chiangmaiurbanfarm

พลังประชาชนที่เปลี่ยน “กองขยะ” สู่ “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่”

chiangmaiurbanfarm
chiangmaiurbanfarm

อยากให้ทุกคนนั่งไทม์แมชชีนไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ตอนนั้นนอกจากจังหวัดเชียงใหม่จะต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แล้วยังมีฝุ่น pm2.5 อยู่เช่นกัน กลุ่มสถาปนิกใจบ้าน สตูดิโอและภาคีอื่นๆได้สำรวจพื้นที่สีเขียวและพื้นที่รกร้างต่างๆในเมือง จนมาพบกับกองขยะร้างที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์จนกลายมาเป็นสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ในที่สุด

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่
พื้นที่สวนผักคนเมืองเกิดจากการความร่วมมือของชุมชนรอบๆและกลุ่มเครือข่ายคนไร้บ้านมาช่วยดูแล โดยมีใจบ้าน สตูดิโอเป็นผู้ผลักดันโครงการ

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่

แปลงผักบางส่วนเปิดให้คนมาเรียนรู้ พักผ่อนหย่อนใจ และเก็บผักไปปรุงอาหารได้ฟรี เริ่มจาก 3 ครอบครัว ซึ่งปลูกและเก็บไปแบ่งปัน 19 ครอบครัว

 

 

ช่วงที่ล็อกดาวน์ ผู้คนเริ่มเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านอาหาร

ใจบ้าน สตูดิโอเข้าไปคุยกับพี่น้องผู้ที่อยู่ในบริเวณชุมชนริมคลองแม่ข่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานและเป็นคนชายขอบของสังคมว่าเขาจะสามารถดำรงชีวิตอย่างไรในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้แล้วก็พบว่าพวกเขาส่วนใหญ่เริ่มตกงานมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ รายจ่ายครึ่งหนึ่งของเงินเดือนคือค่าอาหารเลี้ยงชีพ เมื่อรายได้ต่อวันไม่มี หลายครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุและเด็กจึงกลายเป็นภาระหน้าที่ซึ่งลำบากมาก ทางออกคือครอบครัวเหล่านี้ต้องปลูกผักบริเวณพื้นที่ริมคลองแม่ข่าที่มีสภาพน้ำเน่าเสียและไม่เอื้อต่อการบริโภค หลังจากนั้นจึงเริ่มคุยกับเครือข่ายต่างๆมาเริ่มบุกเบิกที่ดินตรงนี้เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลูกผักสร้างอาหารให้คนในชุมชน

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่
ภาพกองขยะ 5 พันตันที่ถูกทิ้งไว้นานร่วม20 ปี กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะสวนปลูกผักคนเมืองเชียงใหม่
สวนผักคนเมืองเชียงใหม่
ผ่านไป 6 เดือนจากกองขยะ แต่ด้วยความร่วมมือกันกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะสวนปลูกผักคนเมืองเชียงใหม่ในที่สุด

บ้ารึเปล่า…นี่มันกองขยะ

พื้นที่ขนาด 2.5 ไร่นี้เดิมเป็นกองขยะ 5 พันตันที่ถูกทิ้งมานานร่วม20 ปี ซึ่งรวบรวมมาจากช่วงที่เชียงใหม่ประสบภัยน้ำท่วมโดยมีเทศบาลเมืองเชียงใหม่เป็นเจ้าของ หลังจากที่พูดคุยกันอยู่หลายครั้ง ใจบ้าน สตูดิโอและภาคีที่เกี่ยวข้องได้รับความอนุเคราะห์ในการใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ในที่สุด

“หลังจากได้ที่ดินมาแล้ว งานต่อไปคือการระดมทุน ระดมกล้าไม้ ระดมเมล็ด หรืออุปกรณ์การเกษตร เมื่อเริ่มต้นทำก็ขุดดินไปเจอยางรถยนต์ กรมเจ้าท่าจึงนำดินมาช่วยถมให้ ส่วนภาคเอกชนหลายที่ก็บริจากถ่านไบโอชาร์ในการบำบัดดินและขุดน้ำบาดาล ถ้าสรุปความรู้สึกสั้นๆจะสรุปได้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่มั่นคง แต่ด้วยพลังของประชาชนสามารถสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นได้ มันคือโอกาสท่ามกลางวิกฤต” คุณตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากรผู้ก่อตั้งใจบ้าน สตูดิโอเล่าให้เราฟัง

ที่ดินขนาด 2.5 ไร่ที่จัดสรรเป็นพื้นที่สำหรับปลูกผักพื้นบ้านสาธารณะที่ใครก็สามารถมาเก็บได้ แปลงผักสำหรับให้เช่า เล้าไก่ และพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆอย่างเป็นสัดเป็นส่วน
แปลงผักส่วนหนึ่งเปิดให้ผู้ที่สนใจเช่าพื้นที่เพื่อปลูกผักปลอดสารพิษและเรียนรู้การทำเกษตรกรรม ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะนำมาพัฒนาพื้นที่ต่อไป
แปลงผักส่วนหนึ่งเปิดให้ผู้ที่สนใจเช่าพื้นที่เพื่อปลูกผักปลอดสารพิษและเรียนรู้การทำเกษตรกรรม ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะนำมาพัฒนาพื้นที่ต่อไป

