สวนคนเมืองขนาดเล็ก แต่สามารถปลูกผักและเลี้ยงไก่ไข่ไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี

ในสวนขนาดเล็กที่ดูเรียบง่ายและไม่ได้ดูสวยงามโดดเด่นกว่าสวนอื่นๆในครั้งแรกที่มอง แต่กลับมีนิยามความงามในแบบของตัวเอง ในฐานะของแหล่งอาหารและสร้างสุขภาพที่ดีในการดำเนินชีวิตให้เกิดสุขภาพที่ดีแบบคนในเมือง เป็นสวนขนาดเล็กหน้าบ้านแต่สามารถปลูกผักและเลี้ยงไก่ไข่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและไอเดียที่น่าสนใจทีเดียวที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน

คุณตี๋และคุณบุพพรรณ ภรรยากับสวนจัดเองขนาดกะทัดรัด แต่เพียงพอกับมื้ออาหารประจําวันของครอบครัวเล็กๆ
พื้นสวนโรยกรวดแม่น้ําเพื่อช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินเอาไว้ จึงไม่ต้องรดน้ําบ่อยๆ นอกจากนี้ยังทําให้สวนดูสวยงามมากขึ้นด้วย

คุณตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร เจ้าของบริษัท ใจบ้าน สตูดิโอ จํากัด การพบปะในครั้งนี้นอกจากเป็นการไปเยี่ยมเยือนพี่ชายที่ผมเคารพรักแล้ว ยังตั้งใจไปชมสวนซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยเล่าให้ฟังว่า“พี่ตั้งใจว่าจะทําสวนเพื่อเป็นแหล่งอาหารไว้รับประทานเอง” ทําให้ผมอยากมาเห็นด้วยตาสักครั้ง ผ่านไป2ปี ต้นไม้เริ่มเติบโตตามที่คุณตี๋ได้ตั้งปณิธานเอาไว้ หากดูเผินๆเหมือนว่าเติบโตเองตามธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วเป็นสวนที่ปรับมาจากสวนแนวบาหลี ซึ่งเป็นสไตล์ที่คุณตี๋ชื่นชอบและจัดออกมาได้สวยงามไม่แพ้ใครผมถามถึงสาเหตุที่ทําให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนมาจัดเป็นสวนอย่างที่เห็นก็ได้รับคําตอบว่า “เมื่อก่อนหากจะจัดสวนให้บ้านในเมือง เราต้องซื้อดิน ซื้อต้นไม้ ซื้อทุกอย่างมาลง เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติในมุมมองของมนุษย์ แต่จริงๆอาจไม่เป็นธรรมชาติในมุมมองของแมลงหรือสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติจริง ก็เลยอยากลองเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง Permaculture เอง

กระบะที่ทําจากอิฐดินเผาเรียงกันง่ายๆสําหรับปลูกผักสวนครัวหลายชนิดคละกัน มีทั้งกรีนโอ๊ก กรีนคอสร็อกเกต ผักโขม ผักชีฝรั่ง และกระเจี๊ยบเขียว
แม้แต่สวนข้างศาลานั่งเล่นก็ยังปลูกไม้ประดับที่รับประทานได้ ทั้งอ่อมแซบซึ่งเป็นไม้ดอกคลุมดินและสามารถนําไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง และใบเงินใบทองที่เป็นพืชสมุนไพร

 

