ทั้งหมดตั้งแต่ชั้นล่างขึ้นไปถึงชั้นที่สาม พร้อมมีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นไม้เก่าแต่ปรับให้เข้ากับโครงสร้างทันสมัยของคอนกรีตและเหล็กสีขาวสะอาดตา ด้วยการทำสีและฟินิชชิ่งใหม่ให้อ่อนตาและเป็นธรรมชาติมากขึ้น กลายเป็นความอบอุ่นที่ขัดแย้งกันอย่างลงตัวใน บ้านโมเดิร์นหน้าแคบ หลังนี้

“ทั้งคุณปาล์มและคุณแม่มีความต่างกันในเรื่องวัยและความต้องการ แต่มันเป็นความต้องการที่แท้จริงของทั้งสองคน …เราเลยเสนอว่า ข้างในบ้านขอทำเป็นอะไรที่มันอยู่สบายจริงๆ เลย เป็นวิถีชีวิตที่คุ้นเคย แต่ข้างนอกทำให้มันร่วมสมัย เรื่องระยะร่นแก้ปัญหาทางกฎหมาย คอนเซ็ปต์ของงานนี้ก็คือ อยู่อย่างไทยสมัยใหม่” คุณตั๊ม ผู้ออกแบบขยายความ

แสงยามบ่ายสะท้อนเข้ามายังผนังภายในบ้านที่โปร่งโล่ง
ด้านข้างของบ้านแบ่งพื้นที่สีเขียวปลูกต้นไม้ จัดสัดส่วนเป็นไม้ประดับและไม้ที่ใช้บริโภคในครัวเรือน

รายละเอียดสำหรับบ้านผู้สูงอายุ

ยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ สำหรับบ้านผู้สูงอายุที่น่าพูดถึงคือโครงสร้างของบันได แม้จะเป็นเป็นบ้านสามชั้นแต่คุณแม่ของคุณปาล์มบอกว่าเดินขึ้นบันไดไม่ค่อยเมื่อยเลย เพราะสถาปนิกได้ลดความสูงของลูกตั้งขั้นบันไดลงให้อยู่ราว 15 เซ็นติเมตร(จากโดยปกติ 17-18 เซ็นติเมตร) และลูกนอนยังให้มีความลึกเฉียงเข้าภายในเผื่อวางเท้าได้ลึกและเต็มขึ้นด้วย

กิจกรรมสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของผู้สูงอายุก็เป็นสิ่งสำคัญ ด้านหลังบ้านจึงได้ถูกแบ่งพื้นที่เป็นแปลงปลูกพืชสวนครัวขนาดพอเหมาะตามความต้องการของคุณแม่อีกด้วย เพื่อใช้ปลูกพืชผักสวนครัวตามใจที่คุณแม่ชอบ มีทั้งผักวอเตอร์เครส อ่อมแซ่บ มะละกอ กล้วย มะยม ซึ่งใช้งานในครัวเรือน เรียกได้ว่า บ้านโมเดิร์นหน้าแคบ หลังนี้อบอุ่นไปด้วยวิถีของไทยอย่างเป็นธรรมชาติและมาจากตัวตนของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง


เรื่อง : สมัชชา วิราพร

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม และ หทัยรัตน์ ดีนวลพะเนาว์

สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์

รวม 8 บ้านหน้าแคบ แต่ภายในแอบแซ่บ