 

ถึงเราไม่ใช่เกษตรกร แต่เราก็เรียนรู้ผ่านการทำไปด้วยกัน

“ในช่วงแรกมีความพยายามต้องหยุดงานออฟฟิศมาทำ คุยกับผู้ประกอบการทุกรายบนถนนช้างคลาน เราไม่คิดว่าเราต้องทำขนาดนั้น เพื่อให้โครงการมันเกิดขึ้นได้ ถ้าทำแบบนั้นมันไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ เราอยากให้โครงการเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆตามธรรมชาติ”

หลังจากปรับปรุงที่ดินจนกลายมาเป็นสวนผักที่ให้ผลผลิตที่ปลอดภัยแก่คนในชุมชนและอาสาสมัครได้บริโภค ผ่านการระดมทุนและร่วมด้วยช่วยกันของคนหลายกลุ่มผู้ก่อการอาทิSpark U Lannaเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กลุ่ม Green Ranger เครือข่ายชุมชนดูแลคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา กลุ่มสายใต้ออกรถ เครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวย หอม ฮอมสุขสตูดิโอ และคณะก้าวหน้าทีละเล็กละน้อยตามกำลังและความถนัดจนพื้นที่สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ออกมาเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นรูปธรรมในที่สุด โดยยังเตรียมต่อยอดและปรับปรุงให้เกิดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและให้ความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจต่อไป เช่นการเปิดให้เช่าแปลงผักขนาด 1×4 เมตร 92 แปลงเพื่อการบริโภคหรือให้ความรู้ และการจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆหรือประชุมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาแลกเปลี่ยนมุมมอง

ยังมีโครงการอีกหลายส่วนที่ต้องพัฒนาต่ออย่างอาคารไม้ไผ่อเนกประสงค์สำหรับทำกิจกรรมสาธารณะที่หลากหลายต่อไป
พื้นที่ในสวนใช้จัดงานมาแล้วหลายงานรวมถึงงานจากมือถึงมือ ครั้งที่ 5 นอกจากมีการเสาวนาแล้วยังมีการจำหน่ายสินค้า เวิร์คชอปและมินิคอนเสิร์ตเพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้ผู้ที่มาเดินในงาน

“พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่ความฝันของใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องแบกมันไว้ และต้องลุ้นว่าเมื่อไหร่จะถูกยุบไป เมื่อไหร่เงินจะหมด แต่เป็นพันธกิจร่วมกัน ถ้าเรามีฝันร่วมกัน ผมเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น มาร์กาเร็ต มีด(Margaret Mead)นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมชาวอเมริกันเคยกล่าวว่ามนุษย์ถูกนิยามว่าเข้าสู่สังคมศิวิไลซ์แล้วตอนที่ขุดพบว่าซากศพขากระดูกแตกก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งในอดีตหากคนขากระดูกแตกก็คงตายไปแล้วเพราะไม่มีใครดูแล แต่เราถูกนิยามว่าเป็นศิวิไลซ์เพราะสังคมดูแลกัน เราเชื่อว่าวิกฤตโควิด-19ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่าเกิดการโอบอุ้มดูแลกัน มีทั้งการแจกอาหารและทำครัวกลาง พื้นที่สาธารณะส่วนกลางนี้จะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมืองและชุมชน ไม่ใช่ของใคร คนใด คนหนึ่ง ”

สำหรับผู้ที่สนใจสนับสนุนโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ หรืออยากติดตามข่าวสารต่างๆของกลุ่มนี้ สามารถติดตามได้ที่https://www.facebook.com/ChiangmaiUrbanFarm/

ภายในสวนปลูกพืชผักกินได้มากกว่า 50 ชนิดหมุนเวียนกันไป

บ่อตะแกรงสำหรับเก็บเศษใบไม้ในสวนเพื่อใช้เป็นปุ๋ยหมักสำหรับดูแลต้นไม้ต่อไป

เรื่อง : ปัญชัช

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข และกลุ่มสวนผักคนเมืองเชียงใหม่

 

>>>บทความอื่นที่น่าสนใจ<<<

JAIBAAN STUDIO หัวใจของคราฟต์คือ “ชุมชน”

ใจบ้านสตูดิโอ: เมื่อทุกเสียงให้ความหมายในงานออกแบบ

บ้านตัวอย่าง “หารร่วมมาก” ในงานบ้านและสวนแฟร์2017 โดยการออกแบบของกลุ่มสถาปนิก “ใจบ้าน” และ “ฮอมสุข”