ผมคุยเรื่องแนวคิดPermacultureกับคุณตี๋อยู่พักใหญ่ จึงทราบว่าแท้จริงแล้วการจัดสวนในรูปแบบนี้ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่าการทําเกษตรแบบยั่งยืนที่เน้นการบํารุงดินด้วยธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมี รวมถึงการปลูกไม้พื้นถิ่นหลากหลายชนิดแม้สวนของคุณตี๋จะมีเนื้อที่แค่เพียง100ตารางวาแต่เขาเล่าให้ฟังว่าในหนึ่งวันสามารถรังสรรค์เมนูอาหารได้หลากหลาย เพราะต้นไม้เกือบทั้งหมดในสวนเป็นชนิดที่รับประทานได้และพบเห็นได้ทั่วไปอย่างมะละกอ มะม่วง บวบ ขิง ข่า พริกตะไคร้ ชะอม แทรกไปกับไม้สมุนไพรและผักสวนครัวพื้นบ้านที่ปลูกง่ายและไม่ต้องดูแลมากเช่น ฟักข้าว ผักเชียงดา อ่อมแซบ ลูกใต้ใบบอน หม่อน และผักปลัง โดยในครั้งแรกเริ่มจากทดลองปลูกผักสวนครัวไม่กี่อย่าง เมื่อประสบความสําเร็จ สามารถเก็บผลผลิตได้ จึงเริ่มต่อยอดทดลองปลูกต้นไม้คละกันแบบมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ผู้ริเริ่มเกษตรกรรมธรรมชาติ โดยปลูกต้นไม้หลายชั้นหลายระดับรวมกัน ก็ได้ผลผลิตค่อนข้างดี มีผักหลากหลายชนิดให้รับประทานมากขึ้น นอกจากนี้ยังเสริมด้วยโปรตีนจากไข่ไก่วันละ2ฟอง ซึ่งได้จาก“แจ่ม”และ“จันทร์” ไก่พันธุ์ไข่2ตัวที่เลี้ยงเอาไว้ อีกทั้งยังนํามูลไก่ไปหมักกับเศษใบไม้เพื่อใช้เป็นปุ๋ยเพิ่มแร่ธาตุให้ต้นไม้

ศาลาขนาดเล็กที่ใช้เป็นมุมพักผ่อนยังคงกลิ่นอายของสวนเดิมที่เป็นสไตล์บาหลีมีไม้กระถางและไม้ใหญ่บางต้นที่ยังเก็บไว้ให้ร่มเงาและความสวยงามแก่สวน
ไม้ดอกอย่างแพงพวยที่มักเห็นเป็นไม้ประดับสวยๆในสวนทั่วไป แต่คุณตี๋ยังตัดต้นและนําไปตากแห้งทําเป็นชาดื่ม ช่วยลดระดับน้ําตาลในร่างกาย รวมถึงผักแพวซึ่งนําติดมือมาจากร้านอาหารก็นํามาปักชําในน้ํา เป็นผักที่รับประทานแกล้มกับอาหารหลายชนิด

“เรื่องหลักคือดิน จะทําอย่างไรให้ดินมีชีวิตตอนที่ไปทํางานช่วยวางผังชุมชนกับเกษตรอินทรีย์ที่แม่ทาก็ได้เรียนรู้ว่าการปลูกผักให้งาม ดินต้องดี แต่ทุกทีเราบํารุงดินโดยการซื้อปุ๋ยซื้ออะไรมาใส่ ทีนี้เราทดลองไม่ซื้อดินหรือปุ๋ยมาใส่เลยทําให้ดินเป็นธรรมชาติใบไม้ร่วงก็เก็บไปสุมๆจนกลายเป็นดิน อันไหนรกเกินก็นําไปทําเป็นปุ๋ยผสมกับมูลไก่เพิ่มแร่ธาตุในดิน”คุณตี๋เล่าพลางพลิกใต้เศษใบไม้เพื่อให้ผมเห็นความร่วนและสมบูรณ์ของเม็ดดิน ก่อนจะพาไปชมสวนและแนะนําต้นไม้ต่างๆ พร้อมเล่าสรรพคุณให้ฟังและทิ้งท้ายด้วยแง่คิดเรื่องความงามของสวนว่า

ภายในอ่างน้ําที่ประดับในสวนเลือกปลูกพืชรับประทานได้ เช่น ผักแขยงที่ให้รสชาติคล้ายมินต์ สามารถนํามารับประทานสดๆ ลวกจิ้มหรือใช้ประกอบอาหารเพื่อดับกลิ่นคาวได้
ต้นไม้ใหญ่ของเดิมที่ตัดแต่งให้กิ่งก้านไม่แผ่ออกมาก เพื่อไม่ให้บดบังแสงแดดเนื่องจากผักสวนครัวด้านล่างส่วนใหญ่ต้องการแสงเกือบตลอดทั้งวัน
ผักชีขึ้นแทรกไปกับมันญี่ปุ่น แม้ผลผลิตจากส่วนหัวมันที่ได้จะไม่ดีเท่าในท้องตลาด แต่ก็นําใบมาลวกหรือประกอบอาหารรับประทานได้เช่นกัน ทั้งยังมีสีสันสวยงาม ช่วยสร้างจุดเด่นในสวนได้

“เมื่อก่อนตอนเราเรียนเรื่องการออกแบบก็มักมองนิยามความงามตามทฤษฎีที่สอนมา แต่พอได้มาจัดสวนและดูแลสวนเองก็ได้เห็นความงามอีกแบบ เมื่อก่อนเราเน้นแต่ต้นไม้ ไม่เน้นดินแต่ต้นไม้จะงาม ดินก็ต้องงาม มันมีสิ่งมีชีวิตมีไส้เดือน มีแมลง มีผีเสื้อ มีนกกินแมลง เป็นการสร้างวงจรของระบบนิเวศที่สวยงาม”

จริงอย่างที่คุณตี๋ว่า เราอาจเคยเห็นสวนที่ตัดแต่งดูแลอย่างสวยงาม ออกดอกออกผลให้เห็นตลอด แล้วก็เพลิดเพลินกับความงามเหล่านั้นเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งเราก็จะเคยชินและรู้สึกปกติกับความงามแบบนั้น แต่หากความงามได้รับการถ่ายทอดไปมากกว่าสิ่งที่ตาเห็น เป็นสิ่งที่สัมผัสและเคลื่อนไหวเติบโตได้อยู่เสมอ ผมคิดว่าความมีชีวิตของธรรมชาติจะเติบโตและสร้างสรรค์ความสวยงามให้เราได้ชื่นชมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ต้นไม้หลายชนิดในสวนเป็นพืชตระกูลถั่ว ซึ่งจะมีปมรากที่ช่วยตรึงไนโตรเจนในดิน ช่วยให้ดินมีธาตุอาหารสําหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้ หนึ่งในนั้นก็คือหางนกยูงไทยต้นนี้
ก่อนจะปรับพื้นที่เป็นแปลงผัก คุณตี๋จะนําใบไม้แห้งมาห่มดินเพื่อรักษาปริมาณน้ําในดินและเพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินซึ่งอยู่ใกล้ผิวดิน รวมถึงลดการสูญเสียธาตุอาหารของพืชด้วย
แจ่มและจันทร์ ไก่สองตัวซึ่งเลี้ยงไว้เพื่อรับประทานไข่บางครั้งก็ปล่อยให้เดินเล่นในสวนโดยให้อยู่ในสุ่มไก่เพื่อจํากัดพื้นที่ไม่ให้ไปรบกวนแปลงต้นไม้อื่นๆ
เก็บกวาดเศษใบไม้ที่ร่วงลงมาในสวนให้ไปกองอยู่ใต้พุ่มไม้เพื่อให้เกิดการทับถมจนกลายเป็นดินเหมือนในธรรมชาติโดยมีไส้เดือนดินและน้ําหมักชีวภาพเป็นตัวช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลาย
เศษใบไม้ส่วนที่เหลือก็เก็บมาผสมรวมกับมูลของไก่ที่เลี้ยงเอาไว้ ใช้เป็นปุ๋ยสําหรับเพิ่มแร่ธาตุให้ต้นไม้ด้วยวิธีชีวภาพโดยไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี
ถั่วดาวอินคา ไม้พื้นบ้านที่มีประโยชน์มากมายหลายส่วน ตั้งแต่ยอดที่นําไปทําอาหารได้ ทั้งยังอุดมด้วยกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-3,6และ9 วิตามินเอและวิตามินอี รวมถึงใช้สกัดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สบู่ยาสระผม และน้ํามัน

เรื่อง : “ปัญชัช”

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, ศุภกร ศรีสกุล

 

พลังประชาชนที่เปลี่ยน “กองขยะ” สู่ “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่”

ใจบ้านสตูดิโอ: เมื่อทุกเสียงให้ความหมายในงานออกแบบ